ผลต่างระหว่างรุ่นของ "ส.ส. พึงมีได้"
สร้างหน้าด้วย " '''ผู้เรียบเรียง''': รองศาสตราจารย์ ดร.กตัญญู แก้วหานา..." |
ไม่มีความย่อการแก้ไข |
||
บรรทัดที่ 1: | บรรทัดที่ 1: | ||
'''ผู้เรียบเรียง''': รองศาสตราจารย์ ดร.กตัญญู แก้วหานาม | '''ผู้เรียบเรียง''': <br/> 1. รองศาสตราจารย์ ดร.กตัญญู แก้วหานาม<br/> 2. อาจารย์ ดร. นพพล อัคฮาด<br/> 3. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. พิมพ์ลิขิต แก้วหานาม | ||
'''ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ '''รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย | '''ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ '''รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย |
รุ่นแก้ไขปัจจุบันเมื่อ 13:36, 1 กุมภาพันธ์ 2564
ผู้เรียบเรียง:
1. รองศาสตราจารย์ ดร.กตัญญู แก้วหานาม
2. อาจารย์ ดร. นพพล อัคฮาด
3. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. พิมพ์ลิขิต แก้วหานาม
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย
จากการเลือกตั้งภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2560 ที่มีการใช้ระบบการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสมจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งจำนวน 350 ที่นั่ง และจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองจำนวน 150 ที่นั่ง โดยในการเลือกตั้งใช้บัตรเลือกตั้งเดียวทำให้คะแนนเสียงที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้กับผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคการเมืองใด ภายหลังการประกาศผลการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตแล้วคะแนนเหล่านั้นก็จะนำมาคิดคำนวณหาจำนวนที่นั่ง ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ ทำให้เกิดการคิดคำนวณคะแนนที่พรรคการเมืองต่างๆ จะได้ที่นั่ง “ส.ส. พึงมี” ตามโควต้าจำนวนที่นั่ง ส.ส. ต่อคะแนนเสียงที่พรรคการเมืองนั้นได้รับทั่วประเทศ ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
1. ความหมาย หรือ แนวคิด
“ส.ส. พึงมี” หมายถึง วลีที่มาจากบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ในมาตรา 91 ซึ่งบัญญัติไว้เป็นสูตรในการคำนวณหาที่นั่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ ซึ่ง ส.ส. พึงมี คือ จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่แต่ละพรรคการเมืองพึงมีได้ตามคะแนนเสียงที่ได้รับจากการจัดการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสมภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่วางไว้ โดยการนำคะแนนเสียงของผู้ที่ใช้สิทธิเลือกตั้งที่ลงคะแนนให้กับพรรคการเมืองต่าง ๆ มาหารด้วยจำนวนสมาชิกทั้งหมดของสภาผู้แทนราษฎรคือ 500 คน ผลลัพธ์คะแนนที่ได้ถือเป็นโควต้าที่พรรคการเมืองต่าง ๆ ควรมีที่นั่ง ส.ส. 1 คนในสภาผู้แทนราษฎร
จากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560[1] มาตรา 91 บัญญัติว่า “การคำนวณหาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมืองให้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้
(1) นำคะแนนรวมทั้งประเทศที่พรรคการเมืองทุกพรรคที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อได้รับจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งหารด้วยห้าร้อยอันเป็นจำนวนสมาชิกทั้งหมดของสภาผู้แทนราษฎร
(2) นำผลลัพธ์ตาม (1) ไปหารจำนวนคะแนนรวมทั้งประเทศของพรรคการเมืองแต่ละพรรคที่ได้รับจากการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งทุกเขต จำนวนที่ได้รับให้ถือเป็นจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พรรคการเมืองนั้นจะพึงมีได้
(3) นำจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พรรคการเมืองจะพึงมีได้ตาม (2) ลบด้วยจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งทั้งหมดที่พรรคการเมืองนั้นได้รับเลือกตั้งในทุกเขตเลือกตั้งผลลัพธ์คือจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองนั้นจะได้รับ
(4) ถ้าพรรคการเมืองใดมีผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งเท่ากับหรือสูงกว่าจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พรรคการเมืองนั้นจะพึงมีได้ตาม (2) ให้พรรคการเมืองนั้นมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามจำนวนที่ได้รับจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง และไม่มีสิทธิได้รับการจัดสรรสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ และให้นำจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อทั้งหมดไปจัดสรรให้แก่พรรคการเมืองที่มีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งต่ำกว่าจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พรรคการเมืองนั้นจะพึงมีได้ตาม (2) ตามอัตราส่วน แต่ต้องไม่มีผลให้พรรคการเมืองใดดังกล่าวมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเกินจำนวนที่จะพึงมีได้ตาม (2)
(5) เมื่อได้จำนวนผู้ได้รับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมืองแล้ว ให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งตามลำดับหมายเลขในบัญชีรายชื่อสมาชิกสภสผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองนั้นเป็นผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
ในกรณีที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ใดตายภายหลังวันปิดรับสมัครเลือกตั้งแต่ก่อนก่อนเวลาปิดการลงคะแนนในวันเลือกตั้ง ให้นำคะแนนที่มีผู้ลงคะแนนให้มาคำนวนตาม (1) และ (2) ด้วย
การนับคะแนน หลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณ การคิดอัตราส่วน และการประกาศผลการเลือกตั้งให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
จากบทกฎหมายข้างต้น จะเห็นได้ว่าเมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง ในระบบแบ่งเขตเลือกตั้งแล้ว จะได้มีการนำคะแนนของผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ออกมาใช้สิทธิลงคะแนนมาคำนวณหาจำนวนที่นั่ง ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองต่าง ๆ ที่ “จะพึงมีได้” ซึ่งในขั้นตอนนี้ศาสตราจารย์ ดร. เรืองวิทย์ เกษสุวรรณ (2562) ได้อธิบายแนวคิดของการนับคะแนนเสียงเลือกตั้งไว้ดังนี้[2]
ข้อที่ 1 หลักการของการนับคะแนนเลือกตั้งทั่วไป ระบบการนับคะแนนบัญชีรายชื่อในประเทศต่างๆ ทั่วโลกแบ่งออกเป็น 2 ระบบ คือ ระบบคะแนนเหลือมากที่สุด (Largest Remainders) กับระบบคะแนนเฉลี่ยสูงสุด (Highest Average) ซึ่งการนับคะแนนในส่วนของประเทศไทยนั้นจัดอยู่ในระบบคะแนนเหลือมากที่สุด ซึ่งแบ่งการนับคะแนนออกเป็น 2 รอบ
รอบแรก กำหนดโควต้าคะแนนเสียงต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหนึ่งคนก่อน โดยเอาคะแนนเสียง
ที่ถูกนับทั้งหมดที่เป็นบัตรดีของผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งหารด้วยจำนวนที่นั่งที่กำหนดไว้ ซึ่งของไทยกำหนด
ที่นั่ง ส.ส. ทั้งสภาไว้ที่ 500 คน
คะแนนเสียงทั้งหมด = จำนวนคะแนนเสียงต่อ ส.ส. 1 คน
500
รอบแรกนี้จัดเป็นหัวใจของระบบนับคะแนนเลือกตั้งแบบนี้ซึ่งในทางวิชาการเรียกว่า “an electoral quota” คือโควต้าที่พรรคการเมืองจะได้ที่นั่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในสภาผู้แทนราษฎรซึ่งในสหรัฐอเมริกา เรียกว่า “Hamilton method” ดังนั้นคนที่จะได้เป็น ส.ส. ต้องผ่านด่านโควต้านี้ก่อน แม้โควต้าต่อหนึ่งที่นั่งจะไม่ได้มีกฎหมายระบุไว้ว่าเป็นเกณฑ์ขั้นต่ำ แต่โดยสภาพที่เกิดขึ้นแล้วถือเป็นเกณฑ์ขั้นต่ำที่แต่ละพรรคการเมืองจะมีที่นั่ง ส.ส. ในสภาอย่างไม่ต้องสงสัย
รอบที่สอง เอาโควต้าไปคำคำนวณที่นั่งให้กับพรรคการเมือง พรรคที่ได้คะแนนเกินโควต้าจะได้รางวัลเป็นที่นั่ง ส.ส. ส่วนว่าจะได้มากน้อยเท่าใด ก็ให้เอาโควตาหักออกจากคะแนนเสียงทั้งหมดที่นำมาคิดคำนวณ
ที่ละที่นั่ง ๆ เมื่อเหลือเศษเท่าไหร่ก็ไปคิดเศษที่เหลืออีกที ก็จะได้จำนวน ส.ส. ครบตามจำนวนที่ต้องการ
ข้อที่ 2 การนับคะแนนเลือกตั้งตามกฎหมายไทย สำหรับการนับคะแนนที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ในมาตรา 91 (1) ที่กำหนดว่า “นำคะแนนรวมทั้งประเทศที่พรรคการเมืองทุกพรรคที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อได้รับจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งหารด้วยห้าร้อยอันเป็นจำนวนสมาชิกทั้งหมดของสภาผู้แทนราษฎร” ซึ่งหลักการดังกล่าวนี้ยืนยันว่าประเทศไทยใช้หลักคะแนนเหลือมากที่สุด คือเอาคะแนนรวมทั้งประเทศ (Total vote) ตั้งหารด้วย 500 ซึ่งเป็นจำนวนที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร ผลลัพธ์ที่ได้จะเป็นจำนวนคะแนนเสียงของ ส.ส. 1 ที่นั่ง นั่นคือโควต้า ตามวิธีการแบบ Hamilton method
ต่อมาในมาตรา 91 (2) บัญญัติว่า “ให้นำผลลัพธ์ตาม (1) ไปหารจำนวนคะแนนรวมทั้งประเทศของพรรคการเมืองแต่ละพรรคที่ได้รับจากการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งทุกพรรค จำนวนที่ได้รับถือเป็นจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พรรคนั้นจะพึงมี” จากบทบัญญัติดังกล่าวนี้ก็เป็นไปตามหลักการนับคะแนนของระบบคะแนนเหลือมากที่สุด คือ ให้เอาโควต้าตามมาตรา 91 (1) ไปหารคะแนนที่พรรคการเมืองได้รับจากการเลือกตั้งในระบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ผลลัพธ์ออกมาจะเป็นจำนวน ส.ส. ที่พรรคนั้นพึงมี ซึ่งในส่วนนี้สำคัญมาก เพราะถ้าเอาโควต้าไปหารคะแนนที่ได้รับจากการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งได้เท่าใดแล้ว ก็ต้องได้จำนวน ส.ส. เท่านั้น ซึ่งถือเป็นจำนวน ส.ส. ที่พึง
แต่เมื่อพิจารณาไปยังจำนวน ส.ส. ในระบบเขตเลือกตั้งของพรรคเพื่อไทย ชนะการเลือกตั้งจำนวน 137 ที่นั่ง ซึ่งเกินจากจำนวนโควต้าที่คำนวณได้ ในกรณีนี้ถือเป็นปัญหาของการเกิดที่นั่ง Overhang เนื่องจากการเลือกตั้งที่ผ่านมาพรรคเพื่อไทยได้ ส.ส. จากระบบแบ่งเขตเลือกตั้งจำนวน 137 ที่นั่ง ขณะที่คำนวณ ส.ส.ที่พึงมีได้รวม 111 ที่นั่ง ตามมาตรา 91 (4) ซึ่งกำหนดหลักการว่าถ้าได้เกินก็ให้มีสิทธิได้ตามจำนวนนั้น ไม่ต้องไปหักออก แต่ไม่ต้องให้ ส.ส. บัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองนั้นอีก สำหรับประเด็นนี้ทำให้เกิดปัญหาโดยในความตอนท้ายของมาตรา 91 (4) ที่ระบุว่า “และให้นำจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อทั้งหมดไปจัดสรรให้แก่พรรคการเมืองที่มีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งต่ำกว่าที่พรรคการเมืองนั้นจะพึงมีได้ตาม (2) ตามอัตราส่วน แต่ต้องไม่มีผลให้พรรคการเมืองใดดังกล่าว มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเกินจำนวนที่จะพึงมีได้ตาม (2)” ซึ่งจากบทบัญญัติดังกล่าวก็มีความหมายตรงชัดเจนดังนี้
1. ให้นำบัญชีรายชื่อของพรรคเพื่อไทยไปจัดสรรให้พรรคอื่นที่ได้ ส.ส. เขต ต่ำกว่าที่พรรคนั้นควร
จะได้ สำหรับกรณีนี้พรรคเพื่อไทยไม่ได้ ส.ส. ในระบบบัญชีรายชื่อก็ไม่ต้องเอาไปคำนวณให้พรรคใดอยู่แล้ว
2. กรณีที่เอาไปคำนวณให้พรรคอื่น พรรคอื่นที่ได้รับ ก็จะต้องเข้าเงื่อนไข 2 ข้อ คือ ข้อที่ 1 คำนวณแล้วพรรคนั้นได้ ส.ส. ในระบบเขตเลือกตั้งน้อยกว่า ส.ส. ที่พึงมีตามที่คำนวณค่าได้ และข้อ 2 เมื่อได้รับการบวกเพิ่มแล้ว ต้องไม่เกินจำนวน ส.ส. ที่พึงมีตามที่คำนวณได้
จากหลักการดังกล่าวทำให้พรรคการเมืองที่ได้คะแนนไม่ถึงเกณฑ์โควต้าสำหรับ ส.ส. 1 ที่นึ่ง ซึ่งในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมามีการคำนวณได้ที่ 71,065 คะแนน ก็ย่อมไม่มีโอกาสได้ ส.ส. เพราะประการแรก ไม่ผ่านโควต้าตั้งแต่ต้น และประการที่ 2 ไม่เข้าข่ายมาตรา 91 (4) เพราะไม่เข้ากรณี “พรรคที่มีจำนวน ส.ส. เขตต่ำกว่าที่พรรคนั้นจะพึงมี” คือไม่เข้ากรณีคำนวณแล้วมี ส.ส. เขตต่ำกว่า ส.ส. ที่คำนวณได้
ส่วนวิธีการปัดเศษตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 128 นั้นก็ต้องปัดให้กับพรรคที่ผ่านโควต้าเท่านั้น จะเอาเศษไปถ่ายโอนให้พรรคที่ต่ำกว่าโควต้าไม่ได้เพราะขัดกับรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายในลำดับที่สูงกว่า ดังนั้นจึงไม่มีกรณีใดที่พรรคการเมืองที่ได้คะแนนรวมทั้งประเทศต่ำกว่าโควต้าคะแนนที่จะได้รับการจัดสรรที่นั่ง ส.ส. ในระบบบัญชีรายชื่อ
2. ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น
จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในประเด็นนี้ ผู้เขียนขอนำหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรแบบบัญชีรายชื่อ จากเว็บไชต์สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มาอธิบายถึงปรากฎการณ์ ที่เกิดขึ้น เป็นที่มาของจำนวน ส.ส.ที่แต่ละพรรคที่พึงมีพึงได้จากคะแนนเสียงของการเลือกตั้ง ดังนี้[3] (สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง, 2562)
การจัดทำผลรวมคะแนนทั้งประเทศของพรรคการเมืองทุกพรรคที่ส่งผู้สมัคร แบบบัญชีรายชื่อตามผลคะแนนแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง จำนวน 350 เขตเลือกตั้ง ทำให้มีผลรวมคะแนน ทั้งประเทศ จำนวน 35,561,556 คะแนน จากพรรคการเมืองที่มีคะแนน ทั้งหมด 74 พรรคการเมือง ซึ่งสามารถแสดงคะแนนบางส่วนได้ดังนี้
ตารางแสดงผลการคะแนนแบบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองที่พึงได้รับการจัดสรรที่นั่ง ส.ส.[4]
อันดับ |
พรรค |
คะแนนที่นำมาคิด |
ส.ส.พึงมีได้ |
ส.ส.เขต |
ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อที่ได้รับเบื้องต้น |
1 |
พลังประชารัฐ |
8,433,137 |
118.6805 |
97 |
21.6805 |
2 |
เพื่อไทย |
7,920,630 |
111.4679 |
136 |
-25.5321 |
3 |
อนาคตใหม่ |
6,265,950 |
88.1814 |
31 |
58.1814 |
4 |
ประชาธิปัตย์ |
3,947,726 |
55.5568 |
33 |
22.5568 |
5 |
ภูมิใจไทย |
3,732,883 |
52.5333 |
39 |
13.5333 |
6 |
เสรีรวมไทย |
826,530 |
11.6318 |
0 |
11.6318 |
7 |
ชาติไทยพัฒนา |
782,031 |
11.0056 |
6 |
5.0056 |
8 |
เศรษฐกิจใหม่ |
485,664 |
6.8348 |
0 |
6.8348 |
9 |
ประชาชาติ |
485,436 |
6.8316 |
6 |
0.8316 |
10 |
เพื่อชาติ |
419,393 |
5.9022 |
0 |
5.9022 |
11 |
รวมพลังประชาชาติไทย |
416,324 |
5.8590 |
1 |
4.8590 |
12 |
ชาติพัฒนา |
252,044 |
3.5470 |
1 |
2.5470 |
13 |
พลังท้องถิ่นไทย |
213,129 |
2.9994 |
0 |
2.9994 |
14 |
รักษ์ผืนป่าแห่งประเทศไทย |
136,597 |
1.9223 |
0 |
1.9223 |
15 |
พลังปวงชนไทย |
81,733 |
1.1502 |
0 |
1.1502 |
16 |
พลังชาติไทย |
73,871 |
1.0396 |
0 |
1.0396 |
17 |
ประชาภิวัฒน์ |
69,417 |
0.9769 |
0 |
0.9769 |
18 |
พลังไทยรักไทย |
60,840 |
0.8562 |
0 |
0.8562 |
19 |
ไทยศรีวิไลย์ |
60,421 |
0.8503 |
0 |
0.8503 |
20 |
ประชานิยม |
56,617 |
0.7968 |
0 |
0.7968 |
21 |
ครูไทยเพื่อประชาชน |
56,617 |
0.7929 |
0 |
0.7929 |
22 |
ประชาธรรมไทย |
47,848 |
0.6734 |
0 |
0.6734 |
23 |
ประชาชนปฏิรูป |
45,508 |
0.6404 |
0 |
0.6404 |
24 |
พลเมืองไทย |
44,766 |
0.6300 |
0 |
0.6300 |
25 |
ประชาธิปไตยใหม่ |
39,792 |
0.5600 |
0 |
0.5600 |
26 |
พลังธรรมใหม่ |
35,533 |
0.5001 |
0 |
0.5001 |
27 |
ไทรักธรรม |
33,748 |
0.4749 |
0 |
0.4749 |
การคำนวณหาจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อที่จะจัดสรรให้ พรรคการเมืองกรณีที่มีการประกาศผลการเลือกตั้งครบทุกเขตแล้ว ตามมาตรา 128 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561[5] มีขั้นตอน ดังนี้
(1) ตามมาตรา 128 (1) นำคะแนนรวมที่พรรคการเมืองทุกพรรคที่ส่งผู้สมัคร แบบบัญชีรายชื่อได้รับจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง หารด้วย 500 อันเป็นจำนวนสมาชิกทั้งหมด ของสภาผู้แทนราษฎร
35,561,556 / 500 = 71,123.1120 คะแนน
[[File:|66x2px]]
(2) ตามมาตรา 128 (2) นำผลลัพธ์ตาม (1) ไปหารจำนวนคะแนนรวมของ พรรคการเมืองแต่ละพรรคที่ได้รับจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งทุกเขต จำนวนที่ได้รับให้ถือเป็นจำนวน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พรรคการเมืองนั้นจะพึงมีได้เบื้องต้น
(3) ตามมาตรา 128(3) นำจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พรรคการเมืองจะพึงมีได้ ตาม (2)
ลบด้วยจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่พรรคการเมืองนั้นได้รับเลือกตั้ง ในทุกเขตเลือกตั้ง ผลลัพธ์คือจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองนั้นจะได้รับ เบื้องต้น
(4) ผลลัพธ์จากการคำนวณจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อที่ พรรคการเมืองนั้นจะได้รับเบื้องต้นทั้งหมด เกินจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรค จะได้รับเบื้องต้นทั้งหมด จึงไม่สามารถนำมาตรา 128 (4) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการ เลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาบังคับใช้กับกรณีนี้ จึงต้องดำเนินการตามมาตรา 128 (5) (6) และ (7) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 คือ
(ก) กรณีมีพรรคการเมืองใดมีผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบแบ่งเขตเลือกตั้งเท่ากับหรือสูงกว่าจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่พรรคการเมืองนั้นจะพึงมีได้ ตาม (2) ให้พรรคการเมืองนั้นมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามจำนวนที่ได้รับจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง และไม่มีสิทธิได้รับการจัดสรรสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ
(ข) ให้นำจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อทั้งหมดไปจัดสรรให้แก่ พรรคการเมืองที่มีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งต่ำกว่าจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่พรรคการเมืองนั้นจะพึงมีได้ตาม (2) ตามอัตราส่วน แต่ต้องไม่มีผลให้พรรคการเมืองใดดังกล่าวมี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเกินจำนวนที่จะพึงมีได้ตาม (2) 8
(ค) ในกรณีที่เมื่อคำนวณตาม (ข) แล้วปรากฏว่าพรรคการเมืองทุกพรรคได้รับ จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อรวมกันแล้วเกิน 150 คน ให้ดำเนินการคำนวณปรับจำนวน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อใหม่โดยคำนวณตามอัตราส่วนที่ทุกพรรคจะได้รับการจัดสรรจำนวน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อซึ่งเมื่อรวมแล้วไม่เกิน 150 คน โดยให้นำจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคการเมืองจะได้รับคูณด้วย 150 คน หารด้วยผลบวกของ 150 คน กับจำนวน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อที่เกินจำนวน 150 คน
(ง) การจัดสรรจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมือง จะได้รับให้ครบ 150 คน โดยจัดสรรให้พรรคการเมืองตามผลลัพธ์ตาม (ค) เป็นจำนวนเต็มก่อน หากยังไม่ครบ จำนวน 150 คน
ให้พรรคการเมืองที่มีเศษจากการคำนวณมากที่สุดได้รับการจัดสรรจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อเพิ่มอีกหนึ่งคนตามลำดับจนครบจำนวน 150 คน
(จ) ในการจัดสรรตาม (ข) แล้วปรากฏว่ายังจัดสรรจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อไม่ครบ 150 คน ให้พรรคการเมืองที่มีเศษจากการคำนวณมากที่สุดได้รับการจัดสรรจำนวน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อเพิ่มอีกหนึ่งคนตามลำดับจนครบจำนวน 150 คน
3. ผลจากการคำนวณตามข้อ 2 ปรากฏว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อของ พรรคไทรักธรรมที่ได้รับการประกาศผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2562 ต้องพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 131 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการ เลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 ทำให้มีพรรคการเมืองที่ได้รับการจัดสรรจำนวน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ 25 พรรคการเมือง
4. จากผลลัพธ์ตามข้อ 3 และเมื่อรวมกับจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่ง เขตเลือกตั้งของพรรคการเมืองแต่ละพรรค ทำให้มีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพึงมีได้ โดยมีรายละเอียด ดังนี้
ลำดับที่ |
ชื่อพรรคการเมือง |
จำนวน ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง |
จำนวน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ |
ส.ส. ทั้งหมด (คน) |
---|---|---|---|---|
1 |
พลังประชารัฐ |
97 |
19 |
116 |
2 |
เพื่อไทย |
136 |
0 |
136 |
3 |
อนาคตใหม่ |
31 |
50 |
81 |
4 |
ประชาธิปัตย์ |
33 |
20 |
53 |
5 |
ภูมิใจไทย |
39 |
12 |
51 |
6 |
เสรีรวมไทย |
0 |
10 |
10 |
7 |
ชาติไทยพัฒนา |
6 |
4 |
10 |
8 |
เศรษฐกิจใหม่ |
0 |
6 |
6 |
9 |
ประชาชาติ |
6 |
1 |
7 |
10 |
เพื่อชาติ |
0 |
5 |
5 |
11 |
รวมพลังประชาชาติไทย |
1 |
4 |
5 |
12 |
ชาติพัฒนา |
1 |
2 |
3 |
13 |
พลังท้องถิ่นไท |
0 |
3 |
3 |
14 |
รักษ์ผืนป่าประเทศไทย |
0 |
2 |
2 |
15 |
พลังปวงชนไทย |
0 |
1 |
1 |
16 |
พลังชาติไทย |
0 |
1 |
1 |
17 |
ประชาภิวัฒน์ |
0 |
1 |
1 |
18 |
ไทยศรีวิไลย์ |
0 |
1 |
1 |
19 |
พลังไทยรักไทย |
0 |
1 |
1 |
20 |
ครูไทยเพื่อประชาชน |
0 |
1 |
1 |
21 |
ประชานิยม |
0 |
1 |
1 |
22 |
ประชาธรรมไทย |
0 |
1 |
1 |
23 |
ประชาชนปฏิรูป |
0 |
1 |
1 |
24 |
พลเมืองไทย |
0 |
1 |
1 |
25 |
ประชาธิปไตยใหม่ |
0 |
1 |
1 |
26 |
พลังธรรมใหม่ |
0 |
1 |
1 |
รวม |
350 |
150 |
500 |
3. หลักการสำคัญ / ความสำคัญ
ความสำคัญของการอ้างการใช้สูตรในการคำนวณที่นั่งของ ส.ส. บัญชีรายชื่อของคณะกรรมการการเลือกตั้งตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 128 นั้น ทำให้สังคมมีการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่คำนวณที่นั่ง ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อให้กับพรรคการเมืองที่ได้คะแนนต่ำกว่า 71,123.1120 คะแนน ซึ่งถือเป็นจำนวนที่พรรคการเมืองที่มีคะแนนขั้นต่ำเมื่อรวบรวมจากจำนวนคะแนนเสียงทั่วประเทศที่พรรคการเมืองนั้นได้รับจึงเป็นพรรคที่ควรได้รับการจัดสรรให้มี “ส.ส. พึงมีได้” ต่อ ส.ส. 1 ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรตามหลักการที่ปรากฏในบทบัญยัติของรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อการประกาศวิธีการใช้สูตรคำนวณของ กกต. และประกาศจำนวนที่นั่ง ส.ส. ของบรรดาพรรคการเมืองที่ได้คะแนนต่ำกว่า 71,123.1120 คะแนนซึ่งมีจำนวน 10 พรรคการเมืองตามที่ปรากฏออกมา ได้แก่ พรรคประชาภิวัฒน์ พรรคไทยศรีวิไลย์ พรรคพลังไทยรักไทย พรรคครูไทยเพื่อประชาชน พรรคประชานิยม พรรคประชาธรรมไทย พรรคประชาชนปฏิรูป พรรคพลเมืองไทย พรรคประชาธิปไตยใหม่ และพรรคพลังธรรมใหม่ จึงทำให้เห็นว่า ตัวสูตรที่บัญญัติไว้อย่างเป็นลายลักษณ์อักษรในกฎหมายนิ่งอยู่แล้ว แต่วลีที่เขียนในกฎหมายไม่ชัดเจน คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญมีการใช้วลีว่า “ให้จัดสรรกับพรรคที่ ส.ส.ต่ำกว่าจำนวนที่พรรคจะพึงมี แต่ต้องไม่เกินจำนวน ส.ส.พึงมีได้” ในรัฐธรรมนูญมาตรา 91 (4) แต่ผลปรากฏว่าบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญตามมาตรา 91 ไม่ให้ปัดเลขทศนิยม แต่ให้ “เกลี่ย” ให้พรรคเล็กจนครบ 150 ที่นั่ง ซึ่งวิธีการดังกล่าวปัญหามีอยู่ว่า ฝ่ายพรรคเพื่อไทย-พรรคอนาคตใหม่ และนักวิชาการ-นักเคลื่อนไหวฝ่ายก้าวหน้า มองว่าสูตรการคำนวณตามรัฐธรรมนูญไม่ควรเกลี่ยคะแนนให้กับพรรคเล็กที่มีค่าเฉลี่ย ส.ส. พึงมีไม่ถึงตัวเลขคะแนนขั้นต่ำ แต่ได้มีการอ้างว่าได้ใช้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 ของมาตรา 128 ตาม (5) ที่ระบุว่า “ถ้าพรรคการเมืองใดมีผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง เท่ากับหรือสูงกว่าจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พรรคการเมืองนั้นจะพึงมี ให้พรรคการเมืองนั้นมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามจํานวนที่ได้รับจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง และไม่มีสิทธิได้รับการจัดสรรสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ และให้นําสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบัญชีรายชื่อทั้งหมดไปจัดสรรให้แก่พรรคการเมืองที่มีจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งต่ำกว่าจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พรรคการเมืองนั้นจะพึงมีได้ตามอัตราส่วน แต่ต้องไม่มีผลให้พรรคการเมืองใดดังกล่าวมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเกินจํานวนที่จะพึงมี” ซึ่งสอดคล้องกับสูตรการคำนวณตามที่ประกาศโดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ได้คำนวณสูตร ตามที่ประกาศออกมาแล้ว ปรากฏว่าพรรคเล็กที่ได้เสียงลงคะแนนจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งจากทุกเขตเลือกตั้งทั่วประเทศรวมกันอย่างเช่นพรรคพลังธรรมใหม่ ที่ได้คะแนน 35,533 คะแนน ซึ่งไม่ถึงคะแนนค่าเฉลี่ย ส.ส. พึงมีหรือตัวเลขคะแนนขั้นต่ำ ประมาณ 71,123 คะแนน ก็สามารถได้ ส.ส. ในระบบบัญชีรายชื่อ จนทำให้เกิดพรรคที่ได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบัญชีรายชื่อเพียง 1 ที่นั่งจำนวนหลายพรรค แม้ว่าพรรคเหล่านั้นจะได้เศษทศนิยมที่วัดเกณฑ์การมีเก้าอี้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบัญชีรายชื่อระดับ 0.4 - 0.9 ไม่ถึงจำนวนเต็ม 1 ที่นั่งของการพึงมี ส.ส. ก็ตาม
4. สรุป
จากการเลือกตั้งภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2560 ที่มีการใช้ระบบการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสมจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งจำนวน 350 ที่นั่ง และจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองจำนวน 150 ที่นั่ง รวมเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 500 คน ซึ่งมีการกำหนด “ส.ส. พึงมี” ของพรรคการเมืองต่างๆ ที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งทั้งแบบแบ่งเขตและแบบบัญชีรายชื่อไว้ในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ในมาตรา 91 ซึ่งบัญญัติไว้เป็นสูตรในการคำนวณหาที่นั่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ ซึ่ง ส.ส. พึงมี คือ จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่แต่ละพรรคการเมืองพึงมีได้ตามคะแนนเสียงที่ได้รับจากการจัดการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสมภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่วางไว้ โดยการนำคะแนนเสียงของผู้ที่ใช้สิทธิเลือกตั้งที่ลงคะแนนให้กับพรรคการเมืองต่าง ๆ มาหารด้วยจำนวนสมาชิกทั้งหมดของสภาผู้แทนราษฎรคือ 500 คน ผลลัพธ์คะแนนที่ได้ถือเป็นโควต้าที่พรรคการเมืองต่าง ๆ ควรมีที่นั่ง ส.ส. 1 คนในสภาผู้แทนราษฎร
5. บรรณานุกรม
เดอะมาสเตอร์. (2562). กกต. เปิดสูตรคำนวณ ส.ส. (ที่อาจเป็น) เวอร์ชั่นของ กกต. (ออนไลน์). สืบค้นจาก
https://themaster.co/pulse/complicated-thai-mps-system/74209, เข้าถึงเมื่อ 6 เมษายน 2563
ประชาชนจิตอาสา (นามแฝง) วิธีการคำนวณ สส บัญชีรายชื่อ ที่ถูกต้อง ตาม พรบ ประกอบรัฐธรรมนูญ
สืบค้นจาก
http://sudoku.in.th/election2562/partylist.html?fbclid=IwAR1Fqi4gpRBMFKxJcBUvUXxfKczhNQppGBuVfWBUsepiIf66JTgE3HT7QCk,เข้าถึงเมื่อ 6 เมษายน 2563
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561,
ราชกิจจานุเบกษา, เล่มที่135 ตอนที่ 68 ก วันที่ 12 กันยายน 2561, หน้า 81
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 สืบค้นจาก
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2560/A/040/1.PDF, เข้าถึงเมื่อ 6 เมษายน 2563
เรืองวิทย์ เกษสุวรรณ. (2562). การคำนวณปาร์ตี้ลิสต์ผิด กับคำอธิบายเรื่อง overhang seats ของไทย
(ออนไลน์) สืบค้นจาก https://www.matichon.co.th/columnists/news_1453697
สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง. (2562). หลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ สืบค้น
จากเว็บไซต์ https://www.ect.go.th/ect_th/download/article/article_20190528140635.pdf สืบค้นเมื่อ 10 เมษายน 2563.
[1] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 สืบค้นจาก
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2560/A/040/1.PDF, เข้าถึงเมื่อ 6 เมษายน 2563
[2] เรืองวิทย์ เกษสุวรรณ. (2562). การคำนวณปาร์ตี้ลิสต์ผิด กับคำอธิบายเรื่อง overhang seats ของไทย
(ออนไลน์) สืบค้นจาก https://www.matichon.co.th/columnists/news_1453697
[3] สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง. (2562). หลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ สืบค้น
จากเว็บไซต์ https://www.ect.go.th/ect_th/download/article/article_20190528140635.pdf สืบค้นเมื่อ 10 เมษายน 2563.
[4] ประชาชนจิตอาสา (นามแฝง) วิธีการคำนวณ สส บัญชีรายชื่อ ที่ถูกต้อง ตาม พรบ ประกอบรัฐธรรมนูญ
สืบค้นจากhttp://sudoku.in.th/election2562/partylist.html?fbclid=IwAR1Fqi4gpRBMFKxJcBUvUXxfKczhNQppGBuVfWBUsepiIf66JTgE3HT7QCk,เข้าถึงเมื่อ 6 เมษายน 2563
[5] พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561,
ราชกิจจานุเบกษา, เล่มที่135 ตอนที่ 68 ก วันที่ 12 กันยายน 2561, หน้า 8