ผลต่างระหว่างรุ่นของ "ประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ : นักการเมืองจากธนาคาร"
ไม่มีความย่อการแก้ไข |
ล Apirom ย้ายหน้า ประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ (ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร) ไปยัง [[ประสิทธิ์ กาญจ... |
(ไม่แตกต่าง)
|
รุ่นแก้ไขปัจจุบันเมื่อ 17:42, 6 พฤษภาคม 2563
ผู้เขียน : ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
ประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ : นักการเมืองจากธนาคาร
นักการค้าที่เข้ามาเป็นนักการเมืองสมัยก่อนนั้นมีอยู่ไม่มาก ประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ นับเป็นคนในวงการค้าคนหนึ่งที่เข้ามาสู่วงการเมืองโดยการลงเลือกตั้ง เมื่อดูประวัติการทำงานและการเขียนหนังสือของประสิทธ์แล้วจะเห็นได้ว่า ประสิทธ์เป็นผู้ที่มี “การเมือง” อยู่ในหัวใจมากทีเดียว เพราะท่านลงทุนทำหนังสือพิมพ์ทางด้านการเมืองที่ชื่อ “การเมือง” นอกจากนั้นท่านยังเขียนหนังสือเล่มหนึ่งเรื่อง เจียง ไคเช็ค นั่นก็คือเรื่องจอมพลจีนผู้เป็นประมุขคนแรกของจีนไต้หวัน และหนังสือแปลเรื่อง “รัฐธรรมนูญของสหภาพโซเวียต” ประเทศคอมมิวนิสต์ประเทศแรกในโลก ตอนนั้นไทยก็ต่อต้านคอมมิวนิสต์อยู่ด้วย และท่านยังเขียนบทความทางการเมืองลงหนังสือพิมพ์ ดังนั้นมาดูชีวิตตั้งแต่ก่อนการเล่นการเมืองของท่าน
ประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ เป็นคนเมืองแปดริ้ว หรือฉะเชิงเทรา เกิดเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ.2458 บิดาชื่อหมื่นสุวรรณศิริพงษ์ ( ติ๊ดเส่ง แซ่โค้ว ) แม่ชื่อ ส้มจีน บ้านท่านอยู่ที่บางขนาก ดังนั้นเมื่อเข้ามาเล่นการเมือง จึงมีบางคนให้ฉายาท่านว่าเป็น "เจ้าพ่อบางขนาก " การศึกษาเบื้องต้นของท่านนั้นคงเรียนในจังหวัดฉะเชิงเทรา และน่าจะได้เรียนภาษาจีนเป็นอย่างดี เพราะท่านเคยเป็นครูสอนหนังสือ และเคยเป็นครูใหญ่ที่โรงเรียนอึ้งฮุ้น (หวงหน) และเคยเข้ารับราชการที่กระทรวงเศรษฐการ เมื่อมีการตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองในปี 2477 เปิดโอกาสให้คนที่ทำงานได้มาสมัครเรียนพร้อมกับทำงานไปด้วยได้ ประสิทธิ์จึงได้มีโอกาสมาเรียนและจบปริญญาจากมหาวิทยาลัยนี้
สิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้วขณะที่ประสิทธิ์อายุได้ 30 ปี ในปี 2489 หลังจากที่ไม่ได้มีการเลือกตั้งทั่วไปมานานถึงแปดปี ก็มีการเลือกตั้งทั่วไปในตอนต้นปี ประสิทธิ์ซึ่งยังศึกษาที่มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์ฯ มีสำนักงานทนายความมนูกิจ และทำหนังสือพิมพ์ด้านการเมือง มีความสนใจการเมืองมากก็ได้ลงเลือกตั้งครั้งแรกที่จังหวัดฉะเชิงเทราแต่ไม่ได้รับเลือก ปรากฏว่าสมาชิกสภาชุดนี้ก็อยู่ได้ไม่นาน เพราะมีการรัฐประหารยกเลิกรัฐธรรมนูญในวันที่ 8 พฤศจิกายน ปี 2490 และจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2491 ประสิทธิ์จึงลงสมัครรับเลือกตั้งซ้ำอีกในจังหวัดฉะเชิงเทรา และก็ต้องผิดหวัง เพราะยังไม่ได้รับเลือกเช่นเดิม จนกระทั่งประสิทธิ์ลงเลือกตั้งเป็นครั้งที่ 3 ในปี 2495 หลังจากการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2475 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2495 โดยไม่ได้สังกัดพรรคการเมือง จึงได้รับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎรจังหวัดฉะเชิงเทรา ความจริงก่อนหน้านี้ ประสิทธิ์เคยร่วมตั้งพรรคประชาชนร่วมกับนาย เลียง ไชยกาล มาแล้วในปี 2490 และพรรคการเมืองนี้ต้องเลิกไปในปี 2494
ครั้งนั้นวาระการเป็นผู้แทนราษฎรนานถึง 5 ปี การเมืองในสภาฯดูจะเรียบร้อย นายกรัฐมนตรี จอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายทหาร ประสิทธิ์จึงได้อยู่ครบวาระ หลังเป็นผู้แทนราษฎรได้ประมาณหนึ่งปีประสิทธิ์ได้เป็นกรรมการบริหารธนาคารกรุงเทพด้วยในปี 2496 การเป็นผู้แทนราษฎรช่วงนี้ ทำให้ท่านได้รู้จักกับผู้นำรัฐบาลเป็นอย่างดี โดยเฉพาะจอมพล ป. นายกรัฐมนตรี และพล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจ เพราะผู้นำทางการเมืองทั้งสองท่านได้รวมผู้แทนราษฎรเข้ามาเป็นกลุ่ม จัดประชุมปรึกษาหารือขอให้สนับสนุนรัฐบาล ซึ่งต่อมาก็ได้จัดตั้งกันขึ้นเป็นพรรคเสรีมนังคศิลา ให้เป็นพรรครัฐบาลที่มีจอมพล ป. เป็นหัวหน้าพรรค และ พล.ต.อ.เผ่า เป็นเลขาธิการพรรค พรรคเสรีมนังคศิลานี้ได้ตั้งขึ้นเพื่อเตรียมส่งสมาชิกของพรรคลงสนามเลือกตั้งในตอนต้นปี 2500 และประสิทธิ์ซึ่งเป็นผู้แทนฯอยู่ในขณะนั้นก็ได้เข้าเป็นสมาชิกพรรคเสรีมนังคศิลา และลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎรในนามพรรคเสรีมนังคศิลา เมื่อมีการเลือกตั้งในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2500 และประสิทธิ์ก็ชนะเลือกตั้งเป็นครั้งที่ 2
การเลือกตั้งวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ปี 2500 นั้นพรรคเสรีมนังคศิลา ชนะเลือกตั้ง ได้สมาชิกสภามากเป็นอันดับหนึ่ง แต่แพ้การเมืองนอกสภา ทางนิสิตนักศึกษาและประชาชนเห็นว่ารัฐบาลทุจริตการเลือกตั้ง จึงมีการประท้วงรัฐบาล แม้จอมพล ป. จะกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี รัฐบาลก็ไม่มีเสถียรภาพ ในวันที่ 16 กันยายน ปีเดียวกัน จอมพลสฤษดิ์และคณะได้เข้ายึดอำนาจและให้นายพจน์ สารสิน เป็นนายกรัฐมนตรีจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 15 ธันวาคม ปี 2500 ประสิทธิ์ก็ยังลงเลือกตั้งอีกในที่เดิมโดยไม่สังกัดพรรค และท่านก็ยังชนะเลือกตั้งเข้าสภาฯได้ ในการเลือกตั้งครั้งนี้พรรคสหภูมิซึ่งกล่าวกันว่าเป็นพรรคของจอมพล สฤษดิ์ เพราะมีน้องชายต่างบิดาของจอมพล สฤษดิ์ คือนาย สงวน จันทรสาขา เป็นเลขาธิการ ชนะมาเป็นอันดับหนึ่ง แต่มีเสียงเพียง 45 เสียง พรรคประชาธิปัตย์ที่เป็นพรรคฝ่ายค้านหลักมาเป็นที่สองได้เสียงไม่ถึง 40 เสียง ทางจอมพล สฤษดิ์และคณะทหารจึงตั้งพรรคการเมืองใหม่ชื่อพรรคชาติสังคม ไปชวนผู้แทนฯที่ไม่สังกัดพรรคกับผู้แทนฯของพรรคสหภูมิและคนในคณะทหารเข้ามาช่วยพรรคใหม่สนับสนุนให้พลโท ถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรี จัดตั้งรัฐบาล โดยที่ประสิทธิ์ยังไม่ได้เข้าร่วมรัฐบาล แม้จะเป็นคนที่กว้างขวางในกลุ่มผู้แทนราษฎรก็ตาม เพราะเป็นผู้ที่เอื้อเฟื้อต่อเพื่อน และท่านก็มีบทบาทอยู่ในธนาคารกรุงเทพ ที่พลเอก ประภาสน์ จารุเสถียร ได้เข้ามาเป็นประธานธนาคารนี้ตั้งแต่วันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ.2500 เพราะมีคนบอกว่าจอมพล สฤษดิ์ เห็นว่าประสิทธิ์เป็น “คนของเผ่า”
แต่รัฐบาลของพลโท ถนอม กิตติขจร ที่เข้าบริหารงานตั้งแต่ต้นปี 2501โดยความสนับสนุนของคณะทหารและพรรคชาติสังคมก็มิได้มีความมั่นคง แม้จะมีนักการเมืองจากการเลือกตั้งเข้าร่วมรัฐบาลอยู่หลายคน แต่ก็ยังมีนักการเมืองนอกรัฐบาลอีกหลายคนบีบรัฐบาลให้ปรับคณะรัฐมนตรี จนนายกรัฐมนตรีต้องยอมปรับคณะรัฐมนตรีในวันที่ 7 สิงหาคม ปี 2501 ครั้งนี้ประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ ได้เป็นรัฐมนตรีเป็นครั้งแรกในตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสหกรณ์
ในวันที่ 20 ตุลาคม ปี 2501 จอมพล สฤษดิ์ ซึ่งรักษาตัวอยู่ที่สหรัฐฯได้บินกลับมาไทยอีกครั้ง และนายกฯพลเอกถนอม กิตติขจร ได้ลาออกจากตำแหน่ง เปิดทางให้จอมพล สฤษดิ์ นำคณะทหารเข้ายึดอำนาจซ้ำอีกครั้งที่เรียกว่า “ปฏิวัติ” จากนั้นการเมืองโดยการเลือกตั้งจึงได้หยุดพักไปยาวประมาณ 10 ปี ประสิทธิ์จึงว่างเว้นไปจากวงการเมือง หันไปให้ความสนใจกับงานธนาคารแทน ประสิทธิ์บอกว่า “เลยมานอนหลับที่แบงก์ เสีย '10 ปีเต็ม”แบงก์ที่ว่านี้ก็คือธนาคารกรุงเทพ
จนกระทั่งสภาร่างรัฐธรรมนูญร่างรัฐธรรมนูญเสร็จและประกาศใช้ในปี 2511 ที่ทำให้การเมืองว่าด้วยการเลือกตั้งกลับมาคึกคักกันอีกครั้ง นายกฯ จอมพล ถนอม และพรรคพวกได้หารือกันตั้งพรรคการเมืองของรัฐบาลขึ้นมาชื่อพรรคสหประชาไทย ประสิทธิ์ซึ่งเป็นผู้กว้างขวางในหมู่นักการเมือง สนิทกับอดีตผู้แทนราษฎรมาก จึงถูกชวนมาช่วยงานหาผู้สมัครลงเลือกตั้งให้พรรคสหประชาไทย แต่ตัวเองก็ไม่ได้ลงสมัครในคราวนี้ เพราะคงถูกวางตัวหรือเตรียมเป็นฝ่ายบริหาร เพราะรัฐธรรมนูญได้กำหนดห้ามมิให้สมาชิกสภาฯเป็นรัฐมนตรีในเวลาเดียวกัน แต่หลังเลือกตั้งมีการตั้งรัฐบาลที่มีจอมพล ถนอม กลับมาเป็นนายกฯแล้ว ประสิทธิ์ก็ยังไม่ได้ร่วมรัฐบาล จนถึงปี 2513 รัฐบาลโดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีได้ถูกแรงบีบทางการเมืองจนต้องมีการปรับคณะรัฐมนตรี ประสิทธิ์จึงถูกดึงเข้ามาร่วมรัฐบาลเพื่อให้ช่วยประสานกับบรรดาสมาชิกสภาฯ โดยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเศรษฐการที่มีนายบุญชนะ อัตถากร เป็นรัฐมนตรีว่าการอยู่ก่อน ท่านได้อยู่ร่วมรัฐบาลจนกระทั่งนายกฯจอมพล ถนอม ยึดอำนาจยกเลิกรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน ปี 2514 ประสิทธิ์จึงพ้นตำแหน่งรัฐมนตรีไปประมาณหนึ่งปี ครั้นจอมพล ถนอมตั้งรัฐบาลตอนปลายปี 2515 ประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ ก็ได้รับความไว้วางใจให้เข้าร่วมรัฐบาลเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งถือว่าเป็นกระทรวงสำคัญ และท่านก็ได้อยู่ร่วมรัฐบาลจนถึงวันที่เกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ที่นายกฯต้องลาออกจากตำแหน่ง
เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 นั้นมีความสำคัญทางการเมืองมากโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพและการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน รัฐบาลของนายกฯ สัญญา ธรรมศักดิ์ที่เข้ามาดูแลประเทศชั่วคราวต้องพยายามฟื้นสภาพบ้านเมืองที่วุ่นวายให้กลับสู่ภาวะปกติท่ามกลางการเรียกร้องและความต้องการหลายๆอย่างจากกลุ่มการเมืองและประชาชนผู้เป็นเจ้าของสิทธิเจ้าของประเทศ ที่ระดมกันเข้ามาแทบจะทุกทาง ในที่สุดก็สามารถประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2517 ที่วันนั้นถือว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดของไทย และเป็นการเปิดทางให้นักการเมืองกลับเข้ามาลงสนามเลือกตั้ง นักการเมืองทั้งหน้าเก่าและใหม่ได้เข้ามาตั้งพรรคการเมืองใหม่บ้าง ฟื้นพรรคการเมืองเก่าบ้าง นับเป็นเวลาที่การเมืองไทยคึกคักมาก
ครั้งนั้นประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ ก็ได้รวมพรรคพวกจัดตั้งพรรคการเมืองชื่อพรรคสังคมชาตินิยม ขึ้นในวันที่ 17 พฤศจิกายน ปี 2517 หลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่ได้ประมาณหนึ่งเดือน โดยประสิทธิ์เป็นหัวหน้าพรรค มีนายฉันท์ จันท์ชุม อดีตผู้แทนราษฎรจังหวัดขอนแก่นเป็นเลขาธิการและมีนักการเมืองเก่าเช่นนายนิยม วรปัญญา ผู้แทนฯจังหวัดลพบุรี และนายธเนตร เอียสกุล ผู้แทนฯจังหวัดหนองคาย เข้ามาร่วมจัดการส่งสมาชิกลงเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 26 มกราคม ปี 2518 ประสิทธิ์เองลงเลือกตั้งที่เดิมที่จังหวัดฉะเชิงเทรา การเลือกตั้งครั้งนี้พรรคของประสิทธิ์ชนะเป็นลำดับที่ 6 ได้ที่นั่งในสภาฯ 16 ที่นั่ง แม้พรรคจะชนะเป็นลำดับที่ 6 ประสิทธิ์ก็ใช้ความสามารถทางการเจรจาต่อรองทางการเมืองทำให้เขาได้รับเลือกจากสมาชิกสภาฯ ชนะนายสมบูรณ์ ศศิธร คู่แข่งจากพรรคอันดับหนึ่งคือพรรคประชาธิปัตย์
ตอนตั้งรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์กลับมาคุมเสียงได้ หัวหน้าพรรคคือ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช จึงได้เป็นนายกฯ แต่ก็เป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยของพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคเกษตรสังคมของ เสวต เปี่ยมพงศ์สานต์ ต่อมาหลังวันรัฐบาลแถลงนโยบายและมีการลงมติเพื่อไว้วางใจรัฐบาล รัฐบาลได้เสียงไม่พอจึงต้องพ้นตำแหน่ง เปิดทางให้ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช หัวหน้าพรรคอันดับที่ 5 เป็นนายกฯ ประสิทธิ์เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการตั้งรัฐบาลใหม่ด้วย และพรรคของเขาก็ได้ตำแหน่งรัฐมนตรีให้ลูกพรรคด้วย ตลอดเวลารัฐบาลของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ประสิทธิ์ก็คงบทบาทที่สำคัญซึ่งนักการเมืองต่างพรรคเองเกรงใจ แต่ความสัมพันธ์กับนายกฯกลับไม่ดีนัก และเมื่อพรรคการเมืองทั้งหลายคิดร่วมกันที่จะเอานายกฯออกโดยการอภิปรายไม่ไว้วางใจ นายกฯผู้เก่งทางการเมืองด้วยจึงจัดการยุบสภาในวันที่ 12 มกราคม ปี 2519
การเลือกตั้งใหม่ในตอนต้นปี 2519 นั้นประสิทธิ์ ได้นำพรรคสังคมชาตินิยมเข้าแข่งขัน ตัวเขาเองลงเลือกตั้งที่จังหวัดฉะเชิงเทราเป็นครั้งที่ 5 และตัวเองชนะเลือกตั้งด้วย แต่พรรคได้เสียงลดลงเหลือเพียง 8 เสียง กระนั้นเมื่อ ม.ร.ว.เสนีย์ เป็นนายกฯตั้งรัฐบาล ประสิทธิ์ก็นำพรรคเข้าสนับสนุน เขาได้ร่วมรัฐบาลเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม อยู่ร่วมรัฐบาลจนนายกฯลาออกกลางสภาฯในเดือนกันยายน ปี 2519 และเมื่อนายกฯคนเดิมกลับมาตั้งรัฐบาลใหม่ ประสิทธิ์ก็ยังได้ร่วมรัฐบาลเป็นรองนายกฯ แต่รัฐบาลนี้ก็ถูกคณะปฏิรูปการปกครองฯยึดอำนาจในวันที่ 6 ตุลาคม ปี 2519
ประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ ว่างจากการเมืองก็มีธุรกิจทำ เมื่อพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีและมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2521แล้วได้มีการแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภาในปี 2522 ประสิทธิ์ได้รับแต่งตั้งด้วยคนหนึ่ง ตอนนั้นยังมีคนคิดว่าท่านจะได้เป็นประธานวุฒิสภา แต่ท่านก็คงเป็นเพียงสมาชิกสำคัญที่อยู่เบื้องหลังจนครบวาระ และห่างไปจากการเมือง ประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ ได้อยู่ดูการเมืองต่อมาอีกหลายปี ท่านเสียชีวิตเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ ปี 2542