ผลต่างระหว่างรุ่นของ "ประมาณ อดิเรกสาร : หัวหน้าพรรคชาติไทยคนแรก"
สร้างหน้าด้วย " ผู้เรียบเรียง : ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร ผู้ท..." |
ล Apirom ย้ายหน้า ประมาณ อดิเรกสาร (ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร) ไปยัง [[ประมาณ อดิเรกสาร : ห... |
(ไม่แตกต่าง)
|
รุ่นแก้ไขปัจจุบันเมื่อ 17:29, 6 พฤษภาคม 2563
ผู้เรียบเรียง : ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
ประมาณ อดิเรกสาร : หัวหน้าพรรคชาติไทยคนแรก
เส้นทางการเมืองของประมาณ อดิเรกสาร นายทหารอาชีพผู้นี้ไม่ธรรมดา เพราะท่านเข้าร่วมวงจรการเมืองไทยโดยเป็นนายทหารระดับล่างคนหนึ่งที่เข้าร่วมในคณะรัฐประหาร ที่เข้ายึดอำนาจเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ.2490 คณะรัฐประหารนี้มีพลโท ผิน ชุณหะวัณ เป็นหัวหน้า และที่สำคัญพลโท ผินท่านเป็นพ่อตาของพันตรี ประมาณด้วย ตามคำบอกเล่าของผู้ร่วมงานท่านหนึ่งคือพันโท ถนอม กิตติขจร (ยศขณะนั้น) แสดงให้ทราบว่าพันตรี ประมาณร่วมด้วยดังนี้
“ตอนสายวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 ข้าพเจ้าไปที่กรมพาหนะทหารบก (กรมการขนส่งทหารบกปัจจุบัน) พบกับพันตรี ประมาณ อดิเรกสาร และพันตรี ศิริ สิริโยธิน (ยศขณะนั้น) ซึ่งจะร่วมในการรัฐประหารด้วย”
ตั้งแต่บัดนั้นชีวิตท่านก็ได้เข้ามาในวงการเมือง แต่ตำแหน่งสำคัญนอกกองทัพ ที่พันตรี ประมาณไปเป็นคือผู้อำนวยการองค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ หรือองค์การ ร.ส.พ.นั่นเอง เขาว่าก่อนที่จะดำรงตำแหน่งนี้ท่านได้เดินทางไปศึกษาดูงานที่สหรัฐฯมานานเป็นปี
มาดูชีวิตเบื้องต้นของคนชื่อประมาณ อดิเรกสาร กันบ้าง คุณประมาณเป็นคนเมืองสระบุรี ดังจะเห็นได้ว่าเมื่อท่านคิดเล่นการเมืองโดยการลงเลือกตั้ง ท่านจึงลงสมัครเข้ารับเลือกตั้งที่จังหวัดสระบุรี ตามประวัติระบุว่าท่านเกิดที่ตำบลปากเพรียว อำเภอเมือง จังหวัดสระบุรี มีบิดาชื่อเน้ย และมารดาชื่อจี้ บิดาท่านมีอาชีพค้าขาย แต่ท่านกำพร้าบิดาตั้งแต่ท่านยังเด็กมาก ดังนั้นในการศึกษาเบื้องต้นของท่านจึงอยู่ที่จังหวัดสระบุรี เรียนที่โรงเรียนชายประจำจังหวัดสระบุรี จนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 หลังจากนั้นจึงเข้ามาเรียนในโรงเรียนหลวงที่ดังอีกแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ได้แก่โรงเรียนเทพศิรินทร์ และไปเข้าเรียนต่อที่โรงเรียนนายร้อยทหารบกได้ในปีที่มีการปฏิวัติสำคัญของไทย คือปี 2475 เรียนจบแล้วก็ได้เข้ารับราชการเป็นนายทหาร และชีวิตสมรสของท่านนั้น ในขณะที่มียศเป็นร้อยเอกท่านได้แต่งงานกับ นางสาวเจริญ ชุณหะวัณ ธิดาของนายทหารบก ชื่อผิน ชุณหะวัณ ซึ่งต่อมาคือจอมพล ผิน ผู้มีบทบาทมากคนหนึ่งในวงการทหารและการเมืองไทย เป็นหัวหน้ากลุ่มการเมืองสำคัญที่มีบทบาทอยู่นานในการเมืองไทยที่เรียกกันว่า “กลุ่มราชครู”
พันตรี ประมาณ อดิเรกสาร ได้เข้ามาในวงการเมืองโดยร่วมงานในคณะรัฐประหารตั้งแต่ปี 2490 แล้ว ครั้นถึงปลายปี 2494 หลังการยึดอำนาจซ้ำของคณะ 9 นายทหารในวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ.2494 และมีรัฐบาลที่จอมพล ป.พิบูลสงคราม กลับเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง ประมาณ อดิเรกสาร ซึ่งมียศทางทหารเป็นพันเอกก็ได้เป็นรัฐมนตรีเป็นครั้งแรกในวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ.2494 ในตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม
ในปีถัดมา ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญใหม่ คือรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2475 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2495 แล้ว จึงมีการเลือกตั้งทั่วไป คราวนี้พันเอก ประมาณ ได้ลาออกจากการเป็นทหารเพื่อลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎร ขณะนั้นท่านมีอายุเพียง 38 ปี โดยท่านลงสมัครเข้ารับเลือกตั้งที่จังหวัดสระบุรีที่เป็นบ้านเกิดของท่าน และเมืองนี้ก็ถือว่าเป็นเมืองทหาร มีหน่วยทหารสำคัญตั้งอยู่ เหตุผลอีกอย่างหนึ่งที่ท่านตัดสินใจลงสมัครที่จังหวัดสระบุรี ที่เป็นเมืองที่มีผู้แทนราษฎรได้เพียงคนเดียวนั้นก็เพราะท่านต้องการแข่งขันกับนักการเมืองชื่อดัง มือดี ที่เป็นอดีตนายทหาร ซึ่งเป็นรัฐมนตรีมาแล้วอย่างพันโทประเสริฐ สุดบรรทัด คุณประมาณ อดิเรกสาร เล่าถึงเหตุที่ท่านลงเลือกตั้งดังนี้
“แต่มีเหตุให้ต้องเข้าไปสู่วงการเมือง ก็เพราะเพื่อรักษาเกียรติของลูกผู้ชาย นั่นคือในวันหนึ่งประมาณกลางเดือนตุลาคม 2494 ผมได้ไปราชการที่กระทรวงคมนาคมเรื่องงานของ ร.ส.พ. ซึ่งเป็นหน่วยขึ้นตรงต่อกระทรวงคมนาคม ได้ปะทะคารมกับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และเป็นผู้แทนในขณะนั้นด้วย การโต้เถียงได้ดำเนินถึงขั้นผมถูกท้าให้ไปสมัครผู้แทนราษฎรแข่งกันที่จังหวัดสระบุรี ด้วยโคลงพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯที่ว่า ‘เกียรติศักดิ์รักของข้ามอบไว้แก่ตัว’ ผมจึงตกลงรับคำท้า'”
ผลการเลือกตั้งครั้งนั้น พันเอก ประมาณ ชนะเลือกตั้ง จึงได้รุ่งเรืองทางการเมืองต่อมา เพราะหลังเลือกตั้งมีรัฐบาลใหม่แต่นายกฯคนเก่า พันเอก ประมาณได้ร่วมรัฐบาลของหลวงพิบูลสงคราม ในตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม อีกปีถัดมาท่านก็ย้ายกระทรวงมาเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ท่านเป็นรัฐมนตรีช่วยต่อเนื่องมา จนถึงปี 2499 ก็ได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ตอนนั้นกลุ่มการเมือง “ราชครู” ของจอมพล ผิน ชุณหะวัน และ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ กำลังมีอำนาจและวาสนามาก
ในการเลือกตั้งวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ปี 2500 ที่เรียกกันว่า “การเลือกตั้งกึ่งพุทธกาล” พลตรี ประมาณ อดิเรกสาร ซึ่งตอนนี้สังกัดพรรคเสรีมนังคศิลา ก็ลงสมัครรับเลือกตั้งด้วยที่จังหวัดสระบุรี พรรคการเมืองนี้เป็นพรรครัฐบาลที่มีจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นหัวหน้า มีจอมพล ผินเป็นรองหัวหน้าพรรค และมี “เขยใหญ่”ของจอมพล ผิน คือ พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ เป็นเลขาธิการพรรค ปรากฏว่าพลตรี ประมาณชนะเลือกตั้ง หลังการเลือกตั้งมีการตั้งรัฐบาลทีจอมพล ป. กลับมาเป็นนายกฯและพลตรี ประมาณก็กลับมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเหมือนเดิม
แต่คราวนี้ชีวิตรัฐบาลใหม่ค่อนข้างสั้น ตั้งแต่เริ่มตั้งรัฐบาลในเดือนมีนาคม พ.ศ.2500 รัฐบาลต้องเจอกับการประท้วงของนักศึกษาและประชาชน ที่กล่าวหาว่าการเลือกตั้งที่ผ่านมานั้นมีการโกงเลือกตั้ง ทั้งในคณะรัฐบาลเองก็มีการขัดแย้งมากระหว่างฝ่ายตำรวจของ พล.ต.อ. เผ่า กับฝ่ายทหารของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ จนถึงขั้นแตกหัก
กลางดึกคืนวันที่ 16 กันยายน พ.ศ.2500 จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้นำคณะทหารเข้ายึดอำนาจล้มรัฐบาลของจอมพล ป.พิบูลสงครามลงได้ อันมีผลทำให้อำนาจของกลุ่มราชครูหมดสิ้นลง และผู้นำแท้จริงของกลุ่มคือ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ ถูกบีบให้เดินทางอย่างกะทันหัน ไปลี้ภัยการเมืองอยู่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ทั้งพลจัตวา ชาติชาย ชุณหะวัณ บุตรชายของจอมพล ผิน ก็ถูกส่งออกไปเป็นทูตอยู่ไกลถึงประเทศอาร์เยนตินา กระนั้นพลตรี ประมาณ อดิเรกสาร ก็ยังอยู่ได้ เพียงแต่พ้นตำแหน่งผู้แทนราษฎร ครั้นมีการเลือกตั้งใหม่ในเดือนธันวาคมปีเดียวกัน ท่านก็ยังลงเลือกตั้งที่จังหวัดสระบุรี โดยสังกัดพรรคเสรีมนังคศิลา และเอาตัวรอดชนะเลือกตั้งได้ เพียงแต่ผู้สมัครคู่กันที่เคยชนะมาด้วยกันแพ้เลือกตั้ง แต่เป็นผู้แทนราษฎรคราวนี้มีอายุค่อนข้างสั้น เพราะยังไม่ทันครบปี ในวันที่ 20 ตุลาคมปี 2501 จอมพล สฤษดิ์ก็ยึดอำนาจซ้ำอีกครั้ง คราวนี้เรียกว่า “ปฏิวัติ” ต้องการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ จึงตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้น พลตรี ประมาณได้รับการแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญด้วยคนหนึ่ง และในช่วงที่การเมืองไม่ปกติ ไม่มีทั้งพรรคการเมืองและไม่มีการเลือกตั้งนั้น พลตรีประมาณได้หันไปสนใจทำธุรกิจด้านอุตสาหกรรม การเป็นรัฐมนตรีอยู่กระทรวงอุตสาหกรรมมานาน จึงทำให้มีทั้งความรู้และได้รู้จักสนิทกับผู้คนในวงการอุตสาหกรรมมาก จึงทำให้ท่านเจริญรุ่งเรืองในธุรกิจ ทางด้านการเมืองและการทหารนั้นแม้ท่านจะเป็นบุตรเขยของกลุ่มราชครูก็ตาม แต่ในฝ่ายทหารของจอมพล สฤษดิ์นั้น พลโท พงษ์ ปุณณกันต์ สามีของคุณหญิง สะอาด ผู้เป็นพี่สาวคนโตของพลตรีประมาณ ก็เป็นรัฐมนตรีอยู่ในรัฐบาลของจอมพล สฤษดิ์
การเมืองไทยผ่านมาจนมีรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2511 และ มีการเลือกตั้งใหม่ แต่พลตรีประมาณก็ไม่ได้กลับมาลงเลือกตั้ง แต่เมื่อจอมพล ถนอมยึดอำนาจและตั้งสภานิติบัญญัติขึ้นในปี 2515 ท่านก็ได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติด้วย และได้ผ่านเหตุการณ์ “14 ตุลาคม 2516” ที่ล้มรัฐบาลของจอมพล ถนอม จนมีรัฐธรรมนูญใหม่ ปี 2517 ทำให้ผู้ที่สนใจการเมืองทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่ออกมาเล่นการเมืองกันมาก พลตรีประมาณร่วมกันคิดกับมิตร คือ พลตรี ศิริ สิริโยธิน และน้องเมีย คือพลตรี ชาติชาย กับเพื่อนและมิตรตั้งพรรคการเมืองชื่อพรรคชาติไทย และพลตรี ประมาณก็ได้เป็นหัวหน้าพรรคคนแรก เวลานั้นพรรคชาติไทยถูกมองว่าเป็นพรรคแนวขวา ซึ่งทางผู้นำพรรคก็รู้ ดังที่มีการอธิบายว่า
“การโจมตีของพรรคอื่นว่าพรรคชาติไทยเป็นพรรค ‘นายทุน ขุนศึก ศักดินา ทรราช’ และโจมตีหัวหน้าพรรคโดยให้ฉายาว่า ‘ขวาพิฆาตซ้าย’ กลับทำให้ประชาชนเห็นว่าพรรคชาติไทยจะช่วยให้ชาติอยู่รอดจากภัยคอมมิวนิสต์ "
พรรคชาติไทยลงเลือกตั้งครั้งแรกปี 2518 ชนะได้ที่นั่ง 28 ที่นั่ง ไม่ได้ร่วมรัฐบาลชุดแรก แต่มาร่วมรัฐบาลชุดที่สองที่มี ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นนายกฯ พลตรีประมาณได้เป็นรองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม อยู่มาจนนายกฯยุบสภา มีการเลือกตั้งใหม่ในปี 2519 หลังการเลือกตั้งทั่วไป พรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนจัดตั้งรัฐบาล มี ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี พรรคชาติไทยได้ร่วมรัฐบาล พลตรีประมาณได้ดำรงตำแหน่งรองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อยู่จนถึงวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 ก็พ้นตำแหน่งเพราะรัฐบาลถูกคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินยึดอำนาจล้มรัฐบาล ท่านเว้นว่างการเมืองไปจนมีการเลือกตั้งปี 2522 ท่านจึงกลับมาเล่นการเมืองอีก แต่ไม่ได้ร่วมรัฐบาลของพลเอก เกรียงศักดิ์ เมื่อพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีในปี 2523 พลตรีประมาณจึงนำพรรคชาติไทยเข้าร่วมรัฐบาลและท่านก็ได้ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี จนนายกฯพลเอก เปรมยุบสภาในปี 2526
การเลือกตั้งปี 2526 นับว่าเป็นการเลือกตั้งที่สำคัญมากของพลตรีประมาณ พรรคชาติไทยที่ท่านเป็นหัวหน้าชนะได้สมาชิกเข้าสภามากเป็นอันดับที่ 1และยังรวบรวมได้ผู้แทนราษฎรที่ไม่สังกัดพรรคมาเพิ่มได้อีก แต่เสียงก็ยังไม่มากกว่าครึ่งสภา ท่านจึงจะให้พรรคชาติไทยเป็นแกนจัดตั้งรัฐบาล ปรากฏว่าท่านไม่ได้รับความร่วมมือจากพรรคอื่นที่เป็นพรรคใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพรรคกิจสังคมของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ที่สนับสนุนพลเอก เปรม ที่เป็น “คนกลาง” ให้เป็นนายกฯต่อไป พรรคชาติไทยจึงไม่มีเสียงพอจะจัดตั้งรัฐบาลได้ พลตรีประมาณจึงต้องนำพรรคชาติไทยไปเป็นฝ่ายค้าน
การที่ต้องออกมาเป็นฝ่ายค้านคราวนั้น ทำให้ท่านต้องถูกบีบให้พ้นจากหัวหน้าพรรคชาติไทย และพลตรี ชาติชายขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรค และหลังการเลือกตั้งปี 2529 พลตรี ชาติชายก็สามารถนำพรรคชาติไทยเข้าร่วมรัฐบาลได้ แต่พลตรีประมาณเองก็มิได้มีตำแหน่งในรัฐบาล ท่านได้เข้าร่วมรัฐบาลก็เมื่อพรรคชาติไทยได้เสียงนำในการเลือกตั้งปี 2531และพลเอก เปรมวางมือทางการเมือง ทำให้พลตรี ชาติชายได้เป็นนายกฯ ครั้งนี้พลตรีประมาณได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย แต่ก็ไปมีความขัดแย้งกับผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในเรื่องการแต่งตั้งปลัดกรุงเทพมหานคร จนนายกฯได้ปรับให้ท่านไปอยู่กระทรวงอุตสาหกรรม ช่วงเวลาหนึ่ง แต่ท่านก็ร่วมรัฐบาลจนถึงวันที่ถูกยึดอำนาจในปี 2534
พ้นจากอำนาจครั้งนี้ ท่านเดือดร้อนมากกว่าครั้งอื่นๆเพราะท่านถูกคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินที่คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติแต่งตั้งตรวจสอบ ถูกอายัดทรัพย์ ถูกประกาศยึดทรัพย์. จนท่านได้ร้องต่อศาลและศาลฎีกามีคำสั่งเพิกถอนคำวินิจฉัยการตรวจสอบทรัพย์สินเมื่อวันที่ 30 เมษายน ปี 2530 พลเอก ประมาณกล่าวถึงวิบากกรรมคราวนั้นว่า
“ผมต้องทนทุกข์เพราะ รสช.มาตั้งแต่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 จนถึงวันที่ 18 ธันวาคม 2538”
แต่ท่านก็ยังไม่หนีหายไปจากการเมือง ยังลงเลือกตั้งและชนะต่อมาจนถึงปี 2538 และยังได้เป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 จากนั้นพลเอก ประมาณก็มีชีวิตอยู่ดูการเมืองจนถึงอนิจกรรมในวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2553