ผลต่างระหว่างรุ่นของ "โครงสร้างทางการเมืองใหม่ กับมาตรการควบคุมการใช้อำนาจรัฐ"

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
Apirom (คุย | ส่วนร่วม)
ไม่มีความย่อการแก้ไข
Apirom (คุย | ส่วนร่วม)
ไม่มีความย่อการแก้ไข
 
บรรทัดที่ 246: บรรทัดที่ 246:
จากที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ อาจสรุปได้ว่าความพยายามในการปฏิรูประบบการเมืองเพื่อสร้างความเข้มแข็งและเสถียรภาพให้กับรัฐบาลโดยผ่านทางระบบเลือกตั้ง ระบบพรรคการเมือง และมาตรการจำกัดบทบาทของฝ่ายค้านในการยื่ญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล และการมีส่วนร่วมของประชาชน อาจไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ของบ้านเมืองที่เปลี่ยนไป และการเกิดขึ้นของนักธุรกิจรุ่นใหม่ที่ผันตัวเองข้าสู่วงการทางการเมือง ส่งผลให้กลไกการตรวจสอบควบคุมการใช้อำนาจรัฐไร้ประสิทธิภาพ ประชาชนขาดการมีส่วนร่วมที่แท้จริง และในที่สุด อาจชักนำระบบการเมืองเข้าสู่ระบบผูกขาดอำนาจโดยบุคคลหรือโดยกลุ่ม ถ้าไม่ใช่ระบบเผด็จการ  
จากที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ อาจสรุปได้ว่าความพยายามในการปฏิรูประบบการเมืองเพื่อสร้างความเข้มแข็งและเสถียรภาพให้กับรัฐบาลโดยผ่านทางระบบเลือกตั้ง ระบบพรรคการเมือง และมาตรการจำกัดบทบาทของฝ่ายค้านในการยื่ญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล และการมีส่วนร่วมของประชาชน อาจไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ของบ้านเมืองที่เปลี่ยนไป และการเกิดขึ้นของนักธุรกิจรุ่นใหม่ที่ผันตัวเองข้าสู่วงการทางการเมือง ส่งผลให้กลไกการตรวจสอบควบคุมการใช้อำนาจรัฐไร้ประสิทธิภาพ ประชาชนขาดการมีส่วนร่วมที่แท้จริง และในที่สุด อาจชักนำระบบการเมืองเข้าสู่ระบบผูกขาดอำนาจโดยบุคคลหรือโดยกลุ่ม ถ้าไม่ใช่ระบบเผด็จการ  


[[หมวดหมู่:วารสารปีที่ 2 ฉบับที่ 3 เดือนกันยายน - ธันวาคม 2547]]
----
*[http://www.kpi.ac.th/kpith/pdf/%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%A3/47/3/01.%E0%B9%82%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%87%E0%B8%AA%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%97%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%9A%E0%B8%84%E0%B8%B8%E0%B8%A1%E0%B8%AD%E0%B8%B3%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%88%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%90-%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%A2%E0%B8%A1.pdf โครงสร้างทางการเมืองใหม่ กับมาตรการควบคุมการใช้อำนาจรัฐ '''(PDF Download)''' ]
[[หมวดหมู่:วารสารปีที่ 2 ฉบับที่ 3 เดือนกันยายน - ธันวาคม 2547|ค]]

รุ่นแก้ไขปัจจุบันเมื่อ 14:03, 29 ตุลาคม 2556

ผู้เรียบเรียง รศ.ดร.นิยม รัฐอมฤต


วารสารสถาบันพระปกเกล้า ปี 2547 เล่มที่ 3


บทนำ

ไรเนิลด์ เนเบอร์ (Reinhold Niebuhr) กล่าวว่า “ ความสามารถของมนุษย์ในการทำให้เกิดความยุติธรรมทำให้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยเป็นไปได้ ในขณะเดียวกันความโน้มเอียงของมนุษย์ไปในทางอยุติธรรมก็ทำให้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยเป็นสิ่งจำเป็น” โดยที่มนุษย์มีทั้งความสามารถทำให้เกิดความยุติธรรมและความโน้มเอียงไปในทางที่อาจจะก่อเกิดความอยุติธรรมได้ ความจำเป็นที่จะต้องมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยจึงเป็นสิ่งจำเป็น และมาตรการควบคุมการใช้อำนาจรัฐโดยวิธีถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงจะมีผลในทางปฏิบัติหรือไม่ ขึ้นอยู่กับโครงสร้างทางการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยอย่างมาก

สำหรับสหรัฐอเมริกา ความเป็นประชาธิปไตยในแง่ของโครงสร้างทางการเมืองขึ้นอยู่กับหลักการแบ่งแยกอำนาจ และการตรวจสอบถ่วงดุลระหว่างอำนาจฝ่ายต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสร้างสถาบันฝ่ายบริหารให้เข้มแข็ง และเป็นอิสระจากฝ่ายรัฐสภาหรือฝ่ายนิติบัญญัติ เพื่อหลีกเลี่ยงระบบการปกครองที่ครอบงำโดยรัฐสภา หรือสิ่งที่เรียกว่า “เผด็จการโดยเสียงข้างมาก” (majority tyranny) ส่วนประเทศอังกฤษนั้น แม้โครงสร้างทางการเมืองจะไม่มีการแบ่งแยกอำนาจระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหารอย่างแท้จริง เนื่องจากฝ่ายบริหารโดยปรกติจะเป็นฝ่ายคุมเสียงข้างมากในสภาสามัญ แต่การปกครองของอังกฤษก็ไม่มีใครวิจารณ์ว่าเป็นเผด็จการรัฐสภา หรือเผด็จการโดยฝ่ายบริหาร ทั้งนี้เนื่องจากทั้งรัฐบาลต้องรับผิดชอบต่อสภาสามัญ และทั้งรัฐบาลและสมาชิกสภาสามัญต้องรับผิดชอบต่อพรรค ซึ่งมีความเป็นสถาบันและมีความเป็นตัวแทนของกลุ่ม สมาคม และประชาชน ในวงกว้าง นอกจากนี้ ประเทศอังกฤษยังมีสื่อมวลชนและองค์กรที่ไม่ใช่ภาคราชการ (non-governmental organizations)ที่เข้มแข็งคอยเฝ้าระวังระไวติดตามการทำงานของรัฐบาลอีกด้วย

ในทางตรงกันข้าม ถ้าโครงสร้างการปกครองสร้างเงื่อนไขให้เกิดการครอบงำโดยอำนาจฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือโครงสร้างทางสังคม เช่น พรรคการเมือง สมาคม กลุ่มผลประโยชน์ องค์กรที่ไม่ใช่ภาคราชการ ไม่เข้มแข็ง การตรวจสอบถ่วงดุลระหว่างอำนาจหนึ่งกับอีกอำนาจหนึ่ง หรือระหว่างองค์กรทางการปกครองกับองค์กรทางสังคม ย่อมไม่เกิดขึ้น ในบทความนี้จะเป็นการพิจารณาถึงโครงสร้างทางการเมืองของไทยในปัจจุบันว่าเป็นปัญหาหรืออุปสรรคต่อการบังคับใช้มาตรการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงหรือไม่ โดยมีหัวข้อดังนี้ 1) เงื่อนไขที่ทำให้การปกครองเป็นประชาธิปไตย 2) ปัญหาเสถียรภาพของรัฐบาลภายใต้โครงสร้างทางการเมืองก่อนการปฏิรูป 3) โครงสร้างทางการเมืองใหม่และมาตรการถอดถอน และ 4) ปัญหาการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงภายใต้โครงสร้างทางการเมืองใหม่

เงื่อนไขที่ทำให้การปกครองเป็นประชาธิปไตย

การปกครองจะเป็นประชาธิปไตยได้อย่างไร อาจเป็นประเด็นที่อภิปรายถกเถียงกันได้มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างโลกตะวันออกกับโลกตะวันตก ที่มีเงื่อนไขความจำเป็นของแต่ละภูมิภาคแต่ละประเทศที่ไม่เหมือนกัน เช่น ฐานะทางเศรษฐกิจ ระดับการศึกษา ความเชื่อทางศาสนาและวัฒนธรรมของประชาชน ที่แตกต่างกัน สำหรับนักวิชาการบางท่าน เช่น โจเซฟ ชุมปีเตอร์ (Joseph Schumpeter)ประชาธิปไตยอาจsมายถึงระบบการปกครองที่มีวิธีเลือกสรรผู้ปกครองโดยการเลือกตั้งที่มีการแข่งขัน ในขณะที่นักวิชาการอีกบางท่านอาจมีความเห็นแตกต่างออกไป และมองว่าประชาธิปไตยมีความหมายมากกว่าวิธีการปกครอง คือเป็นองค์ประกอบในทางสังคมและวัฒนธรรมด้วย เช่น ฟรานซิส ฟูกูยาม่า (Francis Fukuyama) แต่สำหรับมาตรฐานการปกครองที่ปฏิบัติกันในประเทศเสรีนิยมตะวันตก อาจกล่าวได้ว่าอย่างน้อยมีหลัก 8 ประการดังต่อไปนี้

1. การยึดมั่นในหลักการปกครองโดยเสียงข้างมาก โดยทั่วไป ทางเลือกเกี่ยวกับตัวบุคคลที่เป็นผู้ใช้อำนาจปกครอง ถ้าไม่เป็นการปกครองโดยเสียงข้างมาก ก็เป็นการปกครองโดยเสียงข้างน้อย ไม่โดยกลุ่มบุคคลธรรมดาสามัญ ก็เป็นกลุ่มชนชั้นนำ แม้นักทฤษฎีบางคนจะเน้นย้ำว่าประชาธิปไตยที่แท้จริงจะต้องเป็นการปกครองโดยเสียงข้างมากเกินครึ่งหรือเสียงข้างมากเด็ดขาด แต่โดยทั่วไปแล้ว จะเป็นการปกครองโดยเสียงข้างมากตามกติกาที่กฎหมายกำหนด ซึ่งอาจเป็นเสียงข้างมากตามธรรมดา คือมีเสียงมากกว่ากลุ่มอื่นๆ แม้ว่าเสียงข้างมากไม่จำเป็นต้องถูกเสมอไปก็ตาม แต่การปกครองโดยถือหลักรัฐบาลที่จัดตั้งขึ้นต้องมีที่มาจากความยินยอมของผู้อยู่ใต้การปกครอง เสียงข้างมาก ก็อาจกล่าวได้ว่าในระยะยามการยึดหลักเสียงข้างมากจะมีความปลอดภัยมากกว่า

2. การคุ้มครองสิทธิของฝ่ายเสียงข้างน้อยเป็นกติกาอีกประการหนึ่งของการปกครองตามระบอบปราธิปไตย สิทธิดังกล่าวไม่ครอบคลุมไปถึงสิทธิในการปกครอง แต่ครอบคลุมถึงสิทธิในการพูด เขียน อ่าน พิมพ์ ชุมนุม สมาคม และอื่นๆ

3. การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและความคิดเห็นโดยอิสระ การจัดให้มีการเลือกตั้งไม่ใช่เกณฑ์ที่จะตัดสินความเป็นประชาธิปไตย เพราะการออกเสียงเลือกตั้งอาจเป็นเพียงตรายางสร้างความชอบธรรมให้กับอำนาจเท่านั้นก็เป็นได้ ถ้าประชาชนขาดข้อมูลข่าวสารและขาดโอกาสในการอภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างเพียงพอ เงื่อนไขข้างต้นข้างต้นหมายความว่าประชาชนจะต้องได้รับหลักประกันในเรื่องสิทธิเสรีภาพเกี่ยวกับการพูด การอ่าน การเขียน การพิมพ์ การสมาคม เป้นต้น รวมถึงบรรยากาศที่จะทำให้เกิดการใช้สิทธิข้างต้น

4. การมีกลุ่มการเมืองหรือแนวนโยบายที่เป็นทางเลือกอย่างอื่นให้ประชาชนได้มีโอกาสเลือกอย่างแท้จริง เงื่อนไขดังกล่าวนี้หมายความว่าการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลหรือนโยบายสาธารณะสามารถกระทำให้เกิดขึ้นได้จริงโดยกระบวนการการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนในวงกว้าง ในที่นี้ โดยทั่วไปย่อมหมายถึงการมีระบบพรรคการเมืองแบบหลายพรรคให้ประชาชนสามารถเลือกได้อย่างแท้จริง

5. เสรีภาพในการกระทำตามความเชื่อ เสรีภาพดังกล่าวนี้รวมถึงโอกาสที่จะเชิญชวนให้บุคคลอื่นเชื่อตามและเข้าร่วมในกระบวนการการเลือกตั้งตามเจตนารมณ์ที่แท้จริงของตน คือเป็นการใช้สิทธิเลือกตั้งโดยไม่มีการบังคับ และยินดีที่จะยอมรับผลการตัดสินใจที่ดำเนินไปอย่างเป็นประชาธิปไตยนั้น ในขณะเดียวกันก็สงวนสิทธิที่จะไม่เห็นด้วยต่อไป และที่จะดำเนินการทางการเมืองต่อไปเพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายทางการเมืองที่ตนเองมีความเชื่อ เมื่อโอกาสในการเลือกตั้งคราวหน้ามาถึง

6. การยอมรับในหลักการปกครองโดยกฎหมาย คือหลักการที่ว่าการปกครองจะต้องเป็นไปตามกติกาที่ได้รับการตราขึ้นและการแก้ไขเปลี่ยนแปลตามกระบวนการที่กำหนดขึ้นล่วงหน้า และการบังคับใช้กติกานั้นจะต้องมีความแน่นนอนและคงเส้นคงวา และเป็นการบังคับใช้กับประชาชนทุกคนโดยเสมอเท่าเทียมกัน

7. ประชาชนทุกคนเสมอเท่าเทียมกันในทางกฎหมายและเสมอเท่าเทียมกันในโอกาสที่จะเข้าร่วมในกระบวนการทางทางการเมือง จะต้องไม่มีการปฏิบัติต่อประชาชนในลักษณะที่ไม่เท่าเทียมกัน ประชาชนทุกคนมีหนึ่งเสียงเท่ากัน และเสียงนั้นมีน้ำหนักเท่ากันในทางการเมือง

8. การยึดหลักการที่ว่าการปกครองมีไว้เพื่อรับใช้บุคคล ไม่ใช่มีบุคคลไว้รับใช้ระบบการปกครอง และปัจเจกบุคคลคือเป้าหมาย ไม่ใช่เครื่องมือ ของระบบการปกครอง

โดยสรุป การปกครองในระบอบประชาธิปไตยขึ้นอยู่กับวิธีการปกครอง หลักการในเรื่องสิทธิเสรีภาพ และเงื่อนไขในทางปฏิบัติหลายประการ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข่าวสารข้อมูล ความคิดเห็น และใช้สิทธิตัดสินใจในเรื่องตัวบุคคลที่จะเป็นผู้ปกครองและเลือกนโยบายการปกครองได้อย่างกว้างขวาง มีข้อมูล มีอิสระ และเท่าเทียมกัน

ปัญหาเสถียรภาพภายใต้โครงสร้างทางการเมืองก่อนการปฏิรูป

ก่อนการปฏิรูปการเมือง พ.ศ. 2540 โครงสร้างทางการเมืองของไทยอยู่ในระบบรัฐสภา กล่าวคือประชาชนเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเลือกสมาชิกด้วยกันเอง 1 คน เป็นนายกรัฐมนตรี และนายกรัฐมนตรีเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือบุคคลภายนอกก็ได้จำนวนหนึ่งเป็นรัฐมนตรีร่วมคณะ สำหรับนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีที่ได้รับแต่งตั้งไม่เสียสมาชิกภาพในการดำรงตำแหน่งฝ่ายบริหาร ระบบเลือกตั้งให้ถือเขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง จังหวัดใดมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ 3 คน ไม่ต้องแบ่งเขตเลือกตั้ง ถ้าจังหวัดใดมีสมาชิกสภาผู้แทนได้เกิน 3 คน ต้องแบ่งเขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้งเพิ่มขึ้น โดยถือหลักเขตเลือกตั้งหนึ่งให้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 3 คน และต้องพยายามจัดให้แต่ละเขตเลือกตั้งในจังหวัดเดียวกันมีจำนวนสมาชิก สภาผู้แทนราษฎรใกล้เคียงกัน สมมุติว่า จังหวัดหนึ่งมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ 4 คน จังหวัดนั้นจะต้องแบ่งเขตเลือกตั้งออกเป็น 2 เขตๆละ 2 คน จะแบ่งเป็นเขตหนึ่ง 3 คน อีกเขตหนึ่ง 1 คน ไมได้

ภายใต้ระบบเลือกตั้งดังกล่าว ปรากฎว่ามีพรรคการเมืองขนาดเล็กและขนาดกลางได้รับเลือกตั้งเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรจำนวนมาก โดยไม่มีพรรคการเมืองใดได้เสียงเกินครึ่งของจำนวนที่นั่งทั้งหมดในสภาผู้แทนราษฎร รัฐบาลที่จัดตั้งขึ้นภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปจะเป็นรัฐบาลผสมหลายพรรค และรัฐบาลไร้เสถียรภาพ มีการเปลี่ยนรัฐบาลบ่อยมาก สภาวะเช่นนี้เป็นมาตลอดภายใต้ระบบการเมืองแบบเปิดหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ที่อำนาจทหารเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2535 มีพรรคการที่สมาชิกพรรคได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 11 พรรค ดังนี้

(1) พรรคสามัคคีธรรม 79 ที่นั่ง

(2) พรรคชาติไทย 74 ที่นั่ง

(3) พรรคความหวังใหม่ 72 ที่นั่ง

(4) พรรคประชาธิปัตย์ 44 ที่นั่ง

(5) พรรคพลังธรรม 41 ที่นั่ง

(6) พรรคกิจสังคม 31 ที่นั่ง

(7) พรรคประชากรไทย 7 ที่นั่ง

(8) พรรคเอกภาพ 6 ที่นั่ง

(9) พรรคราษฎร 4 ที่นั่ง

(10) พรรคปวงชนชาวไทย 1 ที่นั่ง

(11) พรรคมวลชน 1 ที่นั่ง

รวม 360 ที่นั่ง

โดยที่ผลการเลือกตั้งไม่ปรากฎว่ามีพรรคการเมืองใดได้รับเลือกตั้งเป็นเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรแต่เพียงพรรคเดียว การจัดตั้งรัฐบาลต้องกระทำในรูปรัฐบาลผสมหลายพรรค ในกรณีหลังการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2535 พรรคสามัคคีธรรม ซึ่งเป็นพรรคในกำกับของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับอีก 4 พรรค ได้แก่ พรรคชาติไทย พรรคกิจสังคม พรรคราษฎร และพรรคประชากรไทย โดยเลือก พลเอก สุจตินดา คราประยูร ผู้นำที่แท้จริงของรสช. เป็นนายกรัฐมนตรี พลเอก สุจินดา ซึ่งก่อนหน้านี้ให้คำมั่นสัญญากับประชาชนว่า รสช. จะไม่สืบทอดอำนาจ และตนเองจะไม่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี อยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ 48 วันก็จำต้องลาออกจากตำแหน่ง เมื่อกลุ่มพลังประชาธิปไตยชุมนุมต่อต้านการเข้ารับตำแหน่งของ พลเอก สุจินดา และรัฐบาลใช้กำลังเข้าปราบปรามผู้ชุมนุมประท้วงรัฐบาล ซึ่งชุมนุมกันบนถนนราชดำเนินจากสนามหลวงถึงลานพระบรมรูปทรงม้า จนเหตุการณ์บานปลายกลายเป็นเหตุการณ์นองเลือด

การเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2535 มีพรรคการเมืองที่มีสมาชิกพรรคได้รับเลือกตั้งจำนวน 11 พรรค ได้แก่

(1) พรรคประชาธิปัตย์ 79 ที่นั่ง

(2) พรรคชาติไทย 77 ที่นั่ง

(3) พรรคชาติพัฒนา 60 ที่นั่ง

(4) พรรคความหวังใหม่ 51 ที่นั่ง

(5) พรรคพลังธรรม 47 ที่นั่ง

(6) พรรคกิจสังคม 22 ที่นั่ง

(7)) พรรคเอกภาพ 8 ที่นั่ง

(8) พรรคเสรีธรรม 8 ที่นั่ง

(9) พรรคมวลชน 4 ที่นั่ง

(10) พรรคประชากรไทย 3 ที่นั่ง

(11) พรรคราษฎร 1 ที่นั่ง

รวม 360 ที่นั่ง

การจัดตั้งรัฐบาลต้องอาศัยหลายพรรคร่วมกันจัดตั้งเป็นรัฐบาลผสม ในกรณีของการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2535 พรรคประชาธิปัตย์ รวมกับพรรคความหวังใหม่ พรรคพลังธรรม พรรคกิจสังคม และพรรคเอกภาพ ร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลผสมมีที่นั่ง 207 ที่นั่ง ในสภาที่มีที่นั่งทั้งหมด 360 ที่นั่ง รัฐบาลผสมอยู่ในตำแหน่งได้ 2 ปี 8 เดือน ต้องยุบสภาเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2538 หนีการลงมติไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้านในเรื่องการออกเอกสารสิทธิอื้อฉาว สปก. 4-01

การเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2538 มีพรรคการเมืองขนาดกลางและขนาดเล็กได้รับเลือกตั้งเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร 11 พรรคเช่นครั้งที่แล้ว โดยมีพรรคต่างๆที่สมาชิกได้รับเลือกตั้งมีดังนี้

(1) พรรคชาติไทย 92 ที่นั่ง

(2) พรรคประชาธิปัตย์ 86 ที่นั่ง

(3) พรรคความหวังใหม่ 57 ที่นั่ง

(4) พรรคชาติพัฒนา 53 ที่นั่ง

(5) พรรคพลังธรรม 23 ที่นั่ง

(6) พรรคกกิจสังคม 22 ที่นั่ง

(7) พรรคประชากรไทย 18 ที่นั่ง

(8) พรรคนำไทย 18 ที่นั่ง

(9) พรรคเสรีธรรม 11 ที่นั่ง

(10) พรรคเอกภาพ 9 ที่นั่ง

(11) พรรคมวลชน 3 ที่นั่ง

รวม 360 ที่นั่ง

การจัดตั้งรัฐบาลต้องดำเนินการในรูปของรัฐบาลผสม 7 พรรค โดยมีพรรคชาติไทยภายใต้การนำของนายบรรหาร ศิลปอาชา เป็นแกนนำ พรรคความหวังใหม่ พรรคพลังธรรม พรรคกิจสังคม พรรคประชากรไทย พรรคนำไทย และพรรคมวลชน เป็นพรรคร่วมรัฐบาล รัฐบาลนายบรรหารอยู่ในตำแหน่งได้เพียง 1 ปี 3 เดือน ต้องประกาศยุบสภา เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2539 หลังจากถูกเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจและรอดพ้นมาได้โดยต่อรองกับพรรคร่วมรัฐบาลว่าขอให้ออกเสียงสนับสนุนแล้วจะลาออกเพื่อเปิดทางให้ พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ์ หัวหน้าพรรคความหวังใหม่ ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีสืบต่อไป แต่ในที่สุด นายบรรหารไม่ยอมลาออกจากตำแหน่ง แต่กลับแก้ปัญหาโดยวิธีการยุบสภา

การเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2539 มีพรรคการเมืองที่มีสมาชิกได้รับเลือกตั้งทั้งหมด 11 พรรคเช่นเดิม โดยแต่ละพรรคการเมืองมีจำนวนที่นั่งเรียงตามลำดับจากมากไปหาน้อยดังนี้

(1) พรรคความหวังใหม่ 125 ที่นั่ง

(2) พรรคประชาธิปัตย์ 123 ที่นั่ง

(3) พรรคชาติพัฒนา 52 ที่นั่ง

(4) พรรคชาติไทย 39 ที่นั่ง

(5) พรรคกิจสังคม 20 ที่นั่ง

(6) พรรคประชากรไทย 18 ที่นั่ง

(7) พรรคเอกภาพ 8 ที่นั่ง

(8) พรรคเสรีธรรม 4 ที่นั่ง

(9) พรรคมวลชน 2 ที่นั่ง

(10) พรรคพลังธรรม 1 ที่นั่ง

(11) พรรคไท 1 ที่นั่ง

รวม 360 ที่นั่ง

การจัดตั้งรัฐบาลภายหลังการเลือกตั้งต้องทำในรูปรัฐบาลผสมเช่นเดิม โดยมีพรรคความหวังใหม่ภายใต้การนำของ พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ์ เป็นแกนนำรัฐบาล และพรรคชาติพัฒนา พรรคกิจสังคม พรรคประชากรไทย พรรคเสรีธรรม พรรคมวลชน เป็นพรรคร่วมรัฐบาล พลเอกชวลิต อยู่ในตำแหน่งได้ราว 1 ปีเศษ ก็ต้อประกาศลาออก เนื่องจากเกิดวิกฤเเศรษฐกิจ การส่งออกตกต่ำ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่เคยขยายตัวอย่างกว้างขวางหยุดชะงัก ธนาคารและสถาบันการเงินมีหนี้ที่ไม่ก่อรายได้จำนวนมาก รัฐบาลพลเอก ชวลิต แก้ปัหาโดยสั่งให้บริษัทหลักทรัยพ์และการเงินจำนวน 58 แห่ง ยุติการทำธุรกรรมขั่วคราว รวมทั้งประกาศให้ค่าเงินบาทลอยตัว เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 ทำให้ค่าเงินบาทตกต่ำอย่างรุนแรง ยิ่งทำให้ธุรกิจเอกชนที่กู้ยืมเงินจากต่างประเทศ ยิ่งมีหนี้สินทวีคูณ บริษัทธุรกิจจำนวนมากต้องปิดกิจการ หรือปลดพนักงานออกจากงาน ทำให้มีคนตกงานจำนวนมาก ในขณะที่ธุรกิจชะลอตัวลงอย่างรุนแรง จากเหตุวิกฤตทางเศรษฐกิจดังกล่าวได้มีกลุ่มนักธุรกิจและกลุ่มเคลื่อนไหวต่างๆ ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาล พลเอก ชวลิต ลาออก และภายหลังจากรัฐสภาผ่านร่างรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปการเมือง และประกาศใช้บังคับเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2540 การชุมนุมใหญ่ที่ถนนสีลมก็เกิดขึ้น ในที่สุด พลเอก ชวลิต ประกาศลาออกจากตำแหน่ง เปิดทางให้มีการสรรหานายกรัฐมนตรีกันใหม่เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน

การลาออกของ พลเอก ชวลิต จากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทำให้พรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาลและพรรคฝ่ายค้านวิ่งเต้นขอเสียงสนับสนุนจากกลุ่มการเมืองต่างๆในการจัดตั้งรัฐบาล ฝ่ายรัฐบาลสนับสนุน พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ หัวหน้าพรรคชาติพัฒนา เป็นนายกรัฐมนตรีสืบต่อจาก พลเอก ชวลิต ส่วนพรรคฝ่ายค้านก็วิ่งเต้นหาทางให้ นายชวน หลีกภัย หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง ผลปรากฎว่าพรรคฝ่ายค้านสามารถขอเสียงสนับสนุนส่วนใหญ่จากสมาชิกสภาผู้แทนของพรรคประชากรไทย กลุ่มงูเห่า ได้สำเร็จ จึงเป็นฝ่ายจัดตั้งรัฐบาลภายหลัง พลเอก ชวลิต ลาออก

จะเห็นได้ว่า ภายใต้ระบบการเมืองก่อนการปฏิรูป พ.ศ. 2540 ประเทศไทยมีระบบพรรคการเมืองแบบหลายพรรค และรัฐบาลไร้เสถียรภาพ การต่อสู้แย่งชิงตำแหน่งเกิดขึ้นตลอดเวลา รัฐบาลไม่สามารถทำหน้าที่ในการบริหารประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ ต้องค่อยสนองตอบต่อข้อเรียกร้องของพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งหลายๆกรณี สิ่งที่เรียกร้องไม่ใช่ผลประโยชน์ของประเทศชาติโดยรวมแต่อย่างใด แต่ถ้าไม่สนองตอบ รัฐบาลก็อาจคงอยู่ในอำนาจไม่ได้ เพราะความอยู่รอดของรัฐบาลขึ้นอยู่กับเสียงสนับสนุนในสภาผู้แทนราษฎร

โครงสร้างทางการเมืองใหม่และมาตรการถอดถอน

การปฏิรูปการเมืองโดยการยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2534 และประกาศใช้บังคับรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2540 ทำให้เกิดแนวคิดที่จะสร้างความเข้มแข็งให้กับฝ่ายบริหาร คือ รัฐบาล โดยวิธีการลดจำนวนพรรคการเมืองที่มีสมาชิกในสภาผู้แทนราษฎรให้มีจำนวนน้อยลง เพื่อพรรคการเมืองที่ดำรงอยู่ในสภาผู้แทนจะได้มีจำนวนสมาชิกเพิ่มขึ้น และในเวลาเดียวกันก็ได้สร้างมาตรการตรวจสอบรัฐบาลและอำนาจอื่นให้มีความเข้มแข็งเพิ่มขึ้นด้วย โดยมีวิธีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างและระบบการเมืองดังนี้

(1) ระบบเลือกตั้ง แก้ไขระบบเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากระบบเขตเลือกตั้งหนึ่งมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ไม่เกิน 3 คน เป็นระบบเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองจัดส่งสมัครรับเลือกตั้ง และระบบเลือกตั้งแบบแบ่งเขต หนึ่งเขตหนึ่งคน ภายใต้ระบบดังกล่าวเชื่อว่าจะทำให้สามารถลดจำนวนพรรคการเมืองในสภาผู้แทนราษฎรให้น้อยลง ดังปรากฎผลแล้วในประเทศที่ใช้ระบบเลือกตั้งแบบดังกล่าว เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ในเวลาเดียวกันระบบบัญชีรายชื่อที่ส่งสมัครรับเลือกตั้งโดยพรรคการเมืองก็จะช่วยขจัดพรรคขนาดเล็กให้พ้นจากสภาผู้แทนราษฎร เพราะมีเงื่อนไขว่าพรรคการเมืองที่จะมีสิทธิได้ส่วนแบ่งที่นั่งในระบบดังกล่าวต้องได้เสียงรวมกันแล้วไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ของจำนวนผู้ออกเสียงเลือกตั้งทั้งหมด

(2) เงื่อนไขการสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แก้ไขคุณสมบัติผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้ต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งแต่เพียงพรรคเดียว นับถึงวันสมัครรับเลือกตั้งเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 90 วัน เงื่อนไขนี้ทำให้การย้ายพรรคในระยะเวลาสั้นๆใกล้เวลาเลือกตั้งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคหนึ่งไปสู่อีกพรรคหนึ่งทำไม่ได้ และยังมีผลทำให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องเชื่อฟังหัวหน้าพรรค และอยู่ในระเบียบวินัยของพรรค เพราะถ้าหัวหน้าพรรคที่ตนสังกัดไม่ส่งลงสมัครรับเลือกตั้งก็จะมีผลทำให้ไม่อาจสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในสมัยการเลือกตั้งนั้น และไม่อาจสมัครรับเลือกตั้งในนามของพรรคการเมืองอื่น ถ้าสมาชิกภาพของตนในพรรคการเมืองที่ตนไปเข้าสังกัดใหม่ยังไม่ถึง 90 วัน

(3) เงื่อนไขการยื่นญัตติของเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ แก้ไขเงื่อนไขการยื่นญัตติการขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลให้ทำได้ยากขึ้น โดยมีเงื่อนไขว่า การยื่นญัตติของเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีต้องมีเสียงสนับสนุนญัตติไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร และการยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี ต้องมีเสียงสนับสนุนญัตติไม่น้อยกว่า 2 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร และต้องเสนอชื่อผู้สมควรดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนต่อไปด้วย

(4) การแบ่งแยกอำนาจหน้าที่และตัวบุคคลระหว่างอำนาจนิติบัญญัติกับอำนาจฝ่ายบริหาร ตามรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2534 นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีดำรงตำแหน่งหรืออาจดำรงตำแหน่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในอีกฐานะหนึ่งด้วย แต่ตามรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2540 กำหนดให้นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในวันถัดจากวันที่ครบ 30 วัน นับตั้งแต่วันที่มีพระบรมราชโองการแต่งตั้ง ทั้งนี้ เพื่อให้นายกรัฐมนตรีสามารถควบคุมรัฐมนตรีร่วมรัฐบาลได้มากขึ้น หากไม่เชื่อฟังก็อาจสั่งปลดและมีผลทำให้พ้นจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไปด้วย ทำให้หลดลอยจากเวที่การเมืองในสภาผู้แทนราษฎร

(5) กลไกตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ มีการจัดตั้งองค์กรอิสระให้ทำหน้าที่ตรวจสอบการเข้าสู่ตำแหน่งทางการเมือง และการใช้อำนาจรัฐเพื่อให้เกิดหลักประกันว่าการเข้าสู่ตำแหน่งและการใช้อำนาจรัฐของอำนาจฝ่ายต่างๆเป็นไปโดยถูกต้องและโปร่งใส เช่น มีการจัดตั้งคณะกรรมการการเลือกตั้งให้ทำหน้าที่ควบคุมและดำเนินการจัดหรือจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น ฯลฯ จัดตั้งผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา โดยให้มีอำนาจหน้าที่พิจารณาอละสอบสวนข้อเท็จจริงตามคำร้องเรียนในกรณี (ก) การไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย หรือปฏิบัตินอกเหนืออำนาจหน้าที่ตามกฎหมายของข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น (ข) การปฏิบัติหรือละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการ หรือพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น ที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ร้องเรียนหรือประชาชนโดยไม่เป็นธรรม ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือไม่ชอบด้วยอำนาจหน้าที่ก็ตาม (ค) ฯลฯ จัดตั้งคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อให้ทำหน้าที่ป้องกันและปราบปรามการทุจริตโดยมีอำนาจหน้าที่ คือ (1) ไต่สวนข้อเท็จจริงและสรุปสำนวนพร้อมทั้งทำความเห็นเสนอต่อวุฒิสภา (2) ไต่สวนข้อเท็จจริงและสรุปสำนวนพร้อมทั้งความเห็นส่งไปยังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง (3) ไต่สวนและวินิจฉัยว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐร่ำรวยผิดปกติ กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม เพื่อดำเนินการต่อไปตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (4) ตรวจสอบความถูกต้องและความมีอยู่จริง รวมทั้งความเปลี่ยนแปลงของทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงและผู้บริหารและสมาชิกท้องถิ่น (5) ฯลฯ ทั้งนี้ ความเป็นอิสระขององค์กรต่างๆดังกล่าวข้างต้น ได้รับการรับรองโดยรัฐธรรมนูญ การเข้าสู่ตำแหน่งของบุคลากรระดับสูงขององค์กร เช่น คณะกรรมการที่ทำหน้าที่ตัดสินชี้ขาดประเด็น หรือตำแหน่งเลขาธิการสำนักงาน การบริหารองค์กร การบริหารงานบุคคล การงบประมาณ และการบริหารงานอื่น

(6) การสรรหาและการเลือกกรรมการ ป.ป.ช. สำหรับการสรรหาและการเลือกกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งมีหน้าที่ในกระบวนการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงในฐานะเป็นกลไกไต่สวนข้อเท็จจริงและชี้มูลความผิด จะต้องกระทำโดยแยกเป็น 2 ขั้นตอน ดังนี้ ขั้นตอนที่ 1 ให้จัดตั้งคณะกรรมการสรรหากรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ มีจำนวน 15 คน เป็นกรรมการ ประกอบด้วย ประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด อธิการบดีของสถาบันอุดมศุกษาของรัฐที่เป็นนิติบุคคลทุกแห่ง ซึ่งเลือกกันเองให้เหลือ 7 คน ผู้แทนพรรคการเมืองทุกพรรคที่มีสมาชิกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคละ 1 คน ซึ่งเลือกกันเองให้เหลือ 5 คน ขั้นตอนที่ 2 วุฒิสภาประชุมเพื่อมีมติเลือกตัวบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อโดยคณะกรรมการสรรหาในขั้นตอนที่ 1ซึ่งคณะกรรมการจะเสนอชื่อตัวบุคคลมาเป็นจำนวน 2 เท่าของจำนวนที่วุฒิสภาจะลงมติเลือก

(7) ความเป็นกลางของวุฒิสภาในการทำหน้าที่แต่งตั้งและถอดถอนกรรมการ ป.ป.ช. มีการปรับเปลี่ยนบทบาทของวุฒิสภาให้เป็นสภาแห่งรัฐที่เป็นกลางทางการเมือง ทำหน้าที่กลั่นกรองกฎหมาย ควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน เลือกกรรมการขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ และมีอำนาจถอดถอนเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง รวมทั้งกรรมการ ป.ป.ช.

(8) การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองจากระบบประชาธิปไตยโดยผู้แทนเป็นประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะเห็นได้จากการจัดให้มีมาตรการสำหรับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่จะเข้าชื่อร้องขอถอดถอนนักการเมืองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ดำรงตำแหน่งในระดับสูง ที่ประชาชนเห็นว่าร่ำรวยผิดปกติ ส่อว่ากระทำการทุจริต หรือส่อว่ากระทำผิดต่อหน้าที่ หรือส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย ฯลฯ แต่ในกรณีเช่นนี้จะต้องมีผู้ร่วมเข้าชื่อไม่น้อยกว่า 50,000 คน

โดยสรุปหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ได้มีการสร้างมาตรการทางรัฐธรรมนูญเพื่อความเข้มแข็งให้กับฝ่ายบริหาร แต่ในเวลาเดียวกันก็ได้มีการสร้างกลไกที่เป็นกลางทางการเมือง เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลกับอำนาจฝ่ายอื่นในกรณีที่มีการใช้อำนาจรัฐไปในทางมิชอบ รวมทั้งการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ

ปัญหาการถอดถอนภายใต้โครงสร้างทางการเมืองใหม่

ความพยายามในการสร้างความเข้มแข็งให้กับฝ่ายบริหารโดยอาศัยมาตรการด้านระบบเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มาตรการเกี่ยวกับสิทธิของบุคคลในการสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มาตราจำกัดสิทธิของฝ่ายค้านในการยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ปรากฎว่ามาตรการต่างๆดังกล่าวมีแนวโน้มจะไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ทางการเมืองที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว กล่าวคือจากสภาวะการณ์ทางการเมืองที่มีพรรคการเมืองขนาดเล็กและขนาดกลางจำนวนมาก โดยไม่มีพรรคการเมืองขนาดใหญ่ที่มีเสียงมากพอจะจัดตั้งรัฐบาลได้เพียงลำพังพรรคเดียว ปรากฏว่าในการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ปรากฏว่า พรรคไทยรักไทย ซึ่งจัดตั้งขึ้นมาไดเพียง 2 ปี เศษ สามารถใช้ความได้เปรียบในด้านการเงิน รวบรวมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเข้าไว้ในสังกัดพรรค หรือที่พูดกันเป็นภาษาชาวบ้านว่า”ดูด ส.ส. เข้าพรรค” นโยบายพรรคแนวประชานิยมอย่างรุนแรง การโฆษณาหาเสียงทำเป็นแผ่นป้ายขนาดใหญ่พร้อมทั้งรูปหัวหน้าพรรคติดทั่วประเทศล่วงหน้านานเป็นเวลา 2 ปี ก่อนการเลือกตั้ง และการจูงใจโดยประยุกต์ยุทธศาสตร์เชิงธุรกิจ ตลอดจนความเบื่อหน่ายในความไม่สามารถของรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ที่มีผลงานต่ำกว่าความคาดหวังของประชาชน ช่วงชิงการนำทางการเมือง สามารถไขว่คว้าชัยชนะในการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ. 2544 เหนือพรรคการเมืองที่เป็นคู่ต่อสู้อย่างท่วมท้น โดยมีผลการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2544 ปรากฎ ดังนี้

ชื่อพรรค ส.ส. แบ่งเขต ส.ส. บัญชีรายชื่อ รวมที่นั่ง


(1) ไทยรักไทย 200 48 248

(2) ประชาธิปัตย์ 97 31 128

(3) ชาติไทย 35 6 41

(4) ความหวังใหม่ 28 8 36

(5) ชาติพัฒนา 22 7 29

(6) เสรีธรรม 14 - 14

(7) ราษฎร 2 - 2

(8) กิจสังคม 1 - 1

(9) ถิ่นไทย 1 - 1

รวม 400 100 500

ที่มา คณะกรรมการการเลือกตั้ง

การเป็นพรรคการเมืองขนาดใหญ่ของพรรคไทยรักไทยมิได้หยุดอยู่เพียงแค่การปฏิบัติการเพื่อให้ได้ชัยชนะอย่างท่วมท้นในสนามเลือกตั้งเท่านั้น แต่หลังการเลือกตั้ง พรรคไทยรักไทยยังทำงานอย่างไม่หยุดยั้ง พยายามสร้างพันธมิตรกับพรรคแนวร่วม เช่น พรรคชาติไทย พรรคชาติพัฒนา และพยายามรวมพรรคเล็กพรรคน้อยที่มีความใกล้ชิดให้เป็นเนื้อเดียวกัน ได้แก่ พรรคเสรีธรรม และพรรคความหวังใหม่ การยุบรวมพรรคทั้งสองนั้นเข้ากับพรรคไทยรักไทย ทำให้พรรคไทยรักไทยกลายเป็นพรรคขนาดใหญ่ที่มีที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรเกินครึ่งจำนวนมาก และกลายเป็นพรรคเสียงข้างมากโดยเด็ดขาด ดังปรากฎข้อมูลจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนของพรรคต่างๆหลังการยุบรวมพรรคอื่นเข้ากับพรรคไทยรักไทยดังนี้ (ข้อมูลเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2546)

ชื่อพรรค ส.ส. แบ่งเขต ส.ส. บัญชีรายชื่อ รวมที่นั่ง

(1) ไทยรักไทย 242 53 295

(2) ประชาธิปัตย์ 98 32 130

(3) ชาติไทย 33 6 39

(4) ชาติพัฒนา 24 7 31

(5) ราษฎร 2 - 2

(6) กิจสังคม 1 - 1

(7) มวลชน - 1 1

(8) ความหวังใหม่ - 1 1

รวม 400 100 500

ที่มา คณะกรรมการการเลือกตั้ง

แนวโน้มเช่นนี้ดูเหมือนยังไม่หยุดอยู่เพียงเท่านี้ พรรคไทยรักไทยยังมีความพยายามอย่างมากที่จะขยายพรรคให้มีขนาดใหญ่ขึ้นกว่าเดิมอีกโดยรวมพรรคชาติพัฒนาและพรรคชาติไทยเข้าไว้เป็นเนื้อเดียวกับพรรคไทยรักไทย และมีนโยบายที่จะสร้างความนิยมในหมู่ประชาชนผู้ยากไร้อย่างไม่หยุดยั้ง เช่น นโยบายโอนสินทรัพย์เป็นทุน นโยบายแจกโฉนดที่ดิน นโยบายเอื้ออาทรต่างๆ บ้านราคาถูก คอมพิวเตอร์ราคาถูก รถเท็กซี่ราคาถูก เป็นอาทิ นโยบายขจัดความยากจนภายใน 6 ปี นโยบายแจกทุนการศึกษาแก่นักเรียน

ปัญหาทางการเมืองของไทยขณะนี้เป็นเรื่องตรงกันข้ามกับเมื่อครั้งก่อนปฏิรูป คือ รัฐบาลมีเสถียรภาพมากเกินไป จนทำให้พรรคฝ่ายค้านขาดช่องทางที่จะตรวจสอบรัฐบาล อีกทั้งรัฐบาลก็ไม่ชอบให้สื่อมวลขน หรือนักวิชาการวิพากษ์วิจารณ์ ถ้าใครวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลก็อาจถูกโต้กลับด้วยถ้อยคำที่รุนแรง นอกจากนี้รัฐบาลยังเข้าทำการปฏิรูประบบราชการทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทั้งทหารและพลเรือน ทั้งนี้ไม่ต้องพูดถึงธุรกิจภาคเอกชน ซึ่งนักการเมืองในพรรครัฐบาลล้วนมีภูมิหลังและครอบครัวอยู่ในวงการธุรกิจขนาดใหญ่ทั้งสิ้น ประเด็นที่นักสังเกตการณ์ทางการเมืองกลัว คือ กลัวว่ารัฐบาลจะแข็งเกินไป ไม่เปิดทางให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการทางการเมืองการปกครอง รวมถึงผู้นำมีความมั่นใจในความสามารถของตนเองมาก เและไม่ฟังเสียงของประชาชน อันจะทำให้ระบบการปกครองกลายเป็นระบอบเผด็จการ อันจะทำให้กลไกต่างๆตามรัฐธรรมนูญไม่สามารถทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจฝ่ายบริหาร ความกลัวเกรงว่ารัฐบาลทักษิณจะเป็นเผด็จการนั้น มีเหตุผลที่ฟังได้ดังนี้

(1) เงื่อนไขการสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่กำหนดให้ต้องสังกัดพรรคการเมืองพรรคใดพรรคหนึ่ง และต้องเป็นสมาชิกของพรรคนั้นต่อเนื่องกันไม่น้อยกว่า 90 วัน เงื่อนไขดังกล่าวทำให้การโอนย้ายสังกัดพรรคในระยะสั้นในช่วงเวลามีการเปิดรับสมัครเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กระทำไม่ได้ อันจะทำให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในสังกัดพรรคใดต้องลงสมัครในสังกัดพรรคนั้นต่อไป หรือไม่ลงสมัครรับเลือกตั้ง

(2) เมื่อนักการเมืองได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแล้ว การลาออกจากพรรคการเมืองที่ตนสังกัด จะมีผลให้เสียสมาชิกภาพการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือในกรณีฝ่าฝืนมติพรรค และถูกพรรคขับออกจากการเป็นสมาชิกพรรค ก็จะมีผลทำให้เสียสมาชิกภาพของการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สรุปก็คือการย้ายสังกัดจากพรรคหนึ่งไปอีกพรรคทำได้ยากภายใต้เงื่อนไขของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน

(3) เงื่อนไขการยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีที่กำหนดให้ต้องมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรลงชื่อรับรองมากถึง 1 ใน 5 ในกรณีรัฐมนตรี และ 2 ใน 5 ในกรณีของนายกรัฐมนตรี หากพรรคไทยรักไทยได้ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรอย่างท่วมท้นอย่างที่ผู้นำพรรคคาดการณ์ไว้คือ 400 ที่นั่ง จากทั้งหมด 500 ที่นั่ง จะทำให้กลไกการตรวจสอบโดยสภาผู้แทนราษฎรใช้ปฏิบัติไม่ได้ เนื่องจากฝ่ายค้านมีเสียงในสภาผู้แทนราษฎรไม่มากพอที่จะยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจได้ ซึ่งในปัจจุบันเท่าที่เป็นอยู่ ฝ่ายค้านก็ไม่สามารถยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีอยู่แล้ว เนื่อจากรัฐบาลมีเสียงสนับสนุนในสภาผู้แทนราษฎรมากกว่า 300 เสียง

(4) การที่พรรคไทยรักไทยมีเสียงข้างมากเด็ดขาดในสภาผู้แทนราษฎร ทำให้รัฐบาลมีอำนาจมากล้นพ้น ครอบงำคณะกรรมการสรรหากรรมการองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ครอบงำวุฒิสภา ดังปรากฎเป็นข่าวในสื่อมวลชนในกรณีการสรรหาและเลือกกรรมการ ป.ป.ช. และการเลือกประธานวุฒิสภา ทั้งนี้เนื่องจากองค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหามีทั้งอธิการบดีสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ ซึ่งเป็นข้าราชการประจำ และตัวแทนพรรคการเมืองที่มีสมาชิกพรรคได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ล้วนเป็นช่องทางให้รัฐบาลใช้อำนาจและความเชื่อมโยงชี้นำได้ ในส่วนของอำนาจครอบงำเหนือวุฒิสภานั้น สมเกียรติ อ่อนวิมล สมาชิกวุฒิสภาจากจังหวัดสุพรรณบุรีกล่าวเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2546 ในโอกาสการจัดสัมมนาวันรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันครบรอบ 6 ปีว่า “วุฒสภาปัจจุบันหากสำรวจพฤติกรรมการลงคะแนน พฤติกรรมการอภิปราย หรือการแสดงออกในที่สาธารณะ ผนวกกับการแสดงบทบาททางสังคมส่วนภายในของวุฒิสภาเอง พร้อมด้วยข้อมูลทางลับอื่นๆที่พอสืบค้นได้ สามารถประมาณจำนวนสมาชิกวุฒิสภาที่ฝักใฝ่รัฐบาล โดยเฉพาะพรรคไทยรักไทยได้ประมาณ มากกว่าหรือน้อยกว่า 70 คน รวมกับกลุ่มเป็นกลางที่ตัดสินใจด้วยเหตุผล สนับสนุนรัฐบาลบ้าง คัดค้านรัฐบาลบ้าง ตามแต่เหตุและผล กลุ่มนี้ก็ช่วยให้คะแนนเสียงที่สนับสนุนรัฐบาลเพิ่มขึ้นไปอีกมากน้อยตามแต่ประเด็นพิจารณา”

(5) การที่รัฐบาลมีอำนาจครอบงำกรรมการสรรหาและการเลือกกรรมการขององค์กรอิสระ จะทำให้ความเป็นกลางทางการเมืองของวุฒิสภาและคณะกรรมการสรรกรรมการกรรมขององค์กรอิสระสูญเสียไป และไม่สามารถทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาลได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกต่อไป และไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่ต้องการให้กลไกดังกล่าวเป็นหลักประกันความเป็นธรรมให้กับสังคม

จากที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ อาจสรุปได้ว่าความพยายามในการปฏิรูประบบการเมืองเพื่อสร้างความเข้มแข็งและเสถียรภาพให้กับรัฐบาลโดยผ่านทางระบบเลือกตั้ง ระบบพรรคการเมือง และมาตรการจำกัดบทบาทของฝ่ายค้านในการยื่ญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล และการมีส่วนร่วมของประชาชน อาจไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ของบ้านเมืองที่เปลี่ยนไป และการเกิดขึ้นของนักธุรกิจรุ่นใหม่ที่ผันตัวเองข้าสู่วงการทางการเมือง ส่งผลให้กลไกการตรวจสอบควบคุมการใช้อำนาจรัฐไร้ประสิทธิภาพ ประชาชนขาดการมีส่วนร่วมที่แท้จริง และในที่สุด อาจชักนำระบบการเมืองเข้าสู่ระบบผูกขาดอำนาจโดยบุคคลหรือโดยกลุ่ม ถ้าไม่ใช่ระบบเผด็จการ