ผลต่างระหว่างรุ่นของ "กระบวนการจัดทำพระราชบัญญัติสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. 2543"
ไม่มีความย่อการแก้ไข |
ไม่มีความย่อการแก้ไข |
||
บรรทัดที่ 1: | บรรทัดที่ 1: | ||
'''ผู้เรียบเรียง''' วัชรา ไชยสาร | '''ผู้เรียบเรียง''' วัชรา ไชยสาร |
รุ่นแก้ไขเมื่อ 11:25, 1 ตุลาคม 2553
ผู้เรียบเรียง วัชรา ไชยสาร
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ พรรณราย ขันธกิจ
พระราชบัญญัติสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. 2543 ได้บัญญัติขึ้นตามมาตรา 89 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 โดยเพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามหมวดว่าด้วยแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ให้รัฐจัดให้มีสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมีหน้าที่ให้คำปรึกษาและข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีในปัญหาต่างๆ ที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งให้ความเห็นเกี่ยวกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและแผนอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติก่อนพิจารณาประกาศใช้ ทั้งนี้ องค์ประกอบ ที่มา อำนาจหน้าที่ และการดำเนินงานของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ
ความเป็นมา
หลังจากประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2540 นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้แก่ ฯพณฯ พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการประสานงานการดำเนินการให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญซึ่งจะต้องจัดทำกฎหมายหลายลักษณะด้วยกัน รวมทั้งจะต้องตราพระราชบัญญัติสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติขึ้นมารองรับการดำเนินงานให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญฯ เช่นกัน
ในเบื้องต้นนั้น ให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นหน่วยงานในการรับไปดำเนินการโดยมีข้อสังเกตว่า ควรจะออกกฎหมายใหม่หรือแก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. 2521
สศช. ได้จัดแต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาปรับบทบาทและโครงสร้าง สศช. เพื่อให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ โดยมีนายธรรมรักษ์ การพิศิษฎ์ เป็นประธาน และนางสาวพรรณราย ขันธกิจ เป็นคณะทำงานและเลขานุการ มีหน้าที่พิจารณาเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 89 ในการจัดตั้งสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และแนวทางการออกพระราชบัญญัติสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
ต่อมาเปลี่ยนรัฐบาลจาก ฯพณฯ พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ นายกรัฐมนตรี เป็น ฯพณฯ นายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรี ซึ่งได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2540 ได้ระบุชัดเจนว่า จะจัดตั้งสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
คณะกรรมการนโยบายและประสานการดำเนินการให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรี (นายพิชัย รัตตกุล) เป็นประธาน ได้มอบหมายให้ สศช. รับไปตรวจสอบและดำเนินการให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฯ โดยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายสาวิตต์ โพธิวิหค) ซึ่งเป็นผู้กำกับดูแล สศช. ได้มอบนโยบายการดำเนินการจัดตั้งสภาที่ปรึกษาฯ โดยแบ่งงานออกเป็น 4 ขั้นตอน คือ[1]
(1) กำหนดกรอบแนวคิดเรื่องสภาที่ปรึกษาฯ โดยตั้งคณะทำงานฯ ร่วมระหว่างผู้ทรงคุณวุฒิจากในและนอกสำนักงานฯ รวมทั้งศาสตราจารย์ ดร. บวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตเลขาธิการสภาร่างรัฐธรรมนูญฯ
(2) นำกรอบแนวคิดไปรับฟังความคิดเห็นจากอดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญฯ (สสร.) ที่เกี่ยวข้องกับการบทบัญญัติมาตรา 89 ตัวแทนกลุ่มประชาชนจากภาคส่วนต่างๆ ได้แก่ ตัวแทนผู้ทรงคุณวุฒิจากหลายสาขา ตัวแทนอาชีพและกิจกรรม หัวหน้าหน่วยงานที่จะเกี่ยวข้องกับสภาฯ คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและคณะผู้บริหารของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคม
(3) จัดตั้ง “คณะกรรมการดำเนินการจัดตั้งสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ” จากผู้ทรงคุณวุฒิกับบุคคลจากภาคประชาชนในทุกภาคส่วน โดยมีนายวิษณุ เครืองาม เป็นประธานคณะกรรมการ และนางสาวพรรณราย ขันธกิจ เป็นกรรมการและเลขานุการ กำหนดให้ทำหน้าที่พิจารณากำหนดรูปแบบองค์กรสภาที่ปรึกษาฯ ให้มีบทบาทและหน้าที่สอดคล้องตามบทบัญญัติของ รัฐธรรมนูญ พร้อมจัดทำข้อเสนอแนะเกี่ยวกับรูปแบบขององค์กรการดำเนินงานของสภาที่ปรึกษาฯ และความสัมพันธ์กับรัฐบาล ยกร่างกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการจัดตั้งสภาที่ปรึกษาฯ
(4) มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการดำเนินการจัดตั้งสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจัดทำ “โครงการรับฟังความคิดเห็นเรื่อง สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ” โดยมีร่างพระราชบัญญัติสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ของคณะกรรมการดำเนินการจัดตั้งสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นร่างต้นแบบออกรับความคิดเห็นจากประชาชน
กระบวนการตราพระราชบัญญัติสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
(1) การรับฟังความคิดเห็น
วัตถุประสงค์: เพื่อให้ได้ข้อคิดเห็นที่จะนำไปสู่การจัดตั้งองค์กรสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และตรงความต้องการของประชาชนทุกกลุ่ม
เป้าหมาย : เพื่อให้การร่างพระราชบัญญัติสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติของรัฐบาลได้รับข้อมูลที่ครบถ้วน สะท้อนความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง และสามารถนำมาซึ่งกฎหมายรองรับการจัดตั้งองค์กรให้คำปรึกษาทางเศรษฐกิจและสังคม โดยการมีส่วนร่วมจากประชาชนอย่างแท้จริง
ขั้นตอนการดำเนินงาน :
ขั้นที่ 1 สร้างแบบสอบถามเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติ สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
ขั้นที่ 2 เก็บข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามกับตัวบุคคลและองค์กร
ขั้นที่ 3 จัดเวทีสัมมนารับฟังความคิดเห็น
ผลการสำรวจความคิดเห็น สรุปได้ 5 ประเด็นหลัก ดังนี้
- (1) ส่วนใหญ่เห็นว่า ควรจัดตั้งสภาที่ปรึกษาฯ โดยเร็ว เพื่อสนองตอบต่อหลักการสำคัญของรัฐธรรมนูญในการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน
- (2) เสนอให้ระบุอำนาจหน้าที่ของสภาที่ปรึกษาฯ ตามที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 89
- (3) ลักษณะขององค์กรเป็นหน่วยงานของรัฐที่เป็นอิสระ สมาชิกสภาที่ปรึกษาฯ มาจากหลากหลายอาชีพในฐานะตัวแทนของเครือข่าย ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศมีความรู้ ภูมิปัญญาในกลุ่มอาชีพของตนเป็นอย่างดี
- (4) การดำเนินงานของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นองค์กรที่ดำเนินงานในลักษณะการมีส่วนร่วม สร้างและเชื่อมต่อเครือข่าย โปร่งใสผ่านสื่อมวลชนให้ประชาชนรับทราบ โดยมีสำนักงานเลขานุการอย่างถาวร ซึ่งอาจเป็นส่วนหนึ่งของ สศช. หรือจัดตั้งสำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติขึ้นมาใหม่ ทั้งนี้ในระยะเริ่มต้นให้อยู่ใน สศช. ตามข้อเสนอในร่างพระราชบัญญัติสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และ
- (5) สร้างระบบการเข้าเป็นสมาชิกโดยยึดหลักการทำงานเพื่อรับใช้ชาติ และไม่คำนึงถึงค่าตอบแทนเป็นแรงจูงใจ
(2) การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. ….
- 1) การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 24 มกราคม – 7 มีนาคม 2543 รัฐบาลได้เห็นชอบในหลักการของร่างพระราชบัญญัติฯ โดยมีขั้นตอนดังนี้
- - คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรี พิชัย รัตตกุล เป็นประธาน มีมติเห็นชอบให้เสนอคณะรัฐมนตรี
- - คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการ เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2543
- - คณะกรรมการกฤษฎีกา ตรวจแก้ไขร่างพระราชบัญญัติฯ เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ – 6 มีนาคม 2543
- - คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการของร่างพระราชบัญญัติฯ เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2543
- 2) การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 15 มีนาคม – 12 กรกฎาคม 2543
- - วาระที่ 1 สภาผู้แทนราษฎรรับหลักการ เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2543
- - วาระที่ 2 แต่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ โดยมีนายสาวิตต์ โพธิวิหค เป็นประธาน และนายชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ เป็นกรรมาธิการและเลขานุการคณะกรรมาธิการ
- - วาระที่ 3 มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติสภาที่ปรึกษาฯ
- 3) การพิจารณาของวุฒิสภา เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม – 16 กันยายน 2543
- - วาระที่ 1 วุฒิสภารับหลักการ
- - วาระที่ 2 แต่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ โดยมีนายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง เป็นประธาน และนายนิรันดร์ พิทักษ์วัชระ เป็นกรรมาธิการและเลขานุการคณะกรรมการวิสามัญฯ
- - วาระที่ 3 มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติสภาที่ปรึกษาฯ
จากนั้นสภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติฯ ที่วุฒิสภาแก้ไขแล้วมีมติเห็นชอบและนายกรัฐมนตรีได้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงลง พระปรมาภิไธย และประกาศใช้เป็นกฎหมาย เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2543 โดยให้มีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2543.
ดูเพิ่มเติม
สถาพร วชิรโรจน์. ความคิดเห็นของประชาชนต่อสาระสำคัญในร่างพระราชบัญญัติสภาที่ปรึกษา
เศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. ภาคนิพนธ์ หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (พัฒนาสังคม)สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, 2543.
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. ประมวลความคิดเห็นของประชาชน
เรื่อง สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. ม.ป.ท., 2542.
www.nesac.go.th/
ที่มา
พรรณราย ขันธกิจ. บทบาทและหน้าที่ขององค์กรสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. นนทบุรี : สถาบันพระปกเกล้า, 2548
พระราชบัญญัติสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. 2543.
อ้างอิง
- ↑ พรรณราย ขันธกิจ. บทบาทและหน้าที่ขององค์กรสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. นนทบุรี : สถาบันพระปกเกล้า, 2548 หน้า 47 – 52.