ผลต่างระหว่างรุ่นของ "พฤติกรรมนิยม และสถาบันนิยมในการเมืองเรื่องการเลือกตั้งของไทย"

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
Apirom (คุย | ส่วนร่วม)
หน้าที่ถูกสร้างด้วย ''''ผู้เรียบเรียง''' สติธร ธนานิธิโชติ ---- '''วารสารสถาบั...'
 
Apirom (คุย | ส่วนร่วม)
ไม่มีความย่อการแก้ไข
 
(ไม่แสดง 1 รุ่นระหว่างกลางโดยผู้ใช้คนเดียวกัน)
บรรทัดที่ 196: บรรทัดที่ 196:
Verba, Sydney, Norman Nie,  and Jae-On Kim. Participation and Political Equality : A Seven - Nation Comparison. London, New York, Melbourne: Cambridge University Press, 1978.
Verba, Sydney, Norman Nie,  and Jae-On Kim. Participation and Political Equality : A Seven - Nation Comparison. London, New York, Melbourne: Cambridge University Press, 1978.


----
*[http://www.kpi.ac.th/kpith/pdf/%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%A3/50/03/50-03%2003.%E0%B8%9E%E0%B8%A4%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B8%95%E0%B8%B1%E0%B9%89%E0%B8%87%20-%20%E0%B8%AA%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%98%E0%B8%A3.pdf พฤติกรรมนิยม และสถาบันนิยมในการเมืองเรื่องการเลือกตั้งของไทย '''(PDF Download)''']
[[หมวดหมู่:วารสารปีที่ 5 ฉบับที่ 3 เดือนกันยายน - ธันวาคม 2550]]
[[หมวดหมู่:วารสารปีที่ 5 ฉบับที่ 3 เดือนกันยายน - ธันวาคม 2550]]

รุ่นแก้ไขปัจจุบันเมื่อ 11:06, 26 พฤศจิกายน 2556

ผู้เรียบเรียง สติธร ธนานิธิโชติ


วารสารสถาบันพระปกเกล้า ปี 2550 ฉบับที่ 3


พฤติกรรมนิยม (Behavioralism) และสถาบันนิยม (Institutionalism)ในการเมืองเรื่องการเลือกตั้งของไทย

ระบบการเลือกตั้งของไทยที่ออกแบบไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญอีกสามฉบับ ถือเป็นภาพสะท้อนมุมมองที่นักวิชาการจำนวนมากมีต่อพฤติกรรมทางการเมืองของคนไทย ซึ่งมักเชื่อกันว่าประชาชนยังขาดความรู้ความเข้าใจทางการเมือง และออกไปใช้สิทธิลงคะแนนโดยขาดความตระหนักในสิทธิหน้าที่ของตน ในขณะที่นักการเมืองและพรรคการเมืองขาดอุดมการณ์และไม่มีการนำเสนอนโยบายที่เป็นรูปธรรมต่อประชาชน มีการใช้เงินซื้อเสียง และมีการใช้อิทธิพลหรืออำนาจครอบงำความคิดของประชาชน นอกจากนี้ สถาบันทางการเมืองอื่นๆ เช่น ทหาร ข้าราชการ ฯลฯ เองก็เป็นอุปสรรคต่อการผลักดันค่านิยมประชาธิปไตย และการส่งเสริมพฤติกรรมทางการเมืองที่พึงปรารถนา (อเนก เหล่าธรรมทัศน์ 2545) อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2550 ทำให้เกิดประเด็นท้าทายใหม่ๆ ต่อความเข้าใจที่ว่านี้ในหลายประการ ทั้งในแง่พฤติกรรมการใช้สิทธิลงคะแนนของประชาชนที่มีคนกว่าสามล้านคนออกมาใช้สิทธิลงคะแนนล่วงหน้า และกว่าร้อยละ 70 โดยภาพรวมออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง รูปแบบและวิธีการรณรงค์หาเสียงของนักการเมืองที่แข่งขันกันนำเสนอนโยบาย (ประชานิยม) ต่อประชาชนอย่างเอาจริงเอาจังกว่าการเลือกตั้งครั้งก่อนๆ ตลอดจนบทบาทของสถาบันทางการเมืองต่างๆ เช่น ทหาร ศาลยุติธรรม องค์กรที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง และกลุ่ม/องค์กรภาคประชาชน เป็นต้น ที่มีส่วนอย่างน่าสนใจในการกำหนดหรือมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมทางการเมืองของนักการเมืองและและพฤติกรรมการใช้สิทธิลงคะแนนของประชาชนในการเลือกตั้งครั้งนี้ การศึกษาเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับพฤติกรรมทางการเมือง (โดยเฉพาะพฤติกรรมการเลือกตั้ง) จึงนับว่ายังมีความสำคัญอยู่มากต่อการทำความเข้าใจเกี่ยวกับ “การเมืองเรื่องการเลือกตั้งของไทย”

การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับพฤติกรรมการเลือกตั้ง

การศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมการเลือกตั้งพัฒนาขึ้นจากความสนใจของนักวิชาการสองสาขา คือนักสังคมวิทยาและนักรัฐศาสตร์กลุ่มพฤติกรรมนิยม (behavioralism) นักวิชาการเหล่านี้ได้ให้ความสนใจ อิทธิพลของสถานภาพทางเศรษฐกิจ-สังคม เช่น เพศ อายุ การศึกษา อาชีพ กลุ่มชาติพันธุ์หรือกลุ่มวัฒนธรรม ที่มีต่อพฤติกรรมการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งของบุคคลเป็นเบื้องแรก ก่อนที่จะมีความสนใจศึกษาเกี่ยวกับอิทธิพลของปัจจัยด้านจิตวิทยาหรือความรู้สึกทางการเมือง การศึกษาเกี่ยวกับความสนใจทางการเมือง ความเชื่อมั่นทางการเมือง รวมทั้งการเป็นสมาชิกกลุ่มหรือพรรคการเมืองจึงถูกนำเข้ามาพิจารณาเพื่อทำความเข้าใจพฤติกรรมการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งของประชาชนชาวไทยด้วย (สุจิต บุญบงการ และพรศักดิ์ ผ่องแผ้ว 2526: 15-16) ต่อมา เริ่มมีผู้มองเห็นว่าการเลือกตั้งนอกจากจะมีองค์ประกอบที่สำคัญในแง่อุดมการณ์ และกระบวนการตามระบอบประชาธิปไตยแล้ว ความเป็นสถาบันหรือกฎหมายซึ่งเป็นตัวกำหนดกรอบกติกาทางการเมืองและทางสังคมก็ถือว่ามีความสำคัญต่อการเลือกตั้งเช่นเดียวกัน นักรัฐศาสตร์ในรุ่นหลังหันมาให้ความสนใจกับการศึกษาในเชิงสถาบัน (new institutionalism approach) โดยมีสมมติฐานว่า คนเราแม้จะมีอิสระในการตัดสินใจทางการเมืองและในเรื่องอื่นๆ ก็ตาม แต่กฎเกณฑ์และกระบวนการที่สถาบันซึ่งเราสังกัดอยู่ (ทั้งที่เป็นทางการ เช่น กฎหมาย และที่ไม่เป็นทางการ เช่น กลุ่มทางสังคมและการเมือง) ได้วางกรอบกติกาไว้ก็น่าจะมีอิทธิพลอย่างมากต่อการตัดสินใจและพฤติกรรมอื่นๆ ของบุคคลด้วย การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับพฤติกรรมการเลือกตั้งที่มีการศึกษากันในทางหนึ่งจึงเป็นการวิเคราะห์ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อทัศนคติ ความคิดเห็น และการแสดงออกของปัจเจกบุคคล กับอีกทางหนึ่งคือการวิเคราะห์ปัจจัยเชิงสถาบัน เช่น ผลจากการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์และ/หรือรูปแบบวิธีการเกี่ยวกับการเลือกตั้งที่อาจมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงในเชิงพฤติกรรมของบุคคล

การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับพฤติกรรมการเลือกตั้งในประเทศไทยที่ผ่านมากล่าวได้ว่าได้ดำเนินรอยตามแนวทางการศึกษาของนักรัฐศาสตร์ในสองกลุ่มนี้ โดยส่วนใหญ่มุ่งทำการศึกษาปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการเลือกตั้งซึ่งอาจแบ่งกลุ่มปัจจัยที่มีการศึกษากันมากได้เป็น 4 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่ (1) ปัจจัยด้านภูมิหลังทางเศรษฐกิจและสังคม (2) ปัจจัยด้านการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร (3) ปัจจัยจากอิทธิพลและการโน้มน้าวชักจูงด้วยวิธีการต่างๆ และ (4) ปัจจัยในแง่กฎหมายและกรอบกติกาสถาบัน การนำผลการศึกษาจากงานวิจัยทั้งสี่กลุ่มมาประมวลเรียบเรียงนอกจากจะทำให้เห็นพัฒนาการและทิศทางของการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับพฤติกรรมการเลือกตั้งในประเทศไทยแล้ว ยังทำให้เราสามารถมองเห็นภาพ “การเมืองเรื่องการเลือกตั้ง” ของไทยได้อย่างแจ่มชัดอีกด้วย

การศึกษาปัจจัยภูมิหลังทางเศรษฐกิจ และสังคมที่มีผลต่อพฤติกรรมเลือกตั้ง การศึกษาวิจัยในต่างประเทศจำนวนมากพบว่าตัวแปรทางด้านสถานะทางเศรษฐกิจและสังคม เช่น เพศ เชื้อชาติ อายุ ระดับการศึกษา อาชีพ รายได้ การนับถือศาสนา และที่อยู่อาศัย เป็นต้น มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการเลือกตั้งของประชาชน เช่น งานของเวอร์บา นี และคิม (Verba Nie and Kim 1978) ลิบเซต (Lipset 1997) และไดมอน (Diamond 1997) เป็นต้น ซึ่งผลการศึกษาในประเทศไทยที่ผ่านมาก็พบเช่นเดียวกัน แต่ระดับความสัมพันธ์ของแต่ละตัวแปรจะมีความแตกต่างกันไปตามหน่วยในการวิเคราะห์และบริบททางการเมืองและสังคมที่แวดล้อมหน่วยวิเคราะห์นั้น

ผลการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2522 ของสุจิต บุญบงการและพรศักดิ์ ผ่องแผ้ว พบว่าผู้ที่อยู่ในสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมต่ำมีแนวโน้มที่จะไปลงคะแนนเสียงมากกว่าผู้มีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมสูง ผู้ที่อยู่ในชนบทมีแนวโน้มไปลงคะแนนสูงกว่าผู้ที่อยู่ในเมืองใหญ่ (สุจิต บุญบงการ และพรศักดิ์ ผ่องแผ้ว 2522) ซึ่งมีความสอดคล้องกับข้อค้นพบจากการศึกษาในปี พ.ศ.2526 และยังพบเพิ่มเติมในปัจจัยอื่นๆ อีกว่า เพศชายไปลงคะแนนเสียงโดยตัดสินใจได้เร็วกว่าเพศหญิง ขณะที่คนในวัยกลางคนและในวัยหนุ่มสาวมีแนวโน้มที่จะเลือกพรรคมากกว่าตัวบุคคล รวมทั้งยังพบด้วยว่าผู้มีการศึกษาสูงจะไปลงคะแนนด้วยจิตสำนึกความเป็นพลเมืองมากกว่าผู้มีการศึกษาต่ำ (สุจิต บุญบงการ และพรศักดิ์ ผ่องแผ้ว 2526) และในปี พ.ศ.2529 ทั้งสองได้สรุปว่าโดยทั่วไปมีแนวคิดที่ใช้อธิบายปัจจัยที่ผลักดันให้เกิดพฤติกรรมการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง แบ่งออกได้เป็น 3 แนวทาง ได้แก่ (1) ปัจจัยส่วนบุคคล (2) อิทธิพลของสำนึกเชิงเหตุผล (3) ปัจจัยเชิงสถานการณ์ของระบบ แต่ปัจจัยส่วนบุคคลโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมของบุคคล เช่น รายได้ การศึกษา อาชีพ ที่อยู่อาศัย เป็นต้น จะเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมการไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง (สุจิต บุญบงการ และพรศักดิ์ ผ่องแผ้ว 2529)

งานวิจัยของสุจิต บุญบงการและพรศักดิ์ ผ่องแผ้วนับว่ามีอิทธิพลอย่างมากต่อการศึกษาเกี่ยวกับปัจจัยทางเศรษฐกิจและสังคมที่มีผลต่อพฤติกรรมการเลือกตั้งของประชาชนในช่วงตั้งแต่ทศวรรษ 2520 เป็นต้นมา ถึงแม้ในช่วงหลังการศึกษาวิจัยในวงวิชารัฐศาสตร์จะค่อนข้างหลากหลายแต่ยังปรากฏงานวิจัยในแนวนี้ที่น่าสนใจอยู่หลายชิ้น โดยมีการเลือกทำการศึกษาวิจัยในหลายพื้นที่ และมีการเจาะลึกในหลายประเด็นแตกต่างกันไปตามความสนใจของผู้ทำการศึกษา เช่น นัฐพงศ์ สุขวิสิฏฐ์ (2535) ทำการศึกษาวิจัยเรื่องเหตุผลของการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ศึกษาเฉพาะกรณี เขต 1 จังหวัดนครราชสีมา พบว่า บุคคลที่มีฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมแตกต่างกันมีเหตุผลของการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งแตกต่างกัน โดยที่บุคคลที่มีฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมสูงมีเหตุผลของการไปลงคะแนนในเชิงการมีสำนึกทางการเมือง และคำนึงถึงพรรคเป็นเกณฑ์ในการตัดสินใจ ในทางตรงกันข้าม บุคคลที่มีฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมต่ำ มีเหตุผลของการลงคะแนนเสียงในเชิงประเพณีและยึดตัวบุคคลเป็นเกณฑ์การตัดสินใจ

ในการเลือกตั้งทั่วไป วันที่ 13 กันยายน 2535 สมชาย ติลังการณ์ (2537) ทำการศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมการออกเสียงเลือกตั้งกับจิตสำนึกทางการเมืองของคนเชียงใหม่ โดยเลือกกรณีศึกษาเขตอำเภอหางดง พบว่าผู้มีการศึกษาและมีอาชีพนอกภาคการเกษตรจะเห็นว่าการเลือกตั้งเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมือง เพื่อประโยชน์ของประชาชนเอง และเหตุผลสำคัญในการไปเลือกตั้งเพราะต้องการปฏิบัติตามกฎหมายและอยากได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ดีเข้าไปทำหน้าที่ในสภา สองปีถัดมา สานิตย์ ปั้นสังข์ (2539) ทำการศึกษาพฤติกรรมการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งของประชาชนในเขตชนบท ศึกษาเฉพาะกรณีสุขาภิบาลศรีดอนไผ่ อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี พบว่าปัจจัยสถานภาพทางเศรษฐกิจและสังคมของผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง มีความสัมพันธ์กับระยะเวลาในการตัดสินใจเลือกผู้สมัคร โดยผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่มีการศึกษาและรายได้สูง มีแนวโน้มจะตัดสินใจเลือกผู้สมัครเร็วกว่าผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่มีการศึกษาและรายได้ต่ำ

ปี 2541 วิทยา สุวรรณมาศ (2541) ได้นำเสนอผลการศึกษาพฤติกรรมการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของประชาชนในเขตอำเภอมโนรมย์ จังหวัดชัยนาท ซึ่งเป็นการเลือกตั้งทั่วไปครั้งสุดท้ายตามรัฐธรรมนูญฉบับเดิมในปี 2539 พบว่า ปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมมีอิทธิพลต่อผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งในเขตอำเภอมโนรมย์ จังหวัดชัยนาทเป็นอย่างมาก โดยจะเห็นได้จากปัจจัยทางเศรษฐกิจ การเมืองและสังคมของประชาชนที่แตกต่างกัน มีผลทำให้ประชาชนในแต่ละระดับมีพฤติกรรมการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งแตกต่างกัน ในปีเดียวกัน จิตรา พรหมชุติมา (2541) นำเสนอผลการวิจัยเกี่ยวกับพฤติกรรมการเลือกตั้งของประชาชนในชุมชนแออัด พบว่า เมื่อเปรียบเทียบความสัมพันธ์ระหว่างผู้ที่มีการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไปกับผู้ที่มีการศึกษาต่ำกว่าระดับปริญญาตรี จะพบว่าผู้ที่มีการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไปจะมีความสนใจทางด้านการเมือง มีทัศนคติความคิดเห็นในทางการเมือง มีบทบาทการเข้ามีส่วนร่วมทางการเมือง และมีพฤติกรรมในการออกเสียงเลือกตั้งสูงกว่าผู้ที่มีการศึกษาระดับต่ำกว่าปริญญาตรี

การวิเคราะห์ปัจจัยภูมิหลังทางเศรษฐกิจและสังคมที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการเลือกตั้งถือว่ามีความสำคัญและมีผู้ให้ความสนใจทำการศึกษาอย่างต่อเนื่องแม้ในช่วงภายหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 โดยเฉพาะเมื่อมีการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาโดยตรงครั้งแรก ธนัน อนุมานราชธน จันทนา สุทธิจารีและไพรัช ตระการศิรินนท์ (2543) ทำการศึกษาทัศนคติของประชาชนต่อการเลือกตั้งวุฒิสมาชิกจังหวัดเชียงใหม่ 4 มีนาคม 2543 พบว่า ผู้ที่มีรายได้สูงกว่า มีรายได้มากกว่า และประกอบอาชีพราชการหรือรัฐวิสาหกิจ มีแนวโน้มไม่ยอมรับผู้ชนะการเลือกตั้งมากกว่าผู้ที่มีการศึกษาต่ำกว่า มีรายได้น้อยกว่า และประกอบอาชีพอื่นๆ ที่ไม่ใช่ราชการหรือรัฐวิสาหกิจ เช่นเดียวกันกับคำถามที่ว่า ผู้ชนะการเลือกตั้ง ได้ใช้วิธีการที่เหมาะสมหรือไม่ในการแสวงหาความนิยม ผู้ตอบคำถามผู้ที่มีรายได้สูงกว่า มีรายได้มากกว่า และประกอบอาชีพราชการหรือรัฐวิสาหกิจ เห็นว่าผู้ชนะใช้วิธีการที่ไม่เหมาะสม แตกต่างจากผู้ที่มีการศึกษาต่ำกว่า มีรายได้น้อยกว่า และประกอบอาชีพอื่นๆ ที่ไม่ใช่ราชการหรือรัฐวิสาหกิจที่เห็นว่าเหมาะสมมากกว่า ในขณะที่ พจนีย์ ไชวาริล (2543) ทำการศึกษาถึงภูมิหลังทางด้านเศรษฐกิจและสังคมต่างๆ และแรงจูงใจในการลงสมัครรับเลือกตั้งของผู้สมัครสมาชิกวุฒิสภากรุงเทพมหานคร พบว่า ผู้สมัครส่วนใหญ่เป็นผู้มีสถานภาพ ทางเศรษฐกิจและสังคมสูง และดำรงตำแหน่งสูงในหน่วยงานต่างๆ

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยที่กล่าวมาข้างต้นมีข้อจำกัดในการอธิบายเกี่ยวกับปัจจัยด้านภูมิหลังทางเศรษฐกิจและสังคมที่มีผลต่อพฤติธรรมกรรมการเลือกตั้งของประชาชนชาวไทยโดยภาพรวม เนื่องจากเป็นการเลือกศึกษาจากกลุ่มตัวอย่างในบางพื้นที่ ผลงานวิจัยที่ครอบคลุมและนับได้ว่าเป็นผู้นำยุคใหม่ในการศึกษาวิจัยเรื่องนี้ปรากฏในงานของสถาบันพระปกเกล้า เริ่มจากการทำวิจัยเรื่อง “พฤติกรรมการเลือกตั้งและปัจจัยที่มีผลต่อการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2543” (ถวิลวดี บุรีกุลและสติธร ธนานิธิโชติ 2545) โดยได้นำแนวทางการศึกษาที่มีการพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่องทั่วโลกมาประยุกต์ใช้ และพัฒนาเครื่องมือเพื่อใช้ศึกษาเกี่ยวกับระบบการเมืองไทย พบว่า สถานภาพทางเศรษฐกิจสังคมที่แตกต่างกัน อันได้แก่ เพศ อายุ รายได้ อาชีพ การศึกษา ศาสนา สถานที่อยู่ ระยะเวลาที่อาศัย และการย้ายที่อยู่ มีความสัมพันธ์กับตัวแปรต่างๆ ที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประชาธิปไตย เช่น การเป็นสมาชิกกลุ่ม ความรู้เกี่ยวกับการเลือกตั้ง การมีส่วนร่วมทางการเมือง รวมทั้งปัจจัยที่ใช้ในการเลือกผู้สมัครอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ซึ่งผลจากการวิจัยนี้ได้มีการนำไปขยายผลโดยทำการศึกษาแบบเจาะลึกเพิ่มเติมในประเด็นต่างๆ เช่น ในเรื่องกระบวนการมุ่งสู่ความเป็นประชาธิปไตยของประเทศไทย โรเบิร์ต บี อัลบริททัน และถวิลวดี บุรีกุล (2543) ทำการศึกษาเรื่อง “ความต่อเนื่องของประชาธิปไตยไทย: การเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา 2543 พบว่าผู้ตอบที่อาศัยอยู่ในชนบท และมีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมต่ำกว่าจะมีระดับความพึงพอใจต่อระบอบประชาธิปไตยสูงกว่าผู้ตอบที่อาศัยอยู่ในเมือง และมีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมสูงกว่า นอกจากนี้ คนกรุงเทพฯมีเกณฑ์ในการพิจารณาเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ โดยที่คนกรุงเทพฯจะใช้ปัจจัยเรื่อง “ความสามารถ และความซื่อสัตย์” ของผู้สมัครเป็นพื้นฐานในการประเมินผู้สมัคร ขณะที่คนที่อาศัยอยู่ต่างจังหวัดจะให้ความสำคัญกับเรื่อง “ความสัมพันธ์กับท้องถิ่น” ของผู้สมัคร

ในเรื่องการมีส่วนร่วมทางการเมือง ถวิลวดี บุรีกุล (2543) ทำการศึกษาการมีส่วนร่วมของประชาชนในการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2543 พบว่ามีความสัมพันธ์ของปัจจัยต่างๆ กับการมีส่วนร่วมทางการเมือง โดยเฉพาะปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองดังที่เคยมีผู้ศึกษาไว้อย่างมากมายในนานาประเทศ และการศึกษานี้สอดคล้องกับแนวคิดเรื่องการมีส่วนร่วมที่ผู้ชายมักมีส่วนร่วมทางการเมืองมากกว่าผู้หญิง ผู้ที่อยู่ในวัยกลางคนมีส่วนร่วมในทางการเมืองมากกว่ากลุ่มอายุอื่นๆ การมีส่วนร่วมยังมีความแตกต่างกันไปตามระดับการศึกษา อาชีพ ถิ่นที่อยู่อาศัย อย่างไรก็ตาม การศึกษานี้พบความแตกต่างของชาวกรุงเทพฯทั้งที่อยู่ในเมืองและชานเมืองที่มีระดับการมีส่วนร่วมทางการเมืองต่ำกว่าผู้อาศัยอยู่ในจังหวัดอื่นๆ

ในเรื่องบทบาททางการเมืองของเพศหญิง ถวิลวดี บุรีกุล (2544) ทำการศึกษาเรื่อง “ผู้หญิงกับการเมืองหลังการมีรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540” พบผลการศึกษาซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาในต่างประเทศว่า ระดับการมีส่วนร่วมทางการเมืองของเพศหญิงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าเพศชาย ซึ่งช่องว่างระหว่างชายหญิงในการมีส่วนร่วมทางการเมืองนี้แสดงถึงวัฒนธรรมทางความคิดทางการเมือง บทบาทของชายหญิงในทางการเมือง นอกจากนี้ ผู้หญิงที่มีส่วนร่วมทางการเมืองสูงจะมีความพอใจในระบอบประชาธิปไตยสูงกว่าผู้ที่มีส่วนร่วมทางการเมืองน้อยกว่า และผู้หญิงในกรุงเทพฯ โดยเฉพาะกรุงเทพฯ รอบในมีความพอใจในระบอบประชาธิปไตยที่เป็นอยู่น้อยกว่าผู้หญิงที่อยู่ในต่างจังหวัดทั้งเขตเทศบาลและชนบท

นอกจากนี้ เมื่อมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2544 ซึ่งนับเป็นการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 สถาบันพระปกเกล้าได้ทำการศึกษาวิจัยเรื่อง “การวัดระดับความเป็นประชาธิปไตยและพฤติกรรมการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร” (ถวิลวดี บุรีกุล สติธร ธนานิธิโชติ และประภาพร วัฒนพงศ์ 2546) ซึ่งเป็นการสำรวจเก็บข้อมูลภาคสนามจากกลุ่มตัวอย่างผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั่วประเทศ โดยการสุ่มตัวอย่างตามความน่าจะเป็นทางสถิติ พบว่า ในเรื่องระดับความเป็นประชาธิปไตย ประชาชนชาวไทยมีระดับความพอใจในการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระดับสูง และมีความแตกต่างกันในเรื่องวัฒนธรรมทางการเมืองของคนไทยในแต่ละภาค และประชาชนที่มีสถานะทางเศรษฐกิจ สังคมดี มีความเป็นคนเคร่งศาสนามาก และมีความเชื่อมั่นในระบบการเมืองการปกครองสูงจะทำให้ความรู้สึกว่าตนเองมีประสิทธิภาพทางการเมืองสูงด้วย ซึ่งส่งผลให้ประชาชนมีทัศนคติในเชิงบวกต่อระบอบประชาธิปไตย และสนใจเข้ามีส่วนร่วมทางการเมืองในที่สุด ส่วนในเรื่องของการเลือกตั้งนั้น ประชาชนส่วนใหญ่ให้ความสำคัญในสองเรื่อง ได้แก่ (1) คุณสมบัติหรือความสามารถของผู้สมัคร เช่น ต้องเป็นผู้มีความคิดก้าวหน้า และมีชื่อเสียงด้านความซื่อสัตย์ (2) พื้นฐานครอบครัวของผู้สมัครและความผูกพันกับท้องถิ่น โดยที่ประชาชนส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญเป็นอย่างมากในการพิจารณาว่าผู้สมัครเคยทำประโยชน์ให้แก่ชุมชนหรือไม่ และมีความสามารถในการแก้ไขปัญหาให้กับชุมชนเพียงใด ตลอดจนพื้นฐานดั้งเดิมของครอบครัวหรือชื่อเสียงของวงศ์ตระกูลในการทำประโยชน์ให้กับท้องถิ่นนั้นมานาน

การศึกษาอิทธิพลของการรับรู้ข้อมูลข่าวสารต่อพฤติกรรมเลือกตั้ง นอกจากปัจจัยทางเศรษฐกิจและสังคมดังที่กล่าวมา การศึกษาปัจจัยด้านการรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการเลือกตั้งเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่มีผู้สนใจดำเนินการอย่างกว้างขวาง โดยส่วนใหญ่อาศัยแนวคิดที่ได้รับอิทธิพลนักวิชาการกลุ่มสังคมวิทยาการเมือง ซึ่งมีความเห็นว่ากระบวนการกล่อมเกลาทางสังคม ผ่านสื่อกลางต่างๆ เช่น ผ่านมาทางการพูดคุยกันในครอบครัว/ชุมชน ผ่านระบบการศึกษา ผ่านสื่อมวลชน ผ่านองค์กรของรัฐ รวมทั้งผ่านทางนักการเมืองและพรรคการเมืองต่างๆ เป็นต้น จะส่งผลเป็นการสร้างและพัฒนาค่านิยมและทัศนคติเกี่ยวกับระบบการเมืองการปกครองของบุคคลผู้รับข้อมูลข่าวสาร (Ball and Peters 2000: 68) และจะแสดงออกมาในรูปของพฤติกรรมทางการเมืองในลักษณะต่างๆ รวมถึงพฤติกรรมการเลือกตั้งด้วย

ข้อค้นพบจากการศึกษาวิจัยในต่างประเทศแสดงให้เห็นว่าการรับรู้ข้อมูลข่าวสารมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการเลือกตั้งของประชาชนในหลายลักษณะ เช่น ผลของการให้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการเลือกตั้งที่ถูกต้องและครบถ้วนแก่ประชาชนจะทำให้ประชาชนสามารถออกไปใช้สิทธิลงคะแนนเสียงได้อย่างถูกต้อง และการให้ข้อมูลข่าวสารแก่ประชาชนจะทำให้ประชาชนมีความรู้ทางการเมืองสูงขึ้น ทราบว่าสถานการณ์ทางการเมืองของประเทศเป็นอย่างไร และประชาชนสามารถเข้าไปมีบทบาทได้อย่างไรบ้าง ทำให้ประชาชนเห็นคุณค่าของการเข้าไปมีส่วนร่วมกำหนดนโยบายซึ่งมีผลทำให้สัดส่วนประชาชนที่ออกไปใช้สิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง (vote turnout) เพิ่มสูงขึ้นด้วย (Grönlund 2002) การให้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการเลือกตั้งโดยการนำเสนอผลการสำรวจประชามติ (poll) รวมถึงการคาดการณ์ผลการเลือกตั้งโดยผู้เชี่ยวชาญในอีกแง่หนึ่งอาจส่งผลในทางลบต่อกระบวนการประชาธิปไตยได้เช่นกัน เนื่องจากมีความเป็นไปได้ที่ประชาชนจะเชื่อว่าผลการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นจริงจะเป็นไปตามข้อมูลข่าวสารที่ได้รับ และตัดสินใจไม่ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งในที่สุด (Taylor and Yildirim 2005) เป็นต้น

จากการสำรวจงานวิจัยในประเทศไทย พบว่ามีงานวิจัยหลายชิ้นที่ยืนยันว่าปัจจัยด้านการรับรู้ข้อมูลข่าวสารมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการเลือกตั้งของประชาชน เช่น นฤพนธ์ เศรษฐสุวรรณ (2533) ทำการวิจัยเรื่อง “การรับรู้ข่าวสารและพฤติกรรมการไปใช้สิทธิเลือกตั้ง: ศึกษากรณีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานคร วันที่ 7 มกราคม พ.ศ.2533” พบว่า สื่อมวลชนที่ได้รับความเชื่อถือมากที่สุดในการเผยแพร่ข่าวการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคือโทรทัศน์ และผู้ที่เปิดรับข่าวการเลือกตั้งมากจะตัดสินใจได้เร็วกว่าผู้ที่เปิดรับข่าวสารน้อย สอดคล้องกับการศึกษาเรื่อง “อิทธิพลของการรับรู้เหตุการณ์ทางการเมืองที่มีผลต่อพฤติกรรมการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร” ของจิตติพล ผลพฤกษา (2536) ที่พบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนมากรับรู้ข่าวสารจากสื่อมวลชนโดยให้ความเชื่อถือกับแหล่งข่าวสารคือ “โทรทัศน์” มากที่สุดและติดตามเกือบทุกวัน และการรับรู้เหตุการณ์ข่าวสารทางการเมืองก่อนการเลือกตั้งมีอิทธิพลในระดับปานกลางถึงค่อนข้างมาก ต่อการตัดสินใจลงคะแนน ในแง่การให้ความรู้ทางการเมืองแก่ประชาชนวิทยานิพนธ์ของจริญญา เจริญสุขใส (2538) เรื่อง “การเปิดรับข่าวสารทางการเมือง วัฒนธรรมทางการเมืองกับการไปใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งของเยาวชนในกรุงเทพมหานคร” พบผลการศึกษาที่น่าสนใจว่าการเปิดรับข่าวสารทางการเมืองจากสื่อมวลชนและสื่อบุคคล มีความสัมพันธ์กับความรู้ความเข้าใจทางการเมือง และการใช้สิทธิออกเสียงของเยาวชน เช่นเดียวกับ จิตรา พรหมชุติมา (2541) ที่พบตรงกันในกรณีของกลุ่มตัวอย่างที่เป็นประชาชนในชุมชนแออัดว่า การรับรู้ข้อมูลข่าวสารด้านการเมืองผ่านสื่อโดยเฉพาะโทรทัศน์ มีส่วนช่วยให้ประชาชนในชุมชนแออัดได้รับความรู้ทางด้านการเมืองเป็นอย่างดี นอกจากนี้ จากการศึกษาของนิลุบล ใจอ่อนน้อม (2543) เกี่ยวกับการเปิดรับข่าวสารทางการเมืองและการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนในเขตกรุงเทพมหานครพบเพิ่มเติมว่าการเปิดรับข่าวสารทางการเมืองมีความสัมพันธ์กับการมีส่วนร่วมทางการเมืองและความเข้าใจวิธีการเลือกตั้งแบบใหม่ ถึงแม้ว่าความเข้าใจวิธีการเลือกตั้งแบบใหม่นั้นจะไม่มีความสัมพันธ์กับการมีส่วนร่วมของประชาชนก็ตาม

สำหรับอิทธิพลของการรับรู้ข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อในรูปแบบอื่นๆ อาทิ ผลการสำรวจประชามติ ความคิดเห็นทางการเมืองของผู้เชี่ยวชาญ การโฆษณาหาเสียง และการโน้มน้าวของบุคคลนั้น พบว่ามีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการเลือกตั้งของประชาชนแตกต่างกันไป เช่น จากการศึกษาของ พิธา ถาวรกุล (2536) เรื่อง “อิทธิพลของการรับรู้ผลการสำรวจประชามติที่มีต่อการเปลี่ยนทัศนคติของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ในการใช้สิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร: ศึกษาเฉพาะกรณีผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตกรุงเทพมหานคร” พบว่า การรับรู้ผลการสำรวจประชามติที่มีลักษณะเป็นการพยากรณ์หรือการทำนายผลการเลือกตั้งในประเด็นต่างๆ ไม่ได้มีอิทธิพลทำให้ผู้รับรู้ผลการสำรวจประชามติดังกล่าวเปลี่ยนทัศนคติของตนในการใช้สิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแต่อย่างใด ในขณะที่วิทยานิพนธ์เรื่อง “อิทธิพลของการโฆษณาทางการที่มีต่อทัศนคติและพฤติกรรมของผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง” ของจุฑาทิพย์ ชยางกูร (2541) พบว่า การโฆษณาทางการเมืองมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของผู้ลงคะแนนเสียงในระดับปานกลาง โดยส่วนใหญ่เห็นด้วยว่าจำเป็นต้องพิจารณาการโฆษณาหาเสียงของแต่ละพรรคก่อนการตัดสินใจ และรู้สึกเฉยๆ กับข้อความที่ว่าการโฆษณาหาเสียงของพรรคการเมืองสามารถเปลี่ยนการตัดสินใจได้ ยิ่งกว่านั้น ในการศึกษาเรื่องเดียวกันยังพบด้วยว่า การปราศรัยหาเสียง การให้ความเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิ บทความทางหนังสือพิมพ์ กระแสสังคม และบุคคลใกล้ชิดมีอิทธิพลต่อการลงคะแนนเสียงในระดับปานกลางซึ่งแตกต่างไม่มากนักเมื่อเปรียบเทียบกับผลการศึกษาของเสาวนีย์ ศิริพจนานนท์ (2544) เรื่อง “การตัดสินใจของประชาชนในการเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร: ศึกษาเฉพาะกรณี เขตเลือกตั้งที่ 1 จังหวัดสุโขทัย” ที่พบว่าการตัดสินใจของประชาชนในการเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนั้นได้รับอิทธิพลจากการชักนำของบุคคลอื่นๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเพื่อนและหัวคะแนน และจากสื่อทั้งภาครัฐและภาคเอกชน จะเห็นได้ว่า การรับรู้ข้อมูลข่าวสารผ่านทางสื่อต่างๆ มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจลงคะแนนเสียงเลือกตั้งในระดับหนึ่ง ผู้สมัครและพรรคการเมืองต่างๆ จึงมักใช้สื่อเป็นเครื่องมือในการสร้างภาพลักษณ์เพื่อจูงใจให้ประชาชนเกิดความสนใจและลงคะแนนให้ ดังที่ บรรลือศักดิ์ แสงสว่าง (2543) พบในการศึกษาเรื่อง “กระบวนการสร้างภาพทางการเมืองของผู้สมัครรับเลือกตั้ง: ศึกษาการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร 2543” ว่าในการรณรงค์หาเสียงรับเลือกตั้งของผู้สมัครรับเลือกตั้ง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2543 คนสำคัญๆ นั้น นอกจากมีการนำเสนอเนื้อหาทางด้านนโยบายในการบริหารกรุงเทพมหานครแล้ว ยังนำเอาวิธีการโฆษณา และการประชาสัมพันธ์มาใช้ในการรณรงค์หาเสียงรับเลือกตั้ง เพื่อปรุงแต่งภาพของตนแล้วฉายไปสู่ผู้เลือกตั้งเพื่อให้ผู้เลือกตั้งเกิดความรู้สึกที่ดีต่อผู้สมัคร อันมีลักษณะของการสร้างภาพของสินค้าในเชิงพาณิชย์ด้วย เช่นเดียวกับพรรคการเมืองต่างๆ จากรายงานกรณีศึกษาเรื่อง “พรรคการเมืองกับการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง” ของนักศึกษาหลักสูตรพรรคการเมืองกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยสำหรับผู้บริหารพรรคการเมือง รุ่นที่ 2 (พปป.2) กลุ่มที่ 2 สถาบันพระปกเกล้า (2546) ได้สะท้อนให้เห็นความสำคัญของสื่อรูปแบบต่างๆ ต่อการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งของพรรคการเมืองไว้อย่างชัดเจนว่า ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคการเมืองต่างๆ ได้ใช้กลยุทธ์และวิธีการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งหลายรูปแบบ มีการใช้กลไกทางการตลาดในการโฆษณาประชาสัมพันธ์ ใช้วิธีการทั้งการปราศรัย การเคาะประตู การหาสมาชิกพรรค การสร้างเครือข่าย การฝึกอบรมสัมมนา การใช้ความผูกพันใกล้ชิด ผ่านระบบอุปถัมภ์ และใช้แนวคิดของ “ความเป็นภาคนิยม หรือท้องถิ่นนิยม” โดยการใช้สื่อในการรณรงค์หาเสียงที่หลากหลาย มีการเน้นการนำเสนอนโยบาย และแนวทางปฏิบัติตามนโยบาย

การศึกษาปัจจัยจากการใช้อิทธิพลและการโน้มน้าวชักจูงด้วยวิธีการต่างๆ ที่มีผลต่อพฤติกรรมการเลือกตั้ง

ความมุ่งหวังประการสำคัญของการเลือกตั้งคือต้องการให้การเลือกตั้งเป็นเครื่องสะท้อนความต้องการที่แท้จริงของประชาชน ผ่านการเลือกผู้แทนหรือกลุ่มทางการเมืองหรือพรรคการเมืองที่มีอุดมการณ์หรือมีนโยบายที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน แต่จากประสบการณ์ในหลายประเทศกลับพบว่าประชาชนมิได้ไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้งด้วยเจตจำนงที่แท้จริงของตนเองเนื่องจากถูกชักจูงหรือจูงใจด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การใช้อิทธิพล การซื้อเสียง เป็นต้น ทำให้การพัฒนาประชาธิปไตยของประเทศเหล่านั้นไม่มีความก้าวหน้าและขาดความต่อเนื่อง

ประเทศไทยถือเป็นประเทศหนึ่งที่ต้องเผชิญกับสภาพปัญหาดังกล่าวมาโดยตลอด นับตั้งแต่มีการสถาปนาระบอบประชาธิปไตยโดยการจัดให้มีการเลือกตั้งขึ้น โดยจากการศึกษาเรื่อง “พฤติกรรมการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งของคนไทย” ของ สุจิต บุญบงการ และพรศักดิ์ ผ่องแผ้ว (2527) พบว่าคนไทยไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้งด้วยความสำนึกว่าเป็นหน้าที่มากกว่าเพื่อแสดงออกซึ่งความต้องการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลหรือควบคุมรัฐบาล หรือเพื่อให้คนที่ตนพอใจเข้าไปทำงาน คือ ยังไม่ตระหนักว่าตนมีประสิทธิภาพทางการเมือง ดังนั้น จึงมีโอกาสที่จะถูกชักจูงไปลงคะแนนเสียงได้ง่ายในลักษณะของการมีส่วนร่วมทางการเมืองแบบถูกระดม (mobilized participation) การที่ประชาชนอาจถูกระดมให้ออกไปใช้สิทธิลงคะแนนได้ง่ายทำให้ผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ในลักษณะต่างๆ เป็นผู้มีส่วนสำคัญต่อความสำเร็จในการเลือกตั้งของผู้สมัคร ดังที่ สุจิต บุญบงการ (2528) พบในการศึกษาเกี่ยวกับแบบแผนการหาเสียงและปัจจัยอันเป็นผลให้ได้รับการเลือกตั้งจากการศึกษาวิจัยการเลือกตั้งซ่อมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครปฐม เมื่อปี พ.ศ.2528 ว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งจะประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งได้ ต้องมีองค์กรหาเสียงที่มีประสิทธิภาพ มีข่ายงานครอบคลุมพื้นที่เขตการเลือกตั้งทั้งหมด และมีคณะทำงานซึ่งประกอบด้วยผู้ที่มีความสามารถในการระดมคะแนนเสียงสนับสนุน การสนับสนุนจากผู้มีอิทธิพลจะช่วยให้ได้คะแนนเสียงที่แน่นอนจำนวนหนึ่ง เพราะผู้มีอิทธิพลในพื้นที่มีเสียงสนับสนุนอยู่ในมือสามารถเทคะแนนให้ใครก็ได้ และยังมีสมัครพรรคพวก และข่ายงานของตนเองที่ช่วยในการหาเสียงได้

เหตุผลสำคัญที่ทำให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีความผูกพันกับผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ และเป็นที่มาของการใช้อิทธิพลในการโน้มน้าว ชักจูง บังคับให้ผู้อยู่ภายใต้อิทธิพลกระทำหรือตัดสินใจบางอย่างได้นั้น นักวิชาการไทยส่วนใหญ่ อธิบายไว้ตรงกันว่าเป็นเพราะสังคมไทยมีลักษณะความสัมพันธ์ทางสังคมประเภทหนึ่งซึ่งผู้ที่มีความสัมพันธ์แต่ละฝ่ายมีบทบาท หน้าที่และความคาดหวังต่อกันบางประการ ซึ่งเป็นที่รับรู้และยอมรับร่วมกันตามธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมของสังคม ที่เรียกว่า “ระบบอุปถัมภ์” ฝังรากลึกอยู่ จากการศึกษาของ พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต (2533) สรุปว่าความสัมพันธ์ของระบบอุปถัมภ์ในชนบทไทยมีอยู่ด้วยกัน 3 รูปแบบ คือ ความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำชุมชนในตำแหน่งกับลูกบ้าน ความสัมพันธ์ระหว่างนายทุนเจ้าของที่ดินและชาวบ้านยากจน และความสัมพันธ์ระหว่างข้าราชการ นักการเมือง และนายทุนจากภายนอกกับชนชั้นนำภายในหมู่บ้าน ซึ่งความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ในลักษณะต่างๆ นี้จะส่งผลต่อพฤติกรรมการเลือกตั้งในรูปแบบการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กัน ดังที่ สมชาย ติลังการณ์ (2536) พบในการศึกษา “พฤติกรรมการออกเสียงเลือกตั้งกับจิตสำนึกทางการเมืองของคนเชียงใหม่ในการเลือกตั้งทั่วไป วันที่ 13 กันยายน 2535: กรณีศึกษาเขตอำเภอหางดง” ว่ากลุ่มผู้ได้รับผลประโยชน์จากความสัมพันธ์ในระบบอุปถัมภ์จะเห็นว่าการเลือกตั้งเป็นช่องทางหนึ่งที่ทำให้สามารถต่อรองได้ การไปเลือกตั้งจึงเป็นการไปเพื่อตอบแทนผู้อุปถัมภ์และปฏิบัติตามกฎหมาย ในขณะที่การลงคะแนนเสียงจะพิจารณาจากความสามารถที่ผู้สมัครจะให้ความช่วยเหลือสนับสนุนในด้านต่างๆ ได้ เป็นลำดับแรก มีตัวอย่างการศึกษาวิจัยจำนวนไม่น้อยที่ยืนยันได้เป็นอย่างดีถึงอิทธิพลของบุคคลต่างๆ ที่มีต่อประชาชนในระดับพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นอิทธิพลของผู้นำชุมชน ซึ่ง เกรียงไกร จงเจริญ (2535) พบในการศึกษาเรื่อง “ผู้นำกับการมีส่วนร่วมทางการเมืองของชุมชน” ว่าผู้นำชุมชนเป็นผู้ที่ได้รับการยอมรับจากประชาชนในชุมชน และมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจในการเข้ามีส่วนร่วมทางการเมือง เช่น การออกไปใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งของคนในชุมชนด้วย ดังนั้น ยุทธศาสตร์การรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งที่สำคัญประการหนึ่งจึงเป็นดังที่ นพรัตน์ ทวี (2536) พบจากการศึกษาเรื่อง “ยุทธศาสตร์การรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง: ศึกษาเฉพาะกรณีการใช้ทรัพยากรที่สำคัญ ในการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัด อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร” ว่าผู้สมัครที่ได้รับคะแนนนิยมหรือได้รับเลือกตั้ง มักเป็นผู้สมัครที่มีทรัพยากรที่สำคัญในการรณรงค์หาเสียงได้แก่ เงิน ผู้ช่วยเหลือในการรณรงค์หาเสียง องค์กรในการณรงค์หาเสียง โดยสามารถนำทรัพยากรเหล่านี้ไปใช้ผ่านผู้นำชุมชนภายใต้ระบบอุปถัมภ์

ผู้นำชุมชนโดยเฉพาะในชนบทของไทยจึงอยู่ในฐานะผู้มีอำนาจซึ่งได้อาศัยความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์เป็นเครื่องมือในการสร้างบารมีและบริวาร ตลอดจนการหาผลประโยชน์ให้กับกลุ่มของตน โดยความสัมพันธ์ดังกล่าวมีส่วนสัมพันธ์กับความสัมพันธ์ในเครือข่ายกับผู้นำทางการและเครือข่ายภายนอกชุมชน และกลุ่มอุปถัมภ์ใช้อำนาจทางการเป็นฐานของการรักษาความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเพื่อเข้าสู่อำนาจทางการเมือง (ณัฐวุฒิ จินากูล 2538) นอกจากนี้ ในบางกรณีอิทธิพลของผู้นำชุมชนยังอาจมีอยู่ได้ทั้งในชุมชนที่มีลักษณะความเป็นเมืองชุมชนที่มีลักษณะความเป็นเมืองก็ได้โดย สุวัฒน์ ศิริโภคาภิรมย์ (2540) พบในการศึกษา “อิทธิพลของผู้นำชุมชนที่มีต่อการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน: ศึกษากรณีผู้นำชุมชนในเขตเทศบาลตำบลหัวหิน” ว่าการยอมรับในตัวผู้นำชุมชนและการเข้าไปมีส่วนร่วมของสมาชิกในชุมชนที่มีลักษณะความเป็นเมือง คือ ชุมชนพูลสุข และชุมชนที่มีลักษณะความเป็นชนบท คือ ชุมชนบ้านใหม่-หัวนา ไม่มีความแตกต่างกัน โดยสมาชิกของทั้งสองชุมชนมีความยอมรับในตัวผู้นำชุมชน และผู้นำชุมชนมีอิทธิพลต่อการชักจูง โน้มน้าวให้สมาชิกในชุมชนเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองด้วย

สำหรับอิทธิพลของนายทุนท้องถิ่น วิทยานิพนธ์ เรื่อง “นักธุรกิจภูมิภาคกับการมีส่วนร่วมทางการเมือง: ศึกษากรณีจังหวัดขอนแก่น”ของ อัครวิทย์ ขันธ์แก้ว (2539) ได้อธิบายความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ระหว่างนายทุนท้องถิ่นกับประชาชนในพื้นที่ไว้อย่างน่าสนใจ โดยพบว่าสาเหตุสำคัญที่นักธุรกิจภูมิภาคเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมือง เป็นเพราะเขาเหล่านั้นเป็นผู้ถือครองปัจจัยความมั่งคั่งซึ่งสามารถเปลี่ยนเป็นอำนาจทางการเมืองได้โดยง่าย โดยมีรูปแบบการเข้ามีส่วนร่วมทางการเมืองทั้งที่เป็นการเข้าร่วมโดยตรง และการเข้ามีส่วนร่วมโดยอ้อม นอกจากนี้ นักธุรกิจภูมิภาคยังเป็นผู้ถือครองและควบคุมเครือข่ายระบบอุปถัมภ์ในท้องถิ่น อันประกอบไปด้วย ระบบการซื้อขายพืชไร่ ระบบหวยใต้ดิน ระบบการซื้อของเงินผ่อน และระบบสมาชิกห้างสรรพสินค้า ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นผลมาจากจากการประกอบธุรกิจและการใช้ชีวิตคลุกคลีอยู่กับประชาชนในพื้นที่ ทำให้เครือข่ายระบบอุปถัมภ์นี้สามารถใช้ในการระดมประชาชนให้ไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้งผู้ที่นักธุรกิจภูมิภาคสนับสนุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ นำไปสู่การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างนักธุรกิจภูมิภาคกับนักการเมืองที่ดำเนินไปในลักษณะพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน โดยที่นักธุรกิจเองก็จะได้รับประโยชน์บางประการจากการเข้ามีส่วนร่วมทางการเมืองในลักษณะนี้ ส่วนอิทธิพลของข้าราชการ นักการเมือง และนายทุนจากภายนอกที่มีต่อประชาชนและชนชั้นนำในพื้นที่นั้น กล่าวได้ว่ามีการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ในเชิงอุปถัมภ์กันในหลายลักษณะ โดยในส่วนของการระดมให้ประชาชนออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งนั้น เดชา ใจยะ (2532: 123-125) พบในการศึกษาวิจัยพฤติกรรมการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งของประชาชนในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแทนตำแหน่งที่ว่าง เขตเลือกตั้งที่ 1 อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2529 ว่าการไปใช้สิทธิเลือกตั้งมีความสัมพันธ์กับอิทธิพลของผู้มีบทบาทให้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง โดยที่มีแนวโน้มว่าผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งจะได้รับอิทธิพลจากผู้เป็นกลไกของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งทั้งทางตรงและทางอ้อม เป็นแรงขับหรือตัวกระตุ้นให้บุคคลไปเลือกตั้งสูง สอดคล้องกับกับการศึกษา “พฤติกรรมการเลือกตั้งของประชาชนในพื้นที่เขตบางรักและเขตมีนบุรี” ของอภิชาติ นาคสุข (2536) ที่พบว่าการชักชวนให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปลงคะแนนเสียงมีแนวโน้มว่าจะได้รับอิทธิพลจากผู้เป็นกลไกของรัฐเป็นส่วนใหญ่ จะเห็นได้ว่า การแลกเปลี่ยนผลประโยชน์โดยการสร้างความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ของคนในสังคมส่งผลโดยตรงต่อผลทางการเมืองและพฤติกรรมการเลือกตั้ง จนเกิดเป็นระบบที่ในกระบวนการเลือกตั้งเรียกกันว่า “ระบบหัวคะแนน” ที่มีการการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กัน ทั้งในรูปการให้ความช่วยเหลือในเรื่องส่วนตัว การดึงโครงการพัฒนาเข้ามาสู่พื้นที่ และการตอบแทนกันด้วยข้าวของเงินทอง การแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ในเชิงอุปถัมภ์จึงมีความเชื่อมโยงกับการจูงใจโดยผู้สมัคร/ตัวแทนที่เรียกว่า “หัวคะแนน” ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งออกไปลงคะแนนเสียงให้โดยการจ่ายค่าตอบแทนที่เรียกว่า “การซื้อเสียง” อย่างใกล้ชิด

จากการศึกษาของรังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ (2536: 75) อิทธิพลของระบบเศรษฐกิจทุนนิยมได้ทำให้การซื้อเสียงในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเริ่มปรากฏชัดเจนขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2512 และหลังจากนั้นเป็นต้นมารายจ่ายในการเลือกตั้งก็มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ยิ่งกว่านั้น ในเขตการเลือกตั้งที่ถูกครอบงำโดยผู้มีอิทธิพลหรือเจ้าพ่อ การลงสมัครรับเลือกตั้งกลายเป็นเรื่องที่ยากลำบากมากถ้าไม่เข้าไปสวามิภักดิ์หรือรับการอุปถัมภ์จากผู้มีอิทธิพลหรือเจ้าพ่อในท้องถิ่นนั้น ส่วนเขตที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนเดิมมีความสัมพันธ์เชิงอุถัมภ์กับราษฎรอย่างแน่นแฟ้นอยู่แล้ว โอกาสที่ผู้สมัครหน้าใหม่จะไปลงแข่งก็แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย นอกจากนี้ สารนิพนธ์ของชาญศักดิ์ ถวิล (2534) เรื่อง “การซื้อขายคะแนนเสียงเลือกตั้ง โดยศึกษากรณีการเลือกตั้งทั่วไปวันที่ 27 กรกฎาคม 2529 ในเขตตำบลแซงบาดาล อำเภอสมเด็จ จังหวัดกาฬสินธุ์” ยังพบเพิ่มเติมอีกว่า การซื้อเสียงกระทำได้ง่ายในชนบทยากจน กลุ่มผู้ด้อยโอกาส กลุ่มผู้ที่มีรายได้ต่ำ ฯลฯ ทั้งนี้เพราะกลุ่มประชากรเหล่านี้มักจะมีการศึกษาน้อยและมักจะขาดความรู้ความสามารถและทรัพย์สินเงินทุนที่จะนำไปใช้ในการประกอบอาชีพให้มีรายได้อย่างเพียงพอกับการเลี้ยงดูครอบครัวและดำเนินชีวิตอย่างมีคุณภาพได้ จึงเป็นช่องทางที่จะทำให้มีการซื้อเสียงทั้งโดยตรงและโดยวิธีแอบแฝงต่างๆ ได้ง่าย เช่น การจัดหาหรือสัญญาว่าจะจัดหาสาธารณูปโภคและสาธารณูปการให้กับชุมชน ช่วยหรือสัญญาว่าจะช่วยชุมชน ช่วยเหลือเป็นตัวกลางติดต่อกับหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องกับปัญหาของประชาชน ช่วยเหลือแก้ปัญหาความเดือดร้อนส่วนตัวของผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ตลอดจนการใช้เงินเพื่อซื้อเสียงในรูปแบบต่างๆ

การซื้อเสียงนั้นอาจกระทำได้โดยตรงในหลายรูปแบบ เช่น ซื้อแบบปูพรมล่วงหน้า คือการให้เงินหัวคะแนนไปจ่ายให้กับชาวบ้าน ซื้อเสียงมัดจำไว้ก่อน เช่น การจ่ายเงินเพื่อแลกกับการสมัครเป็นสมาชิกพรรค หวังทั้งฐานเสียงโดยตรง แบบแบ่งเขต และฐานเสียงแบบบัญชีรายชื่อ การปูพรมก่อนการเลือกตั้งถือเป็นกลยุทธศาสตร์ที่ปฎิบัติกันมานาน ซึ่งพบเห็นได้ไม่ยาก แต่หลายคนอาจไม่ทันคิดว่านี้เป็นวิธีหนึ่งในการหาผู้สนับสนุน หรืออาจเป็นการ ซื้อยกหมู่บ้าน คือการทุ่มเงินเป็นก้อนให้กับ อบต. เพื่อแจกแกนนำชาวบ้าน กำนัน– ผู้ใหญ่บ้าน เพื่ออาศัยบุคคลเหล่านี้จูงใจลูกบ้านให้ลงคะแนนให้ หรือการให้เงินสนับสนุนจัดตั้งกลุ่มองค์กรต่างๆ ขึ้นในหมู่บ้าน เช่น กลุ่มสหกรณ์ กลุ่มอาชีพสตรี หัวคะแนนที่ดำเนินการในเรื่องนี้จะมีการซักซ้อมกันก่อนมีการศึกษาปัญหาในชุมชนจากนั้นเมื่อมีการประชุมหมู่บ้าน มีการซักถามเรื่องสร้างรายได้ หัวคะแนนเหล่านี้ จะเป็นผู้ยกมือเสนอที่ประชุมว่าตนมีโครงการนี้โครงการนั้นเป็นเงินของผู้สมัคร วิธีนี้ชาวบ้านจะให้ความเชื่อถือผู้นำชุมชนและสามารถชี้นำได้ในที่สุด ส่วนการซื้อเสียงทางอ้อมอาจแอบแฝงมาในรูป การทำสัญญาเงินกู้ ซึ่งวิธีที่นิยมได้แก่ การจัดตั้งกลุ่มหรือองค์กรทางสังคม โดยสร้างเงื่อนไขให้สามารถกู้เงินได้เป็นกรณีพิเศษ ซึ่งหากผู้สมัครได้รับเลือกตั้งก็จะฉีกสัญญาทิ้งแต่หากไม่ได้รับเลือกตั้งก็จะถือเป็นหนี้สินกันต่อไป นอกจากนี้ การใช้เครือข่ายซึ่งมีการจัดความสัมพันธ์ในลักษณะอุปถัมภ์เป็นปกติอยู่แล้ว เมื่อถึงช่วงเวลาที่มีการเลือกตั้ง เครือข่ายเหล่านี้จะถูกใช้ในรูปแบบที่เฉพาะเจาะจงมากยิ่งขึ้น เช่น แชร์ลูกโซ่ คือการที่ผู้สมัครจะจ่ายเงินให้กับหัวคะแนน คนละ 100 บาท แล้วให้ไปหาสมาชิกอีก 5 คน โดยจะมีค่าตอบแทนให้หัวละ 100 บาท รวมเป็นเงิน 600 บาท จากนั้นให้สมาชิกทั้ง 5 คน หาสมาชิกต่อๆ กันไป นอกจากนี้ยังมีการทำประกันชีวิต แจกสิ่งของเพื่อเป็นโบนัส สำหรับผู้ที่ทำยอดถึงตามที่ตั้งไว้ การเล่นพนัน โดยผู้สมัครหรือหัวคะแนนจะเป็นเจ้ามือ โดยแจกเงินให้กับลูกน้องเพื่อเที่ยวไปท้าพนันกับชาวบ้าน วิธีการคือจะพูดว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ฝ่ายตนจะไม่ได้รับเลือกตั้ง หากใครไม่เชื่อก็จะท้าพนัน 5 ต่อ 1 หรือ 10 ต่อ 1 และเมื่อเกิดการพนันขึ้น ผู้เอาพนันก็จะหาสมัครพรรคพวกเพื่อให้ไปช่วยลงคะแนนตามเบอร์ที่พนันไว้ เพื่อหวังเงินพนัน เป็นต้น ซึ่งวิธีการซื้อเสียงทางอ้อมเหล่านี้เป็นวิธีการซื้อเสียงที่แยบยลยากต่อการตรวจสอบ (ฐานเศรษฐกิจ: 31 ธันวาคม 2543)

นอกจากนี้ ถึงแม้ว่าบทบัญญัติจำนวนมากในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มุ่งปฏิรูประบบการเลือกตั้งให้เป็นกระบวนการที่บริสุทธิ์เที่ยงธรรม และเป็นไปตามเจตจำนงอิสระที่แท้จริงของประชาชนในการเลือกตัวแทน ปราศจากการครอบงำหรือชักจูงใดๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาระบบการเมือง แต่การศึกษาวิจัยที่ทำขึ้นในช่วงหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญต่างๆ ที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งจำนวนไม่น้อย กลับพบว่าการทุจริตเลือกตั้งโดยการซื้อเสียงไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อมยังปรากฏอยู่ในหลายพื้นที่ดังตัวอย่างที่ บูฆอรี ยีหมะ และนรินทร์ สมพงศ์ (2545) ได้ค้นพบจากการศึกษาเกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดปัตตานีว่า มีรูปแบบการซื้อเสียงทางอ้อมในหลายรูปแบบ เช่น การจัดทัวร์นำแม่บ้านไปท่องเที่ยวยังจังหวัดต่างๆ โดยให้การอุปถัมภ์ตลอดรายการ ซึ่งการจัดทัวร์แบบนี้จะกระทำผ่านกลุ่มแม่บ้าน หรือองค์กรสตรี ทำให้กลุ่มแม่บ้านที่นอกจากจะมีกิจกรรมด้านอาชีพเพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิตแล้ว ในปัจจุบันยังใช้กลุ่มเป็นอำนาจต่อรองเพื่อให้ได้ผลประโยชน์ในรูปต่างๆ จากนักการเมืองทุกระดับ และพรรคการเมืองหลายพรรคก็พยายามเข้าไปกุมอำนาจในกลุ่มแม่บ้านเพื่อหวังผลทางการเมืองด้วย

ในกรณีของกรุงเทพมหานคร ที่เป็นพื้นที่ซึ่งได้ชื่อว่าการซื้อเสียงกระทำได้ยาก แต่จากการศึกษาของ สุนีย์ ตรีธนากร (2545) พบว่ามีการกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งของผู้สมัครสมาชิกวุฒิสภาหลายประการ ได้แก่ การหาเสียงหรือแนะนำตัวผ่านเครือญาติหรือผู้ใกล้ชิดซึ่งมีตำแหน่งหรือบทบาทสำคัญในชุมชน เช่น ผู้สมัครคนหนึ่งได้ใช้ให้โรงเรียนที่อยู่ภายใต้การสนับสนุนของมูลนิธิ องค์กรศาสนาองค์กรหนึ่งที่ตนเป็นแกนนำอยู่เป็นผู้กล่าวเชิญชวน หรือจูงใจให้ผู้ปกครองของเด็กนักเรียนไปใช้สิทธิเลือกผู้สมัครคนดังกล่าว นอกจากนี้ ในเรื่องการสร้างความสัมพันธ์แบบพึ่งพากันระหว่างนักการเมืองระดับชาติกับนักการเมืองท้องถิ่นและผู้นำชุมชนในระดับตำบล หมู่บ้านที่พบในแทบทุกพื้นที่ และเท่าที่ผ่านมาการก้าวเข้าสู่เวทีการเมืองของนักการเมืองระดับชาติจำนวนมากก็เกิดจากการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์และการผูกสัมพันธ์อย่างแนบแน่นกับนักการเมืองท้องถิ่น ในขณะเดียวกัน นักการเมืองระดับท้องถิ่นจำนวนมากก็อาศัยอิทธิพลหรือบารมีของนักการเมืองระดับชาติในการก้าวเข้าสู่ตำแหน่งด้วยเช่นกัน ดังที่ ฐปนรรต พรหมอินทร์ (2545) พบในกรณีของจังหวัดสุพรรณบุรีว่าความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของจังหวัดสุพรรณบุรีที่มีนายบรรหาร ศิลปอาชาเป็นแกนนำ ทำให้พรรคชาติไทยเป็นพรรคที่มีความมั่นคงมากในจังหวัดนี้ นักการเมืองท้องถิ่นส่วนใหญ่ทั้งในเทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล กำนัน ผู้ใหญ่บ้านจะให้การสนับสนุนพรรคชาติไทยและนายบรรหาร ศิลปอาชาอย่างเหนียวแน่น

ในขณะเดียวกัน การซื้อเสียงหรือใช้อิทธิพลผ่านระบบหัวคะแนนก็ยังมีปรากฏให้เห็นอยู่ในหลายพื้นที่ โดยจากการศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาของ ทศพล สมพงษ์ (2544) พบในกรณีของจังหวัดสกลนครว่ามีการจูงใจให้ประชาชนไปลงคะแนนโดยใช้ทั้งสิ่งของ บริจาคเงิน แจกเงินและสนับสนุนกิจกรรมสาธารณะประโยชน์แก่ชุมชน โดยเฉพาะในเรื่องการแจกเงินนั้นในหมู่บ้านหนึ่งๆ จะมีหัวคะแนนประจำกลุ่มครัวเรือนควบคุมครัวเรือนเป้าหมายเพื่อทำการแจกเงินให้ประชาชนประมาณ 20-30 คน ยิ่งกว่านั้น ในปีต่อมาเมื่อมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ทศพล สมพงษ์ (2545) ได้เน้นย้ำว่าปัญหาการซื้อเสียงในจังหวัดสกลนครยังมีอยู่โดยทั่วไป โดยรูปแบบการหาเสียงเลือกตั้งของผู้สมัครมีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพผ่านการควบคุมระบบหัวคะแนน ซึ่งหัวคะแนนถือว่ามีอิทธิพลอย่างมากในการโน้มน้าวให้ประชาชนไปลงคะแนนให้ผู้สมัครที่หัวคะแนนให้การสนับสนุน

อย่างไรก็ดี ผลของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองผ่านการปฏิรูปกฎหมายและปฏิรูปการเมืองได้มีส่วนทำให้ระบบหัวคะแนนมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบไปด้วยเช่นกัน ดังที่ ทศพล สังขทรัพย์ (2545) พบจากการศึกษาเรื่อง “ขบวนการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของนายทศพล สังขทรัพย์ จังหวัดเลย ตั้งแต่ปี พ.ศ.2524-2544” ว่าการจัดตั้งหัวคะแนนในรูปแบบเดิม (ก่อนปี 2536) ประสบความล้มเหลว เนื่องจากผู้สมัครรับเลือกตั้งและหัวคะแนนไม่สามารถบริหารจัดการกับการเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลจากการกระจายอำนาจ โดยเฉพาะการจัดตั้งองค์การบริหารส่วนตำบล ซึ่งทำให้มีการแตกขั้วความนิยมกระจายย่อยไปในระดับท้องถิ่น ในขณะเดียวกัน ทัศนคติของประชาชนได้เปลี่ยนจากความจงรักภักดีต่อหัวคะแนนไปสู่ความต้องการที่จะมีความสัมพันธ์โดยตรงกับผู้สมัครมากขึ้น และผลจากการปฏิรูปการเมืองทำให้ประชาชนคาดหวังทางเลือกเชิงนโยบายจากผู้สมัครด้วย ดังนั้น ระบบหัวคะแนนหลังการปฏิรูปทางการเมืองตามแนวทางของรัฐธรรมนูญปัจจุบันจึงมีการพัฒนาเปลี่ยนรูปไปจากเดิม โดยพรรคการเมืองได้เข้ามีส่วนในการจัดตั้งระบบหัวคะแนนในฐานะผู้กำหนดทิศทาง นโยบายและให้การสนับสนุนผู้สมัครโดยตรง

การศึกษาปัจจัยในแง่กฎหมายและกรอบกติกาสถาบันที่มีผลต่อพฤติกรรมการเลือกตั้ง

การเลือกตั้งนอกจากจะมีองค์ประกอบที่สำคัญในแง่อุดมการณ์ และกระบวนการตามระบอบประชาธิปไตยแล้ว ความเป็นสถาบันหรือกฎหมายซึ่งเป็นตัวกำหนดกรอบกติกาก็ถือว่ามีความสำคัญต่อการเลือกตั้งด้วยเช่นกัน การศึกษาวิจัยอีกกลุ่มหนึ่งจึงให้ความสำคัญกับการศึกษาปัจจัยในแง่กฎหมายและกรอบกติกาสถาบันของการเลือกตั้ง ภายใต้แนวคิดพื้นฐานที่ว่ากฎหมายและกรอบกติกาของสถาบันที่เราสังกัดอยู่ (และมีประสิทธิผลในการบังคับใช้) น่าจะมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจเลือกและพฤติกรรมของเราด้วย (ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรีและคณะ 2545) ซึ่งจากการสำรวจงานวิจัยในประเทศไทยพบว่าการศึกษาในแนวนี้ส่วนใหญ่เน้นที่การติดตามประเมินผลการเลือกตั้ง โดยมุ่งทบทวนสภาพปัญหาจากการบังคับใช้กฎหมายและกรอบกติกาต่างๆ เพื่อแสวงหาแนวทางที่เอื้อให้เกิดพฤติกรรมการเลือกตั้งที่เหมาะสมต่อการพัฒนาประชาธิปไตยของประเทศ งานวิจัยเกี่ยวกับการเลือกตั้งที่เก่าแก่และถือเป็นยุคแรกๆ ที่มีการศึกษาเพื่อประเมินผลการเลือกตั้งบนหลักวิชาการอาจพิจารณาได้จากงานของ กลุ่มนิสิตนักศึกษาอาสาสมัครสังเกตการณ์การเลือกตั้ง (2512) เรื่อง “ประเมินผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทน 10 กุมภาพันธ์ 2512” ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของแนวความคิดที่ต้องการให้มีการสังเกตและติดตามการเลือกตั้งโดยองค์กรที่มีความเป็นกลางเพื่อให้เกิดความบริสุทธิ์ยุติธรรม อย่างไรก็ตาม ในระยะต่อมาการวิจัยที่มุ่งติดตามประเมินผลการเลือกตั้งที่ดำเนินการโดยกลุ่มอิสระเช่นกลุ่มนิสิตนักศึกษานับว่ามีจำนวนน้อยมาก การศึกษาวิจัยส่วนใหญ่มักกระทำโดยกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยในฐานะผู้มีหน้าที่รับผิดชอบจัดการเลือกตั้งเป็นหลัก เช่น รายงานการวิเคราะห์ผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (กระทรวงมหาดไทย 2513) รายงานการวิจัยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 22 มีนาคม 2535 (กระทรวงมหาดไทย 2535) รายงานการวิจัยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 2 กรกฎาคม 2538 (กระทรวงมหาดไทย 2538) รายงานการวิจัยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 17 พฤศจิกายน 2539 (กระทรวงมหาดไทย 2540) เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรายงานเกี่ยวกับการไปใช้สิทธิเลือกตั้งของประชาชน การทุจริตผิดปกติระหว่างช่วงเลือกตั้งที่ตรวจพบ และการบริหารจัดการเกี่ยวกับการเลือกตั้งในจังหวัดต่างๆ และโดยมากจะได้ข้อสรุปตรงกันว่าการจัดการเลือกตั้งโดยกระทรวงมหาดไทยโดยภาพรวมเรียบร้อยดี แม้ว่าจะมีปัญหาการไปใช้สิทธิเลือกตั้งของประชาชนน้อยในบางพื้นที่ มีปัญหาเรื่องบัตรเสีย รวมทั้งการซื้อสิทธิขายเสียง เนื่องจากประชาชนยังขาดความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับการเลือกตั้ง

อย่างไรก็ดี ข้อมูลจากการทำการศึกษาของกระทรวงมหาดไทยนับเป็นแหล่งอ้างอิงที่สำคัญสำหรับการทำการศึกษาวิจัยทบทวนปัญหาและแสวงหารูปแบบที่เหมาะสมของนักวิชาการในช่วงก่อนประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 โดยเฉพาะการหามาตรการทางกฎหมายเพื่อต่อสู้กับระบบการเมืองซึ่งถูกอธิบายในทางวิชาการว่าเป็น “ธุรกิจการเมือง” ที่เงินกลายเป็นปัจจัยสำคัญในการเข้าสู่อำนาจ เนื่องจากประชาชนที่ไปเลือกตั้งเป็นผู้ขาดความรู้ความเข้าใจ ในขณะที่ประชาชนที่มีความรู้ความเข้าใจไม่ใส่ใจไปเลือกตั้ง

นักวิชาการจำนวนหนึ่งถึงกับเสนอให้มีการออกกฎหมายเพื่อบังคับให้ประชาชนออกไปใช้สิทธิโดยหวังว่าจะสามารถขจัดนักการเมืองที่ใช้วิธีการไม่ถูกต้องออกจากระบบไปได้ ซึ่งจากการศึกษาเรื่อง “การบังคับให้ออกไปเลือกตั้ง: แนวคิดและผล” ของ วรสิทธิ์ อภิชาติโชติ (2533) พบว่าในปัจจุบันประเทศต่างๆ ได้ยึดถือทฤษฎีเกี่ยวกับการออกเสียงเลือกตั้งใหญ่ๆ อยู่สองทฤษฎี คือทฤษฎีที่ว่าการออกเสียงเลือกตั้งเป็นสิทธิ และทฤษฎีที่ว่าการออกเสียงเลือกตั้งเป็นหน้าที่ โดยทฤษฎีที่ว่าการออกเสียงเลือกตั้งเป็นหน้าที่ กำหนดให้มีการบังคับให้ไปเลือกตั้งนั้น อยู่บนหลักการที่ว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของชาติ มิใช่ของประชาชนหรือราษฎร แต่อย่างไรก็ตาม ประเทศที่ถือว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของชาติก็ไม่ได้มีการบังคับให้ไปออกเสียงเลือกตั้งเสมอไป เพราะในปัจจุบันหลักที่ว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของชาติหรือของประชาชนเป็นเรื่องในทฤษฎีเท่านั้น สาเหตุที่แท้จริงของการบังคับให้ไปออกเสียงเลือกตั้ง จึงอยู่ที่ภาคปฏิบัติมากกว่าภาคทฤษฎี นั่นคือ ความไม่สนใจในการเลือกตั้งของประชาชนซึ่งมีจำนวนมากและเพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเลือกตั้งให้มากที่สุด รวมทั้งเหตุผลที่ว่าการบังคับให้ไปออกเสียงเลือกตั้งจะเป็นการช่วยเพิ่มการศึกษาทางการเมืองแก่ประชาชน ตลอดจนความรู้สึกที่ว่าสิ่งใดที่เป็นเรื่องของส่วนรวมหรือของประเทศชาติ ประชาชนต้องถือเป็นภาระหน้าที่เช่นเดียวกับหน้าที่อื่นๆ

นอกจากนี้ จากการวิจัยดังกล่าวยังพบข้อสังเกตที่น่าสนใจในบางประเทศ เช่น ออสเตรเลีย ว่าเมื่อมีการบังคับให้ไปออกเสียงเลือกตั้งแล้ว ทำให้จำนวนผู้ไปออกเสียงมากขึ้น แต่จำนวนบัตรเสียก็มีมากขึ้น และการลงคะแนนแสดงถึงการขาดจิตสำนึกหรือความระมัดระวังในการกาบัตร จึงอาจเป็นไปได้ว่าการบังคับให้ไปออกเสียงเลือกตั้ง บังคับได้แต่เพียงให้ประชาชนไปยังสถานที่เลือกตั้งเท่านั้น แต่การกาบัตรอย่างเต็มใจให้ถูกต้องและมีจิตสำนึกไม่อาจบังคับกันได้

เมื่อการบังคับมิใช่ทางออกเดียวสำหรับการแก้ไขปัญหา จึงมีงานวิจัยอีกมากมายที่พยายามประมวลสาเหตุของปัญหาและเสนอแนวทางแก้ไข เช่น ฝ่ายสังเกตการณ์ คณะกรรมการติดตามและสอดส่องดูแลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (2535) จัดทำ “รายงานการสังเกตการณ์ การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร” ขึ้นโดยมีข้อเสนอให้มีการขยายขอบเขตภารกิจขององค์กรกลางออกไปให้มากกว่าการสังเกตการณ์เลือกตั้ง โดยให้รวมบทบาทในการรณรงค์ให้ประชาชนมีความตื่นตัวทางการเมือง มีการตรวจสอบติดตามพฤติกรรมนักการเมือง ร่วมสังเกตการณ์การเลือกตั้งในทุกระดับ (ทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่น) และมีการตีแผ่ความไม่ชอบมาพากลให้ประชาชนทราบโดยทั่วถึง ในขณะที่ การศึกษาเรื่อง “การรณรงค์ต่อต้านการซื้อสิทธิขายเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร วันที่ 2 กรกฎาคม 2538” ของคณะกรรมการการรณรงค์ต่อต้านการซื้อสิทธิ-ขายเสียง (2538) ในเวลาต่อมาเสนอให้ควรเร่งจัดตั้งคณะกรรมการเลือกตั้งแห่งชาติ เพื่อให้เกิดการรณรงค์ต่อต้านการซื้อสิทธิขายเสียงที่ต่อเนื่อง เป็นไปโดยมีการจัดทำแผนที่ชัดและเป็นการร่วมมือกันของทุกฝ่าย รวมไปถึงการแก้ไขกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง เพื่ออำนวยต่อการตรวจสอบ ติดตา และปราบปรามการทุจริตในการเลือกตั้ง ซึ่งนับวันการทุจริตต่างๆ จะมีการพัฒนาเป็นระบบ ก่อปัญหาสำคัญและส่งผลกระทบร้ายแรงด้วยวิธีการอันแยบยล อันจะก่อผลเสียต่อการพัฒนาประเทศในทุก ๆ ด้าน จึงเป็นหน้าที่ที่ทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือกันอย่างจริงจัง และจริงใจในการแก้ไขปัญหาเพื่อมิให้เกิดขึ้นกับระบบการเลือกตั้งอีกต่อไปในอนาคต สอดคล้องกับข้อเสนอของไพฑูรย์ บุญวัฒน์ (2538) จากการศึกษา “ระบบการเลือกตั้งที่ลดการซื้อเสียงและให้โอกาสคนดีสมัครรับเลือกเพื่อทดแทนระบบการเลือกตั้งที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน” ที่ต้องการให้มีการจัดตั้งองค์กรขึ้นมารับผิดชอบการเลือกตั้งเพื่อลดการซื้อขายเสียง แต่อาจแบ่งออกเป็น 3 องค์กร คือ (1) องค์กรบริหารการเลือกตั้ง (2) องค์กรสอดส่องกำกับดูแล และ (3) องค์กรให้ความรู้ ควบคู่กับการพัฒนาระบบพรรคการเมือง นอกจากนี้ ยังจะต้องมีมาตรการทางกฎหมายเพื่อช่วยลดการซื้อขายเสียงเลือกตั้งด้วยในลักษณะ (1) เพิ่มโทษ (2) จำกัดสิทธิเลือกตั้งตลอดชีพ (3) ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเป็นผู้เสียหาย (4) ให้มีสินบนนำจับ (5) ให้การซื้อเสียงเป็นความผิด ส่วนการขายเสียงไม่เป็นความผิด และ (6) ให้ผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้รับการลดหย่อนภาษี เป็นต้น

จะเห็นได้ว่า ผลจากการศึกษาวิจัยที่มุ่งทบทวนปัญหาและแสวงหารูปแบบที่เหมาะสมสำหรับการเลือกตั้งดังตัวอย่างงานวิจัยที่ยกมาข้างต้น ข้อเสนอบางส่วนได้มีการนำไปบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 และกฎหมายลำดับรองอื่นๆ ในขณะที่อีกหลายส่วนเป็นประเด็นที่จะต้องนำไปศึกษาต่อเพื่อแก้ปัญหาในทางปฏิบัติต่อไป ยิ่งกว่านั้น แม้ระบบการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 จะเป็นรูปแบบที่เกิดขึ้นจากรวบรวมประมวลบทเรียนจากทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งนำผลการศึกษาและผลงานวิจัยเกี่ยวข้องดังเช่นที่ได้กล่าวไว้ในหัวข้อที่กล่าวมาเปรียบเทียบข้อดี-ข้อเสียโดยคณะผู้ทรงคุณวุฒิระดับประเทศ พร้อมทั้งผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน แต่เมื่อมีการจัดการเลือกตั้งขึ้นจริงกลับพบว่าระบบการเลือกตั้งใหม่ยังคงมีปัญหาที่สมควรมีการปรับปรุงแก้ไขหลายประการ ดังที่มีผู้ทำการศึกษาไว้ เช่น จากการศึกษาเกี่ยวกับกระบวนการคัดค้านการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาของ พัชโรดม ลิมปิษเฐียร (2543) พบว่า กระบวนการคัดค้านการเลือกตั้งของคณะกรรมการการเลือกตั้งยังมีข้อบกพร่องและ มีความไม่เหมาะสมหลายประการ กล่าวคือ ระยะเวลาในการดำเนินการเรื่องคัดค้านการเลือกตั้งเรื่องหนึ่งๆ เป็นไปด้วยความล่าช้า เนื่องจากการสืบสวนสอบสวนพยานหลักฐานใช้เวลานาน อีกทั้งกฎหมายไม่มีการกำหนดระยะเวลาเป็นบทบังคับ ในการดำเนินการเรื่องคัดค้านการเลือกตั้งไว้ส่วนการลงมติในการที่จะมีคำสั่งให้มีการนับคะแนนใหม่หรือเลือกตั้งใหม่กฎหมายกำหนดให้ใช้คะแนนเสียงเอกฉันท์ทำให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติ นอกจากนี้ คำวินิจฉัยไม่มีการให้เหตุผลประกอบการออกคำสั่งทำให้คำวินิจฉัยไม่เป็นที่ยอมรับของผู้ที่เกี่ยวข้องและสาธารณชนโดยทั่วไป

นอกจากนี้ การศึกษาเรื่อง “คณะกรรมการการเลือกตั้ง ศึกษากรณีขอบเขตอำนาจในการไม่ประกาศรับรองรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ได้รับคะแนนอยู่ในเกณฑ์ที่ได้รับเลือกตั้งให้เป็นสมาชิกวุฒิสภา” ของ ชาตรี พลายงาม (2544) พบผลการศึกษาที่เป็นแนวปฏิบัติของคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าหากผลการดำเนินการจัดการกับปัญหาทุจริตเลือกตั้งไม่มีผลกระทบโดยตรงต่อสิทธิของผู้สมัครรับเลือกตั้งรายใดรายหนึ่งแล้ว คณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจที่จะ ดำเนินการได้ภายในอำนาจหน้าที่ของตน แต่หากผลการดำเนินการจัดการกับปัญหาทุจริตการเลือกตั้งมีผลกระทบโดยตรงต่อสิทธิผู้สมัครรับเลือกตั้งรายใดรายหนึ่งแล้ว คณะกรรมการการเลือกตั้งจะดำเนินการ ฟ้องร้องเป็นคดีต่อศาลเพื่อให้ศาลเป็นผู้พิจารณาตัดสินรวมถึงการตัดสิทธิเลือกตั้งของผู้สมัครรับเลือกตั้งรายดังกล่าวด้วย เป็นต้น

นอกจากการศึกษาดังกล่าวแล้ว คณะกรรมการการเลือกตั้งในฐานะผู้รับผิดชอบกำกับ ดูแล และควบคุมการเลือกตั้ง ยังได้ทำการศึกษาในประเด็นต่างๆ เกี่ยวกับการเลือกตั้งด้วยตนเองในลักษณะเดียวกับที่กระทรวงมหาดไทยเคยทำไว้ในอดีตด้วย เช่น รายงานการวิจัยการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2543 (สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง 2544) รายงานการวิจัยเชิงประเมินการประเมินผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาใหม่จังหวัดพะเยา ประจำปี พ.ศ.2544 (สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง 2544) รายงานการวิจัยเรื่อง “ปัจจัยที่เป็นมูลเหตุให้เกิดบัตรเสียในการเลือกตั้งสมาชกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2544 (สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง 2544) เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดมุ่งทำการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการเลือกตั้ง นำมาประมวลวิเคราะห์ด้วยวิธีการต่างๆ เพื่อหาแนวทางปรับปรุงการบริหารจัดการการเลือกตั้งให้ดียิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม การประเมินผลตนเองเพียงด้านเดียวอาจไม่สามารถก่อผลสัมฤทธิ์ที่สมบูรณ์ คณะกรรมการการเลือกตั้งจึงสนับสนุนให้สถาบันทางวิชาการที่เป็นกลางมาทำการศึกษาการเลือกตั้งในมิติต่างๆ โดยเฉพาะการทบทวนบทเรียนจากการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นจากการใช้ระบบใหม่ เพื่อทราบปัญหาและหาแนวทางแก้ไขที่เป็นรูปธรรม งานวิจัยสำคัญที่น่าจะนำมากล่าวถึงในที่นี้ได้แก่ รายงานการวิจัยเพื่อศึกษาบทเรียนจากการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาเพื่อปรับปรุงระบบการเลือกตั้งให้ดีขึ้น โดยสถาบันพระปกเกล้า (2543) ที่ได้มีการสรุปประเด็นปัญหาที่มีผลกระทบต่อการควบคุมและดำเนินการจัดการเลือกตั้งของคณะกรรมการการเลือกตั้งครอบคลุมทั้งประเด็นปัญหาทั่วไป ประเด็นปัญหาก่อนมีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้ง ประเด็นปัญหาในระหว่างที่มีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งแล้ว ประเด็นปัญหาเกี่ยวกับอำนาจของคณะกรรมการการเลือกตั้งในการตรวจสอบการเลือกตั้ง และประเด็นปัญหาภายหลังจากที่มีการประกาศผลการเลือกตั้ง แล้วนำผลการวิจัยที่ได้รับไปสู่การพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายหลายฉบับ ได้แก่ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2541 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2541

นอกจากนี้ เมื่อมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2544 สถาบันพระปกเกล้า (2544) ได้ดำเนินการศึกษาวิจัยขึ้นมาอีกชิ้นหนึ่งคือรายงานการวิจัยเพื่อศึกษาบทเรียนจากการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพื่อปรับปรุงระบบการเลือกตั้งให้ดีขึ้น และได้สรุปปัญหาหลักสำคัญในกระบวนการเลือกตั้งว่าเกี่ยวข้องกับทุกฝ่าย ได้แก่ ปัญหาของผู้สมัครรับเลือกตั้ง ปัญหาของพรรคการเมือง ปัญหาของบุคลากรที่จัดการเลือกตั้ง ปัญหาของหน่วยงานจัดการเลือกตั้ง ปัญหาของกระบวนการเลือกตั้ง ปัญหาขององค์กรเอกชนและสื่อมวลชน ปัญหาของประชาชนและปัญหาอื่นๆ และมีการนำเสนอแนวทางแก้ไขจำแนกเป็น มาตรการระยะสั้น เสนอให้มีการวางนโยบายในเรื่องต่างๆ สำหรับจัดการของคณะกรรมการการเลือกตั้ง รัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น การอบรม การให้การศึกษา ปลูกฝังจริยธรรมแก่ผู้สมัคร สมาชิกพรรคการเมือง ผู้นำชุมชนและประชาชน ให้เข้าใจและมีสำนึกที่ดีเกี่ยวกับการเลือกตั้ง รวมทั้งการกำหนดราคามาตรฐานในการใช้จ่ายในการใช้จ่ายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง รวมทั้งจัดทำมาตรฐานการใช้ดุลนพินิจเจ้าพนักงานผู้ดำเนินการเลือกตั้ง ส่วนมาตรการระยะยาวนั้น เสนอให้มีการปรับปรุงอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้งให้มีหน้าที่สำคัญเพียงสอง 2 ประการ คือ การออกกฎ ระเบียบ และการสืบสวนสอบสวนและการวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาที่โต้แย้งอันเกิดขึ้นจากกฎหมายที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้งเท่านั้น ควบคู่ไปกับการให้ความรู้ การศึกษา และความเข้าใจที่ถูกต้องในเจตนารมณ์ของการเลือกตั้งและระบบการเลือกตั้งแก่ประชาชน ผู้สมัครรับเลือกตั้ง และสมาชิกพรรคการเมืองต่างๆ

บทสรุป

พฤติกรรมการเลือกตั้งของประชาชนชาวไทยจากข้อค้นพบในงานศึกษาวิจัยที่ผ่านมาอาจกล่าวได้ว่ามีความแตกต่างกันตามภูมิหลังทางเศรษฐกิจและสังคมหลายประการ โดยเฉพาะในเรื่องระดับการศึกษา ฐานะทางเศรษฐกิจ (รายได้) และเขตที่อยู่อาศัย (เมือง-ชนบท) โดยผลการศึกษาวิจัยส่วนใหญ่พบสอดคล้องกันว่าคนที่มีการศึกษาสูง มีฐานะทางเศรษฐกิจดี และอาศัยอยู่ในเขตเมืองในประเทศไทยมักให้ความสนใจ/ให้ความสำคัญกับการออกไปใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งน้อยกว่าคนที่มีการศึกษาน้อยกว่า มีฐานะทางเศรษฐกิจไม่ค่อยดี และอาศัยอยู่ในเขตชนบท แต่ในการออกไปใช้สิทธิของผู้มีการศึกษาสูง มีฐานะทางเศรษฐกิจดี และเป็นคนเมืองแต่ละครั้งมักออกไปลงคะแนนด้วยจิตสำนึกทางการเมืองที่สูงกว่า และมีการตัดสินใจโดยใช้เหตุผลที่เอื้อต่อการพัฒนาประชาธิปไตยมากกว่า นอกจากนี้ งานวิจัยหลายชิ้นยังพบอีกด้วยว่าประชาชนชาวไทยในแต่ละภาคมีทัศนคติเกี่ยวกับการเมืองและมีพฤติกรรมการลงคะแนนเพื่อเลือกผู้สมัคร/พรรคการเมืองที่แตกต่างกัน ซึ่งหากมีการศึกษาวิเคราะห์เพื่อพิสูจน์ซ้ำข้อค้นพบเหล่านี้เพิ่มเติม ก็น่าจะมีประโยชน์ต่อการทำความเข้าใจเกี่ยวกับพฤติกรรมการเลือกตั้งของประชาชนชาวไทยได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น

ยิ่งกว่านั้น การได้รับข้อมูลข่าวสารทางการเมืองที่ถูกต้อง ครอบคลุมและครบถ้วนนับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการตัดสินใจทางการเมือง และการแสดงออกซึ่งพฤติกรรมทางการเมืองของประชาชน ดังนั้น การศึกษาวิจัยหลายชิ้นจึงมีข้อเสนอแนะให้สื่อมวลชนเข้ามามีบทบาทในการส่งเสริมประชาธิปไตย โดยการนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องและเป็นกลาง ดังที่นักศึกษาสถาบันพระปกเกล้า (2544) ได้นำเสนอความต้องการของประชาชนที่มีต่อบทบาทของหนังสือพิมพ์จากการศึกษาวิจัย “ความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับบทบาทของหนังสือพิมพ์ที่มีต่อการเลือกตั้งระบอบประชาธิปไตย: ศึกษากรณีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 6 มกราคม 2544” ว่า ประชาชนต้องการให้หนังสือพิมพ์นำเสนอข่าวสารระหว่างที่มีการหาเสียงเลือกตั้งโดยให้เน้นการณรงค์การไปใช้สิทธิ โดยประชาสัมพันธ์อย่างสม่ำเสมอ สร้างความรู้ความเข้าใจให้กับผู้ไปใช้สิทธิถึงผลดีที่ทุกๆ คนได้มีส่วนเลือกคนดีเป็นเข้าไปทำงานพัฒนาประเทศต่อไป นอกจากนี้ในด้านเนื้อหาของข่าวสาร หนังสือพิมพ์ควรนำเสนอข่าวที่เป็นความจริงเพื่อให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เพื่อสามารถนำข้อมูลต่างๆ มาพิจารณาตัดสินใจในการเลือกตั้งได้ สอดคล้องกับข้อเสนอแนะของ เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ (2544) จากการศึกษาเรื่อง “บทบาทการมีส่วนร่วมในระบอบประชาธิปไตยของหนังสือพิมพ์มติชน: ศึกษากรณีการเลือกตั้งระหว่าง พ.ศ. 2522-2544” ที่เสนอให้ประชาชนทั่วไป และสื่อมวลชนควรดำเนินการทุกวิถีทาง เพื่อเข้ามามีบทบาทและมีส่วนร่วมในระบอบประชาธิปไตย โดยให้สื่อมวลชนเป็นแกนกลางผลักดัน

อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมเลือกตั้งของประชาชนที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของการโน้มน้าวชักจูงด้วยวิธีการต่างๆ โดยเฉพาะวิธีการเสนอผลประโยชน์ตอบแทนให้ ได้นำไปสู่ปัญหาทางการเมืองต่างๆ จำนวนมาก และสำหรับระบบการเมืองไทยเท่าที่ผ่านมาเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปว่าปัญหาเหล่านี้เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยของประเทศ การสำรวจติดตามต่อไปว่าอิทธิพลของปัจจัยดังกล่าวยังมีอยู่หรือไม่ ในระดับใด จึงมีความสำคัญต่อการทำความเข้าใจเกี่ยวกับค่านิยมประชาธิปไตยและพฤติกรรมการเลือกตั้งของประชาชนชาวไทย เพื่อนำไปสู่การวางกรอบกติกาและแสวงหามาตรการทางกฎหมายที่เหมาะสมมาบังคับใช้ ทั้งนี้ จากการศึกษาปัจจัยในแง่กฎหมายและกรอบกติกาสถาบันของการเลือกตั้งที่ผ่านมานับว่ามีผู้สนใจทำการศึกษาวิจัยอยู่พอสมควร โดยเฉพาะผู้ที่มีบทบาทสำคัญเกี่ยวกับการเลือกตั้งทุกยุคทุกสมัยซึ่งมีความมุ่งหมายคล้ายคลึงกันคือต้องการแสวงหารูปแบบและวิธีการที่เหมาะสมสำหรับเป็นกรอบกติกาในการเลือกตั้งในรูปกฎหมาย กฎ ระเบียบ และข้อบังคับต่างๆ โดยคาดหวังว่ากรอบกติกาและกฎระเบียบที่เอื้อต่อการพัฒนากระบวนการเลือกตั้งให้มีความบริสุทธิ์ยุติธรรมตามครรลองของการปกครองระบอบประชาธิปไตยจะมีส่วนผลักดันให้ประชาชนมีการตัดสินใจและมีพฤติกรรมการเลือกตั้งที่พึงปรารถนา อย่างไรก็ตาม ถือเป็นเรื่องยากที่จะมีกฎหมายหรือกรอบกติกาที่สมบูรณ์แบบ การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงรูปแบบ วิธีการ และข้อกำหนดในการเลือกตั้งจึงเป็นเรื่องปกติ ทำให้การศึกษาถึงอิทธิพลของปัจจัยในแง่กฎหมายและกรอบกติกาสถาบันของการเลือกตั้งต่อพฤติกรรมการเลือกตั้งยังมีประเด็นที่สมควรพิจารณาเพิ่มเติมอีกมาก

สิ่งที่บทความนี้ให้ความสนใจอาจมิใช่การสร้างทฤษฎีหรือองค์ความรู้ใหม่เกี่ยวกับพฤติกรรมการเลือกตั้ง แต่องค์ความรู้ที่ประมวลมาทั้งหมดได้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของกระบวนการการแสวงหาความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพฤติกรรมทางการเมืองว่าจะต้องพิจารณาทั้งจากทัศนคติ ความคิดเห็น และพฤติกรรมของบุคคลร่วมกับการวิเคราะห์ในเชิงสถาบันอัน ได้แก่ กฎเกณฑ์ กติกา และกระบวนการต่างๆ ที่สถาบันทางสังคมและการเมืองต่างๆ เป็นผู้กำหนดหรือวางกรอบไว้ การส่งเสริม/สนับสนุนให้ประชาชน นักการเมือง และผู้มีบทบาทนำในสถาบันต่างๆ มีพฤติกรรมที่เอื้อต่อการพัฒนาทางการเมืองจึงต้องอาศัยฐานความรู้ที่เพียงพอในเรื่องเหล่านี้ การหมั่นศึกษาติดตามบทเรียนจากการบังคับใช้บทบัญญัติเกี่ยวกับการเลือกตั้งที่อาจปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมได้ตลอดเวลาร่วมกับการใช้ประโยชน์จากผลการวิจัยที่ต้องส่งเสริมให้มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ถูกต้องตามหลักวิชาการเป็นทางเลือกที่ดีทางหนึ่งที่จะทำให้เราสามารถเข้าใจการเมืองเรื่องการเลือกตั้งของไทยได้อย่างถ่องแท้และเท่าทันการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วและอยู่เหนือความคาดหมาย

บรรณานุกรม

ภาษาไทย

ฐปนรรต พรหมอินทร์. “กระบวนการเลือกตั้งและปัจจัยในการตัดสินใจเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดสุพรรณบุรี.” ใน สติธร ธนานิธิโชติ, บรรณาธิการ. รายงานวิจัยเรื่องกระบวนการเลือกตั้งและปัจจัยในการตัดสินใจเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร. กรุงเทพฯ: อักษรโสภณ, 2545.

ถวิลวดี บุรีกุล และ โรเบิร์ต บี อัลบริททัน. “ความต่อเนื่องของประชาธิปไตยในประเทศไทย: การเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา 2543,” ใน เอกสารประกอบการประชุมวิชาการสมาคมรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์แห่งประเทศไทย. 8-10 ธันวาคม 2543. และสติธร ธนานิธิโชติ. พฤติกรรมการเลือกตั้งและปัจจัยในการตัดสินใจเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2543. กรุงเทพฯ: ธรรมกมลการพิมพ์, 2545.

ทศพล สมพงษ์. “ความเคลื่อนไหวทางสังคมในกระบวนการเลือกตั้งและปัจจัยในการตัดสินใจเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา จังหวัดสกลนคร.” ใน สติธร ธนานิธิโชติ, บรรณาธิการ. รายงานวิจัยเรื่องพฤติกรรมการเลือกตั้งและปัจจัยในการตัดสินใจเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2543. กรุงเทพฯ: เจ ปริ้นติ้ง, 2545. “กระบวนการเลือกตั้งและปัจจัยในการตัดสินใจเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสกลนคร.” ใน สติธร ธนานิธิโชติ, บรรณาธิการ. รายงานวิจัยเรื่องกระบวนการ เลือกตั้งและปัจจัยในการตัดสินใจเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร. กรุงเทพฯ: อักษรโสภณ, 2545

ธีรพล เกษมสุวรรณ. ความรู้สึกเมินห่างทางการเมืองกับการมีส่วนร่วมทางการเมืองในกรุงเทพมหานคร. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต ภาควิชาปกครอง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2528.

ธงชัย วงศ์ชัยสุวรรณ และเทียนชัยวงศ์ชัยสุวรรณ. “รายงานการวิจัย เรื่อง การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนชั้นกลาง.” กรุงเทพฯ: กองการพิมพ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, 2543.

นคร พจนวรพงษ์ และอุกฤษ พจนวรพงษ์. ข้อมูลประวัติศาสตร์การเมืองไทย, พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช, 2543.

นรนิติ เศรษฐบุตร. “เสนาธิปไตย ทหารกับการพัฒนาการเมืองไทย,” ใน นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, บรรณาธิการ. รัฐศาสตร์-การเมือง : รวมบทความวิชาการทางรัฐศาสตร์ พ.ศ.2516-2525. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์วิภาษา, 2542.

บวรศักดิ์ อุวรรณโณ. “ภาพรวมของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่” ใน บุญเลิศ คธายุทธเดช (ช้างใหญ่) และประยงค์ คงเมือง, บรรณาธิการ. รวมสาระรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน, พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน, 2541.

. และคณะ. รายงานการศึกษาวิจัยเรื่องบทเรียนจากการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาเพื่อปรับปรุงระบบการเลือกตั้งให้ดีขึ้น. นนทบุรี: สถาบันพระปกเกล้า, 2543.

บุญเลิศ คธายุทธเดช (ช้างใหญ่) และประยงค์ คงเมือง, บรรณาธิการ. รวมสาระรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน, พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน, 2541.

บุญศรี มีวงศ์อุโฆษ. การเลือกตั้งและพรรคการเมือง : บทเรียนจากเยอรมัน. กรุงเทพฯ: สถาบันนโยบายศึกษา, 2542.ปรมะ สตะเวทิน. การสื่อสารมวลชน: กระบวนการและทฤษฎี. กรุงเทพฯ: ห้างหุ้นส่วนจำกัดภาพพิมพ์, 2539.

ประชัน รักพงษ์ และรักฎา บรรเทาสุข. “ความเคลื่อนไหวทางสังคมในกระบวนการเลือกตั้งและปัจจัยในการตัดสินใจเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา จังหวัดเชียงใหม่.” ใน สติธร ธนานิธิโชติ, บรรณาธิการ. รายงานวิจัยเรื่องพฤติกรรมการเลือกตั้งและปัจจัยในการตัดสินใจเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2543. กรุงเทพฯ: เจ ปริ้นติ้ง, 2545

. “กระบวนการเลือกตั้งและปัจจัยในการตัดสินใจเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดเชียงใหม่.” ใน สติธร ธนานิธิโชติ, บรรณาธิการ. รายงานวิจัยเรื่องกระบวนการ. เลือกตั้งและปัจจัยในการตัดสินใจเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร. กรุงเทพฯ: อักษรโสภณ, 2545.

ปรีชา หงษ์ไกรเลิศ. การพัฒนาระบบพรรคการเมืองเพื่อสร้างเสถียรภาพทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย. เอกสารวิจัยส่วนบุคคล วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร, 2533.

พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต. ชนชั้นกับการเลือกตั้ง. กรุงเทพฯ: ศูนย์วิจัยและผลิตตำรา มหาวิทยาลัยเกริก, 2541.

ศรีสมภพ จิตต์ภิรมย์ศรีและคณะ. “กระบวนการเลือกตั้งและปัจจัยในการตัดสินใจเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดปัตตานีและสงขลา.” ใน สติธร ธนานิธิโชติ, บรรณาธิการ. รายงานวิจัยเรื่องกระบวนการเลือกตั้งและปัจจัยในการตัดสินใจเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร. กรุงเทพฯ: อักษรโสภณ, 2545.

สถาบันพระปกเกล้า. บทเรียนจากการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพื่อปรับปรุงระบบเลือกตั้งให้ดีขึ้น. กรุงเทพฯ: บริษัทอักษรโสภณ จำกัด, 2544.

. แผนพัฒนาวัฒนธรรมประชาธิปไตย. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, 2544.

สายฝน น้อยหีด. “กระบวนการเลือกตั้งและปัจจัยในการตัดสินใจเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพฯ.” ใน สติธร ธนานิธิโชติ, บรรณาธิการ. รายงานวิจัยเรื่องกระบวนการเลือกตั้งและปัจจัยในการตัดสินใจเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร. กรุงเทพฯ: อักษรโสภณ, 2545.

สุจิต บุญบงการ และพรศักดิ์ ผ่องแผ้ว. พฤติกรรมการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งของคนไทย. กรุงเทพฯ: โครงการเผยแพร่ผลงานวิจัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2526.

. พฤติกรรมการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งของคนไทย. กรุงเทพฯ: โครงการเผยแพร่ผลงานวิจัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2527.

สุรพงษ์ โสธนะเสถียร. การสื่อสารกับการเมือง, พิมพ์ครั้งที่ 5.กรุงเทพฯ: ประสิทธิ์ภัณฑ์ แอนด์ พริ้นติ้ง, 2544.

สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง. 4 ปี กกต. กรุงเทพมหานคร: บริษัท สามเจริญพาณิชย์ (กรุงเทพ) จำกัด, 2545.

เอนก เหล่าธรรมทัศน์. การเมืองของพลเมืองสู่สหัสวรรษใหม่. กรุงเทพมหานคร: โครงการจัดพิมพ์คบไฟ, 2543.

. สองนัคราประชาธิปไตย. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน, 2538.

ภาษาต่างประเทศ

Ball R., Alan. Modern Politics & Government, sixth edition. London: Macmillan, 2000.

Campbell A. and et.al. The American Voter. Chicago: The University of Chicago Press, 1960.

Diamond, Larry and Marc F.Plattner. Democracy in East Asia. Baltimore and London: The Johns Hopkins University Press, 1998.

Grönlund, Kimmo. “How Education and Political Information Affect Turnout in Different Electoral Systems.” Paper prepared for the 30th ECPR Joint Sessions of Workshops (Workshop 22 "Political Participation and Information"). March 22-28, 2002, Universitá di Torino, 2002

Immergut, Ellen A. “The Theoretical Core of the New Institutionalism,” Politics and Society, 26 (1), 5-24, 1998.

Karp, Jeffrey A. and Banducci, Susan A. Political Efficacy and Participation in Eighteen Democracies: How Electoral Rules Shape Political Behavior. Paper presented at the XVIII World Congress of the International Political Science Association. Quebec City, Canada, August 1 – 5, 2000.

Lipset, Seymour Martin. “Some Social Requisites of Democracy,” In Class and Elites in Democracy and Democratization: A Collection of Reading, Eva Etzioni-Halevy (ed), New York & London: Garland Publishing, Inc. 1997 :37-42.

Lupia, Arthur. "The Effect of Information on Voting Behavior and Electoral Outcomes: An Experimental Study of Direct Legislation." Public Choice 78: 65-86, 1994.

Steinmo, Thelen, and Longstreth, eds. Structuring Politics: Historical Institutionalism in Comparative Analysis, pp. 1-32, 1992

Taylor, Curtis and Huseyin Yildirim. “Public Information and Electoral Bias.” Paper provided by Duke University, Department of Economics in its series Working Papers with number 05-11, 2005.

Tóka, Gábor. “Do Some Party Systems Make Equal Votes Unequal? A Comparison of Old and New Democracies.” Paper prepared for presentation at the Conference on Re-Thinking Democracy in the New Millennium, organized by the University of Houston at the Omni Hotel, Houston, TX, 16-19 February 2000.

Verba, Sydney, Norman Nie, and Jae-On Kim. Participation and Political Equality : A Seven - Nation Comparison. London, New York, Melbourne: Cambridge University Press, 1978.