ผลต่างระหว่างรุ่นของ "ถวัติ ฤทธิเดช"

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
Trikao (คุย | ส่วนร่วม)
ไม่มีความย่อการแก้ไข
Trikao (คุย | ส่วนร่วม)
ไม่มีความย่อการแก้ไข
บรรทัดที่ 29: บรรทัดที่ 29:


 
 


=== '''ชีวิตและบทบาทในช่วงหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง''' ===
=== '''ชีวิตและบทบาทในช่วงหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง''' ===
บรรทัดที่ 91: บรรทัดที่ 90:
&nbsp;&nbsp;&nbsp;&nbsp;&nbsp;&nbsp;&nbsp;&nbsp;&nbsp;&nbsp;&nbsp; [9] ถวัติ ฤทธิเดช, “ลัทธิการปกครองสยาม” หนังสือพิมพ์อิสสระ (24 กันยายน 2478) อ้างใน ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์. <u>แรงงานวิจารณ์เจ้า: ประวัติศาสตร์ราษฎรผู้หาญกล้าท้าทายสมบูรณาญาสิทธิราชย์</u>, หน้า 123
&nbsp;&nbsp;&nbsp;&nbsp;&nbsp;&nbsp;&nbsp;&nbsp;&nbsp;&nbsp;&nbsp; [9] ถวัติ ฤทธิเดช, “ลัทธิการปกครองสยาม” หนังสือพิมพ์อิสสระ (24 กันยายน 2478) อ้างใน ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์. <u>แรงงานวิจารณ์เจ้า: ประวัติศาสตร์ราษฎรผู้หาญกล้าท้าทายสมบูรณาญาสิทธิราชย์</u>, หน้า 123
</div> </div>  
</div> </div>  
[[Category:บุคคลสำคัญทางการเมือง]][[Category:พระปกเกล้าศึกษา]]
[[Category:บุคคลสำคัญทางการเมือง]] [[Category:พระปกเกล้าศึกษา]]

รุ่นแก้ไขเมื่อ 16:11, 15 กุมภาพันธ์ 2565

ผู้เรียบเรียง  ศิวพล ชมภูพันธุ์

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ  ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ

 

          นายถวัติ ฤทธิเดช เป็นสามัญชนผู้มีบทบาทอย่างโดดเด่นในช่วงหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ. 2475 จากการยื่นฟ้องพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งถือเป็นคราวแรกที่ประชาชนคนธรรมดาฟ้องร้องพระมหากษัตริย์สยามในบริบทรุ่งอรุณของระบอบการปกครองใหม่ นอกจากบทบาทดังกล่าวแล้ว นายถวัติ ฤทธิเดชยังถือเป็นนักหนังสือพิมพ์ผู้เชิดชูอุดมการณ์การสนับสนุนชนชั้นกรรมกร และบทบาทการถวายฎีกาเกี่ยวกับปัญหาปากท้องของชนชั้นล่างมาตั้งแต่สมัยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์

          นายถวัติ ฤทธิเดช เกิดเมื่อ พ.ศ. 2437 เป็นบุตรชายคนสุดท้ายของนายวรและนาง ที่อำเภอบางช้าง จังหวัดสมุทรสาคร เมื่อเติบโตนายถวัติได้บวชเรียนเป็นสามเณรตามขนบของสังคมไทยจนเมื่ออายุถึงวัยอุปสมบทก็ได้มีโอกาสย้ายเข้ามาศึกษาทางธรรมต่อที่วัดในพระนครจนสำเร็จชั้นมหาจึงได้ลาสิกขาบทเพื่อไปประกอบอาชีพทางโลก

 

ชีวิตและบทบาทในช่วงก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง      

          เมื่อเข้าสู่ชีวิตทางโลกอย่างเต็มรูปแบบ นายถวัติเริ่มการทำงานด้วยการรับราชการในตำแหน่งกรมอู่ทหารเรือ แต่เพียงระยะเวลา 4 ปี นายถวัติก็ลาออกจากราชการเพื่อมารับทำงานเป็นบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์สยามสักขี จากนั้นเป็นต้นมานายถวัติได้เริ่มเข้าสู่วงการหนังสือพิมพ์ซึ่งจะกลายเป็นพื้นที่ทางปัญญาและการเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อชนชั้นแรงงานของสยามในเวลาต่อมา

          แม้นายถวัติจะหันเข้าสู่วิชาชีพใหม่แต่เขาก็เผชิญกับความไม่เป็นธรรมและความขัดแย้งกับเพื่อนร่วมงานเป็นเหตุให้เขาลาออกมาตั้งหนังสือพิมพ์ใหม่ของตัวเองในนามว่า “หนังสือพิมพ์กรรมกร” เมื่อ พ.ศ.2466 หนังสือพิมพ์ดังกล่าวออกรายสัปดาห์โดยมีวัตถุประสงค์คือรับลงแจ้งความทั่วไปตลอดจนข่าวสารจากทั้งภายในและต่างประเทศ อย่างไรก็ดี การออกหนังสือพิมพ์กรรมกรเกิดขึ้นในบริบทที่รัฐบาลระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เริ่มเข้มงวดกับการนำเสนอข่าวมากยิ่งขึ้น แต่ช่องว่างเรื่องสิทธิสภาพนอกอาณาเขตที่รัฐบาลยังไม่สามารถจัดการได้อย่างสมบูรณ์ก็เอื้อให้หนังสือพิมพ์กรรมกรเสนอข่าวและบทความวิพากวิจารณ์สังคมได้อย่างเต็มที่โดยมีการจ้างคนในบังคับในต่างชาติให้มาเป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์ทั้งนี้เพื่อป้องกันการแทรกแซงจากรัฐบาล ส่วนการดำเนินงานที่แท้จริงอยู่ในกำกับของนายถวัติในฐานะบรรณาธิการ สาระสำคัญของหนังสือพิมพ์กรรมกรได้แก่ 1) การผดุงไว้ซึ่งความเป็นอิสระและสิทธิของเหล่ากรรมกร 2) การปลุกประชาชนให้รู้จักในหน้าที่ของการเป็นพลเมือง และ 3) การต่อต้านข้าราชการที่ประพฤติตนทุจริต[1] การทำหนังสือพิมพ์กรรมกรทำให้เขาได้ร่วมงานกับ ร้อยตำรวจวาส สุนทรจามร ที่มีอุดมการณ์ร่วมกัน

          หนังสือพิมพ์กรรมกรยังถือเป็นปากเสียงให้กับการเคลื่อนไหวของกลุ่มกรรมกรครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ไทยเมื่อ พ.ศ. 2464 คนงานรถรางจำนวนกว่า 300 คนได้ร่วมกันหยุดงานประท้วงนายจ้างที่เอารัดเอาเปรียบและใช้ระเบียบมาเป็นเครื่องกดขี่ แม้ทางราชการจะเข้ามาช่วยเจรจาไกล่เกลี่ยจนคนงานกลับเข้าทำงานตามปกติแต่อีกไม่นานนักคนงานก็ประสบปัญหาอีกครั้งเนื่องจากนายจ้างมิยอมแก้ไขกฎระเบียบตามที่ร้องขอจนก่อให้เกิดการนัดหยุดงานอีกครั้ง ในบริบทดังกล่าว นายถวัติได้เขียนบทความเกี่ยวกับสิทธิกรรมกรด้านต่างๆ เช่น “สิทธิของกรรมกร จุดสำคัญของการสะไตรค์ และ อิศรภาพของกรรมกร” อีกทั้งยังวิพากษ์วิจารณ์ชนชั้นนายจ้างไว้อย่างรุนแรงไว้หลายบทความโดยชี้ให้เห็นถึงความสำคัญ ของหนังสือพิมพ์กรรมกรที่ “มีความมุ่งใจเปนส่วนใหญ่คือหวังจะประหารสภาพแห่งการเปนทาษ ซึ่งยังเปนฉายาแฝงอยู่ในตัวคนงานฤาลูกจ้างให้ปลาศไป และให้อิศรภาพมาแทนที่”[2] กล่าวได้ว่าหนังสือพิมพ์กรรมกรได้ปลุกเร้าให้ชนชั้นกรรมได้ตระหนักรับรู้ถึงสิทธิ ความเท่าเทียมและความเป็นธรรมในสังคมแต่ก็กลายเป็นที่จับตาของทางราชการอยู่เสมอ

          อย่างไรก็ดี แม้จะได้รับการตอบรับจากผู้อ่านในวงกว้างแต่หนังสือพิมพ์กรรมกรก็ดำเนินการได้เพียง 3 ปีก็ปิดตัวลงเมื่อ พ.ศ. 2467 เนื่องจากประสบปัญหาทางการเงิน ยอดจำหน่ายที่ลดลงตลอดจนการแทรกแซงและความกดดันจากกระทรวงมหาดไทยที่มีเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) เป็นเสนาบดีในเวลานั้น

          ภายหลังการปิดตัวหนังสือพิมพ์กรรมกร นายถวัตก็ยังคงวนเวียนอยู่ในแวดวงหนังสือพิมพ์โดยมิยอมทิ้งอุดมการณ์ที่ต้องการเป็นกระบอกเสียงให้แก่ชนชั้นล่าง ดังจะเห็นได้จากการออกหนังสือพิมพ์วิเศษพิสูจน์ ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่ออีกหลายครั้งไม่ว่าจะเป็น “สหราษฎร์” และ “ปากกาไทย” แม้จะประสบปัญหาด้านทุนทรัพย์และการจับตาจากทางราชการที่เข้มข้นยิ่งขึ้นแต่ก็ไม่ทำให้เนื้อหาของปากกาไทยอ่อนด้อยลงแต่ประการใด นายถวัติและกลุ่มนักเขียนร่วมอุดมการณ์ยังเสนอให้ชนชั้นล่างของสังคมสยามตื่นตัวกับเรื่องสิทธิ เสรีภาพและความเสมอภาค ตลอดจนวิจารณ์โจมตีระบบขุนนางและระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปพร้อมกัน ดังจะเห็นได้จากตัวอย่างที่สำคัญคือ การวิจารณ์พระคลังข้างที่ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวอย่างรุนแรงว่ามีวิธีการดำเนินงานที่ “ขูดเอาเลือดเอาเนื้อจากประชาชนซึ่งเปนไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน” จนทำให้ “ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินของพระองค์ได้รับความเดือดร้อนอย่างเหลือทน”[3]

          แม้นายถวัติจะแสดงบทบาทอย่างกล้าหาญต่อระบอบการปกครองและความเป็นไปของสังคม แต่ก็ไม่พ้นการถูกคุกคามจากทางราชการจนเป็นเหตุให้เขาต้องถูกจำคุกเป็นเวลาสั้นๆ และค่อยๆลดบทบาทตัวเองในฐานะหนังสือพิมพ์ไปด้วยการลาออกจากหนังสือพิมพ์ไทยเมื่อปลาย พ.ศ. 2469 และเริ่มการทำงานเพื่อชนชั้นล่างอย่างเป็นกิจจะลักษณะผ่านองค์กร “สถานแทนทวยราษฎร์” ที่จัดตั้งในเวลาไล่เลี่ยกับหนังสือพิมพ์ปากกาไทยเพื่อใช้เป็นช่องทางเผยแพร่ความคิดที่คัดค้านการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์และยังใช้เป็นพื้นที่ทำงานร่วมกับผู้ใช้แรงงานโดยตรง แม้จะได้รับการตอบรับอย่างดีด้วยการมีสมาชิกจำนวนมากแต่สถานทวยราษฎร์ก็ปิดตัวลงในระยะเวลาอันสั้นเนื่องด้วยปัญหาเดิมๆที่นายถวัติมักประสบอยู่เสมอคือเรื่องการขาดกำลังทุนทรัพย์

          ภายหลังการยุติบทบาทนักหนังสือพิมพ์ นายถวัติได้เริ่มบทบาทใหม่ด้วยการใช้ฎีกาเป็นเครื่องมือแสดงการเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อชนชั้นล่างและแสดงความคิดเห็นในประเด็นต่างๆ ตามกลไกและกติกาของการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งในเวลานั้น “การเมืองเรื่องฎีกา” กำลังขยายตัวในหมู่ราษฎรเพื่อเป็นช่องทางในการมีส่วนร่วมในการปกครองตามสิทธิที่มีอยู่อย่างจำกัดในเวลานั้น ในช่วงก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง นายถวัติได้เขียนฎีกาในประเด็นที่หลากหลายทั้งที่เขียนขึ้นด้วยชื่อจริงของตนหรือเขียนขึ้นจากคำร้องขอของกลุ่มบุคคลอื่น ตัวอย่างฎีกาที่สำคัญของนายถวัติได้แก่ ฎีกาเรื่องการแก้ไขฐานะของชาวนา เมื่อ พ.ศ. 2474 ที่ชี้ให้เห็นความทุกข์ยากของบรรดาชาวนาที่อาศัยอยู่ในอำเภอหนองจอก จังหวัดมีนบุรี ฎีกาที่เขียนหลังจากการเสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเพื่อสอบถามงบประมาณในการเสด็จพระราชดำเนินและการรักษาอาการพระประชวร และฎีกาเรื่องเผยแพร่ลัทธิช่วยตัวเองเพื่อช่วยผู้ที่ไม่มีงานทำและชาวนา เป็นต้น[4] แม้ฎีกาจะเป็นช่องทางที่มิอาจก่อให้เกิดแรงสะเทือนต่อระบอบการปกครองเท่าสื่อหนังสือพิมพ์แต่ก็ถือเป็นโอกาสที่ประชาชนระดับล่างจะได้แสดงความคิดเห็นหรือเสนอข้อร้องขอต่อพระมหากษัตริย์ให้ทรงเห็นถึงความทุกข์ยากของอาณาราษฎร ที่ประสบทุกข์ภัยที่แตกต่างกันไป

 

ชีวิตและบทบาทในช่วงหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

          ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่ระบอบใหม่เริ่มเปิดพื้นที่ทางการเมืองมากยิ่งขึ้น นายถวัติได้มีส่วนในการก่อตั้ง “สมาคมกรรมกรรถรางแห่งสยาม” เพื่อต่อรองกับการจ้างงานที่ไม่เป็นธรรม โดยคณะราษฎรอนุมัติให้จัดตั้งได้เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2475 ซึ่งนายถวัติรับตำแหน่งเป็น “นายกสมาคมกิตติมศักดิ์” กล่าวได้ว่า สมาคมกรรมกรรถรางแห่งสยามถือเป็นองค์กรผู้ใช้แรงงานแรกสุดของสยามประเทศ[5] ภารกิจแรกสุดของสมาคมดังกล่าวคือการเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับคนงานที่ถูกเลิกจ้างไปด้วยการยื่นหนังสือ ต่อรัฐบาลของพระยามโนปกรณ์นิติธาดา แม้จะเผชิญกับอุปสรรคจากการเพิกเฉยของรัฐบาลและท่าทีที่เห็นต่างไป แต่ในที่สุดนายถวัติและสมาคมกรรมกรรถรางแห่งสยามก็ประสบความสำเร็จเมื่อบริษัทไฟฟ้าสยามคอร์เปอเรชั่นตกลงรับคนงานทั้งหมดกลับเข้าทำงานตามเดิม ชัยชนะเช่นนี้ได้ส่งผลให้สมาคมกรรมกรรถรางแห่งสยามเป็นกลุ่มที่มีพลังขึ้นมาอย่างยิ่งในสังคมการเมืองสยามยุคนั้น[6]

          นอกจากนั้นระบอบใหม่ยังเอื้อให้เกิดบรรยากาศการตื่นตัวในหมู่แรงงานแทบทุกอาชีพทั้งในแบบการรวมกลุ่มและการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องผลประโยชน์ เช่น การจัดตั้งสมาคมกรรมกรโรงพิมพ์ การรวมตัวของกรรมกรแท๊กซี่ การนัดหยุดงานใหญ่ของกรรมกรขนข้าว อีกทั้งยังขยายตัวไปยังส่วนภูมิภาค อาทิ การนัดหยุดงานของคนขับรถเมล์สายเชียงใหม่-ลำปาง เมื่อ พ.ศ. 2478 การสไตร์กของคนงานเหมืองที่ยะลาเมื่อ พ.ศ. 2479 เป็นต้น

          ในอีกด้านหนึ่ง บทบาทอันเป็นที่รู้จักกันดีของนายถวัติคือการเป็นผู้ฟ้องร้องพระมหากษัตริย์สยาม ในบริบทหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นประชาธิปไตย การฟ้องร้องเป็นผลสืบเนื่องจากข้อความในพระราชวิจารณ์เค้าโครงเศรษฐกิจของนายปรีดี พนมยงค์หรือที่รู้จักกันในนาม “สมุดปกขาว” ซึ่งเกี่ยวโยงไปถึงเรื่องบทบาทของกรรมกรซึ่งนายถวัติมองว่าเป็นการโจมตีเขาโดยตรง

          ความตอนหนึ่งในสมุดปกขาวที่ตอบโต้เค้าโครงเศรษฐกิจของนายปรีดีว่าด้วยเรื่องแนวทางการป้องกันความขัดแย้งระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างนั้นได้แสดงข้อวิจารณ์ไว้ว่าสังคมสยามยังไม่เคยปรากฎปัญหาแรงงานอันเนื่องมาจากนายทุนและยังกล่าวต่อไปยังเรื่องการหยุดงานของกรรมกรไว้ด้วยว่า

          “... เรื่องกรรมกรที่อ้างว่าเป็นการแสดงข้อหนึ่งถึงความระส่ำระส่ายนี้นั้น ข้าพเจ้าขอตอบได้ว่าการที่กรรมกรรถรางหยุดงาดนั้น หาใช่เกิดการหยุดเพราะความเดือดร้อนจริงจังอันใดไม่ ที่เกิดเป็นดังนี้นั้น ก็เพราะมีคนยุให้เกิดการหยุดงานขึ้น เพื่อจะได้เป็นโอกาสให้ตั้งสมาคมคนงาน และตนจะได้เป็น  หัวหน้าและได้รับเงินเดือนกินสบายไปเท่านั้น...”[7]

          จากข้อความข้างต้นส่งผลให้นายถวัติยื่นฟ้องพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวในข้อหาหมิ่นประมาทราษฎรเมื่อวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2476 โดยให้ ร.ต.ต.วาศ สุนทรจามร เป็นทนายความ แต่ศาลปฏิเสธคำร้องโดยอ้างถึงรัฐธรรมนูญมาตรา 3 ยิ่งไปกว่านั้นนายถวัติกลับถูกฟ้องกลับด้วยข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ แต่กระนั้นเขาก็ยังดำเนินการต่อสู้ผ่านการยื่นคำร้องต่อสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2476 โดยมีการยื่นคำร้องต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาตีความรัฐธรรมนูญ ดังความตอนหนึ่งที่ว่า

          “เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงบริภาษใส่ความเป็นการหมิ่นประมาทข้าพเจ้าในหนังสือที่ชื่อ บันทึกพระบรมราชวินิจฉัยเรื่องเค้าโครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐมนูธรรม ข้าพเจ้าจึงเป็นโจทก์ยื่นฟ้องทางสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้นำเสนอสภาผู้แทนราษฎรวินิจฉัย แต่นายมังกร สามเสน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรส่งฟ้องกลับคืนมายังข้าพเจ้า โดยอ้างเหตุว่าขัดต่อ มาตรา 3 แห่งรัฐธรรมนูญ...ข้าพเจ้าขอความกรุณาพระเดชพระคุณ ได้โปรดนำคำแถลงการณ์ของข้าพเจ้าซึ่งส่งมาพร้อมกับเรื่องราวฉบับนี้ แจกจ่ายแด่ท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้ง 70 ท่าน เพื่อพิจารณาด้วย จักได้สิ้นวิมุติกังขาในเรื่องพระมหากษัตริย์อยู่ใต้กฎหมายกันเสียที”[8]

          หลังจากนั้นไม่นานก็เกิดเหตุการณ์ที่ “คณะกู้บ้านกู้เมือง” ยกกองกำลังเข้ามาสู้รบฝ่ายกองกำลังของคณะราษฎรซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นที่รู้จักกันในเวลาต่อมาว่า “กบฎบวรเดช” ซึ่งผู้นำฝ่ายกบฎได้หยิบยกเอาการฟ้องคดีของนายถวัติมาเป็นเหตุจูงใจในการก่อการ อย่างไรก็ดีนายถวัติได้มีส่วนร่วมในการพิทักษ์รักษาระบอบใหม่และรัฐธรรมนูญไว้ด้วยการให้กรรมกรรถรางจำนวนมากเข้าร่วมภารกิจต่อต้านกบฎบวรเดชจนได้รับชัยชนะร่วมกับกองกำลังฝ่ายรัฐบาล บทบาทของนายถวัติและกรรมกรรถรางได้กลายเป็นจุดสนใจในหมู่ผู้นำระบอบใหม่ อีกทั้งนายถวัติยังได้รับการทาบทามให้ลงรับสมัครเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 1 เป็นครั้งแรกเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2476 แต่เขาก็ได้ปฏิเสธ

          ภายหลังเหตุการณ์กบฎบวรเดช การฟ้องร้องคดีของนายถวัติเริ่มคลี่คลาย เมื่อนายถวัติเดินทางไปเฝ้าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวที่สงขลาเพื่อขอพระราชทานอภัยโทษ ซึ่งต่อมามีพระราชหัตเลขาเพื่อพระราชทานอภัยโทษแต่กระนั้นรัฐบาลก็ยังมิได้ถอนฟ้องคดีเรื่องหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ อย่างไรก็ตามเรื่องของนายถวัติก็ตัดสินใจยุติเรื่องนี้ทั้งหมดด้วยการทำฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษอย่างเป็นทางการเพื่อจะได้ให้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวลงพระปรมาภิไธยประกาศอภัยโทษก่อนคดีสิ้นสุด

          บทเรียนชีวิตของนายถวัติในหลากหลายบทบาท และประสบการณ์ทางการเมืองที่ได้รับจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์และระบอบใหม่ชี้ให้นายถวัติเห็นว่าการต่อสู้เพื่อชนชั้นกรรมกรและความแสวงหาความเป็นธรรมในสังคมยังเป็นเรื่องที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข การกดขี่ทางชนชั้นยังปรากฎอยู่ทั่วไปและถูกเพิกเฉย แม้แต่ระบอบใหม่ที่เป็นความหวังของนายถวัติเองก็ถูกตั้งข้อกังขาว่าจะสามารถจัดการปัญหาที่เขาต้องการให้รัฐบาลเป็นผู้แก้ไขได้หรือไม่ ดังความตอนหนึ่งในบทความของเขาที่ว่า  

          “...การปกครองของประเทศสยามจะปกครองกันแบบใดลัทธิใดหรือระบอบใดก็ได้ จุดสำคัญในการปกครองสยามอยู่ที่มีผู้มีอำนาจจะบันดาล ข้าจึงขอให้ผู้มีอำนาจจะปกครองด้วยระบอบใดหรือลัทธิใดก็ขอให้ประชาชนมีกินมีใช้บ้าง...”[9]

          ในช่วงบั้นปลายชีวิต นายถวัติเริ่มถอยตัวเองออกจากบทบาทด้านการเป็นผู้นำกรรมกรและการเคลื่อนไหวทางการเมืองใดๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังการสิ้นสุดอำนาจของคณะราษฎร นายถวัติเริ่มล้มป่วยด้วยหลายโรคประกอบกับการติดเชื้อไขมาลาเรียจนอาการทรุดลงตามลำดับจนถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2493 สิริรวมอายุ 58 ปี

 

บรรณานุกรม

          ชัยอนันต์ สมุทวณิช และ ขัตติยา กรรณสูต. เอกสารการเมืองการปกครองไทย (พ.ศ.2417-2477). พิมพ์ครั้งที่     2. กรุงเทพฯ: โครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2532.

          นครินทร์ เมฆไตรรัตน์. ความคิด ความรู้และอำนาจการเมืองในการปฏิวัติสยาม 2475. พิมพ์ครั้งที่ 2.      กรุงเทพฯ: ฟ้าเดียวกัน, 2546.

          ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์. แรงงานวิจารณ์เจ้า: ประวัติศาสตร์ราษฎรผู้หาญกล้าท้าทายสมบูรณาญาสิทธิราชย์. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ: มติชน, 2564.

 

อ้างอิง

            [1] ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์. แรงงานวิจารณ์เจ้า: ประวัติศาสตร์ราษฎรผู้หาญกล้าท้าทายสมบูรณาญาสิทธิราชย์.
พิมพ์ครั้งที่ 3. (กรุงเทพฯ: มติชน, 2564), หน้า 23-24.

            [2]  “คำนำ” หนังสือพิมพ์กรรมกร (27 มกราคม 2465) อ้างใน [[|ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์. แรงงานวิจารณ์เจ้า: ประวัติศาสตร์ราษฎรผู้หาญกล้าท้าทายสมบูรณาญาสิทธิราชย์. พิมพ์ครั้งที่ 3. (กรุงเทพฯ: มติชน]], 2564), หน้า 26.

            [3] “กรมพระคลังข้างที่กับมนุษย์น่าเลือด” หนังสือพิมพ์ปากกาไทย (9 กันยายน 2469) ใน เรื่องเดียวกัน, หน้า 38.

            [4] เรื่องเดียวกัน, หน้า 59-65. นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, ความคิด ความรู้และอำนาจการเมืองในการปฏิวัติสยาม 2475, พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ: ฟ้าเดียวกัน, 2546), หน้า 204.

            [5] ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์. แรงงานวิจารณ์เจ้า: ประวัติศาสตร์ราษฎรผู้หาญกล้าท้าทายสมบูรณาญาสิทธิราชย์, หน้า 70.

            [6] เรื่องเดียวกัน, หน้า 74-75.

            [7] “พระบรมราชวินิจฉัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว นายปรีดีเสนอ” ใน ชัยอนันต์ สมุทวณิช และ ขัตติยา กรรณสูต. เอกสารการเมืองการปกครองไทย (พ.ศ.2417-2477). พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: โครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2532), หน้า 259.

 

            [8] “รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 21/2476 (สามัญ) เรื่องประธานสภาฯ อ่านหนังสือนายถวัติ ฤทธิเดชเรื่องถูกหาว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” อ้างใน ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์. แรงงานวิจารณ์เจ้า: ประวัติศาสตร์ราษฎรผู้หาญกล้าท้าทายสมบูรณาญาสิทธิราชย์, หน้า 114-115.

            [9] ถวัติ ฤทธิเดช, “ลัทธิการปกครองสยาม” หนังสือพิมพ์อิสสระ (24 กันยายน 2478) อ้างใน ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์. แรงงานวิจารณ์เจ้า: ประวัติศาสตร์ราษฎรผู้หาญกล้าท้าทายสมบูรณาญาสิทธิราชย์, หน้า 123