ผลต่างระหว่างรุ่นของ "เครือข่ายชาวนา (พ.ศ. 2549)"
ไม่มีความย่อการแก้ไข |
ไม่มีความย่อการแก้ไข |
||
บรรทัดที่ 1: | บรรทัดที่ 1: | ||
'''ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ''' รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต | |||
---- | |||
'''พรรคเครือข่ายชาวนา''' | '''พรรคเครือข่ายชาวนา''' | ||
รุ่นแก้ไขเมื่อ 22:23, 10 มิถุนายน 2553
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
พรรคเครือข่ายชาวนา
พรรคเครือข่ายชาวนา (The Farmer Network of Thailand Party) หรือตัวย่อว่า “พนท.” จดทะเบียนพรรคการเมืองในวันที่ 20 มิถุนายน 2549 โดยมีนายประเดิม ดำรงเจริญ เป็นหัวหน้าพรรค และมีนายธนะพงษ์ เสรีวรรลภ เป็นเลขาธิการพรรค
พรรคเครือข่ายชาวนา ถือกำเนิดขึ้นจากการรวมตัวกันของกลุ่มชาวนาและกลุ่มเกษตรกรขนาดเล็กในชนบท ซึ่งเริ่มต้นรวมตัวกันในนาม “เครือข่ายหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทย” ซึ่งมีสมาชิกรวมทั้งสิ้นกว่า 8 แสนคน และสมาชิกกว่า 6 แสนคนอยู่ในภาคกลาง [1]โดยที่ผ่านมาเครือข่ายมีเป้าหมายเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาแก้ไขปัญหาของเกษตรกรยากจน โดยเฉพาะปัญหาหนี้สิน ปัญหาเกษตรกรโดนฟ้องไล่ยึดที่ดินทำกิน ซึ่งนำมาสู่ปัญหาใหญ่ของเกษตรกรในสังคมไทย นั่นคือ ปัญหาการขาดแคลนที่ดินทำกิน (ปัญหาการขาดแคลนที่ดินทำกินสำหรับเกษตรกรในภาคเหนือนำมาสู่การบุกยึดที่ดินรกร้างว่างเปล่าของนายทุนในนามของ เครือข่ายกลุ่มเกษตรกรภาคเหนือ ในปี 2544 และ 2545) [2]
สำหรับการรวมตัวเป็นพรรคนั้น ประเดิม ดำรงเจริญ หัวหน้าพรรคชี้ว่า ลำพังเพียงการเคลื่อนไหวของกลุ่มชาวนาและเกษตรกรแบบเป็นเครือข่ายนั้นไม่เพียงพอในการต่อสู้ต่อรองกับรัฐบาลอีกต่อไป อันเนื่องมาจากรัฐบาลไม่ค่อยให้ความสนใจปัญหาเกษตรกรมากนัก ดังนั้น “ถ้าเราเข้าไปมีส่วนในอำนาจรัฐเอง มันจะง่ายกว่าไหมที่จะเรียกร้องผลประโยชน์ของเรา ซึ่งเป็นชนชั้นที่ถูกกดขี่ คือเรามองว่าเรื่องปัญหาของพี่น้องเกษตรกรไทยที่ต้องเจอมาทั้งในเรื่องหนี้สิน เรื่องราคาผลผลิต ทั้งหมดมันเป็นปัญหาที่เกิดจากโครงสร้างทางสังคมทำให้เราได้รับความเดือดร้อน นี่ไม่ใช่เรื่องของตัวบุคคล ไม่ใช่เรื่องของความขี้เกียจ ขยัน ถ้าเราจะพูดถึงการแก้ปัญหา ในเรื่องของโครงสร้างต้องได้รับการแก้ไขด้วย นั่นหมายถึงตัวนโยบายรัฐต้องออกมาเพื่อเอื้อประโยชน์ให้เราด้วย” [3]
ส่วนรูปแบบการทำงานของพรรคนั้น มุ่งเน้นที่การเชื่อมโยงกับเครือข่ายหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทยที่มีอยู่เดิม โดยให้เครือข่ายฯเป็นฐานในการระดมมวลชนให้กับพรรค เช่นเดียวกับพรรคแรงงานหรือพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยในประเทศยุโรปที่มีสหภาพแรงงานเป็นฐานในการระดมทรัพยากรและระดมมวลชนให้กับพรรค แหล่งเงินทุนของพรรคมาจากการเก็บเงินจากสมาชิกเดือนละ 20 บาท ปีละ 240 บาท โดยไม่มีการรับบริจาคจากแหล่งทุนอื่นๆ
ในการร่างรัฐธรรมนูญพุทธศักราช 2550 นั้น พรรคมีข้อเสนอหลายข้อที่สำคัญต่อ สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) หนึ่งในนั้นก็คือ การเสนอให้ลดเงื่อนไขด้านวุฒิการศึกษาของผู้สมัครรับเลือกตั้งลง โดยไม่จำเป็นที่ผู้สมัครจะต้องมีวุฒิการศึกษาปริญญาตรี อันเนื่องมาจากเกษตรกรส่วนใหญ่ไม่ได้จบการศึกษาในระดับปริญญาตรี ส่งผลให้เกษตรกรและผู้ใช้แรงงานภาคเกษตรโดยทั่วไปไม่สามารถมีตัวแทนของกลุ่มหรือชนชั้นตนเองลงสมัครรับเลือกตั้งได้ และยังเสนอให้มีการออกกฎหมายคุ้มครองสวัสดิภาพแรงงานภาคการเกษตร เพื่อให้ “มีมาตรฐานเท่าเทียมกับกฏหมายคุ้มครองแรงงาน เนื่องจากปัจจุบันแรงงานภาคการเกษตรมีคุณภาพชีวิตที่ต่ำมาก เป็นภาคแรงงานที่มีสัดส่วนสูงแต่ไม่มีกฎหมายอะไรคุ้มครองช่วยเหลือเขาเลย” [4]
ข้อเสนอหลักของพรรคในการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 23 ธันวาคม 2550 คือ การพัฒนาการเกษตรแบบเป็นระบบที่ครอบคลุมทั้งประเทศ โดย “ทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรอุตสาหกรรมเพื่อผลิตอาหารปลอดสารพิษ อาหารที่ปลอดภัย โดยคนทุกชนชั้นในสังคมสามารถเข้าถึงได้ รูปธรรมก็คือ เราต้องทำการพัฒนาการเกษตรแบบเป็นระบบที่ครอบคลุมทั้งประเทศ เอาเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการผลิต ส่วนในเรื่องของอุตสาหกรรม การทำการเกษตร กับอุตสาหกรรมต้องเป็นสัดส่วน เพราะถ้าในพื้นที่การเกษตรที่อุตสาหกรรมเข้าไปตั้งแค่ 20 เปอร์เซ็นต์ อีก 80 เปอร์เซ็นต์จะไม่สามารถทำการเพาะปลูกได้ ผมไม่เห็นด้วยกับการตั้งโรงงานในบริเวณที่ควรจะเป็นสถานที่เพาะปลูก เช่น ในเขตอยุธยา แปดริ้ว เพราะดินบริเวณนี้มันเหมาะแก่การเกษตร” [5] มากไปกว่านั้น พรรคยังเสนอให้ยกเลิกโครงการสร้างเขื่อนชลประทาน ซึ่งส่งผลร้ายต่อสภาพแวดล้อมและการทำการเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสร้างเขื่อนส่งผลโดยตรงต่อการทำลายป่าไม้ ซึ่งในที่สุดแล้วจะส่งผลให้ระบบนิเวศวิทยาเปลี่ยนแปลงไป ปัญหารูปธรรมที่เกษตรกรต้องประสบจากการสร้างเขื่อนก็คือ สภาพฝนแล้ง ทำการเพาะปลูกไม่ได้ตามฤดูกาล เป็นต้น ซึ่งถือเป็นปัญหาที่สำคัญประการหนึ่งของเกษตรกรยากจนในประเทศไทย รวมไปถึงยังเสนอให้ “ยกเลิกเก็บค่าพรีเมี่ยมข้าว ถือเป็นเงินกินเปล่าที่ชาวนาต้องจ่ายในการส่งสินค้าไปต่างประเทศ รวมถึงความไม่เป็นธรรมหลายอย่าง อาทิ การนำสินค้าประเภททุนเข้ามาทำกิจการในภาคอุตสาหกรรมได้รับการยกเว้นการเก็บภาษี แต่ปัจจัยทุนในการเกษตร เช่น ปุ๋ย กลับเก็บภาษีเต็มที่ อย่างนี้ไม่เป็นธรรม” [6]
แม้ว่าจากผลของการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 23 ธันวาคม 2550 พรรคจะไม่ได้ที่นั่งในรัฐสภา แต่หากพิจารณาผลการทำงานเผยแพร่นโยบายและความนิยมในตัวพรรคผ่านคะแนนของการเลือกตั้งแบบกลุ่มเขตจังหวัด (หรือระบบปาร์ตี้ลิสต์แบบเดิม) ในการลงสมัคร 4 กลุ่มจังหวัด จากทั้งหมด 8 กลุ่มจังหวัด คะแนนจากกลุ่มจังหวัดที่ 1 (แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา น่าน ลำปาง ลำพูน แพร่ ตาก สุโขทัย กำแพงเพชร) มีจำนวนคะแนนเสียงทั้งหมดประมาณ 3 ล้านเศษ พรรคเครือข่ายชาวนาแห่งประเทศไทยได้รับคะแนนเสียง 50,238 คะแนน กลุ่มจังหวัดที่ 5 (นครราชสีมา นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ปทุมธานี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี จันทบุรี ระยอง ตราด) พรรคได้คะแนนทั้งสิ้น 42,774 คะแนน กลุ่มจังหวัดที่ 7 (กาญจนบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม ราชบุรี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง อยุธยา สระบุรี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ระนอง) ได้คะแนนทั้งสิ้น 53,907 คะแนน และกลุ่มจังหวัดที่ 8 (สุราษฎร์ธานี พังงา ภูเก็ต กระบี่ นครศรีธรรมราช ตรัง พัทลุง สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส) พรรคได้คะแนนทั้งสิ้น 33,729 คะแนน [7]
อ้างอิง
- ↑ http://news.mjob.in.th/politic/cat3/news9733/ (เข้าดูวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2552)
- ↑ ดูเพิ่มเติมบทบาทของ เครือข่ายกลุ่มเกษตรกรภาคเหนือ (คกน.) ใน วิเชิด ทวีกุล, พลวัตการเมืองภาคประชาชน: กรณีศึกษาการเคลื่อนไหวของชาวบ้านในเครือข่ายกลุ่มเกษตรกรภาคเหนือ พ.ศ. 2530-2547 (เชียงใหม่: โครงการปฏิบัติการชุมชนและเมืองน่าอยู่ มูลนิธิชุมชนไท, 2548)
- ↑ http://www.prachatai.com/05web/th/home/9737 (เข้าดูวันที่ 2 มีนาคม 2552)
- ↑ http://www.prachatai.com/05web/th/home/9737 (เข้าดูวันที่ 2 มีนาคม 2552)
- ↑ http://www.prachatai.com/05web/th/home/9737 (เข้าดูวันที่ 2 มีนาคม 2552)
- ↑ http://news.mjob.in.th/politic/cat3/news9733/ (เข้าดูวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2552)
- ↑ กองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์เลี้ยวซ้าย, “ผลเลือกตั้งพรรคเครือข่ายชาวนาฯ : บทเรียนการก่อตั้งพรรคการเมืองภาคประชาชน” ใน http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ID=10969&Key=HilightNews (เข้าดูวันที่ 2 มีนาคม 2552)