ผลต่างระหว่างรุ่นของ "การศาสนา"
ไม่มีความย่อการแก้ไข |
ไม่มีความย่อการแก้ไข |
||
บรรทัดที่ 2: | บรรทัดที่ 2: | ||
| | ||
'''ผู้เรียบเรียง : '''ม.ร.ว.พฤทธิสาณ ชุมพล<br/> '''ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : '''รองศาสตราจารย์ ดร.สนธิ เตชานันท์ | '''ผู้เรียบเรียง : '''ม.ร.ว.พฤทธิสาณ ชุมพล<br/> '''ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : '''รองศาสตราจารย์ ดร.สนธิ เตชานันท์ | ||
| | ||
บรรทัดที่ 98: | บรรทัดที่ 98: | ||
สถาบันพระปกเกล้า. (๒๕๔๔). สมุดภาพรัชกาลที่ ๗. กรุงเทพฯ: อัมรินทร์การพิมพ์. | สถาบันพระปกเกล้า. (๒๕๔๔). สมุดภาพรัชกาลที่ ๗. กรุงเทพฯ: อัมรินทร์การพิมพ์. | ||
[[ | [[หมวดหมู่:พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจ|หมวดหมู่:พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจ]] |
รุ่นแก้ไขปัจจุบันเมื่อ 15:15, 19 พฤษภาคม 2560
ผู้เรียบเรียง : ม.ร.ว.พฤทธิสาณ ชุมพล
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.สนธิ เตชานันท์
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวสนพระราชหฤทัยในการศาสนาเป็นอย่างมาก ทั้งในพระราชสถานะองค์อัครศาสนูปถัมภกและเป็นการส่วนพระองค์ ในที่นี้จะไม่กล่าวถึงการบูรณะปฏิสังขรณ์พระอาราม ซึ่งแยกไว้เป็นอีกหัวข้อหนึ่ง พระราชกรณียกิจด้านการศาสนาของพระองค์เกี่ยวข้องไม่แต่เฉพาะกรณีพระพุทธศาสนาแต่แผ่ไปถึงกรณีคริสตศาสนาและศาสนาอิสลามและมีในต่างประเทศด้วย
การจัดพิมพ์พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ
เมื่อต้นรัชกาล ทรงมีพระราชประสงค์จะพิมพ์พระไตรปิฎกภาษาไทยขึ้นเพื่อบำเพ็ญพระราชกุศลอุทิศถวายแด่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และทรงพระราชดำริว่า พระไตรปิฎกฉบับพิมพ์ในสมัยรัชกาลที่ ๕ มีเพียง ๓๙ เล่มเท่านั้น ยังไม่สมบูรณ์ ยังไม่ได้พิมพ์บางคัมภีร์ และบางคัมภีร์ยังพิมพ์ไม่ครบถ้วน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาททรงเป็นประธานดำเนินการให้สำเร็จสมบูรณ์ โดยอาราธนาพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า เป็นประธานในการตรวจสอบโดยใช้ฉบับของหลวงเป็นหลัก คัดลอกและพิมพ์เพิ่มเติมส่วนที่ยังขาดอยู่ พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ๒๐๐,๐๐๐ บาทเป็นทุนเริ่มต้นแล้วประกาศชักชวนให้โดยเสด็จพระราชกุศล ได้เงินถึง ๖๐๐,๐๐๐ บาทมากกว่าที่คาดถึง ๒ เท่า จึงมีเงินเหลือซึ่งโปรดให้เก็บไว้สำหรับพิมพ์คัมภีร์อรรถกถาและฎีกาต่อไป
ผลก็คือได้จัดพิมพ์พระไตรปิฎกอักษรไทยฉบับสมบูรณ์ที่สุด จบหนึ่งมีจำนวน ๔๕ เล่ม พิมพ์จำนวน ๑,๕๐๐ จบ ขนานนามว่า “พระไตรปิฎกสยามรัฐ” มีตราช้างเป็นเครื่องหมาย แสดงว่ามิได้มีบุคคลใดเป็นเจ้าของโดยเฉพาะ แต่เป็นของประชาชนชาวไทยทั้งปวง พระราชทานแจกจ่ายไปยังมหาวิทยาลัยและหอสมุดนานาชาติทั่วโลก จำนวน ๔๕๐ ชุด พระราชทานในประเทศ จำนวน ๒๐๐ ชุด เหลืออีก ๘๕๐ ชุด พระราชทานผู้บริจาคทรัพย์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดงานฉลองพระไตรปิฎกชุดนี้ขึ้น เมื่อวันที่ ๒๕-๒๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๓ ทั้งยังได้มีประกาศเมื่อวันที่ ๑๔ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๐ พระราชทานลิขสิทธิ์หนังสือพระไตรปิฎกชุดฉบับสยามรัฐแก่มหามกุฎราชวิทยาลัย[1] นับเป็นการเผยแพร่พระพุทธศาสนาไปในโลกกว้าง
การส่งเสริมให้เยาวชนศึกษาพระพุทธศาสนา
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งแต่พ.ศ. ๒๔๖๙ ปีที่สองในรัชกาล ให้กรมธรรมการกลับมารวมกับกระทรวงศึกษาธิการตามเดิม และให้ใช้ชื่อว่ากระทรวงธรรมการ เพราะทรงมีพระราชดำริว่าแต่เดิมเยาวชนไทยอยู่ใกล้ชิดกับศาสนาเพราะครูอาจารย์ที่สอนคือพระสงฆ์ แต่ถึงในรัชกาลของพระองค์ การศึกษาของเยาวชนแยกออกจากวัด จากพระสงฆ์ ทำให้เยาวชนห่างเหินจากศาสนามากขึ้น ในขณะที่อารยธรรมต่างชาติกำลังแผ่อิทธิพลเข้ามา สมควรให้เยาวชนมีศาสนาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวกำกับความประพฤติและการปฏิบัติ [2]
นอกจากนั้น ในพ.ศ. ๒๔๗๑ ได้ทรงมีพระราชกรณียกิจอีก ๒ ประการที่เกี่ยวเนื่องคือ หนึ่ง ทรงมีพระราชปรารภวิงวอนพระภิกษุสงฆ์ให้เป็นธุระในการอบรมสั่งสอนศีลธรรมจรรยาความประพฤติแก่เยาวชน สมเด็จพระสังฆราชเจ้าทรงสนองพระราชปรารภโดยทรงออกประกาศให้พระภิกษุสงฆ์ทำการสอนจรรยาแก่นักเรียนตามโรงเรียน ทั้งนี้ ตามที่ได้ตกลงกับกระทรวงธรรมการ ประกาศลงวันที่ ๒๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๑ นี้ ได้ยังผลให้พระภิกษุทั้งหลายตื่นตัวทำการสั่งสอนจรรยาตามโรงเรียน เป็นเช่นนี้ในต่างจังหวัดด้วย เช่น ที่มณฑลนครราชสีมา และมณฑลอุดร [3]
อนึ่งโรงเรียนนายร้อยทหารบก ยังได้ให้แต่งและจัดพิมพ์หนังสือ แนวสอนวิชาจรรยาในโรงเรียนนายร้อยทหารบกขึ้นเมื่อพ.ศ. ๒๔๗๐ โดยใช้พระพุทธธรรมและวัตรปฏิบัติของสงฆ์เป็นตัวตั้งแล้วเชื่อมโยงสู่ธรรมจรรยาของบุคคลหมู่เหล่าต่างๆ ต่อไป หนังสือนี้โรงเรียนต่างๆ เห็นว่าดีและได้นำไปใช้สอนในระดับมัธยมปลายอยู่ จนสิ้นรัชกาลที่ ๗ จึงเลิกใช้เพราะมีการเปลี่ยนแปลงหลักสูตร [4]
สอง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ราชบัณฑิตยสภาจัดการประกวดและจัดพิมพ์หนังสือสอนพระพุทธศาสนาแก่เด็ก โดยในพ.ศ. ๒๔๗๑ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์พระนิพนธ์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เรื่อง “พุทธมามกะ” เป็นประเดิม พระราชทานในงานพระราชพิธีวิสาขะบูชา ทั้งยังทรงพระราชนิพนธิ์คำนำด้วยพระองค์เอง ความสำคัญว่า เพื่อแทนการส่งบัตรแสดงความยินดีและให้พรหรือการแจกของเล่นแก่เด็กๆ ดังที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงริเริ่มไว้ตามแบบอย่างที่คริสตศาสนิกชนทำกันในวันคริสตมาส อีกทั้งทรงเห็นว่า "พระพุทธสาสนานั้นเป็นศาสนาที่ดีเยี่ยมและน่าเลื่อมใสที่สุดก็จริง แก่เป็นสาสนาที่ทำการเผยแผ่น้อยมาก และวิธีสั่งสอนก็สู้เขาไม่ได้” ทั้งที่ “ เวลานี้กลับมีผู้ที่มีปัญญาหวนมาเล่าเรียนและนับถือมากขึ้นทุกที เพราะเป็นสาสนาที่จริง ที่สุขุมลึกซึ้ง ไม่ขัดกับความรู้ในทางวิทยาศาสตร์ ทั้งไม่ต้องมีความเชื่ออย่างงมงาย เป็นสาสนาที่ผู้มีศรัทธาเลื่อมใสย่อมเชื่อได้และแลเห็นจริงตามได้ด้วยปัญญา....ชาวยุโรปบางพวกถึงกับเห็นว่า พระพุทธสาสนานั้นจะเป็นสิ่งที่จะนำความสันติสุขมาสู่โลกนี้ได้และจะแก้นิสสัยอันนิยมไปแต่ทางโลก (materialistic spirit) ของชนสมัยนี้ได้”[5] (ตัวสะกดตามต้นฉบับ)
จึงทรงมีพระราชดำริว่า แม้โรงเรียนของรัฐบาลจะได้จัดการให้มีการสอนศาสนาขึ้นอีก แต่การสอนในโรงเรียนนั้น ไม่ดีจริงเท่ากับบิดามารดาสอนเองในบ้าน จึงควรมีหนังสือสอนพระพุทธศาสนาแก่เด็ก หนังสือพระนิพนธิ์สมเด็จพระมหาสมณเจ้าเรื่องพุทธมามกะนี้เป็นทำนองตำราสอนเด็กเช่นนั้น จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์พระราชทาน ทั้งยังเป็นการชักชวนให้บิดามารดาให้พาเด็กอายุราว ๑๓ หรือ ๑๔ ปี พอรู้เข้าใจความได้ดี ได้ทำพิธีรับเป็นพุทธมามกะ ศึกษาหลักพุทธศาสนาที่วัดใกล้บ้าน คล้ายวิธีการของคริสตศาสนิกชนทำพิธี “Confirmation” ยืนยันว่าตนนับถือคริสตศาสนา “เด็กจะได้มีหลักมีสรณะอันจะนำชีวิตไปในทางที่ชอบ” [6]
จากนั้น ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ราชบัณฑิตยสภาจัดการประกวดสำนวนหนังสือสอนพระพุทธศาสนาแก่เด็กขึ้น คัดสำนวนที่เห็นว่าดีที่สุดทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ จัดพิมพ์พระราชทานในวันวิสาขบูชาของทุกปี นับตั้งแต่ฉบับ พ.ศ. ๒๔๗๒ เป็นต้นมาจนถึงฉบับ พ.ศ. ๒๔๗๗ ซึ่งเป็นปีสุดท้ายในรัชกาลที่ ๗ ทรงมีพระราชนิพนธ์คำนำทุกฉบับ เว้นฉบับ พ.ศ. ๒๔๗๗ ซึ่งในเวลานั้นกำลังเสด็จพระราชดำเนินประพาสประเทศต่างๆ ในทวีปยุโรป
หนังสือสอนพระพุทธศาสนาแก่เด็ก ๖ เล่มที่ผ่านการประกวดมีในเรื่องต่างๆ ดังนี้
- พ.ศ. ๒๔๗๒ เรื่อง สาสนคุณ (หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล แต่ง)
- พ.ศ. ๒๔๗๓ เรื่อง อริยทรัพย์ (พระพินิจวรรณการ (แสง สาลิกุล) แต่ง)
- พ.ศ. ๒๔๗๔ เรื่อง ทิศ ๖ (พระครูวิจิตรธรรมคุณ (วาศน์ นิลประภา) แต่ง) (ต่อมาในรัชกาลที่ ๙ เป็นสมเด็จพระสังฆราช)
- พ.ศ. ๒๔๗๕ เรื่อง อบายมุข ๖ (รองอำมาตย์เอกพล้อย พรปรีชา แต่ง)
- พ.ศ. ๒๔๗๖ เรื่อง ทิฎฐธัมมิกัตถประโยชน์ (ประโยชน์ปัจจุบัน) ๔ ประการ (นายจั๊บ อึ๊งประทีป แต่ง)
- พ.ศ. ๒๔๗๗ เรื่อง สัมปรายิกัตถะประโยชน์ (ประโยชน์ภายหน้า) ๔ ประการ (นายอ่ำ ศรีเปารยะ แต่ง)
หนังสือเหล่านี้จัดพิมพ์เป็นเล่มเล็กพอที่จะใส่ในกระเป๋าเสื้อราชประแตนได้ และทุกสำนวนมีคำถามท้ายทุกบท ช่วยในการทบทวนบทเรียน
อนึ่ง หลักเกณฑ์ในการประกวดนั้น มีว่า
๑. ผู้ใดจะแต่งก็ได้ แต่ส่งเข้าประกวดได้เพียงคนละเรื่องในปีหนึ่ง
๒. ความยาวพิมพ์ดีด ๒๕-๓๐ หน้ากระดาษฟุลสแคป หน้าละ ๒๐ บรรทัด
๓. เป็นภาษาไทยและอธิบายความให้ง่ายพอดีเด็กขนาดอายุ ๑๐ ขวบอ่านเข้าใจความได้ และ
๔. เรื่องที่แต่งให้เป็นการสอนพระพุทธศาสนาตามหลักในพระไตรปิฎกและมิให้กล่าวอธิบายความย่ำยีศาสนาอื่น [7]
ในพระราชนิพนธ์คำนำต่างๆ นั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแสดงว่าได้ทรงพิจารณาสำนวนนั้นๆ อย่างละเอียดจนทรงมีพระราชวินิจฉัยได้ว่าดีอย่างไร อีกทั้งได้ยังทรงสอดแทรกความคิดของพระองค์เองเกี่ยวกับศาสนาและพระพุทธศาสนาไว้อย่างน่าสนใจเชิง “สนทนาธรรม” หลายประการ ตัวอย่าง เช่น
“มีบุคคลบางจำพวกเช่นพวกบอลเชวิกกล่าวว่า “ศาสนานั้น คือฝิ่นสำหรับประชาชน” คือหาว่าทำให้โง่มึนและงมงายต่างๆ การสอนศาสนาในทางที่ผิด บางทีจะมีผลเช่นนั้นได้จริง แต่ถ้าสอนให้ถูกทาง ศาสนาจะเป็นยาบำรุงกำลังบำรุงน้ำใจให้ทนความยากลำบากได้ ให้มีแรงที่จะทำการงานของตนเป็นผลสำเร็จได้ และยังเป็นยาที่จะสมานหัวใจให้หายเจ็บปวดในยามทุกข์ได้ด้วย”
“สำหรับสาสนามฤสตัง (ในฉบับ พ.ศ. ๒๔๗๔) หรืออิสลัม ข้อต้นที่เขายกขึ้นสอนก็คือหลักสำคัญของสาสนาของเขา ที่ว่า.. “การใดที่เป็นไปในโลกย่อมเป็นไปตามพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า”...ข้อความเหล่านี้เขาสอนให้เด็กเชื่อมั่นทีเดียว สำหรับพระพุทธสาสนา ข้าพเจ้าก็เห็นว่ามีสิ่งที่เราควรจะสอนให้เข้าใจและให้เชื่อมั่น เสียแต่ต้นทีเดียวเหมือนกัน...คือวัฎฎะสงสาร การเวียนว่ายตายเกิดและกรอบ ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว...ความเชื่อในกรรมข้าพเจ้าเห็นว่าเป็นของประเสริฐยิ่ง ควรเพาะให้มีขึ้นในใจของคนทุกคน...ความเชื่อในกรรมนี้ไม่ใช่ความเชื่ออย่าง “Fatalist” และไม่ควรจะเป็นอย่างที่เรียกกันว่า “แล้วแต่บุญแต่กรรม” เลย ตรงกันข้าม ควรเป็นสิ่งที่จะทำให้คนขวนขวายทำแต่กรรมที่ดีโดยหวังผลที่ดี เรื่องวัฎฎะสงสารและกรรมนี้เป็นของต้อง “มีความเชื่อ” (faith) เพราะเป็นสิ่งที่ยังพิศูจน์ไม่ได้แน่ชัดว่าเป็นของจริง แต่ก็เป็นของที่น่าเชื่อกว่า “ความเชื่อ” (faith) อื่นหลายอย่าง” (ในฉบับ พ.ศ. ๒๔๗๒ – ตัวสะกดตามต้นฉบับ)
ราชบัณฑิตยสภา และราชบัณฑิตยสถานในกาลต่อมา ได้ดำเนินการประกวดและจัดพิมพ์หนังสือสอนพระพุทธศาสนาแก่เด็ก สืบต่อมาจนปัจจุบัน หากแต่ไม่เป็นที่ทราบกันแพร่หลาย
พระราชพิธีทางพระพุทธศาสนาประจำปี
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชอุตสาหะเสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลวันวิสาขบูชา วันมาฆบูชา วันเข้าพรรษา อุปสมบทนาคหลวง ถวายผ้าพระกฐิน ซึ่งอย่างหลังนี้ตามพระอารามต่างๆ ทั่วไปในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด จำนวน ๑๓-๑๗ วัดทุกปี[8] นอกจากนั้นเมื่อเสด็จประพาสมณฑลต่างๆ ก็ได้เสด็จฯ ทรงสักการะปูชนียสถานที่สำคัญๆ ในแต่ละแห่ง
สำหรับบรรพชิตจีนนิกาย (จีน) และอานัมนิกาย (ญวน) นั้น ก็มีบทบาทในงานพระราชพิธีต่างๆ เช่น บรมราชาภิเษก และทรงบำเพ็ญพระราชกุศลเนื่องในการพระศพเจ้านายชั้นสูงโดยสืบเนื่องตามพระราชประเพณี ทั้งยังประกฏว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเคยเสด็จฯ วัดสมณานัมบริหารฝ่ายอานัมนิกายในอำเภอดุสิตในการอุปสมบทบรรพชิตเมื่อวันที่ ๒๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๑ ด้วย [9] อีกทั้งเมื่อเสด็จประพาสต่างประเทศ เช่นที่ประเทศญี่ปุ่น ก็ได้ทรงนมัสการพระพุทธรูปไดบุตสุ พระพุทธรูปหล่อสำริดองค์ใหญ่ที่สุดในโลก เมื่อวันที่ ๙ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๗ [10]
พระราชกรณียกิจที่เกี่ยวข้องกับศาสนาอื่น
ศาสนาพราหมณ์ พระราชครูพราหมณ์และคณะมีบทบาทมาแต่โบราณกาลในพระราชสำนักและในการพระราชพิธี และยังคงมีสืบเนื่องมาในสมัยรัชกาลที่ ๗ เช่น มีบทบาทสำคัญในการขอพระราชทานพระปฐมบรมราชโองการในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และในการเวียนเทียนสมโภชพระมหาเศวตฉัตรในการพระราชพิธีฉัตรมงคล เป็นต้น พิธีพราหมณ์ที่ซึ่งเป็นพระราชพิธีสำคัญในรัชกาลที่ ๗ ก็คือพระราชพิธีตรียัมพวาย ตรีปวายซึ่งรวมถึงการโล้ชิงช้าตามคติพราหมณ์
คริสต์ศาสนา พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชกรณียกิจที่เกี่ยวข้องกับคริสตศาสนาอยู่เนืองๆ เช่นในช่วงพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ศริสตศาสนิกบริษัท คณะเปรสบิเตียเรียน (Prestyterian) และมิซซังโรมันคาทอลิกได้เข้าเฝ้าฯ ถวายชัยมงคลรับพระราชทานพระราชดำรัสตอบ ต่อมา คณะอัสสัมชัญในนิกายหลังก็ได้เข้าเฝ้าฯ และพระองค์ได้พระราชทานพระราชดำรัสตอบถึงการที่บาทหลวงคณะนี้ได้จัดตั้งโรงเรียนเป็นคุณประโยชน์แก่บ้านเมืองมาช้านาน [11] อีกทั้งเมื่อเสด็จประพาสมณฑลพายัพก็ได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมโรงเรียนดาราวิทยาลัยสำหรับนักเรียนหญิง และโรงเรียนปรินส์รอแยลของคณะมิชชั่นนารีอเมริกัน มีพระราชดำรัสว่า “เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์และเป็นกุศลกรรมอันดีจริงทั้งนั้น ข้าพเจ้าและคนไทยทั้งปวงก็ย่อมอนุโมทนาเป็นอย่างยิ่ง”[12] อีกทั้งเมื่อวันที่ ๖ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๗๑ ยังได้เสด็จฯ ยังพระราชอุทยานสราญรมย์ ในงานฉลองร้อยปีที่คณะโปรเตสตันต์ (Protestant) ได้เข้ามาสู่สยาม เนตรนารีของโรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย และลูกเสือของโรงเรียนคริสเตียนวิทยาลัยตั้งแถวรับเสด็จฯ[13] ส่วนในต่างประเทศ เมื่อเสด็จประพาสนครวาติกัน นอกจากจะได้ทรงเข้าเฝ้าองค์สันตะปาปา (Pope) แล้ว ยังได้เสด็จฯ ทรงร่วมในพิธีสถาปนาคุณพ่อยอห์น บอสโก (John Bosco) ผู้ก่อตั้งคณะสาเลเซียน Salesian) เป็น “สันติบุรุษ” (นักบุญ – saint) ที่มหาวิหารเซนต์ปีเตอร์ เมื่อวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๗ ด้วย [14] ทั้งนี้คณะสาเลเซียนนี้เป็นผู้จัดตั้งโรงเรียนหัวหินวิทยาลัยและโรงเรียนดอนบอสโกในประเทศไทย
ศาสนาอิสลาม พระราชกรณียกิจเกี่ยวกับศาสนาอิสลามนั้นปรากฏอยู่ไม่มาก แต่เมื่อเสด็จประพาสมณฑลปัตตานีในพ.ศ. ๒๔๗๑ ได้เสด็จฯ ยังมัสยิดเมืองปัตตานี เมื่อวันที่ ๑๘ เมษายน โต๊ะหะยีถวายพระพรและมีพระราชปฏิสันถารด้วย อีกทั้งในวันรุ่งขึ้นได้เสด็จฯ ยังโรงเรียนสอนภาษามลายู ตำบลตะลุบัน จังหวัดสายบุรี ทอดพระเนตรสถานที่และการสอน [15]
รวมความว่า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเอาพระราชหฤทัยใส่ในการศาสนา แม้ว่าจะทรง “ยอยกพระพุทธศาสนา” แต่ก็ทรงแนะนำว่าไม่ควรปรักปรำหรือดูถูกศาสนาอื่น ด้วยเหตุที่ทุกศาสนา “ย่อมสอนให้คนมีที่พึ่งเป็นเครื่องนำชีวิตให้เราประพฤติดี มีความมุ่งหมายดีต่อกันทั้งนั้น” [16] และได้ทรงประกอบพระราชภารกิจในพระราชสถานะองค์ศาสนูปถัมภกอย่างครบถ้วน และอย่างเชื่อมโยงกับการศึกษา
อ้างอิง
- ↑ รัฐสภา. (๒๕๕๔). พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปกพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ: รัฐสภา , หน้า ๓๘๙.
- ↑ รัฐสภา. (๒๕๕๔). พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปกพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ: รัฐสภา , หน้า ๓๙๘ , ๓๘๙-๓๙๐.
- ↑ รัฐสภา. (๒๕๕๔). พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปกพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ: รัฐสภา , หน้า ๓๙๘ , ๓๘๙-๓๙๐.
- ↑ แนวสอนวิชาจรรยาในโรงเรียนนายร้อนทหารบก พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๐ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพหม่อมเจ้ากมลปราโมทย์ เทวกุล ณ เมรุหน้าพลับพลา อิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันที่ ๑๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ , หน้าคำนำ.
- ↑ แนวสอนวิชาจรรยาในโรงเรียนนายร้อนทหารบก พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๐ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพหม่อมเจ้ากมลปราโมทย์ เทวกุล ณ เมรุหน้าพลับพลา อิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันที่ ๑๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ , หน้าคำนำ.
- ↑ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. (๒๕๓๗). ประมวลหนังสือสอนพระพุทธศาสนาแก่เด็กที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์พระราชทาน พุทธศักราช ๒๔๗๑-๒๔๗๗. กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (พิมพ์ตามต้นฉบับเดิมในรัชกาล) , หน้า ๕.
- ↑ รัฐสภา. (๒๕๕๔). พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปกพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ: รัฐสภา , หน้า ๓๙๒.
- ↑ รัฐสภา. (๒๕๕๔). พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปกพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ: รัฐสภา , หน้า ๓๙๒-๓๙๕.
- ↑ บรรเจิด อินทุจันทร์ยง (บรรณาธิการ). (๒๕๓๗). จดหมายเหตุพระราชกิจรายวันพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ภาคต้น และภาคปลาย. กรุงเทพฯ: วัชรินทร์การพิมพ์ , หน้า ๔๐๖.
- ↑ สถาบันพระปกเกล้า. (๒๕๔๔). สมุดภาพรัชกาลที่ ๗. กรุงเทพฯ: อัมรินทร์การพิมพ์, หน้า ๗๐.
- ↑ บรรเจิด อินทุจันทร์ยง (บรรณาธิการ). (๒๕๓๗). จดหมายเหตุพระราชกิจรายวันพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ภาคต้น และภาคปลาย. กรุงเทพฯ: วัชรินทร์การพิมพ์ , หน้า ๓๕-๓๘.
- ↑ บรรเจิด อินทุจันทร์ยง (บรรณาธิการ). (๒๕๓๗). จดหมายเหตุพระราชกิจรายวันพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ภาคต้น และภาคปลาย. กรุงเทพฯ: วัชรินทร์การพิมพ์ , หน้า ๗๗-๗๘.
- ↑ บรรเจิด อินทุจันทร์ยง (บรรณาธิการ). (๒๕๓๗). จดหมายเหตุพระราชกิจรายวันพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ภาคต้น และภาคปลาย. กรุงเทพฯ: วัชรินทร์การพิมพ์ , หน้า ๔๖๓.
- ↑ วิชิตวงศ์วุฒิไกร, พระยา. (๒๕๒๖). จดหมายเหตุเสด็จพระราชดำเนินประพาสยุโรป พ.ศ. ๒๔๗๖-๒๔๗๗ ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว. อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพพลตรีปชา สิริวรสาร วันที่ ๑๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๒๖. , หน้า ๑๐๗-๑๐๙.
- ↑ บรรเจิด อินทุจันทร์ยง (บรรณาธิการ). (๒๕๓๗). จดหมายเหตุพระราชกิจรายวันพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ภาคต้น และภาคปลาย. กรุงเทพฯ: วัชรินทร์การพิมพ์ , หน้า ๓๘๘-๓๘๙.
- ↑ บรรเจิด อินทุจันทร์ยง (บรรณาธิการ). (๒๕๓๗). จดหมายเหตุพระราชกิจรายวันพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ภาคต้น และภาคปลาย. กรุงเทพฯ: วัชรินทร์การพิมพ์ , หน้า ๒๕๕.
บรรณานุกรม
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. (๒๕๓๗). ประมวลหนังสือสอนพระพุทธศาสนาแก่เด็กที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์พระราชทาน พุทธศักราช ๒๔๗๑-๒๔๗๗. กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (พิมพ์ตามต้นฉบับเดิมในรัชกาล)
แนวสอนวิชาจรรยาในโรงเรียนนายร้อนทหารบก พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๐ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพหม่อมเจ้ากมลปราโมทย์ เทวกุล ณ เมรุหน้าพลับพลา อิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันที่ ๑๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๑๙
บรรเจิด อินทุจันทร์ยง (บรรณาธิการ). (๒๕๓๖). ประมวลพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสใน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว. กรุงเทพฯ: วัชรินทร์การพิมพ์.
บรรเจิด อินทุจันทร์ยง (บรรณาธิการ). (๒๕๓๗). จดหมายเหตุพระราชกิจรายวันพระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ภาคต้น และภาคปลาย. กรุงเทพฯ: วัชรินทร์การ พิมพ์.
รัฐสภา. (๒๕๕๔). พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ: รัฐสภา
วิชิตวงศ์วุฒิไกร, พระยา. (๒๕๒๖). จดหมายเหตุเสด็จพระราชดำเนินประพาสยุโรป พ.ศ. ๒๔๗๖-๒๔๗๗ ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว. อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพพลตรีปชา สิริวรสาร วันที่ ๑๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๒๖.
สถาบันพระปกเกล้า. (๒๕๔๔). สมุดภาพรัชกาลที่ ๗. กรุงเทพฯ: อัมรินทร์การพิมพ์.