ผลต่างระหว่างรุ่นของ "ประยูร ภมรมนตรี : ตัวเชื่อมผู้ก่อการฯ"
สร้างหน้าด้วย " ผู้เรียบเรียง : ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร ผู้ท..." |
ล Apirom ย้ายหน้า ประยูร ภมรมนตรี (ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร) ไปยัง [[ประยูร ภมรมนตรี : ตัว... |
(ไม่แตกต่าง)
|
รุ่นแก้ไขปัจจุบันเมื่อ 17:41, 6 พฤษภาคม 2563
ผู้เรียบเรียง : ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
ประยูร ภมรมนตรี : ตัวเชื่อมผู้ก่อการฯ
ถ้าสนใจติดตามเรื่องราวของคณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 ก็จะพบว่า ประยูร ภมรมนตรี เป็นผู้ก่อการฯที่มีบทบาทสำคัญในการเป็นตัวเชื่อมให้ผู้ร่วมคิดที่ต่างคนต่างคิดหลายทิศทางได้มาบรรจบกัน ทั้งฝ่ายพลเรือนกับทหารหนุ่มที่ต่างแดน คือที่ประเทศฝรั่งเศสกับนายทหารระดับสูงได้ ทำให้ความคิดที่จะเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองให้มีสภาผู้แทนราษฎรและมีรัฐธรรมนูญเป็นกติกาการปกครองที่ต้องอาศัยกำลังทหารเข้าช่วยในการยึดอำนาจนำไปสู่การปฏิบัติได้จริง เมื่อเริ่มคิดนั้นผู้ที่คิดเปลี่ยนแปลงการปกครองฯนั้นยังไม่มีนายทหารระดับสูงมาร่วม และก็ยังไม่มีนายทหารที่คุมกำลังเข้ามาร่วม มาพลิกดูประวัติครอบครัวและเรื่องราวที่ประยูร ภมรมนตรี มีบทบาทในการนี้ได้
ประยูร ภมรมนตรี เป็นคนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯก็จริง แต่ท่านเกิดที่ต่างแดน คือเกิดที่ นครเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ปี 2440 บิดาของท่านคือ นายพันตรี พระชำนาญคุรุวิทย์ (แย้ม ภมรมนตรี)ได้รับแต่งตั้งไปเป็นทูตทหารอยู่ที่เยอรมนีในขณะนั้น มารดาของท่านเป็นแพทย์หญิงเชื้อสายเยอรมัน ชื่อ แอนเนลี ไฟร์ ประยูรมีพี่ชายเป็นคู่แฝดชื่อ ประยงค์ ตอนเด็กอายุประมาณ 7-8 ขวบ ถูกนำถวายตัวเป็นข้าหลวงในสมเด็จกรมพระนครสวรรค์วรพินิต ต่อมาเป็นหนุ่มแล้วจึงได้เดินทางไปศึกษาวิชารัฐศาสตร์ที่ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเป็นดินแดนที่ประยูรได้พบปะรู้จักกับนักเรียนไทยหลายคน ประยูรได้รู้จักกับนายควง อภัยวงศ์ ก่อนและนายควงเป็นผู้แนะนำให้เขาได้รู้จักกับผู้นำนักเรียนไทยในฝรั่งเศส คือนายปรีดี พนมยงค์ ด้วยคุณลักษณะที่เป็นคนสนุกสนานเข้ากับคนได้ง่าย ประยูรจึงรู้จักกับนักเรียนไทยมากและท่านก็รู้จักสนิทดีกับนายปรีดีที่มาเรียนกฎมาย และนายร้อยโท แปลก ขีตสังคะ ที่มาเรียนวิชาทหาร คุณประยูรนี่เองที่ระบุด้วยว่านักเรียนไทยในฝรั่งเศส 6 คนและข้าราชการสถานทูตหนึ่งคน ได้ไปร่วมประชุมกันที่บ้านพักของท่านที่ปารีส เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ปี 2467 หารือกันเรื่องเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดินสยาม คุณประยูรระบุชื่อคนทั้ง 7 ไว้ดังนี้
“'1. ร.ท.แปลก ขีตตะสังคะ 2.นายปรีดี พนมยงค์ 3.หลวงศิริราชไมตรี 4. ดร.ตั้ว ลพานุกรม 5. ร.ต.ทัศนัย มิตรภักดี 6. นายแนบ พหลโยธิน 7. ร.ท.ประยูร ภมรมนตรี”
จากปารีสเมื่อกลับมาเมืองไทยคุณประยูรก็เป็นตัวเชื่อมที่สำคัญที่ติดต่อได้กับนายพันเอกพระยาทรงสุรเดช เพราะเคยต้อนรับพระยาทรงฯตอนที่ท่านเดินทางไปดูงานที่ประเทศฝรั่งเศสกับนายพันเอกพระยาศรีสิทธิสงคราม และติดต่อกับนายพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนาได้โดยผ่านทางน้องชายพระยาพหลฯ จนทำให้ได้ “สี่ทหารเสือ” ประกอบด้วยนายพันเอกพระยาพหลฯ นายพันเอกพระยาทรงฯ นายพันเอกพระยาฤทธิ์อัคเนย์ และนายพันโทพระประศาสน์พิทยายุทธ มาร่วมเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน
การเป็นผู้ก่อการฯที่มีบทบาทสำคัญจึงทำให้ประยูร ภมรมนตรี ได้รับแต่งตั้งในวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ.2475 ให้เป็นหนึ่งในสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดแรกจำนวน 70 คนที่ทำหน้าที่นิติบัญญัติของแผ่นดิน ที่ทางผู้รักษาพระนครคือพระยาพหลพลพยุหเสนาได้แต่งตั้ง และก็เป็นหนึ่งในสิบของผู้ก่อการฯที่ได้รับแต่งตั้งอยู่ในคณะผู้บริหารประเทศที่มีชื่อว่าคณะกรรมการราษฎรที่มีคนนอกหรือคนกลาง คือพระยามโนปกรณ์นิติธาดาเป็นประธาน ซึ่งก็เทียบได้ว่าเป็นนายกรัฐมนตรีหรือหัวหน้ารัฐบาล และเมื่อมีการเสนอร่างรัฐธรรมนูญที่คณะอนุกรรมการยกร่างนำเสนอต่อสภาผู้แทนฯ ประยูร ได้เป็นผู้อภิปรายเสนอความเห็นด้วยเป็นอย่างดี จึงเป็นผู้มีบทบาททางการเมืองพอสมควร
การเมืองหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในช่วงปีแรกนั้น ได้มีความขัดแย้งกันในกลุ่มผู้ก่อการฯที่อยู่ในรัฐบาลและในรัฐสภา ในฝ่ายทหารนั้นเชื่อกันว่าพระยาพหลฯและหลวงพิบูลฯอยู่พวกเดียวกัน ส่วนพระยาทรงสุรเดช พระยาฤทธิ์อัคเนย์และพระประศาสน์พิทยายุทธ เป็นอีกพวกหนึ่ง ที่ปรากฏนั้นก็คือมีความเห็นต่างกันในการจะปรับปรุงกองทัพบก ที่มีความเข้าใจกันว่าจะเป็นการลดอำนาจหรือทำให้พระยาพหลฯและหลวงพิบูลฯพ้นจากตำแหน่งคุมกำลังและทำให้พระยาทรงฯเป็นผู้มีอำนาจแต่ฝ่ายเดียว แม้ข้อเท็จจริงจะยังไม่ชัดเจน แต่ความที่แตกต่างจนแยกเป็นสองพวกในกลุ่มผู้ก่อการฯก็เป็นความจริง โดยเฉพาะความเห็นต่างกันเกี่ยวกับเค้าโครงเศรษฐกิจของชาติที่ในรัฐบาลมีความเห็นเป็นสองฝ่าย คือฝ่ายเจ้าของเค้าโครงเศรษฐกิจ ได้แก่หลวงประดิษฐ์มนูธรรม กับฝ่ายที่เห็นต่างคือพระยามโนฯ นายกรัฐมนตรี ส่วนสภาผู้แทนฯนั้นเสียงข้างมากค่อนข้างจะคล้อยไปทางหลวงประดิษฐ์ฯ การขัดแย้งในเรื่องนี้ได้ทำให้นายกฯเสนอออกพระราชกฤษฎีกาปิดสภาฯกับงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราและมีการปรับคณะรัฐมนตรี การเผชิญหน้าการครั้งนี้คุณประยูรถูกมองว่าอยู่ข้างนายกฯพระยามโนฯและพระยาทรงฯ เพราะยังรักษาตำแหน่งรัฐมนตรีลอยอยู่ในคณะรัฐบาลได้ ในขณะที่หลวงประดิษฐ์ฯและเพื่อนรัฐมนตรีที่เป็นพลเรือนถูกปลดออกจากรัฐบาล
ดังนั้นเมื่อพระยาพหลฯ หลวงพิบูลฯและหลวงศุภชลาศัย ยึดอำนาจซ้ำในวันที่ 20 มิถุนายน ปี 2476 ล้มรัฐบาลของพระยามโนฯได้ ประยูรจึงไม่มีชื่อในรัฐบาลใหม่ที่มีพระยาพหลฯเป็นนายกรัฐมนตรี ตอนนั้นบทบาทในวงการเมืองของประยูรจึงหมดไป คุณประยูรเคยเขียนเล่าถึงการ"ตกที่ลำบาก" ของท่านไว้ดังจะขอยกมาสักตอนหนึ่ง
“ส่วนตัวข้าพเจ้าเองกลายเป็นตัวสะกังก์ เป็นนกมีหูหนูมีปีก จะเป็นทหารก็ไม่เชิงจะเป็นพลเรือนก็ไม่ใช่ผู้ก่อการฝ่ายทหารหวาดระแวง ไม่สนใจ ไร้ความหมาย ส่วนผู้ก่อการฯฝ่ายพลเรือนนั้น ชังน้ำหน้าเคียดแค้นยิ่งนัก ...”
หลังจากมีการประชุมหารือและหาพวกที่กล้าจะทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดินได้ จนตกผลึกกำหนดวันที่จะทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองตามแผนการของพระยาทรงสุรเดชที่ผู้ร่วมก่อการฯยอมให้เป็นผู้กำหนดแผนงาน โดยมีวันปฏิบัติการในตอนเช้ามืดวันที่ 24 มิถุนายน ปี 2475 และในวันยึดอำนาจนี่เอง ประยูร ภมรมนตรี ผู้ที่ทำงานอยู่ที่กรมไปรษณีย์ด้วยกับนายควง อภัยวงศ์ ก็รับงานจากพระยาทรงสุรเดชให้นำพวกมาปฏิบัติการตัดสายโทรศัพท์ที่ต้นทางคือที่ทำการที่วัดเลียบ เชิงสะพานพุทธยอดฟ้า ตัดการติดต่อทางโทรศัพท์ทั้งหลายตั้งแต่ตีห้า ก่อนที่ฝ่ายทหารที่นำโดยพระยาพหลฯและพระยาทรงฯจะเข้าขนอาวุธจากค่ายทหารที่บริเวณถนนทหาร และนำทหารออกปฏิบัติการยึดพระนคร ดังนั้นในวันที่มีปฏิบัติการยึดพระนครนั้น คุณประยูรจึงมีหน้าที่สำคัญ คือ ตัดการติดต่อสื่อสารของฝ่ายรัฐบาลได้เรียบร้อย ตามคำบอกเล่าของพระยาทรงสุรเดช มีว่า
“การติดต่อทางโทรศัพท์ตั้งแต่เวลาเช้ามืด ต้องป้องกันไว้โดยมอบให้นายประยูรเป็นผู้จัดการ เพราะเขาเป็นเจ้าหน้าที่ในกรมไปรษณีย์อยู่เวลานั้น ...”
ตอนนั้นคุณประยูรเคยเขียนเล่าเอาไว้ว่าตนเองทำงานที่กรมไปรษณีย์โทรเลข “หน้าที่ผู้ช่วยหัวหน้าแผนกธนาณัติต่างประเทศ” นอกจากนั้นนายควง อภัยวงศ์ ผู้ซึ่งทำงานที่กรมไปรษณีย์ฯและอยู่ในกลุ่มคนที่ต้องทำหน้าที่ตัดการติดต่อทางโทรศัพท์เล่าเรื่องตรงนี้ว่า ได้มีการประชุมวางแผนปฏิบัติการของงานนี้ที่บ้านของคุณประยูรที่ถนนสวรรคโลก ฝั่งตรงข้ามกับทางรถไฟว่างานนี้ต้องการใช้คนกี่คน จะต้องทำอะไรบ้าง และจะตัดสายทั้งโทรเลขและโทรศัพท์ที่ใดบ้าง ครั้นถึงวันก่อนการยึดอำนาจหนึ่งวันคือตอนดึกของวันที่ 23 มิถุนายน ปี 2475 คุณประยูรจึงได้ติดต่อให้นายควง อภัยวงศ์ รู้
“คุณประยูร มาบอกตอน '4 ทุ่ม วันที่ 23 มิถุนายน ว่า ควงคืนนี้เราเอาละนะ ผมก็ว่าเออ ตามใจ เอาก็เอา ผมไม่ว่าอะไร เขาถามว่าลื้อต้องการอะไรบ้าง ผมก็บอกว่าลื้อต้องให้ทหารอีกครึ่งโหล แล้วคนเพิ่มอีก เพราะจะไปตัดสายที่กรมไปรษณีย์ มันมีพนักงานนอนเวรอยู่”
ส่วนคุณประยูรเองนั้นก็ได้เล่าถึงการวางแผนที่จะตัดการติดต่อทางโทรศัพท์เอาไว้ด้วยเหมือนกันว่า “การเข้าทำลายสถานีโทรศัพท์ได้มีการฝึกซ้อมกันมาหลายครั้ง โดยนายควง อภัยวงศ์ กับข้าพเจ้าได้พาคณะผู้ก่อการฝ่ายเทคนิค มีดร.ประจวบ บุนนาค ฯลฯ ได้เข้าไปเยี่ยม ม.ร.ว.เชื้อ สนิทวงศ์ หัวหน้ากองโทรศัพท์ ชวนกันไปเลี้ยงอาหารแล้วก็เลยไปทำการสำรวจตรวจสอบสถานที่และการควบคุมรักษาตลอดจนไต่ถามสัญญาณพิเศษต่างๆ ...”
ถึงเวลาปฏิบัติการตอนเช้ามืดวันที่ 24 มิถุนายน ปี 2475 ประยูร ภมรมนตรี จึงนำพวกออกทำงานสำเร็จได้
ประยูร ภมรมนตรี ดวงตกทางการเมืองไปพักหนึ่ง ถึงขนาดถูกตำรวจจับกุมไปคุมขังอยู่ด้วย ดีว่าเป็นเพื่อนเก่ากับผู้ก่อการฯที่มีอำนาจหลายคน ดังนั้นการที่จะต้องถูกบีบให้ไปอยู่ต่างประเทศเฉยๆ ประยูรจึงได้ไปเป็นกงสุลไทยที่เมืองไซ่ง่อนในเดือนมกราคม ปี 2477 และเมื่อหลวงพิบูลฯซึ่งเป็นผู้ทรงอำนาจจริงในวันนั้นหายโกรธและวางใจ ประยูรก็ได้กลับเข้ารับราชการทหารและได้เป็นเจ้ากรมยุวชนทหาร ในวันที่ 1 เมษายน ปี 2481 และยังได้ไปมีบทบาทช่วยบริหารที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปีเดียวกันนี้เมื่อหลวงพิบูลฯได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ประยูร ภมรมนตรี ก็ได้กลับเข้ามามีตำแหน่งทางการเมือง ในเดือนธันวาคม ปี 2481โดยเป็นรัฐมนตรีสั่งราชการกระทรวงธรรมการที่ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นกระทรวงศึกษาธิการ และท่านก็ได้เป็นรัฐมนตรีดูแลงานด้านการศึกษาต่อมาจนได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กลับมาทำงานการเมืองคราวนี้ท่านได้ทำงานให้หลวงพิบูลฯเป็นอย่างดี จึงได้รับหมอบหมายให้ทำงานพิเศษดังที่ท่านได้เขียนเล่าเอาไว้หลายเรื่องที่ทำให้เห็นว่าหลวงพิบูลฯเป็นหัวหน้ารัฐบาลที่มองดูการเมืองข้ามพรมแดนไทยไปต่างประเทศด้วยเป็นอย่างมาก และประยูรก็คือตัวแทนนายกฯคนหนึ่งที่หลวงพิบูลฯส่งให้เดินทางไปติดต่อกับเยอรมนี จนได้พบกับ ผู้นำฮิตเลอร์ และเป็นรัฐมนตรีคนแรกของไทยที่รัฐบาลแอบส่งไปสหภาพโซเวียตถึงกรุงมอสโคว์ได้ตกลงค้ากับรัสเซียและเริ่มเจรจาที่จะสถาปนาความสัมพันธ์เป็นครั้งแรกกับประเทศคอมมิวนิสต์ ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2483
ดังนั้นในรัฐบาลนี้ จึงถือได้ว่าประยูร ภมรมนตรี เป็นรัฐมนตรีคู่ใจของนายกฯหลวงพิบูลฯอยู่กันต่อมาในภาวะสงคราม จนหลวงพิบูลฯถูกการเมืองภายในเล่นงาน ถึงขนาดแพ้ร่างกฎหมายอนุมัติพระราชกำหนดสองฉบับ ทำให้รัฐบาลต้องลาออก ประยูร ภมรมนตรี จึงพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรี แต่หลวงพิบูลฯนั้นเป็นนักการเมืองประเภทไม้ล้มข้ามยาก อีกประมาณสามปีต่อมาคณะรัฐประหารยึดอำนาจล้มรัฐบาลหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ และให้นายควงมาเป็นนายกฯชั่วคราว แล้วจึงกลับไปเอาหลวงพิบูลฯมาเป็นนายกฯอีกตั้งแต่ปี 2491 จนมีการยึดอำนาจซ้ำตอนปลายปี 2494 โดยหลวงพิบูลฯได้เป็นนายกฯต่อเนื่องมา ถึงปี 2497 นายกฯหลวงพิบูลฯก็ได้ดึงเอาประยูร ภมรมนตรี กลับมาเป็นรัฐมนตรีร่วมรัฐบาลให้ว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้อยู่ร่วมรัฐบาลจนมีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ปี 2500 ประยูร ซึ่งมียศทางทหารเป็นพลโท ก็ไปลงสมัครเข้ารับเลือกตั้งที่จังหวัดเชียงใหม่และชนะเลือกตั้ง แต่รัฐบาลแพ้การเมืองในข้อหาว่าการเลือกตั้งสกปรก จึงถูกจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ นำทหารเข้ายึดอำนาจ ประยูรจึงพ้นจากวงการเมืองอย่างถาวร
ชีวิตครอบครัวของพลโท ประยูร ภมรมนตรี นั้นท่านมีภรรยาคนแรกคือคุณหญิงราศรี และภรรยาคนที่สองคือคุณเรณู ตัวท่านเองได้อยู่ดูการเมืองมาอีกหลายปี มาถึงแก่อนิจกรรมด้วยอุบัติเหตุถูกรถชนเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ.2525