ผลต่างระหว่างรุ่นของ "สมัยประชุม (Session)"

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
Suksan (คุย | ส่วนร่วม)
ไม่มีความย่อการแก้ไข
Suksan (คุย | ส่วนร่วม)
ไม่มีความย่อการแก้ไข
บรรทัดที่ 36: บรรทัดที่ 36:
==บทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับสมัยประชุม==
==บทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับสมัยประชุม==


๕.๑  สมัยประชุมตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ  
''' ๕.๑  สมัยประชุมตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ'''


ในการประชุมรัฐสภาครั้งแรกต้องเรียกประชุมรัฐสภา ภายในสามสิบวัน นับแต่วันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ให้ถือเป็นอันเริ่มสมัยประชุมสามัญทั่วไป ส่วนวันเริ่มสมัยประชุมสามัญนิติบัญญัตินั้น ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้กำหนด
ในการประชุมรัฐสภาครั้งแรกต้องเรียกประชุมรัฐสภา ภายในสามสิบวัน นับแต่วันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ให้ถือเป็นอันเริ่มสมัยประชุมสามัญทั่วไป ส่วนวันเริ่มสมัยประชุมสามัญนิติบัญญัตินั้น ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้กำหนด

รุ่นแก้ไขเมื่อ 13:22, 9 มิถุนายน 2557

เรียบเรียงโดย : นางสาววรรณวนัช สว่างแจ้ง

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : นายจเร พันธุ์เปรื่อง


ความหมาย

คำว่า “สมัยประชุม”ตรงกับคำในภาษาอังกฤษว่า “Session” หมายถึง ช่วงระยะเวลาอย่างเป็นทางการ ที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา จะทำการประชุมปรึกษาหารือ และดำเนินการอื่นใด ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญและที่อยู่ในอำนาจ หน้าที่ หรือวงงานรัฐสภา

ที่มาของสมัยประชุม

หลักการกำหนดสมัยประชุมได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๔๘๙ เป็นครั้งแรกโดยได้บัญญัติไว้ในมาตราต่างๆ ดังนี้

มาตรา ๔๓ สมัยประชุมของพฤฒสภาและของสภาผู้แทนย่อมเริ่มต้นและสิ้นสุดลงพร้อมกัน

มาตรา ๔๔ ในปีหนึ่งให้มีสมัยประชุมสามัญของสภาทั้งสอง สมัยหนึ่งหรือหลายสมัยแล้วแต่สภาผู้แทนจะกำหนดการประชุมครั้งแรกต้องกำหนดให้สมาชิกได้มาประชุมภายในสามสิบวันนับแต่วันเลือกตั้ง วันเริ่มสมัยประชุมสามัญประจำปีให้สภาผู้แทนเป็นผู้กำหนด

มาตรา ๔๕ สมัยประชุมสามัญสมัยหนึ่งๆ มีกำหนดเวลาเก้าสิบวัน แต่พระมหากษัตริย์จะโปรดเกล้าฯ ให้ขยายเวลาออกไปก็ได้

อนึ่ง ในระหว่างเวลาเก้าสิบวันนั้น จะโปรดเกล้าฯ ให้ปิดประชุมก็ได้

การกำหนดสมัยประชุมยังคงถูกบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับต่อๆ มาจนถึงรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ซึ่งเป็นฉบับปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการประชุมสภาผู้แทนราษฎร การประชุมวุฒิสภา หรือการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ต้องกระทำในสมัยประชุมทั้งสิ้น

โดยเหตุที่รัฐธรรมนูญต้องกำหนดเวลาว่าจะต้องเรียกประชุมสภาภายใน ๓๐ วันนั้น ก็เพื่อมิให้ฝ่ายบริหารหรือรัฐบาลซึ่งรักษาการอยู่ถือโอกาสยืดเวลาออกไปเรื่อยๆ โดยไม่ดำเนินการให้มีการเรียกประชุม เนื่องจากหากยังไม่มีการเรียกประชุม การตั้งนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ก็ไม่สามารถทำได้ และจะเป็นเหตุให้รัฐบาลชุดเดิมยังคงรักษาการต่อไป

สถานที่ประชุมสภา

การประชุมสภาไทยเกิดขึ้นครั้งแรก ในวันที่ ๒๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ เวลา ๑๔.๐๐ นาฬิกา โดยกำหนดให้ห้องโถงชั้นบนของพระที่นั่งอนันตสมาคมเป็นสถานที่ประชุม มีการจัดโต๊ะเป็นรูปครึ่งวงกลมตั้งอยู่ในระดับเดียวกันเป็นการชั่วคราว ซึ่งการประชุมครั้งแรกเป็นการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่ประชุมได้เลือกเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร พระยาอินทรวิชิต เป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฎร และให้หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ต่อมาเมื่อมีพฤฒสภาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๔๘๙ ขึ้นมาอีกสภาหนึ่งจึงได้กำหนดให้ใช้พระที่นั่งอภิเษกดุสิตเป็นที่ประชุมพฤฒสภาอีกแห่งหนึ่ง ส่วนพระที่นั่งอนันตสมาคมให้ใช้เป็นที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร และให้ใช้เป็นที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา และเมื่อเปลี่ยนจากพฤฒสภาเป็นวุฒิสภาในปี พ.ศ. ๒๔๙๐ แล้ว ได้กำหนดให้ใช้พระที่นั่งอนันตสมาคมเป็นที่ประชุมวุฒิสภาเช่นเดียวกับสภาผู้แทนราษฎร หลังจากได้มีการดำเนินการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ซึ่งแล้วเสร็จในปี พ.ศ. ๒๕๑๗ จึงได้เปลี่ยนมาทำการประชุมสภา ณ อาคารรัฐสภาแห่งใหม่ และใช้เปิดการประชุมครั้งแรกในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ชุดที่ ๒ ครั้งที่ ๖๗ ในวันพฤหัสบดี ที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๑๗ และได้ใช้ห้องประชุมของอาคารรัฐสภาแห่งนั้นมาจนถึงปัจจุบัน ส่วนพระที่นั่งอนันตสมาคม แม้ไม่ได้เป็นสถานที่ประชุมสภาแล้ว แต่ยังคงใช้เป็นสถานที่สำหรับประกอบรัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภาจนกระทั่งปัจจุบัน

กำหนดเวลาสมัยประชุม

สมัยประชุม แบ่งเป็นสมัยประชุมสามัญ และสมัยประชุมวิสามัญ สมัยประชุมสามัญก่อนนี้มีกำหนดระยะเวลาเพียง ๙๐ วัน แต่ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ กำหนดระยะเวลาดังกล่าวขยายเป็น ๑๒๐ วัน ส่วนสมัยประชุมวิสามัญนั้น มิได้กำหนดระยะเวลาตามตัวว่าเป็นเท่าใด พูดง่าย ๆ คือ เสร็จสิ้นภารกิจเมื่อไร หรือหมดความจำเป็นเมื่อไร ก็ปิดสมัยประชุมได้

ดังนั้น เรื่องตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติว่าเป็นอำนาจหน้าที่ของสภาซึ่งต้องกระทำในที่ประชุมสภา จะต้องดำเนินการในระหว่างสมัยประชุมทั้งสิ้น

บทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับสมัยประชุม

๕.๑ สมัยประชุมตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ

ในการประชุมรัฐสภาครั้งแรกต้องเรียกประชุมรัฐสภา ภายในสามสิบวัน นับแต่วันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ให้ถือเป็นอันเริ่มสมัยประชุมสามัญทั่วไป ส่วนวันเริ่มสมัยประชุมสามัญนิติบัญญัตินั้น ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้กำหนด

นอกจากนี้ ยังมีบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับสมัยประชุมอีกหลายประการ ดังนี้

๑) กำหนดเวลาในสมัยประชุมสามัญของรัฐสภา ๑๒๐ วัน นั้น พระมหากษัตริย์จะโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ขยายเวลาออกไปก็ได้ การปิดสมัยประชุมสามัญก่อนครบกำหนด ๑๒๐ วัน ก็สามารถทำได้เช่นกัน แต่ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภาก่อน

๒) ในการเปิดสมัยประชุมสามัญทั่วไปครั้งแรกภายในสามสิบวัน หลังการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนั้น พระมหากษัตริย์จะเสด็จพระราชดำเนินมาทรางทำรัฐพิธีเปิดประชุมด้วยพระองค์เอง หรือจะโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระราชทายาทซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้ว หรือผู้ใดผู้หนึ่งเป็นผู้แทนพระองค์มาทำรัฐพิธีก็ได้

๓) การเรียกประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ สามารถทำได้ทั้งการร้องขอโดยคณะรัฐมนตรี และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภารวมกัน หรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของทั้งสองสภาเข้าชื่อร้องขอ และทั้งสอบกรณีต้องนำความกราบบังคมทูลเพื่อมีพระบรมราชโองการ ประกาศเรียกประชุมรัฐสภา เป็นการประชุมสมัยวิสามัญ ทั้งนี้ โดยมีนายกรัฐมนตรีหรือประธานรัฐสภาลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแล้วแต่กรณี

ถ้าเป็นพระราชกฤษฎีกาเปิดสมัยประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ โดยการร้องขอของคณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ แต่ถ้าเป็นการเข้าชื่อกันร้องขอให้เปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ โดยสมาชิกรัฐสภาจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสาม ประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ

๔) ในระหว่างสมัยประชุม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาได้รับ “ความคุ้มกัน” ที่จะไม่ถูกจับกุม คุมขัง หรือถูกพิจารณาคดีในฐานะเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญา เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากสภาที่ผู้นั้นเป็นสมาชิก

๕.๒ ข้อบังคับการประชุม

๕.๒.๑ ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร

ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๕๑ มีบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการเปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎร ดังนี้

๑) การประชุมสภาครั้งแรก

ข้อ ๑๒ ให้มีการประชุมครั้งแรกภายในสิบวันนับแต่วันเปิดสมัยประชุมสามัญหรือวิสามัญของรัฐสภา

การประชุมครั้งต่อไปให้เป็นไปตามมติที่สภากำหนดไว้ แต่ถ้ามีเหตุอันสมควรประธานสภาจะสั่งงดการประชุมครั้งใดก็ได้

ในกรณีที่ประธานสภาเห็นสมควรเรียกประชุมเป็นพิเศษ ให้เรียกประชุมได้

๒) การพิจารณาอนุญาตให้มีการจับ คุมขัง หรือหมายเรียกสมาชิกในระหว่างสมัยประชุม

ข้อ ๑๗๙ ในกรณีมีเรื่องที่สภาจะต้องพิจารณาเกี่ยวกับการอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้มีการจับ หรือ คุมขัง หรือหมายเรียกตัวสมาชิกไปทำการสอบสวนในฐานะเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญาในระหว่างสมัยประชุมตามมาตรา ๑๓๑ วรรคหนึ่งของรัฐธรรมนูญ หรือในกรณีมีเรื่องที่สภาจะต้องพิจารณาอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้มีการพิจารณาคดีอาญาที่สมาชิกถูกฟ้องในระหว่างสมัยประชุมตามมาตรา ๑๓๑ วรรคสามของรัฐธรรมนูญให้ประธานสภาบรรจุเข้าระเบียบวาระการประชุมเป็นเรื่องด่วน

การขออนุญาตตามวรรคหนึ่งหากประธานสภาเห็นว่าเหตุการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไป ประธานสภาอาจสั่งให้นำออกจากระเบียบวาระการประชุมได้แล้วแจ้งให้ที่ประชุมทราบ

๕.๒.๒ ข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา

ข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๕๑ มีบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการเปิดสมัยประชุม ดังนี้

๑) การประชุมวุฒิสภาครั้งแรก

ข้อ ๑๔ ให้มีการประชุมวุฒิสภาครั้งแรกภายในสิบวันนับแต่วันเปิดสมัยประชุมสามัญหรือวิสามัญของรัฐสภา เว้นแต่ประธานวุฒิสภาเห็นว่าไม่มีวาระที่จะพิจารณา ในกรณีเช่นนั้นให้ประธานวุฒิสภาแจ้งให้สมาชิกทราบล่วงหน้า

การประชุมครั้งต่อไปให้เป็นไปตามมติที่ประชุมวุฒิสภา ประธานวุฒิสภาอาจสั่งงดการประชุมครั้งใดก็ได้เมื่อเห็นว่าไม่มีเรื่องที่สมควรจะบรรจุเข้าระเบียบวาระการประชุม แต่ต้องแจ้งให้สมาชิกทราบล่วงหน้า

ในกรณีที่ประธานวุฒิสภาเห็นสมควรหรือสมาชิกจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสี่ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภาเข้าชื่อร้องขอต่อประธานวุฒิสภาให้เรียกประชุมเป็นพิเศษก็ให้เรียกประชุมได้

๒) การพิจารณาอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้มีการจับกุมคุมขังหรือหมายเรียกสมาชิกในระหว่างสมัยประชุม

ข้อ ๑๘๔ ในระหว่างสมัยประชุมถ้ามีกรณีที่ วุฒิสภาจะต้องพิจารณาอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้มี การจับ คุมขัง หรือหมายเรียกตัวสมาชิกไปทำการสอบสวนในฐานะเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญาตามมาตรา ๑๓๑ วรรคหนึ่งของรัฐธรรมนูญ หรือมีกรณีที่วุฒิสภาจะต้องพิจารณาอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้มีการพิจารณาคดีอาญาที่สมาชิกถูกฟ้องตามมาตรา ๑๓๑ วรรคสามของรัฐธรรมนูญให้ประธานวุฒิสภาบรรจุเข้าระเบียบวาระการประชุมเป็นเรื่องด่วน

สรุป

ด้วยหลักการข้างต้นจึงกล่าวได้ว่าในการทำงานของสภาโดยการประชุมสภานั้น สภามิได้มีการประชุมกันตลอดเวลาหรือตลอดทั้งปี หากแต่ทำงานกันเป็นสมัย ๆ เรียกว่า “สมัยประชุม” โดยสมัยประชุมแต่ละสมัยในทุกปีภาระหน้าที่ของสภาจะแตกต่างกัน สมัยประชุม ถือเป็นกลไกการทำงานของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งตามหลักการแบ่งแยกอำนาจ อันจะก่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในการปฏิบัติงานทั้ง ด้านนิติบัญญัติ ด้านการควบคุมการทำงานของฝ่ายบริหาร รวมถึงการทำงานในด้านอื่นๆ ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ ส่วนในช่วงเวลาที่อยู่นอกสมัยประชุมสภาสามารถดำเนินงานได้โดยคณะกรรมาธิการเป็นหลัก

อ้างอิง


บรรณานุกรม

คณิน บุญสุวรรณ. ศัพท์สภาน่ารู้ ตอนที่ ๑๐ “สมัยประชุม”. ที่มา Kainboonsuwan.com (เข้าถึงข้อมูลเมื่อ วันที่ ๑๐ มีนาคม ๒๕๕๗).

ประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์, รัฐสภาไทยในรอบสี่สิบสองปี 2475-2517. กรุงเทพฯ : ช.ชุมนุมช่าง, 2517.

สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๕๑ ข้อบังคับการ ประชุมวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๕๑. (กรุงเทพฯ : สำนักการพิมพ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร). ๒๕๕๑.

สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐. (กรุงเทพฯ : สำนักการพิมพ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ). ๒๕๕๐.

http://meechaithailand.com/ver1/?Module=3&action=view&type=10&mcid=21,(เข้าถึงข้อมูล เมื่อวันที่ ๑๐ มีนาคม ๒๕๕๗).

http://www.panyathai.or.th/wiki/index.php, (เข้าข้อมูลเมื่อวันที่ ๑๐ มีนาคม ๒๕๕๗).

หนังสือแนะนำอ่านเพิ่มเติม

กาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์. คู่มือสมาชิกวุฒิสภา เล่มที่ ๑. นนทบุรี : สถาบันพระปกเกล้า, ๒๕๔๙.

คณิน บุญสุวรรณ. ศัพท์รัฐสภา. กรุงเทพฯ : บพิธ, ๒๕๒๐.

ชัยอนันต์ สมุทวาณิชและเศรษฐพร คูศรีพิทักษ์. กลไกรัฐสภา. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์พิฆเณศ. ๒๕๑๘.

ประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์. รัฐสภาไทยในรอบสี่สิบสองปี ๒๔๗๕ – ๒๕๑๗. กรุงเทพฯ : ช.ชุมนุมช่าง, ๒๕๑๗.

มนตรี รูปสุวรรณ. กฎหมายรัฐสภา. พิมพ์ครั้งที่ ๖. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยรามคำแหง, ๒๕๔๓.

มังกร ชัยชนะดารา. วิธีดำเนินการประชุมแบบรัฐสภา. กรุงเทพฯ : ไทยวิวัฒนาพาณิช, ๒๕๒๐.

สถาพร สระมาลีย์. กฎหมายรัฐสภา. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยรามคำแหง, ๒๕๔๙.