ผลต่างระหว่างรุ่นของ "การประชุมสุดยอดอาเซียน (ASEAN Summit)"
หน้าที่ถูกสร้างด้วย '==บทนำ== การประชุมสุดยอดอาเซียน หรือ ASEAN Summit หมายถึง ก...' |
|||
บรรทัดที่ 1: | บรรทัดที่ 1: | ||
==บทนำ== | ==บทนำ== | ||
การประชุมสุดยอดอาเซียน หรือ ASEAN Summit หมายถึง การประชุมที่จัดขึ้นโดยกลุ่มรัฐ[[สมาชิกอาเซียน]] ในที่ประชุมจะมีผู้นำของแต่ละรัฐสมาชิกเข้ามาร่วมประชุมกัน ซึ่งเป้าหมายในการจัดประชุมนั้นก็เพื่อปรึกษาหารือกันในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความร่วมมือกันในด้านเศรษฐกิจ ความมั่นคง และสังคม ภายในกลุ่มรัฐสมาชิก<ref> ณรงค์ โพธิ์พฤกษานันท์. อาเซียนศึกษา ASEAN Studies. (กรุงเทพฯ : แมคกรอ-ฮิล, 2556.),หน้า 46.</ref> | การประชุมสุดยอดอาเซียน หรือ ASEAN Summit หมายถึง การประชุมที่จัดขึ้นโดยกลุ่มรัฐ[[สมาชิกอาเซียน]] ในที่ประชุมจะมีผู้นำของแต่ละรัฐสมาชิกเข้ามาร่วมประชุมกัน ซึ่งเป้าหมายในการจัดประชุมนั้นก็เพื่อปรึกษาหารือกันในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความร่วมมือกันในด้านเศรษฐกิจ ความมั่นคง และสังคม ภายในกลุ่มรัฐสมาชิก<ref> ณรงค์ โพธิ์พฤกษานันท์. อาเซียนศึกษา ASEAN Studies. (กรุงเทพฯ : แมคกรอ-ฮิล, 2556.),หน้า 46.</ref> พร้อมทั้งกำหนดนโยบายหรือแนวทางในการดำเนินงานของ[[ประชาคมอาเซียน]] รวมถึงเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในภูมิภาค<ref> ว. อำพรรณ. การศึกษา กลไกการขับเคลื่อนการสร้างประชาคมอาเซียน. (กรุงเทพฯ : แสงดาว, 2555.),หน้า 31</ref> เป็นต้นว่าใน[[การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน]]ครั้งที่ 18 ในปี ค.ศ. 2011 ณ กรุงจาการ์ตา อินโดนีเซีย ในที่ประชุมก็ได้มีการยกประเด็นเกี่ยวข้อพิพาทระหว่างกัมพูชาและไทยเพื่อหาทางยุติข้อพิพาทดังกล่าวด้วย[[สันติวิธี]] <ref>Chair’s Statement of the 18th ASEAN Summit Jakarta, 7 - 8 May 2011 (2011).</ref> และวางบทบาทของ[[อาเซียน]]กรณีปราสาทเขาพระวิหาร | ||
==ความเป็นมาของ ASEAN SUMMIT== | ==ความเป็นมาของ ASEAN SUMMIT== |
รุ่นแก้ไขเมื่อ 08:56, 16 มีนาคม 2559
บทนำ
การประชุมสุดยอดอาเซียน หรือ ASEAN Summit หมายถึง การประชุมที่จัดขึ้นโดยกลุ่มรัฐสมาชิกอาเซียน ในที่ประชุมจะมีผู้นำของแต่ละรัฐสมาชิกเข้ามาร่วมประชุมกัน ซึ่งเป้าหมายในการจัดประชุมนั้นก็เพื่อปรึกษาหารือกันในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความร่วมมือกันในด้านเศรษฐกิจ ความมั่นคง และสังคม ภายในกลุ่มรัฐสมาชิก[1] พร้อมทั้งกำหนดนโยบายหรือแนวทางในการดำเนินงานของประชาคมอาเซียน รวมถึงเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในภูมิภาค[2] เป็นต้นว่าในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 18 ในปี ค.ศ. 2011 ณ กรุงจาการ์ตา อินโดนีเซีย ในที่ประชุมก็ได้มีการยกประเด็นเกี่ยวข้อพิพาทระหว่างกัมพูชาและไทยเพื่อหาทางยุติข้อพิพาทดังกล่าวด้วยสันติวิธี [3] และวางบทบาทของอาเซียนกรณีปราสาทเขาพระวิหาร
ความเป็นมาของ ASEAN SUMMIT
หลังจากที่ได้มีการลงนามปฏิญญากรุงเทพ (Bangkok Declaration) ก่อตั้งอาเซียนเป็นเวลาเกือบ 9 ปี ก็ได้มีการจัดประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งแรกขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.1976 ณ บาหลี อินโดนีเซีย ซึ่ง ณ เวลานั้น อาเซียนมีรัฐสมาชิกเพียง 5 ประเทศเท่านั้น โดยในช่วงแรกที่ได้มีการจัดประชุมกันนั้น ยังไม่มีการกำหนดว่าการประชุมจะมีบ่อยครั้งเพียงใด จวบจนการประชุมครั้งที่ 3 ในปี ค.ศ. 1987 จึงได้มีการตกลงกันว่าจะประชุมกันทุกๆ 5 ปี ก่อนจะมีการเปลี่ยนแปลงในการประชุมครั้งที่ 4 เมื่อปี ค.ศ. 1992 ให้จัดประชุมกันทุกๆ 3 ปี จนกระทั่งในปีค.ศ. 2001 ในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 7 ได้มีการเสนอให้จัดประชุมกันทุกๆปี เพื่อจะได้ตอบสนองต่อปัญหาที่เกิดในภูมิภาคได้รวดเร็วยิ่งขึ้น และสุดท้ายในการประชุมครั้งที่ 12 ในปีค.ศ. 2007 ได้มีมีข้อกำหนดให้มีการจัดประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนขึ้นทุกปี ปีละสองครั้ง [4]
ในการจัดประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนนั้น รัฐสมาชิกจะสลับผลัดเปลี่ยนกันเป็นเจ้าภาพตามลำดับตัวอักษรของชื่อประเทศ สำหรับไทยนั้น จนถึงปัจจุบัน (ค.ศ. 2015) ไทยมีโอกาสได้เป็นเจ้าภาพในการจัดการประชุมทั้งหมด 3 ครั้ง คือ การประชุมครั้งที่ 5 ในปี ค.ศ. 1995 และ การประชุมครั้งที่ 14 และ 15 ในปี ค.ศ. 2009 [5]
บทบาทของ ASEAN SUMMIT ภายใต้กฎบัตรอาเซียน
ที่ประชุมสุดยอดอาเซียนนั้นถือเป็นองค์กรสูงสุดในการบริหารงานของอาเซียน โดยองค์ประกอบของที่ประชุมนั้นก็คือประมุขของรัฐ หรือ หัวหน้ารัฐบาลของรัฐสมาชิก โดยภายใต้กฎบัตรอาเซียนนั้น การตัดสินใจของที่ประชุมจะต้องมีการลงคะแนนเสียงแบบฉันทามติ[6] ที่ประชุมสุดยอดอาเซียนมีอำนาจหน้าที่ ดังนี้
3.1 เป็นองค์กรสูงสุดในการกำหนดนโยบายของอาเซียน [7]
3.2 พิจารณาหารือ ให้แนวนโยบาย และตัดสินใจในประเด็นหลักที่เกี่ยวข้องกับการบรรลุวัตถุประสงค์ของอาเซียนในเรื่องสำคัญที่เป็นผลประโยชน์ต่อรัฐสมาชิก และในทุกประเด็นที่ได้มีการนำเสนอต่อที่ประชุมสุดยอดอาเซียนโดยคณะมนตรีประสานงานอาเซียน คณะมนตรีประชาคมอาเซียนและองค์กรระดับรัฐมนตรีเฉพาะสาขา [8]
3.3 สั่งการให้รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องในแต่ละคณะมนตรีที่เกี่ยวข้องให้จัดการประชุมเฉพาะกิจระหว่างรัฐมนตรี และหารือประเด็นสำคัญเกี่ยวกับอาเซียน ซึ่งคาบเกี่ยวระหว่างคณะมนตรีประชาคมอาเซียนต่างๆ ทั้งนี้ โดยให้คณะมนตรีประสานงานอาเซียน (ASEAN Coordinating Council) เป็นผู้กำหนดกระบวนวิธีดำเนินการประชุมข้างต้น [9]
3.4 สนองตอบสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีผลกระทบต่ออาเซียน โดยดำเนินมาตรการที่เหมาะสม [10]
3.5 ในกรณีที่มีการละเมิดกฎบัตรอาเซียนอย่างร้ายแรง [11] หรือกรณีที่มีข้อพิพาทกันระหว่างรัฐสมาชิก และได้มีการนำเรื่องดังกล่าวให้แก่ที่ประชุม ที่ประชุมมีหน้าที่ให้คำตัดสินหรือคำแนะนำ พร้อมทั้งดูแลให้มีการปฏิบัติตามคำตัดสินหรือคำแนะนำดังกล่าว [12]
3.6 อนุมัติให้จัดตั้งหรือยุบองค์กรระดับรัฐมนตรีเฉพาะสาขาและสถาบันอื่นๆของอาเซียน [13]
3.7 แต่งตั้งเลขาธิการอาเซียน ที่มีชั้นและสถานะเทียบเท่ารัฐมนตรีซึ่งจะปฏิบัติหน้าที่โดยได้รับความไว้วางใจและตามความพอใจของประมุขของรัฐหรือหัวหน้ารัฐบาล ตามข้อเสนอแนะของที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน [14]
3.8 หน้าที่ในการจัดประชุมปีละ 2 ครั้ง โดยให้รัฐสมาชิกซึ่งเป็นประธานอาเซียนเป็นเจ้าภาพ [15]
3.9 จัดการประชุมพิเศษหรือการประชุมเฉพาะกิจเมื่อมีความจำเป็นในสถานที่ตามแต่รัฐสมาชิกจะตกลงกัน โดยให้รัฐสมาชิกที่เป็นประธานอาเซียนเป็นประธานการประชุม [16]
การประชุมในอดีต และผลของการประชุม
ในการประชุมแต่ละครั้งจะมีการประชุมกันทั้งหมด 4 ส่วน ได้แก่ การประชุมกันภายในระหว่างประมุขหรือหัวหน้ารัฐบาลของรัฐสมาชิก การประชุมร่วมกันระหว่างประมุขหรือหัวหน้ารัฐบาลของรัฐสมาชิกกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอาเซียน การประชุมอาเซียนบวกสาม และการประชุมระหว่างอาเซียน ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ [17] ซึ่งในส่วนนี้จะขอพูดถึงเพียงผลของการประชุมกันภายในระหว่างรัฐสมาชิกเท่านั้น
4.1 การประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 1 ณ วันที่ 23-24 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1976 ที่เกาะบาหลี อินโดนีเซีย เป็นการประชุมกันระหว่างผู้ก่อตั้งอาเซียน 5 ประเทศ โดยเป็นการประชุมกันเพื่อหวังจะให้เกิดการร่วมมือและการพัฒนาอาเซียนต่อไป ในการประชุมครั้งนี้มีการลงนามในเอกสาร 3 ฉบับ คือ ปฏิญญาว่าด้วยความร่วมมืออาเซียนฉบับที่ 1 (ASEAN Concord I) สนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Treaty of Amity and Cooperation หรือ TAC) และ ความตกลงว่าด้วยการจัดตั้งสำนักเลขาธิการอาเซียน [18]
4.2 การประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 2 ณ วันที่ 4-5 สิงหาคม ค.ศ. 1977 ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย เป็นการประชุมกันเนื่องในโอกาสครบรอบ 10 ปีอาเซียน โดยในการประชุมได้เน้นย้ำถึงการร่วมมือกันโดยใช้นโยบายตามปฏิญญาอาเซียน และ ปฏิญญาสมานฉันท์อาเซียน [19]
4.3 การประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 3 ณ วันที่ 14-15 ธันวาคม ค.ศ. 1987 ที่กรุงมะนิลา ฟิลิปปินส์ เป็นการประชุมเนื่องในโอกาสครบรอบ 20 ปี การก่อตั้งอาเซียน มีการลงนามในปฏิญญามะนิลาเพื่อเสริมสร้างมิตรภาพและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันให้แน่นแฟ้นกันยิ่งขึ้น ปฏิญญามะนิลาได้กำหนดแนวทางในการพัฒนาด้านการเมืองและความมั่นคง การพัฒนาเศรษฐกิจของภูมิภาค ความสัมพันธ์กับประเทศคู่สัญญา (dialogue partners) ความร่วมมือเฉพาะด้าน (functional cooperation) และการพัฒนากลไกความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน นอกจากนั้นปฏิญญาฉบับนี้ยังได้แสดงให้เห็นความพยายามสร้างสันติภาพและเสถียรภาพทางการเมืองในกัมพูชาโดยคำนึงถึงท่าทีตอบรับในเชิงบวกจากเวียดนาม อีกทั้งการแสดงเจตจำนงในการแก้ไขปัญหาผู้อพยพจากอินโดจีนซึ่งเป็นปัญหาระดับภูมิภาคอีกด้วย [20]
4.4 การประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 4 ณ วันที่ 27-29 มกราคม ค.ศ. 1992 ที่สิงคโปร์ มีการลงนามในปฏิญญาอาเซียนซึ่งมุ่งเน้นไปที่การธำรงไว้ซึ่งสันติภาพตามแนวทางของสหประชาชาติ นอกจากนี้ยังได้หารือกันถึงเรื่องของการก่อตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน และ ร่างกรอบความตกลงว่าด้วยการส่งเสริมความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจของอาเซียน [21]
4.5 การประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 5 ณ วันที่ 14-15 ธันวาคม ค.ศ. 1995 ที่กรุงเทพฯ ไทย เหตุการณ์ที่สำคัญที่สุดในการประชุมครั้งนี้คือการที่เวียดนามซึ่งเป็นประเทศในค่ายคอมมิวนิสต์ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกกับอาเซียน และเป็นครั้งแรกที่พม่า ลาว และกัมพูชาได้เข้าร่วมการประชุมในฐานะผู้สังเกตการณ์ ซึ่งทำให้การประชุมครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ผู้นำของประเทศในแทบภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ร่วมประชุมกันครบสิบประเทศ [22] การประชุมครั้งนี้ได้ตั้งความมุ่งหมายที่จะรวมชาติที่เหลือในภูมิภาคให้เข้าเป็นสมาชิกอาเซียน เพื่อเสริมสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของประชาคมอาเซียนจึงได้มีการทำปฏิญญาสุดยอดกรุงเทพ (Bangkok Summit Declaration) และมีการลงนามในสนธิสัญญาเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Treaty on the Southeast Asia Nuclear Weapon-Free Zone) และ ในความตกลงเกี่ยวกับเรื่องความร่วมมือด้านทรัพย์สินทางปัญญา (ASEAN Agreement on Intellectual Property Cooperation) [23]
4.6 การประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 6 ณ วันที่ 15-16 ธันวาคม ค.ศ. 1998 ที่กรุงฮานอย เวียดนาม ออกแผนปฏิบัติการฮานอยเพื่อเป็นนโยบายในการก้าวต่อไปของอาเซียน มีการกำหนดวิสัยทัศน์อาเซียน 2020 ตกลงให้มีเขตการลงทุนอาเซียนขึ้นเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจภายในภูมิภาค ปรึกษาหารือกันถึงการก่อตั้งมูลนิธิอาเซียน และที่สำคัญคือในการประชุมครั้งนี้ได้มีการรับกัมพูชาเข้าร่วมเป็นสมาชิกอาเซียนด้วย [24]
4.7 การประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 7 ณ วันที่ 5-6 พฤศจิกายน ค.ศ. 2001 ที่บันดาร์ เสรีเบกาวัน บรูไนดารุสซาลาม จากการก่อการร้ายที่สหรัฐอเมริกาในวันที่ 11 กันยายน ค.ศ.2001 ที่ประชุมจึงได้ออกปฏิญญาว่าด้วยการร่วมกันต่อต้านการก่อการร้าย นอกจากนี้ยังได้กำหนดระยะเวลาและเป้าหมายในการดำเนินการรวมตัวกันของอาเซียน หรือที่รู้จักกันในนาม ASEAN Roadmap และส่งเสริมให้นักธุรกิจเข้าร่วมในกิจกรรมทางเศรษฐกิจของอาเซียนโดยมีมติให้มีการจัดการประชุมสุดยอดอาเซียนภาคธุรกิจขึ้น [25]
4.8 การประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 8 ณ วันที่ 4-5 พฤศจิกายน ค.ศ. 2002 ที่กรุงพนมเปญ กัมพูชา กำหนดให้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนเป็นเป้าหมายสำคัญที่สุดในการรวมตัวกันของอาเซียน มีการทำความตกลงด้านการท่องเที่ยวอาเซียนเพื่อส่งเสริมธุรกิจการท่องเที่ยว หารือกันในเรื่องของทรัพยากรธรรมชาติตามพิธีสารโตเกียวซึ่งอาเซียนเป็นภาคีนั้น และได้เน้นย้ำถึงความร่วมมือกันในการต่อต้านการก่อการร้าย [26]
4.9 การประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 9 ณ วันที่ 7-8 ตุลาคม ค.ศ. 2003 ที่เมืองบาหลี อินโดนีเซีย จากที่การประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 8 ได้มีการกำหนดความร่วมมือใน 4 ด้านหลัก ในการประชุมครั้งนี้ได้เปลี่ยนเป็นความร่วมมือในสามเสาหลักของอาเซียนอันได้แก่ การก่อตั้งประชาคมเศรษฐกิจ ประชาคมการเมืองความมั่นคง และประชาคมสังคมและวัฒนธรรม ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นเนื้อหาในปฏิญญาว่าด้วยความร่วมมืออาเซียนฉบับที่ 2 โดยมีการตั้งเป้าหมายว่าจะรวมตัวกันเป็นประชาคมภายในปีค.ศ. 2020 และยังมีการรับรองแผนปฏิบัติประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เพื่อใช้เป็นนโยบายในการก่อตั้งประชาคมอาเซียนต่อไป [27]
4.10 การประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 10 ณ วันที่ 29-30 พฤศจิกายน ค.ศ. 2004 ที่เวียงจันทน์ ลาว มีการรับรองแผนปฏิบัติการ 3 ฉบับ ได้แก่ แผนปฏิบัติการเวียงจันทน์ แผนปฏิบัติการประชาคมความมั่นคงอาเซียน และแผนปฏิบัติการประชาสังคมวัฒนธรรมอาเซียน นอกจากนี้ยังมีการลงนามในกรอบความตกลงว่าด้วยการรวมกลุ่มสาขาของอาเซียนอีกด้วย [28]
4.11 การประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 11 ณ วันที่ 12-14 ธันวาคม ค.ศ. 2005 ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย ด้วยการร่วมลงนามกันในปฏิญญากัวลาลัมเปอร์ ทำให้มีข้อตกลงกันในการออกกฎบัตรอาเซียนมาเป็นเหมือนรัฐธรรมนูญของอาเซียน มีการตั้งผู้ทรงคุณวุฒิเรื่องกฎบัตรอาเซียนเพื่อตรวจสอบและให้คำแนะนำในการจัดทำกฎบัตรอาเซียน และ คณะทำงานระดับสูงเพื่อร่างกฎบัตรอาเซียนตามคำแนะนำของของผู้ทรงคุณวุฒิในข้างต้น [29]
4.12 การประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 12 ณ วันที่ 9-15 มกราคม ค.ศ. 2007 ที่เมืองเซบู ฟิลิปปินส์ รับรองร่างกฎบัตรอาเซียนที่ผู้ทรงคุณวุฒิเรื่องกฎบัตรอาเซียนได้รายงานมาและสั่งการให้คณะทำงานระดับสูงทำการร่างกฎบัตรให้เสร็จเพื่อที่จะประกาศใช้ในการประชุมครั้งต่อไป มีมติให้เร่งการจัดตั้งประชาคมอาเซียนจากเดิมคือ ค.ศ. 2020 เป็น ค.ศ. 2015 และได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการเป็นประชาคมที่มีความเอื้ออาทรต่อกัน สามารถแบ่งปันกันในด้านสังคม วัฒนธรรม ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมได้ [30]
4.13 การประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 13 ณ วันที่ 18-22 พฤศจิกายน ค.ศ. 2007 ที่สิงคโปร์ ผลลัพธ์ที่สำคัญที่สุดคือการประการใช้กฎบัตรอาเซียน ซึ่งเป็นกรอบกฎหมายและนโยบายในการทำงานของอาเซียน และยังมีการออกปฏิญญาแผนงานจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนเพื่อให้อาเซียนเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียวกันอันเป็นการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันทางการค้าระดับโลก [31]
4.14 การประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 14 ณ วันที่ 26 กุมภาพันธ์ – 1 มีนาคม ค.ศ. 2009 ที่ชะอำ-หัวหิน ไทย ออกแผนงานสำหรับประชาคมอาเซียน ปี ค.ศ. 2009-2015 ซึ่งเป็นแผนงานที่ครอบคลุมการทำงานของทั้งสามเสาหลักของอาเซียน มีแผนงานการจัดตั้งประชาคมการเมืองและความมั่นคง ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมขึ้น จากเดิมที่มีเพียงแผนงานการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจ และมีการรับรองข้อตกลงอีกหลายอย่างเพื่อสร้างความเท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจของอาเซียน [32]
4.15 การประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 15 ณ วันที่ 23-25 ตุลาคม ค.ศ. 2009 ที่จังหวัดเพชรบุรี และที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ไทย มีการลงนามรับรองเอกสาร 43 ฉบับ เป้าหมายหลักคือเตรียมความพร้อมสำหรับการรวมตัวกันเป็นประชาคม โดยพุ่งเป้าไปที่การให้การศึกษา การพัฒนาประชากร เพื่อให้การรวมตัวกันเป็นไปได้ด้วยดี มีการวางแผนงานสำหรับการเชื่อต่อเครือข่ายคมนาคมและโครงสร้างพื้นฐาน และให้ความสำคัญกับการป้องกันภัยธรรมชาติและการฟื้นฟูหลังเกิดภัยธรรมชาติขึ้น [33]
4.16 การประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 16 ณ วันที่ 8-9 เมษายน ค.ศ. 2010 ที่กรุงฮานอย เวียดนาม เตรียมความพร้อมในการรวมตัวกันเป็นประชาคมอาเซียนด้วยการส่งเสริมความสัมพันธ์และความร่วมมือในระดับภูมิภาคเพื่อรับมือกับปัญหาต่างๆทั้งในภูมิภาคเองและในระดับโลก มีการจัดตั้งคณะกรรมาธิการเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิเด็กและสตรีอีกด้วย [34]
4.17 การประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 17 ณ วันที่ 28-30 ตุลาคม ค.ศ. 2010 ที่กรุงฮานอย เวียดนาม ที่ประชุมเห็นร่วมกันว่าประชาคมจะมีประสิทธิภาพได้นั้นต้องมีจุดเกาะเกี่ยวและความร่วมมือกัน โดยมีการออกแผนแม่บทในการเชื่อมโยงอาเซียนขึ้น ซึ่งพูดถึงความเกี่ยวพันกันทางกายภาพ ทางสถาบัน และในระดับประชาชน [35]
4.18 การประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 18 ณ วันที่ 7-8 พฤษภาคม ค.ศ. 2011 ที่กรุงจาการ์ตา อินโดนีเซีย มีการรับรองแถลงการณ์ร่วมในเรื่องบทบาทของอาเซียนในเวทีโลก การก่อตั้งสถาบันเพื่อสันติภาพและความปรองดอง และแถลงการณ์ร่วมเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ นอกจากนี้ยังมีการยกประเด็นในเรื่องข้อพิพาทระหว่างกัมพูชาและไทย โดยที่ประชุมเห็นตรงกันว่าอยากให้ระงับข้อพิพาทดังกล่าวด้วยสันติวิธี [36]
4.19 การประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 19 ณ วันที่ 14-19 พฤศจิกายน ค.ศ. 2011 ที่เกาะบาหลี อินโดนีเซีย มีการเน้นย้ำความสำคัญของเสาหลักทั้งสามอันได้แก่เศรษฐกิจ การเมืองความมั่นคง สังคมและวัฒนธรรม นอกจากนี้ยังมีความพยายามที่จะรวมตัวกันทางเศรษฐกิจให้ไวขึ้นเพื่อที่จะสร้างความแข็งแกร่งให้แก่เศรษฐกิจอาเซียนในขณะที่เศรษฐกิจโลกนั้นไม่มีความแน่นอน มีการร่วมลงนามในปฏิญญาบาหลีซึ่งเกี่ยวกับการสร้างบทบาทของประชาคมอาเซียนในประชาคมโลก มีการลงนามให้จัดตั้งศูนย์ประสานงานอาเซียน สำหรับให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการจัดการภัยพิบัติ [37]
4.20 การประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 20 ณ วันที่ 3-4 เมษายน ค.ศ. 2012 ที่กรุงพนมเปญ กัมพูชา ยังคงให้ความสำคัญกับการสร้างประชาคมอาเซียน มุ่งเน้นไปที่การให้ประชาชนเชื่อมโยงกัน ผลักดันเรื่องของการเดินทางภายในภูมิภาคโดยใช้วีซ่าของประเทศใดก็ได้ในอาเซียน ส่งเสริมเศรษฐกิจ[38] นอกจากนี้ยังมีการลงนามในปฏิญญาว่าด้วยอาเซียนปลอดยาเสพติดซึ่งสามารถช่วยเสริมความมั่นคงให้แก่สังคมอาเซียนได้ [39]
4.21 การประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 21 ณ วันที่ 15-20 พฤศจิกายน ค.ศ. 2012 ที่กรุงพนมเปญ กัมพูชา มีการเปลี่ยนกำหนดการเปิดประชาคมอาเซียน จากเดิมคือวันที่ 1 มกราคม 2015 ไปเป็น 31 ธันวาคม 2015 เพราะมีข้อตกลงในหลายๆประเด็นที่ยังไม่อาจหาข้อตกลงกันได้ มีการประกาศปฏิญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนอาเซียน นอกจากนี้ยังมีการพูดคุยถึงความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับประเทศอื่นๆ และมีการหารือกันเรื่องประเด็นความขัดแย้งที่ทะเลจีนใต้อีกด้วย [40]
4.22 การประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 22 ณ วันที่ 24-25 เมษายน ค.ศ. 2013 ที่กรุงบันดาร์ เสรีเบกาวัน บรูไน ดารุสซาสาม ยังคงให้ความสำคัญกับการให้จัดตั้งประชาคมอาเซียนโดยมุ่งให้เกิดความร่วมมือกันระหว่างภาคส่วนต่างๆเพื่อแก้ปัญหาในภูมิภาคเช่น เรื่องยาเสพติด การค้ามนุษย์ หรือภัยพิบัติต่างๆ พร้อมทั้งให้มีการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับอาเซียน ในส่วนของเศรษฐกิจมีการผลักดันให้ตั้งเขตเสรีการค้าอาเซียน-ฮ่องกง และเป็นครั้งแรกที่มีการหารือกันถึงวิสัยทัศน์ของอาเซียนหลังจากที่รวมตัวกันได้ในปีค.ศ.2015 [41]
4.23 การประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 23 ณ วันที่ 9-10 ตุลาคม ค.ศ. 2013 ที่บันดาร์ เสรีเบกาวัน บรูไน ดารุสซาสาม ติดตามการจัดทำวิสัยทัศน์อาเซียนหลังปี 2015 มีการหารือกันถึงการจัดการภัยพิบัติ มีความตั้งใจที่จะยกระดับความสัมพันธ์กับประเทศนอกภูมิภาค และยังมีการส่งเสริมสิทธิของเด็กและสตรีด้วยปฏิญญาที่เกี่ยวกับการจ้างแรงงานเด็ก และการขจัดความรุนแรงในเด็กและสตรี [42]
4.24 การประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 24 ณ วันที่ 10-11 พฤษภาคม ค.ศ. 2014 ที่กรุงเนปิดอว์ เมียนมาร์ เนื้อหาหลักในที่ประชุมคือการเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่เป็นประชาคมอาเซียนใน ค.ศ.2015 ออกปฏิญญากรุงเนปิดอว์เพื่อเน้นย้ำถึงความตั้งใจที่จะให้การรวมตัวกันเป็นประชาคมอาเซียนนั้นสำเร็จให้ได้ มีการพูดคุยถึงอนาคตของอาเซียนทั้งในเรื่องของความสัมพันธ์กับประเทศนอกภูมิภาค และเรื่องของการแก้ปัญหาในภูมิภาค ทั้งเรื่องความขัดแย้ง การเมือง หรือปัญหาจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนไปและภัยพิบัติทางธรรมชาติ [43]
4.25 การประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 25 ณ วันที่ 11-13 พฤศจิกายน ค.ศ. 2014 ที่กรุงเนปิดอว์ เมียนมาร์ มีการหารือถึงแผนการเผยแพร่ข้อมูลในเรื่องโครงสร้าง ลักษณะ และวิสัยทัศน์ของประชาคมอาเซียนให้ประชาชนและสื่อนานาชาติได้ทราบ นอกจากนั้นยังได้มีปฏิญญาว่าด้วยวิสัยทัศน์อาเซียนหลังปี 2015 เพื่อเป็นการกำหนดนโยบายในการดำเนินงานหลังจากที่ได้รวมตัวกันแล้ว อีกทั้งยังมีการส่งเสริมความเข้มแข็งให้กับหน่วยงานต่างๆในอาเซียนเพื่อให้มีการประสานงานกันได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และมีการลงนามในแถลงการณ์ร่วมอาเซียนว่าด้วยความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศประจำปี 2014 ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องของการรับมือสภาพอากาศที่เปลี่ยนไป อันเป็นการเสริมสร้างความมั่นคงให้แก่อาเซียน [44]
บทสรุป
การประชุมสุดยอดอาเซียนนั้น เป็นการประชุมที่มีความสำคัญที่สุด เนื่องจากเป็นการประชุมระดับผู้นำประเทศและเป็นกลไกหลักในการตัดสินใจกิจการต่างๆ ในอาเซียน ทั้งด้านการเมืองและความมั่นคง ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคมและวัฒนธรรม และรวมถึงเป็นที่ประชุมที่ยุติข้อพิพาทระหว่างรัฐสมาชิกด้วย จากการประชุมที่ผ่านมานั้นแสดงให้เห็นว่าอาเซียนได้วางกลยุทธ์และหารือถึงปัญหาต่างๆ ที่เป็นปัญหาระดับภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง การประชุมสุดยอดอาเซียนจึงเป็นเวทีที่ทำให้อาเซียนสามารถปรับตัวให้เท่าทันกับสภาพสังคมและสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ เป็นเวทีที่กำหนดทิศทางในการพัฒนาและเป็นเวทีสำหรับยุติข้อพิพาทหรือหาออกสำหรับปัญหาต่างๆ ทั้งในภูมิภาคและนอกภูมิภาค
รายการอ้างอิง
กรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ. 2556. ข่าวสาร : ผลการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 22. <http://www.mfa.go.th/asean/th/news/2352/36751-ผลการประชุมสุดยอดอาเซียน-ครั้งที่-22.html > (accessed March 21, 2015)
กรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ.2557. ข่าวสาร : สรุปประเด็นสำคัญการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 24. <http://www.mfa.go.th/asean/th/news/2352/45826-สรุปประเด็นการประชุมสุดยอดอาเซียน-ครั้งที่ -24.html >(accessed March 21,2015)
กองบัญชาการศึกษา กรมตำรวจแห่งชาติ. 2554. ตอนที่ ๑๕๕ ผลการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 19. <http://aseanroom.edupol.org/adoc/resualt19.pdf > (accessed March 21, 2015)
กองบัญชาการศึกษา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ. 2552. สรุปผลการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 15 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง 23-25 ตุลาคม 2552 ที่ อ.ชะอำ และ อ. หัวหิน. <http://aseanroom.edupol.org/adoc/resualt15.pdf >( accessed March 19, 2015)
ณรงค์ โพธิ์พฤกษานันท์. อาเซียนศึกษา ASEAN Studies. กรุงเทพฯ : แมคกรอ-ฮิล, 2556.
ทีมวิชาการอาเซียน. สุดยอดคัมภีร์อาเซียน. กรุงเทพฯ : อมรินทร์, 2555.
มหาวิทยาลัยมหิดล. 2557. เขตร้อนต้อนรับอาเซียน: ตอนที่ 3 การประชุมสุดยอดอาเซียน. (ASEAN SUMMIT). <http://www.tm.mahidol.ac.th/th/asean/ASEAN3.pdf> (accessed March 18, 2015)
ว. อำพรรณ. การศึกษา กลไกการขับเคลื่อนการสร้างประชาคมอาเซียน. กรุงเทพฯ : แสงดาว, 2555.
ASEAN Watch. 2012. สรุปผลการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 21 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง. <http://aseanwatch.org/2012/11/24/สรุปผลการประชุมสุดยอดอ/> (accessed 21, 2015)
ASEAN Watch.2014. สรุปการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 25 ที่ประเทศเมียนมาร์. <http://aseanwatch.org/2014/11/25/สรุปการประชุมสุดยอดอาเ-6/> (accessed March 21,2015)
The ASEAN Secretariat. 2014. The First ASEAN Summit. < http://www.asean.org/news/item/the-first-asean-summit > (accessed March 18, 2015)
The ASEAN Secretariat. 2014. Tenth ASEAN Summit , Vientiane, 29-30 November 2004. : List of Document to be Adopted. <http://www.asean.org/news/item/list-of-document-to-be-adopted> (accessed March 18, 2015)
อ้างอิง
- ↑ ณรงค์ โพธิ์พฤกษานันท์. อาเซียนศึกษา ASEAN Studies. (กรุงเทพฯ : แมคกรอ-ฮิล, 2556.),หน้า 46.
- ↑ ว. อำพรรณ. การศึกษา กลไกการขับเคลื่อนการสร้างประชาคมอาเซียน. (กรุงเทพฯ : แสงดาว, 2555.),หน้า 31
- ↑ Chair’s Statement of the 18th ASEAN Summit Jakarta, 7 - 8 May 2011 (2011).
- ↑ ว. อำพรรณ. 2555, อ้างแล้ว., 32.
- ↑ ทีมวิชาการอาเซียน. สุดยอดคัมภีร์อาเซียน. (กรุงเทพฯ : อมรินทร์, 2555.), หน้า 49-52.
- ↑ ASEAN Charter (2007): Article 20.
- ↑ ASEAN Charter (2007): Article 7 2(a)
- ↑ ASEAN Charter (2007): Article 7 2(b)
- ↑ ASEAN Charter (2007): Article 7 2(c)
- ↑ ASEAN Charter (2007): Article 7 2(d)
- ↑ ASEAN Charter (2007): Article 20.
- ↑ ASEAN Charter (2007): Article 26-27.
- ↑ ASEAN Charter (2007): Article 7 2(f)
- ↑ ASEAN Charter (2007): Article 7 2(g)
- ↑ ASEAN Charter (2007): Article 7 3(a)
- ↑ ASEAN Charter (2007): Article 7. 3(b)
- ↑ ณรงค์ โพธิ์พฤกษานันท์. 2556, อ้างแล้ว., หน้า 46.
- ↑ The ASEAN Secretariat. 2014. “The First ASEAN Summit.” < http://www.asean.org/news/item/the-first-asean-summit > (accessed March 18, 2015)
- ↑ มหาวิทยาลัยมหิดล. 2557. “เขตร้อนต้อนรับอาเซียน.” ตอนที่ 3 การประชุมสุดยอดอาเซียน. (ASEAN SUMMIT). <http://www.tm.mahidol.ac.th/th/asean/ASEAN3.pdf> (accessed March 18, 2015)
- ↑ Manila Declaration Philippines, 15 December 1987 (1987)
- ↑ Singapore Declaration Of 1992 (1992)
- ↑ Closing Statement His Excellency Mr.Vo Van Kiet Prime Minister of the Socialist Republic of Vietnam (1995)
- ↑ มหาวิทยาลัยมหิดล. 2557, อ้างแล้ว.,
- ↑ Hanoi Declaration (1998).
- ↑ มหาวิทยาลัยมหิดล. 2557, อ้างแล้ว.,
- ↑ มหาวิทยาลัยมหิดล. 2557, อ้างแล้ว.,
- ↑ ณรงค์ โพธิ์ พฤกษานันท์. 2556, อ้างแล้ว., หน้า 50.
- ↑ The ASEAN Secretariat. 2014. “Tenth ASEAN Summit , Vientiane, 29-30 November 2004.” List of Document to be Adopted. <http://www.asean.org/news/item/list-of-document-to-be-adopted> (accessed March 18, 2015)
- ↑ Statement of the 11th ASEAN Summit “One Vision, One Identity, One Community (2005).
- ↑ Statement of the 12th ASEAN Summit H.E. the President Gloria Macapagal-Arroyo. "ONE CARING AND SHARING COMMUNITY" (2007)
- ↑ Chairman’s Statement of the 13th ASEAN Summit, “One ASEAN at the Heart of Dynamic Asia” Singapore, 20 November 2007 (2007).
- ↑ Statement by Abhisit Vejjajiva, Prime Minister of the Kingdom of Thailand at the Opening Ceremony of the 14th ASEAN Summit, Cha-am, Thailand, 28 February 2009 (2009).
- ↑ กองบัญชาการศึกษา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ. 2552.”สรุปผลการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 15 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง 23-25 ตุลาคม 2552 ที่ อ.ชะอำ และ อ. หัวหิน.”. <http://aseanroom.edupol.org/adoc/resualt15.pdf >( accessed March 19, 2015)
- ↑ มหาวิทยาลัยมหิดล. 2557, อ้างแล้ว.,
- ↑ มหาวิทยาลัยมหิดล. 2557, อ้างแล้ว.,
- ↑ Chair’s Statement of the 18th ASEAN Summit Jakarta, 7 - 8 May 2011 (2011).
- ↑ กองบัญชาการศึกษา กรมตำรวจแห่งชาติ. 2554. “ตอนที่ ๑๕๕ ผลการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 19.” <http://aseanroom.edupol.org/adoc/resualt19.pdf > (accessed March 21, 2015)
- ↑ ณรงค์ โพธิ์พฤกษานันท์. 2556. อ้างแล้ว.,หน้า 53.
- ↑ Chairman’s Statement of the 20th ASEAN Summit (2012).
- ↑ ASEAN Watch. 2012. “สรุปผลการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 21 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง.” <http://aseanwatch.org/2012/11/24/สรุปผลการประชุมสุดยอดอ/> (accessed 21, 2015)
- ↑ กรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ. 2556. “ข่าวสาร : ผลการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 22.” <http://www.mfa.go.th/asean/th/news/2352/36751-ผลการประชุมสุดยอดอาเซียน-ครั้งที่-22.html > (accessed March 21, 2015)
- ↑ Chairman’s Statement of the 23rd ASEAN Summit (2013).
- ↑ กรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ.2557. “ข่าวสาร : สรุปประเด็นสำคัญการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 24.” <http://www.mfa.go.th/asean/th/news/2352/45826-สรุปประเด็นการประชุมสุดยอดอาเซียน-ครั้งที่ -24.html >(accessed March 21,2015)
- ↑ ASEAN Watch.2557. “สรุปการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 25 ที่ประเทศเมียนมาร์.” <http://aseanwatch.org/2014/11/25/สรุปการประชุมสุดยอดอาเ-6/> (accessed March 21,2015)