ผลต่างระหว่างรุ่นของ "หัวเมืองที่เป็นเมืองท่า"
ไม่มีความย่อการแก้ไข |
ไม่มีความย่อการแก้ไข |
||
บรรทัดที่ 38: | บรรทัดที่ 38: | ||
เมืองท่าจึงเป็นสถานีการค้าทางทะเลที่นำความมั่งคั่งมาให้กับราชธานี ส่งผลให้มีการสั่งสมความมั่งคั่ง เรียนรู้วิทยาการสมัยใหม่ แลกเปลี่ยนศิลปวัฒนธรรม และติดต่อสร้างสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศ | เมืองท่าจึงเป็นสถานีการค้าทางทะเลที่นำความมั่งคั่งมาให้กับราชธานี ส่งผลให้มีการสั่งสมความมั่งคั่ง เรียนรู้วิทยาการสมัยใหม่ แลกเปลี่ยนศิลปวัฒนธรรม และติดต่อสร้างสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศ | ||
==อ้างอิง== | |||
<references/> | |||
==บรรณานุกรม== | ==บรรณานุกรม== | ||
รุ่นแก้ไขปัจจุบันเมื่อ 11:36, 7 ธันวาคม 2557
เรียบเรียงโดย : อาจารย์บุญยเกียรติ การะเวกพันธุ์ และคณะ
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รศ.ดร.ปธาน สุวรรณมงคล
หัวเมืองที่เป็นเมืองท่าหมายถึง เมืองที่มีการติดต่อเคลื่อนไหวที่สำคัญทางเศรษฐกิจ ทั้งการค้าขาย ส่งผ่านผ่านสินค้าไปต่างประเทศ ทำให้เกิดความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ เมืองท่าที่สำคัญคือมะริด-ตะนาวศรี ,ปัตตานีและมะละกา
ความสำคัญ
ภูมิรัฐศาสตร์ของสยามอยู่ในทำเลการค้าที่ดีและมีกลไกในการจัดการการค้าที่มีประสิทธิภาพ สร้างความเจริญรุ่งเรือง มั่งคั่ง ดังที่ เฟอร์เนา เมนเตซ ปินตู (Femao Mendez Pinto) นักเดินเรือชาวโปรตุเกสบันทึกเรื่องเกี่ยวกับอยุธยาในสมัยสมเด็จพระไชยราชาไว้ว่า “...เมืองหลวงของราชอาณาจักรคือเมืองแห่งโอเดีย (Odiaa คืออยุธยา) ราชอาณาจักรนี้ร่ำรวยมาก และมีการค้าจำนวนมาก ไม่มีเลยสักปีเดียวที่เมืองอื่นๆและเมืองในหมู่เกาะชวา บาหลี มาดูรา อัมบอน บอร์เนียว และซูลู จะไม่ส่งสำเภามาไม่ต่ำกว่า 10,000 ลำ ยังไม่นับเรือเล็กเรือน้อยซึ่งเข้ามาคลาคล่ำในแม่น้ำและท่าเรือทุกแห่ง...”[1]
รายได้จากการค้าคือการเก็บภาษีร้อยชัก 3 หรือร้อยชัก 5 สำหรับเรือที่เข้ามาครั้งแรก นอกจากการเก็บภาษีขาเข้ายังมี “จังกอบ” คือเก็บภาษีตามความกว้างของปากเรือ ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ คิดความยาว 1 บาทต่อ 1 วา แต่เรือจะยาวเท่าไรถ้ากว้างเกิน 6 ศอก เสียเพิ่มศอกละ 6 บาท เรือที่กว้าง 4 วาขึ้นไป ถ้าเป็นเรือลูกค้าไทยเก็บค่าจังกอบ 16 บาทต่อ 1 วา ถ้าเป็นเรือจากทางไกล เป็นเรือฝรั่งเก็บ 20 บาทต่อ 1 วา ถึงสมัยรัตนโกสินทร์คงเก็บภาษีปากเรือ เอกสารจอห์น ครอว์ฟอร์ด อธิบายว่าภาษีปากเรือเก็บ 40 บาทต่อ 1 วาเรือฝรั่งเก็บ 118 บาทต่อ 1 วา เรือจากมลายูเก็บลำละ 130 บาท และเรือจากตะวันตกยังต้องเสียค่าทอดสมอ[2]
เมืองท่าสำคัญของอยุธยา
อยุธยาตั้งอยู่บริเวณปากน้ำเจ้าพระยา ซึ่งควบคุมเส้นทางการค้าในการค้าขายระหว่างจีนกับชาติตะวันตก ชาติตะวันตกใช้อยุธยาเป็นสถานีการค้านำสินค้าไปขายจีนและนำของจากจีนไปขายต่อ แต่การที่อยุธยาตั้งลึกไปในแผ่นดินทำให้ต้องมีเมืองท่าไว้ทำการค้าทางทะเล อยุธยามีเมืองท่า 2 แห่ง คือมะริดและเมืองท่าเล็กๆ ทางฝั่งทะเลทางใต้[3]
1. เมืองมะริดและตะนาวศรี เป็นเมืองท่าการค้าที่สำคัญของอยุธยา เป็นทางออกทะเลด้านอ่าวเบงกอลเพื่อติดต่อกับเมืองเบงกอลและชายฝั่งโคโรมันเดล ซึ่งตั้งอยู่ชายฝั่งทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของอินเดีย การค้าด้านอ่าวเบงกอลเป็นการค้าสำคัญของกรุงศรีอยุธยาอีกด้านหนึ่ง สินค้าเหล่านี้จะมาจำหน่ายในอยุธยา ดินแดนตอนในและส่งไปขายในจีนและญี่ปุ่น เช่น ทองแดง ปรอท สีย้อมผ้า ผ้าไหม กำมะหยี่ หญ้าฝรั่น ปะการัง น้ำกุหลาบจากโมซาบรรจุในขวดทำด้วยทองแดงผสมดีบุก และฝิ่น[4]
เรือสินค้าที่เข้ามาเทียบท่าเมืองมะริดต้องการสินค้าจากจีนและของป่าจากอยุธยา เพื่อนำไปค้าในอ่าวเบง กอล มะละกา พ่อค้าจากเปอร์เชีย อินเดีย อาหรับ ที่เข้ามาทำการค้ากับอยุธยา ได้ตั้งถิ่นฐานที่มะละกาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 22
อยุธยาต้องทำสงครามกับพม่าหลายครั้งเพื่อชิงเมืองมะริดและตะนาวศรีกับมอญและพม่า เมืองท่ามะริด-ตะนาวศรีเสียแก่พม่าในคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งแรก พ.ศ.2112 แต่สมเด็จพระนเรศวรได้ตีเมืองกลับคืนมา
การจัดการหัวเมืองมะริดและตะนาวศรี ถูกจัดเป็นหัวเมืองพระยามหานครในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ และเมื่อพระนเรศวรทรงจัดระเบียบการปกครองใหม่ได้จัดให้เป็นหัวเมืองชั้นโท[5]
2. เมืองปัตตานี เป็นเมืองท่าทางคาบสมุทรมลายูฝั่งตะวันออก จะทำการค้ากับหมู่เกาะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และกัมพูชา เรือจากกัมพูชาจะนำสินค้าประเภทหนังกวาง ยางไม้และสินค้าอื่นๆมาขาย หลังจากมะละกาตกเป็นของโปรตุเกสใน พ.ศ.2054 ปัตตานีมีความสำคัญในฐานะเมืองท่ามากขึ้น การค้าส่วนที่เคยส่งไปมะละกาได้ย้ายมาอยู่ที่ปัตตานี เรือพ่อค้าต่างชาติจากจีน ชวา ริวกิว และเมืองจากหมู่เกาะมาทำการค้าที่ปัตตานีมากขึ้นแม้แต่เรือของพ่อค้าโปรตุเกส สำเภาจีนที่มาจากกวางตุ้งและเอ้หมึงมาซื้อสินค้าจากปัตตานีเพื่อนำไปขายยังญี่ปุ่น เรือจีนนิยมมาที่เมืองท่าชายฝั่งตะวันออกของคาบสมุทรมลายูนำผ้าไหมและเครื่องกระเบื้องจีนมาแลกกับ เครื่องเทศ ดีบุก งาช้าง นอแรด ไม้ฝางและข้าว ปัตตานียังมีสินค้าประเภทหนังวัว หนังกวาง น้ำตาล น้ำผึ้ง การบูร รังนกและยาดำ
นับแต่พุทธศตวรรษที่ 22 เรือสินค้าจากอยุธยาและปัตตานีมีการทำการค้ากันเป็นประจำ สินค้าจากปัตตานีที่เป็นสินค้าสำคัญเช่น เครื่องเทศและพริกไทย[6]
การจัดการปกครองเมืองปัตตานี ถูกจัดเป็นเมืองประเทศราชตั้งแต่สมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ จนถึง พ.ศ.2438 ปัตตานีจึงถูกรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของมณฑลนครศรีธรรมราชและใน พ.ศ.2449 ได้แยกออกเป็นมณฑลปัตตานี[7]
3.เมืองมะละกา เป็นเมืองท่าที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของอุษาคเนย์ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 19-20 ในสมัยอยุธยา มะละกาเป็นแหล่งระบายสินค้าและแหล่งซื้อสินค้าที่สำคัญ อยุธยาส่งข้าวและอาหารจำนวนมากไปขายให้แก่มะละกา บางปีมีเรือสินค้าจากอยุธยาไปยังมะละกาถึง 30 ลำ สินค้าที่ส่งไปขายเช่น ข้าว เกลือ ปลาเค็ม เหล้าทำจากมะพร้าวและผัก ของจากป่าจำพวก ครั่ง กำยาน ไม้ฝาง ตะกั่ว ดีบุก เงิน ทองคำ งาช้าง ราชพฤกษ์ กระปุกทองแดงและกระปุกทอง แหวนทองฝังทับทิมและเพชร และผ้าเนื้อหยาบ เที่ยวกลับเรือสินค้าเหล่านี้จะบรรทุกสินค้าจากจีนและอินเดียกลับเข้ามา เช่น ปรอท ไม้จันทน์ขาว พริกไทย ชาด ฝิ่น การพลู ดอกจันทน์เทศ ผ้ามัสลิน ผ้าจากเมืองกลิงคราษฎร์ซึ่งนำมาทำผ้านุ่ง ผ้าขนอูฐน้ำหอม พรม ผ้าลูกไม้จากแคมเบย์ ขี้ผึ้ง การบูรบอร์เนียว ยางไม้เบญกานี[8]
ความสำคัญของมะละกาในฐานะศูนย์กลางทางการค้าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทำให้อยุธยาต้องการได้เมืองมะละกาไว้ใต้อิทธิพล ในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ มะละกาถูกกำหนดให้เป็น 1 ใน 4 หัวเมืองทางใต้ที่เป็นเมืองประเทศราชต้องถวายต้นไม้เงินต้นไม้ทอง[9]
แต่มะละกาถูกโปรตุเกสเข้ายึดครองใน พ.ศ.2054 ทำให้สยามใช้ปัตตานีเป็นเมืองท่าสำคัญแทนมะละกา
เมืองท่าจึงเป็นสถานีการค้าทางทะเลที่นำความมั่งคั่งมาให้กับราชธานี ส่งผลให้มีการสั่งสมความมั่งคั่ง เรียนรู้วิทยาการสมัยใหม่ แลกเปลี่ยนศิลปวัฒนธรรม และติดต่อสร้างสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศ
อ้างอิง
- ↑ วรางคณา นิพัทธ์สุขกิจ, จากอยุธยาถึงรัตนโกสินทร์, พิมพ์ครั้งที่ 2 แก้ไขปรับปรุง,(นครปฐม : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยศิลปากร,2555) , หน้า 13-14.
- ↑ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี, บันทึกเรื่องการปกครองของไทยสมัยอยุธยาและต้นรัตนโกสินทร์,(กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2549), หน้า 131-132.
- ↑ เพิ่งอ้าง ,หน้า 130 .
- ↑ วรางคณา นิพัทธ์สุขกิจ,จากอยุธยาถึงรัตนโกสินทร์, หน้า 27-28.
- ↑ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี, บันทึกเรื่องการปกครองของไทยสมัยอยุธยาและต้นรัตนโกสินทร์, หน้า 29,33.
- ↑ วรางคณา นิพัทธ์สุขกิจ, จากอยุธยาถึงรัตนโกสินทร์, หน้า 26-27.
- ↑ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, พระราชพงศาวดารรัชกาลที่ 5. (กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์มติชน, 2545) ,หน้า 191.
- ↑ วรางคณา นิพัทธ์สุขกิจ,จากอยุธยาถึงรัตนโกสินทร์, หน้า 23-25.
- ↑ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี, บันทึกเรื่องการปกครองของไทยสมัยอยุธยาและต้นรัตนโกสินทร์, หน้า 30.
บรรณานุกรม
วรางคณา นิพัทธ์สุขกิจ,จากอยุธยาถึงรัตนโกสินทร์,พิมพ์ครั้งที่ 2 แก้ไขปรับปรุง, นครปฐม : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยศิลปากร,2555.
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี, บันทึกเรื่องการปกครองของไทยสมัยอยุธยาและต้นรัตนโกสินทร์, กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2549.
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, พระราชพงศาวดารรัชกาลที่ 5. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์มติชน, 2545.
เอกสารอ่านเพิ่มเติม
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี, บันทึกเรื่องการปกครองของไทยสมัยอยุธยาและต้นรัตนโกสินทร์, กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2549.
วรางคณา นิพัทธ์สุขกิจ, จากอยุธยาถึงรัตนโกสินทร์,พิมพ์ครั้งที่ 2 แก้ไขปรับปรุง, นครปฐม : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยศิลปากร,2555.