ผลต่างระหว่างรุ่นของ "อภัยโทษ"
ไม่มีความย่อการแก้ไข |
ไม่มีความย่อการแก้ไข |
||
บรรทัดที่ 143: | บรรทัดที่ 143: | ||
</div> <div id="ftn13"> | </div> <div id="ftn13"> | ||
[[#_ftnref13|[13]]] ข้อมูลจากเว็บไซต์กรมราชทัณฑ์ [http://www.correct.go.th/odchoyp/apaitod.htm http://www.correct.go.th/odchoyp/apaitod.htm] (สืบค้นเมื่อ 24 กรกฎาคม 2557) | [[#_ftnref13|[13]]] ข้อมูลจากเว็บไซต์กรมราชทัณฑ์ [http://www.correct.go.th/odchoyp/apaitod.htm http://www.correct.go.th/odchoyp/apaitod.htm] (สืบค้นเมื่อ 24 กรกฎาคม 2557) | ||
</div> </div> | </div> </div> | ||
[[Category:รัฐสภา]] |
รุ่นแก้ไขปัจจุบันเมื่อ 15:29, 25 พฤษภาคม 2560
ผู้เรียบเรียง : นางสาวนันทกานท์ ชมสาคร
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : นายจเร พันธุ์เปรื่อง
เดิมแต่โบราณกาลมา มนุษย์เราแต่ละปัจเจกบุคคลเมื่อเกิดมาแล้วย่อมมีสิทธิ เสรีภาพ และอิสรภาพตามธรรมชาติ ที่จะดำเนินชีวิตไปตามครรลองของโลก แสวงหาปัจจัยสี่อันเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต ไม่ว่าจะเป็นอาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรค ตลอดจนสิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะมีชีวิตหรือไม่มีชีวิตที่สามารถใช้กำลังและสติปัญญาไขว่คว้ามาไว้ในความครอบครองและยึดถือความเป็นเจ้าของเพื่อนำมาซึ่งความสุข ความอภิรมย์ และความมั่นคงปลอดภัยของตน แต่เมื่อมนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่เรียกได้ว่า สัตว์สังคม (อังกฤษ:Social animal) ปัจเจกบุคคลแต่ละคนย่อมมีสัมพันธ์และปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน การใช้สิทธิ เสรีภาพ และอิสรภาพของแต่ละปัจเจกบุคคลจึงกระทบกระทั่งกันด้วยการแก่งแย่งทรัพยากรที่มีจำกัด ความวุ่นวายและโกลาหลในสังคมมนุษย์จึงเกิดจากการใช้สิทธิ เสรีภาพ และอิสรภาพตามอำเภอใจของแต่ละปัจเจกบุคคล มนุษย์ทั้งหลายจึงมาทำข้อตกลงกันกำหนดบุคคลขึ้นมาเป็นผู้ปกครองของตน ทำหน้าที่ควบคุมความประพฤติของประชาชนเพื่อรักษาความสงบสุขและความมั่นคงของสังคมไว้ โดยการวินิจฉัยและชี้ขาดตัดสินว่าการกระทำใดเป็นความผิด[1] ซึ่งต่อมาได้พัฒนามาเป็นกฎหมาย และเพื่อให้ประชาชนเคารพกฎหมาย การฝ่าฝืนกฎหมายจึงต้องกำหนดบทลงโทษโทษทางอาญา[2] ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันมีสภาพร้ายแรงอย่างเบาเป็นการลิดรอน อย่างกลางจำกัด และอย่างหนักเป็นการตัดสิทธิ เสรีภาพ และอิสรภาพของปัจเจกบุคคลโดยสิ้นเชิง คือ โทษประหารชีวิต หรือ อุกฤษฏ์โทษ (อังกฤษ: capital punishment, death penalty) ซึ่งยังคงเป็นที่ถกเถียงกันว่า มนุษย์สามารถลงโทษมนุษย์ด้วยกันถึงขั้นทำลายชีวิตได้หรือไม่ โดยปัจจุบันมีประเทศที่ยังคงโทษประหารชีวิต 58 ประเทศ ประเทศที่ยกเลิกโทษประหารชีวิตสำหรับอาชญากรรมทุกรูปแบบโดยนิตินัย 98 ประเทศ ประเทศที่ยกเลิกโทษประหารชีวิตเฉพาะอาชญากรรมปรกติ 7 ประเทศ[3]
อย่างไรก็ตาม แม้โทษทางอาญาทุกระดับจะมีความร้ายแรงมีผลเป็นการลิดรอน จำกัด หรือตัดสิทธิ เสรีภาพ และอิสรภาพขั้นพื้นฐานของบุคคล แต่ฝ่ายนิติบัญญัติของประเทศไทยยังคงเห็นความจำเป็นที่จะต้องมีบทบัญญัติกำหนดโทษทางอาญาและยังไม่ได้ยกเลิกโทษประหารชีวิต ทั้งนี้ เพื่อผลในการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ แต่กฎหมายไทยก็ได้มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการอภัยโทษไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ภาค 7 อภัยโทษ เปลี่ยนโทษหนักเป็นเบาและลดโทษ ตั้งแต่มาตรา 259 ถึง 267
ดังนั้น บทบัญญัติ เรื่อง อภัยโทษ จึงมีความสำคัญเพราะเป็นสิทธิของบุคคลที่จะได้รับการคืนสิทธิ เสรีภาพ และอิสรภาพขั้นพื้นฐานของตนกลับมา แล้วกลับคืนสู่สังคมและดำรงชีวิตอย่างผาสุกต่อไป
ความหมาย
พจนานุกรมแปล ไทย-ไทย ราชบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายของคำว่า อภัยโทษ ไว้ว่า ยกโทษหรือเปลี่ยนโทษหนักเป็นเบาหรือลดโทษให้แก่ผู้ต้องคำพิพากษาให้ต้องรับโทษทางอาญาเมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว
เป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญ
นายรณกรณ์ บุญมี อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวในการสัมมนาทางวิชาการ เรื่อง “พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในการพระราชทานอภัยโทษ” ตอนหนึ่งว่า อภัยโทษ ตามภาษาฝรั่งเศส มาจากคำว่า Grace (กรา (เซอ)) มีความหมายว่า การให้อภัยหรือความเมตตาปรานี ซึ่งศาสตราจารย์เอช เอกูต์ ผู้ทรงคุณวุฒิทางกฎหมายของฝรั่งเศสกล่าวว่า “การอภัยโทษ คือ
ความเมตตาปรานีอันมาจากอธิปัตย์หรือประมุขของรัฐอันมีที่ประสงค์ที่จะให้ผู้ต้องคำพิพากษาให้ลงโทษนั้น ได้รับโทษทั้งหมดหรือแต่บางส่วน”[4]
ศาสตราจารย์คนึง ฦาไชย ได้เขียนในหนังสือคำอธิบายกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เล่ม 2 ตอนหนึ่งว่า การอภัยโทษ หมายถึง กรณีที่ผู้ต้องคำพิพากษาว่ามีความผิดและต้องรับโทษตามคำพิพากษาโดยเด็ดขาด แต่พระมหากษัตริย์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อภัยโทษ และกล่าวในอีกตอน ว่า การพระราชทานอภัยโทษเป็นพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ไทยอันเป็นราชประเพณีสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์แต่โบราณกาลและมีมาถึงยุคประชาธิปไตย[5]
ความเป็นมา
อภัยโทษ เป็นราชประเพณีที่สืบทอดมาแต่โบราณกาล ดังความที่ปรากฏในพระไตรปิฎกในหลายตอน อาทิ อรรถกถาปัพพตูปัตถรชาดก ซึ่งเป็นตอนที่พระเจ้าโกสลได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าเพื่อขอคำแนะนำว่าจะทำอย่างไรกับอำมาตย์ของพระองค์ที่กระทำความผิด ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสเล่าให้พระเจ้าโกสลทราบว่า อดีตกษัตริย์ในอินเดีย คือ พระเจ้าพรหมทัตซึ่งครองราชสมบัติกรุงพาราณสีได้พระราชทานอภัยโทษแก่อำมาตย์ที่เป็นชู้กับหญิงของพระองค์มาแล้ว ซึ่งทำให้พระเจ้าโกสลตัดสินพระทัยในการมีพระราชทานอภัยโทษแก่อำมาตย์ของพระองค์เช่นกัน[6] อังคุลีมาลสูตร ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในยุคพุทธกาล เมื่อพระเจ้าปเสนทิโกศลกษัตริย์แคว้นโกศลได้นำกองกำลังทหารม้าจำนวน 500 ออกตามจับโจรองคุลีมาลที่เที่ยวเข่นฆ่าประชาชนแล้วเอานิ้วมือผู้เคราะห์ร้ายมาร้อยเป็นพวงมาลัยสวมใส่ แต่กลับพบว่าองคุลีมาลได้ออกบวชในพุทธศาสนาแล้ว พระพุทธเจ้าจึงตรัสถามพระเจ้าปเสนทิโกศลว่าหากโจรร้ายสำนึกความผิดและกลับใจมาเป็นผู้ถือศีลแล้วจะดำเนินการอย่างไรกับโจรร้ายนั้น ซึ่งพระเจ้าปเสนทิโกศลก็ได้ตรัสตอบพระพุทธเจ้าว่าจะพระราชทานอภัยโทษแก่องคุลีมาล[7]
อุดมคติในทางพุทธศาสนา พระราชาที่ดีควรมี ทศพิธราชธรรม[8] หรือ ราชธรรม 10 ประการ ที่พระราชาทรงประพฤติเป็นหลักธรรมประจำพระองค์ในการปกครองบ้านเมือง เป็นการปกครองโดยธรรมอันจะนำมาซึ่งประโยชน์สุขให้แก่ประชาชน โดยอภัยโทษ เป็นอภัยทาน จัดว่าเป็น ทาน อย่างหนึ่งซึ่งเป็นทศพิธราชธรรมข้อแรกของพระราชา ต่อมา ภายหลังแนวความคิดเกี่ยวกับธรรมราชาได้แพร่จากอินเดียเข้าสู่ดินแดนสุวรรณภูมิ ในยุคราชอาณาจักรสุโขทัย ช่วงพุทธศตวรรษที่ 18
ในช่วงต้นๆ ของราชอาณาจักรสุโขทัย ใช้ระบบปิตุราชาธิปไตย หรือ "ระบบพ่อปกครองลูก"โดยในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช นั้น พระองค์ทรงเอาพระทัยใส่ในสุขแลทุกข์ของราษฎรโดยให้แขวนกระดิ่งขนาดใหญ่ไว้ที่ประตูพระราชวังด้านหน้า เพื่อให้ราษฎรที่มีความทุกข์ร้อนมาลั่นกระดิ่งร้องทุกข์ได้ ซึ่งรวมถึงการขอพระราชทานอภัยโทษด้วย ต่อมา เมื่อราชอาณาจักรสุโขทัยขยายตัวมากขึ้น ในรัชสมัยพระยาลิไท พระองค์ได้รับแนวความคิดระบบธรรมราชา จากพุทธศาสนานิกายหินยาน ซึ่งมีความเชื่อว่า เมื่อพระราชาองค์ใดปฏิบัติตามหลักธรรมในพระพุทธศาสนาโดยเฉพาะทศพิธราชธรรม 10 ประการ และจักรวรรดิวัตร์ 12 อย่างสมบูรณ์แล้ว จะทำให้พระราชาพระองค์นั้นเป็นพระราชาเหนือพระราชา หรือที่เรียกว่า พระเจ้าจักรพรรดิ ซึ่งจะทำให้ราชอาณาจักรสุโขทัยมีความมั่นคงและประชาชนมีความสุขด้วยธรรมะ และจากข้อความในศิลาจารึก หลักที่ 5 ที่วัดป่ามะม่วง ทำให้ทราบว่าพระมหาธรรมราชา หรือพระยาลิไท ทรงผ่อนปรนให้กับนักโทษที่ถูกพิพากษาให้ประหารชีวิตโดยพระราชทานอภัยโทษเปลี่ยนเป็นโทษอื่นแทน[9]
ต่อมา ในยุคราชอาณาจักรอยุธยา กษัตริย์ได้นำระบบเทวราชา ซึ่งเป็นความเชื่อในศาสนาพราหมณ์มาผสมผสานกับแนวความคิดธรรมราชา โดยระบบเทวราชา นั้น เชื่อว่า กษัตริย์หรือราชาเป็นองค์อวตารของพระนารายณ์ ซึ่งเป็นหนึ่งในตรีมูรติเป็นเจ้าชีวิตของสรรพสัตว์ทั้งหลาย กษัตริย์จึงกลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ดุจเทพเจ้า มีพระราชอำนาจสูงสุดผู้ใดจะล่วงละเมิดมิได้ แต่เนื่องจากกษัตริย์ในราชอาณาจักรอยุธยายังคงให้ความเคารพในหลักธรรมของพระพุทธศาสนา ทำให้แนวความคิดเทวราชาไม่เคร่งครัดเท่าใดนัก การที่กษัตริย์นับถือพระรัตนตรัยทำให้ราษฎรมีความเคารพด้วยไม่ใช่กลัวแต่เพียงอย่างเดียว แต่ก็ไม่ได้มีความใกล้ชิดกับราษฎรอย่างในยุคราชอาณาจักรสุโขทัย สำหรับพระราชอำนาจในการพระราชทานอภัยโทษ ยังคงเป็นการแสดงถึงพระมหากรุณาธิคุณ อาทิ พระนเรศวรทรงพระราชทานอภัยโทษแก่แม่ทัพนายกองที่ไม่อาจติดตามพระองค์ได้ทันในการศึกยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชาแห่งพม่าที่ดอนเจดีย์ตามที่สมเด็จพระวันรัตวัดป่าแก้ว กับพระราชาคณะ 25 รูป กราบทูลขอ[10]
สำหรับราชอาณาจักรรัตนโกสินทร์ แนวคิดธรรมราชาดูเหมือนจะมีบทบาทที่สำคัญมากกว่าที่เคยเป็นมาในยุคราชอาณาจักรอยุธยา พระมหากษัตริย์ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อปวงราษฎรเป็นอย่างมาก อาทิ รัชกาลที่ 3 ทรงเห็นว่านักโทษที่ก่ออาชญากรรมต่างๆ ปล้นทรัพย์ สูบฝิ่น หรือดื่มสุรา เป็นผู้เหยียบย่างบนทางที่นำไปสู่นรกในภพหน้า พระองค์ทรงมีน้ำพระทัยเปี่ยมไปด้วยพระเมตตากรุณา จึงให้มีการเทศนาสั่งสอนหลักธรรมในพุทธศาสนา ซึ่งหากนักโทษสามารถปรับปรุงแก้ไขตนเองได้ ก็จะได้รับพระราชทานอภัยโทษแล้วรับไว้เป็นขุนนางในราชสำนัก[11]
อภัยโทษในปัจจุบัน
อภัยโทษ ในปัจจุบันยังคงเป็นพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ที่มีต่อพสกนิกรชาวไทยเช่นเดิม แตกต่างตรงที่นับแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข พระราชอำนาจดังกล่าวไม่ได้มีสภาพเด็ดขาดอย่างเช่นในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์
(อังกฤษ: Absolute Monarchy) ซึ่งกษัตริย์เป็นผู้ปกครองที่มีสิทธิ์ขาดในการบริหารประเทศและมีอำนาจออกกฎหมายตามแต่จะเห็นสมควร พระราชอำนาจในการพระราชทานอภัยโทษของพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยแม้จะเป็นไปตามราชประเพณีที่สืบต่อกันมา แต่ต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญและกฎหมายลำดับรองลงมา โดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรก
ก็ได้รับรองพระราชอำนาจนี้ไว้มาตรา 55 ที่บัญญัติว่า “พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะพระราชทานอภัยโทษ” และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 225 หรือรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 191 ก็ได้บัญญัติรับรองพระราชอำนาจนี้ด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ เงื่อนไขและหลักเกณฑ์การขอรับพระราชทานอภัยโทษเป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และพระมหากษัตริย์จะทรงใช้พระราชอำนาจได้ต่อเมื่อมีผู้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมขึ้นไปเท่านั้น[12] ซึ่งต้องมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการฯ ด้วย คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
ประเภท หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการขอรับพระราชทานอภัยโทษตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา[13]
ประเภทของการพระราชทานอภัยโทษ
4.1 การพระราชทานอภัยโทษเป็นการทั่วไป
การพระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ต้องราชทัณฑ์หรือผู้ต้องโทษโดยการตราพระราชกฤษฎีกาตามการถวายคำแนะนำของคณะรัฐมนตรีต่อพระมหากษัตริย์ ตามมาตรา 261 ทวิ ในกรณีนี้ ทางราชการจะดำเนินการให้แก่ผู้ต้องราชทัณฑ์ในทุกขั้นตอน โดยที่ผู้ต้องราชทัณฑ์มิต้องดำเนินการใด ๆ การพระราชทานอภัยโทษเป็นการทั่วไป มักจะมีขึ้นในวโรกาสมหามงคลต่าง ๆ เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ เช่น เนื่องในโอกาสพระราชพิธีกาญจนาภิเษก รัชมังคลาภิเษก เป็นต้น
4.2 การพระราชทานอภัยโทษเฉพาะราย
การพระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ต้องราชทัณฑ์หรือผู้ต้องโทษเป็นรายบุคคล โดยการทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ ตามการถวายคำแนะนำของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ส่วนจะได้รับพระราชทานอภัยโทษหรือไม่เพียงใดขึ้นอยู่กับพระบรมราชวินิจฉัยขององค์พระมหากษัตริย์
ผู้มีสิทธิยื่นเรื่องทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษเฉพาะราย ได้แก่
- ผู้ต้องโทษที่คดีถึงที่สุด
- ผู้ที่มีประโยชน์เกี่ยวข้อง อาทิเช่น บิดา มารดา บุตร คู่สมรส
- สถานทูต (ในกรณีที่เป็นนักโทษชาวต่างประเทศ)
ระยะเวลาการยื่นฎีกาทูลเกล้า ฯ ขอพระราชทานอภัยโทษเฉพาะราย
1. ผู้ต้องโทษกรณีทั่วไป ยื่นได้ทันทีที่คดีถึงที่สุด
2. ผู้ต้องโทษประหารชีวิต ต้องยื่นภายใน 60 วัน นับแต่คดีถึงที่สุด
ขั้นตอนการขอพระราชทานอภัยโทษเฉพาะราย
ผู้ต้องโทษ (โทษประหารชีวิต จำคุก กักขัง ปรับ ริบทรัพย์สิน) ที่คดีถึงที่สุดแล้ว หรือผู้ที่มีประโยชน์เกี่ยวข้องสามารถยื่นเรื่องราวทูลเกล้าถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษผ่านเรือนจำ หรือทัณฑสถาน หรือกระทรวงยุติธรรม หรือสำนักราชเลขาธิการ หรือกระทรวงการต่างประเทศ หรือสถานทูต
(กรณีนักโทษเป็นชาวต่างประเทศ) หลังจากรับเรื่องแล้ว กรมราชทัณฑ์จะส่งไปสอบสวนเรื่องราวยังเรือนจำหรือทัณฑสถานที่ควบคุมผู้ต้องโทษ จากนั้นจะเสนอความเห็นให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมลงนาม เพื่อนำความขึ้นกราบบังคมทูล ฯ ผ่านสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี และสำนักราชเลขาธิการ เมื่อทรงมี พระบรมราชวินิจฉัยเช่นไร ก็จะส่งผลฎีกาดังกล่าวให้กรมราชทัณฑ์ทราบและดำเนินการพร้อมทั้งแจ้งผลให้ผู้ยื่นเรื่องราวทูลเกล้า ฯ ทราบ
หนังสือแนะนำให้อ่านต่อ
ชฎารัตน์ ทองรุต, “ความชอบธรรมของอำนาจในการอภัยโทษ”, วิทยานิพนธ์ นิติศาสตรมหาบัณฑิต คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2556
บรรณานุกรม
กรมราชทัณฑ์. “การพระราชทานอภัยโทษ”. http://www.correct.go.th/odchoyp/apaitod.htm (สืบค้นเมื่อ 24 กรกฎาคม 2557)
คนึง ฦาไชย, (2551) “ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เล่ม 2”. พิมพ์ครั้งที่ 6 กรุงเทพมหานคร : โครงการตำราและเอกสารประกอบการสอน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต), พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) “พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม” ทศพิธราธรรม. http://www.84000.org/tipitaka/dic/d_item.php?i=326 (สืบค้นเมื่อ 24 กรกฎาคม 2557)
ประมวลกฎหมายอาญา. พระไตรปิฎก เล่มที่ 13 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 5 มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์. http://www.84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=13&A=8237&Z=8451 (สืบค้นเมื่อ 24 กรกฎาคม 2557)
พระไตรปิฎก เล่มที่ 27 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 19 ขุททกนิกาย ชาดก ภาค 1. http://84000.org/tipitaka/attha/jataka.php?i=270239 (สืบค้นเมื่อ 24 กรกฎาคม 2557)
เพลินตา ตันรังสรรค์, (2552) “พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในการพระราชทานอภัยโทษ”
วารสารจุลนิติ ปีที่ 6 ฉบับที่ 5 ประจำเดือน กันยายน – ตุลาคม 2552.
สารานุกรมเสรี. "Abolitionist and retentionist countries". Amnesty International. http://www.amnesty.org/en/death-penalty/abolitionist-and-retentionist-countries (สืบค้นเมื่อ 24 กรกฎาคม 2557)
อัคคัญญสูตร พระไตรปิฎก เล่มที่ 11 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 3 ทีฆนิกาย ปาฏิกวัคค์. http://84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=11&A=1703&Z=2129 (สืบค้นเมื่อ 24 กรกฎาคม 2557)
Chachapon Jayaphor , “The Pardoning Power of the Kings of Thailand before the Reform of Legal and Judicial Systems” . Thailand Law Journal , ปีที่ 14 – เล่มที่ 2 (2011). http://www.thailawforum.com/articles/pardoning-power-king-of-thailand-history.html (สืบค้นเมื่อ 24 กรกฎาคม 2557)
อ้างอิง
[1] อัคคัญญสูตร พระไตรปิฎก เล่มที่ 11 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 3 ทีฆนิกาย ปาฏิกวัคค์ หน้าที่ 71 – 88.
[2] ประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 18 โทษสำหรับลงแก่ผู้กระทำความผิดมีดังนี้
(1) ประหารชีวิต
(2) จำคุก
(3) กักขัง
(4) ปรับ
(5) ริบทรัพย์สิน
[3] สารานุกรมเสรี. "Abolitionist and retentionist countries". Amnesty International. http://www.amnesty.org/en/death-penalty/abolitionist-and-retentionist-countries
(สืบค้นเมื่อ 24 กรกฎาคม 2557)
[4] เพลินตา ตันรังสรรค์, “พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในการพระราชทานอภัยโทษ”,
วารสารจุลนิติ, ปีที่ 6 ฉบับที่ 5 ประจำเดือน กันยายน – ตุลาคม 2552, หน้า 72.
[5] ศาสตราจารย์คนึง ฦาไชย, “ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เล่ม 2”, พิมพ์ครั้งที่ 6 กรุงเทพฯ : โครงการตำราและเอกสารประกอบการสอน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2551
[6] พระไตรปิฎก เล่มที่ 27 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 19 ขุททกนิกาย ชาดก ภาค 1 หน้าที่ 72.
[7] พระไตรปิฎก เล่มที่ 13 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 5 มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ หน้าที่ 358 – 367.
[8] ทศพิธราชธรรม ประกอบด้วย ทาน ศีล ปริจจาคะ (บริจาค) อาชชวะ (ความซื่อตรง) มัททวะ (ความอ่อนโยน) ตปะ (ความเพียร) อักโกธะ (ความไม่โกรธ) อวิหิงสา (ความไม่เบียดเบียน) ขันติ (ความอดทน) อวิโรธนะ (ความเที่ยงธรรม)
[9] Chachapon Jayaphor , “The Pardoning Power of the Kings of Thailand before the Reform of Legal and Judicial Systems” . Thailand Law Journal , ปีที่ 14 – เล่มที่ 2 (2011) , หน้าที่ 2
[10] เรื่องเดียวกัน
[11] เรื่องเดียวกัน
[12]เพลินตา ตันรังสรรค์, “พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในการพระราชทานอภัยโทษ”,วารสารจุลนิติ, ปีที่ 6 ฉบับที่ 5 ประจำเดือน กันยายน – ตุลาคม 2552, หน้า 73.
[13] ข้อมูลจากเว็บไซต์กรมราชทัณฑ์ http://www.correct.go.th/odchoyp/apaitod.htm (สืบค้นเมื่อ 24 กรกฎาคม 2557)