ผลต่างระหว่างรุ่นของ "ข้อห้ามในการจัดตั้งพรรคการเมืองในประเทศไทย"

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
Tora (คุย | ส่วนร่วม)
Tora (คุย | ส่วนร่วม)
บรรทัดที่ 50: บรรทัดที่ 50:




[[category:แนวความคิดทางการเมืองเรื่องพรรคและระบบพรรคการเมือง]]
[[category:แนวความคิดทางการเมืองเรื่องพรรคและระบบพรรคการเมือง|นแนวความคิดทางการเมืองเรื่องพรรคและระบบพรรคการเมือง]]

รุ่นแก้ไขเมื่อ 15:30, 23 กุมภาพันธ์ 2552

บทความนี้อยู่ในระหว่างการดำเนินการตรวจสอบความถูกต้องเรียบร้อยโดยผู้ืทรงคุณวุฒิ


ผู้เรียบเรียง ชาย ไชยชิต และ รศ.ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์


บทนำ

ด้วยเหตุที่พรรคการเมืองเป็นองค์กรสำคัญในทางการเมือง กฎหมายจึงจำเป็นต้องกำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามที่เกี่ยวข้องกับการจัดตั้งพรรคการเมือง โดยคุณสมบัติของผู้ที่จะริเริ่มจัดตั้งพรรคการเมืองนั้น ต้องมีคุณสมบัติดังนี้


(๑) ต้องเป็นผู้ที่มีสัญชาติไทยโดยกำเนิด ตามพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. ๒๕๐๘ ส่วนบุคคลที่ได้สัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติ ไม่มีสิทธิเข้าร่วมก่อตั้งพรรคการเมือง ทั้งนี้ เพราะ “สัญชาติ” เป็นเครื่องผูกมัดบุคคลไว้กับประเทศในทางกฎหมาย อีกทั้งยังเป็นคุณสมบัติซึ่งเกี่ยวข้องกับสิทธิทางการเมืองของบุคคลภายในรัฐโดยตรง


(๒) ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า ๒๐ ปีบริบูรณ์ เป็นการถือเกณฑ์อายุเป็นหลัก ไม่ใช่ถือเอาการบรรลุนิติภาวะเป็นหลัก ดังนั้น บุคคลที่บรรลุนิติภาวะโดยการสมรสเมื่ออายุ ๑๗ ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ไม่มีคุณสมบัติเป็นผุ้ริเริ่มจัดตั้งพรรคการเมือง นอกจากนี้ แม้ว่าคนที่มีอายุ ๑๘ ปีบริบูรณ์จะมีสิทธิเลือกตั้ง แต่สำหรับการเป็นผู้ริเริ่มจัดตั้งพรรคการเมืองแล้ว ต้องรอจนกระทั่งอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์เสียก่อนจึงจะมีสิทธิร่วมจัดตั้งพรรคการเมืองได้


(๓) ผู้ริเริ่มจัดตั้งพรรคการเมืองต้องมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างเจตนารมณ์ทางการเมืองของประชาชนและเพื่อดำเนินกิจการในทางการเมืองให้เป็นไปตามเจตนารมณ์นั้น ตามวิถีทางการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ทั้งนี้ คำว่า “การดำเนินกิจกรรมทางการเมือง” หมายถึง การมุ่งหมายที่จะเข้ามาจัดกิจกรรมเกี่ยวกับการบัญญัติกฎหมาย และการบริหารราชการแผ่นดิน โดยการส่งสมาชิกลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กล่าวโดยสรุป บุคคลผู้มีลักษณะครบถ้วนทั้ง ๓ ประการดังกล่าวข้างต้นเท่านั้น จึงจะสามารถเป็นผู้ริเริ่มจัดตั้งพรรคการเมืองได้

บุคลลผู้มีลักษณะต้องห้ามในการริเริ่มจัดตั้งพรรคการเมือง

สำหรับคุณลักษณะต้องห้ามของบุคคลผู้ริเริ่มจัดตั้งพรรคการเมืองนั้น กฎหมายกำหนดไว้ว่า ผู้ริเริ่มจัดตั้งพรรคการเมืองจะต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญเท่านั้น จึงจะรวมตัวจัดตั้งพรรคการเมืองได้ ซึ่งผู้ที่มีลักษณะต้องห้ามในการจัดตั้งพรรคการเมือง ได้แก่

(๑) ผู้วิกลจริต หรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
(๒) ผู้เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช
(๓) ผู้ต้องคุมขังอยู่โดยหมายศาลหรือโดยคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย
(๔) อยู่ระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง


ข้อห้ามเกี่ยวกับการดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมือง

นอกจากข้อห้ามเกี่ยวกับการจัดตั้งพรรคการเมืองดังกล่าวมาแล้ว กฎหมายยังมีข้อห้ามเกี่ยวกับการดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมืองด้วย โดยการห้ามพรรคการเมืองมิให้รับบุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทยโดยกำเนิดเป็นสมาชิกพรรค หรือดำรงตำแหน่งใด ๆ ในพรรคการเมือง หรือยอมให้กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อประโยชน์ของพรรคการเมือง ข้อห้ามดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงเจตนารมณ์ที่ต้องการสงวนสิทธิในการเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองไว้เฉพาะสำหรับคนที่มีสัญชาติไทยโดยกำเนิดเท่านั้น สำหรับข้อห้ามมิให้ผู้ไม่มีสัญชาติไทยโดยกำเนิดเข้าดำรงตำแหน่งใด ๆ ในพรรคการเมืองนั้น หมายรวมถึงเฉพาะตำแหน่งอันมีส่วนเกี่ยวข้องกับการบริหารกิจของพรรคการเมืองโดยเฉพาะ ได้แก่ ตำแหน่งหัวหน้าพรรคการเมือง รองหัวหน้าพรรคการเมือง คณะกรรมการบริหารพรรค เลขาธิการพรรคการเมือง รองเลขาธิการพรรคกาเมือง เหรัญญิกพรรคการเมือง ส่วนตำแหน่งอื่นที่ทำงานในพรรคการเมืองแต่มิใช่เป็นกิจการโดยเฉพาะของพรรคการเมือง เช่น นักการภารโรง คนขับรถยนต์ เสมียน ถือว่าไม่ใช่ตำแหน่งที่ห้ามผู้ไม่มีสัญชาติไทยโดยการเกิดเข้ามาทำหน้าที่ตามข้อกำหนดในกรณีนี้


ข้อห้ามมิให้บุคคลใด ๆ ทำให้ประชาชนเข้าใจผิดว่าเป็นพรรคการเมือง

กฎหมายห้ามมิให้ผู้ใดใช้ชื่อหรือถ้อยคำในประการที่น่าจะทำให้ประชาชนเข้าใจว่าเป็นพรรคการเมือง หรือใช้ชื่อที่มีอักษรไทยประกอบว่า “พรรคการเมือง” หรืออักษรต่างประเทศซึ่งแปลหรืออ่านว่า “พรรคการเมือง” ในดวงตรา ป้าย ชื่อ จดหมาย ใบแจ้งความ หรือเอกสารอย่างอื่นหรือในข้อมูลทางการสื่อสารใด ๆ โดยมิได้เป็นพรรคการเมือง หากมีการฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ ๑๐,๐๐๐ บาท ถึง ๑๐๐,๐๐๐ บาท และปรับอีกไม่เกินวันละ ๕๐๐ บาท ตลอดเวลาที่ยังไม่ได้ปฏิบัติตามให้ถูกต้อง ทั้งนี้การที่กฎหมายต้องกำหนดข้อห้ามดังกล่าวข้างต้นไว้ก็เพื่อบังคับให้บุคคลที่ต้องการจะใช้ชื่อหรือถ้อยคำที่จะทำให้ประชาชนเข้าใจว่าเป็น “พรรคการเมือง” ต้องดำเนินการจัดตั้งเป็นพรรคการเมืองให้ถูกต้องตามกฎหมายเสียก่อน เพื่อป้องกันความสับสน และการอาศัยชื่อที่อ้างความเป็นพรรคการเมืองมาแสวงหาประโยชน์จากการสนับสนุนของประชาชน ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วมิได้มีการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองแต่อย่างใด


ข้อห้ามมิให้พรรคการเมืองช่วยเหลือหรือสนับสนุนผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา

ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๔๐ ซึ่งมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาโดยตรง ได้กำหนดให้วุฒิสภามีอำนาจหน้าที่สำคัญในการตรวจสอบการกระทำขององค์กรต่าง ๆ ดังนั้น เพื่อให้การทำหน้าที่ของสมาชิกวุฒิสภาเป็นไปโดยอิสระและเป็นธรรม จึงมีการกำหนดข้อห้ามมิให้สมาชิกวุฒิสภาเป็นสมาชิกพรรคการเมือง ด้วยเหตุนี้ กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองจึงห้ามมิให้พรรคการเมืองช่วยเหลือหรือสนับสนุนผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม หากมีการฝ่าฝืน พรรคการเมืองต้องระวางโทษปรับไม่เกิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท


ที่มา

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรคคการเมือง พ.ศ. 2541

มานิตย์ จุมปา, สารานุกรมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. ๒๕๔๐) เรื่อง ๑๓ พรรคการเมือง, กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา, ๒๕๔๔