ผลต่างระหว่างรุ่นของ "ประชาธิปไตยไทยจากมุมมองทฤษฎีชนชั้นนำ"
ลไม่มีความย่อการแก้ไข |
ไม่มีความย่อการแก้ไข |
||
(ไม่แสดง 1 รุ่นระหว่างกลางโดยผู้ใช้คนเดียวกัน) | |||
บรรทัดที่ 1: | บรรทัดที่ 1: | ||
'''ผู้เรียบเรียง''' รองศาสตราจารย์พรชัย เทพปัญญา | '''ผู้เรียบเรียง''' รองศาสตราจารย์พรชัย เทพปัญญา | ||
---- | ---- | ||
'''วารสารสถาบันพระปกเกล้า ปี 2548 ฉบับที่ 2''' | |||
---- | |||
==ประชาธิปไตยไทยจากมุมมองทฤษฎีชนชั้นนำ== | ==ประชาธิปไตยไทยจากมุมมองทฤษฎีชนชั้นนำ== | ||
บรรทัดที่ 145: | บรรทัดที่ 146: | ||
<references/> | <references/> | ||
[http://www.kpi.ac.th/kpith/pdf/%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%A3/48/02%20%E0%B8%9B%E0%B8%8A%E0%B8%95%20%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2%E0%B8%88%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%A1%E0%B8%B8%E0%B8%A1%E0%B8%A1%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%97%E0%B8%A4%E0%B8%A9%E0%B8%8E%E0%B8%B5%E0%B8%8A%E0%B8%99%E0%B8%8A%E0%B8%B1%E0%B9%89%E0%B8%99%E0%B8%99%E0%B8%B3-%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%8A%E0%B8%B1%E0%B8%A2.pdf ประชาธิปไตยไทยจากมุมมองทฤษฎีชนชั้นนำ'''(PDF Download)'''] | |||
[[หมวดหมู่:วารสารปีที่ 3 ฉบับที่ 2 เดือนพฤษภาคม - สิงหาคม 2548]] | [[หมวดหมู่:วารสารปีที่ 3 ฉบับที่ 2 เดือนพฤษภาคม - สิงหาคม 2548]] |
รุ่นแก้ไขปัจจุบันเมื่อ 16:51, 18 กันยายน 2556
ผู้เรียบเรียง รองศาสตราจารย์พรชัย เทพปัญญา
วารสารสถาบันพระปกเกล้า ปี 2548 ฉบับที่ 2
ประชาธิปไตยไทยจากมุมมองทฤษฎีชนชั้นนำ
ความนำ
การปฏิรูปการเมืองเป็นเรื่องที่สนใจกันมาก ช่วงก่อนปี พ.ศ.2540 คือในสมัยรัฐบาลของนายบรรหาร ศิลปอาชา ความล้มเหลวของระบบการเมืองเก่า ข้าราชการมีอำนาจ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจ ปัญหาการซื้อสิทธิ์ ขายเสียง การทุจริตคอรัปชั่น เกิดขึ้นตลอดเวลาในระบบการเมืองไทยในยุคนั้น ความคิดการปฏิรูปการเมืองก็เกิดขึ้นมา โดยมีรัฐธรรมนูญปี พ.ศ.2540 เป็นคำตอบในการปฏิรูปการเมือง โดยให้ความสำคัญต่อประชาชนและการมีส่วนร่วมของประชาชนมากขึ้น พูดง่าย ๆ ก็คือทำการเมืองให้เป็นเรื่องของพลเมือง มากกว่าของนักการเมือง หรือข้าราชการนั้นเอง แต่อย่างไรก็ตามในการปฏิรูปการเมืองในครั้งนั้นก็มีความขัดแย้งในด้านความคิดกันพอสมควร ส่วนหนึ่งมองการปฏิรูปโดยมีบริบทของกฎหมายเป็นหลัก โดยมีความเชื่อว่า ถ้ารัฐธรรมนูญดี ทุกอย่างจะดีไปหมด ถ้าเรายังจำกันได้ในการโฆษณาประชาสัมพันธ์ในการปฏิรูปการเมืองในครั้งนั้น ทำให้ประชาชนเข้าใจว่า การปฏิรูปการเมืองเป็นเสมือนหนึ่งยาที่จะแก้สารพัดโรคได้ แม้แต่กระทั้งในเรื่องของเศรษฐกิจ และสังคม
จากกระแสหลักโดยมองบริบทของกฎหมายเป็นหลัก ได้รับอิทธิพลจากกลุ่มนักวิชาการทางกฏหมายมหาชนที่มีความเชื่อในลัทธิรัฐธรรมนูญนิยมซึ่ง เชื่อว่ารัฐธรรมนูญที่ดีจะทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างดีไปหมด ผมเองในฐานะนักรัฐศาสตร์ ผมไม่เชื่อในสิ่งที่พวกรัฐธรรมนูญนิยมเชื่อกัน ผมไม่เชื่อว่าจะสามารถพลิกฟ้าได้ในเวลาข้ามคืน แต่ผมเชื่อว่ากรุงโรมไม่ได้สร้างเสร็จในวันเดียว เพราะฉะนั้นในทางรัฐศาสตร์การวิวัฒนาการเป็นสิ่งจำเป็นมากทางการเมือง การเปลี่ยนแปลงทีละเล็กละน้อย เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ประชาชนเรียนรู้ถึงสิ่ง ต่าง ๆ ทางการเมืองได้มากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อกล่าวถึงการสร้างจิตสำนึกทางการเมืองของประชาชน นักวิชาการมักจะพูดกันเสมอว่าต้องสร้างจิตสำนึกให้ประชาชน แต่ผมเชื่อว่าจิตสำนึกมันสร้างไม่ได้ไม่ว่าใครทั้งนั้น แต่จิตสำนึกมันจะเกิดขึ้นเองในกระบวนการเรียนรู้ทางการเมือง หรือกล่าวอย่างง่าย ๆ คือ ปัจเจกชนต้องพัฒนาด้วยตัวเขาเอง การลองผิดลองถูกดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่ไม่ดี แต่ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องของวิวัฒนาการที่จะพัฒนานำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ผมเคยมีวิวาทะกับเพื่อนในแวดวงวิชาการ ว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่จะปฏิรูปการเมืองให้ใสสะอาดนั้นจะทำได้จริงหรือไม่ ผมว่าจากการเลือกตั้งซึ่งผ่านมาแล้วสองครั้ง คงจะให้คำตอบในประเด็นปัญหานี้ดีที่สุด องค์กรอิสระซึ่งเป็นกลไกส่วนหนึ่งที่ผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ภูมิใจว่าน่าจะเป็นองค์กรกลางที่ทำหน้าที่เพื่อความถูกต้องของประเทศชาติและของสังคม ตอนนี้เขาคงเห็นกันแล้วว่าผลที่ออกมาเป็นอย่างไร ผมเคยเป็นส่วนหนึ่งของการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอยู่ 6 ปี ระบบการเมืองมันไม่ใช่เหมือนที่เราคิดมันมีสิ่งที่ซ่อนเร้นอีกมากมาย ซึ่งผมก็อยากจะพูดในที่นี้ แต่มันก็คงไม่สะดวกนัก สำหรับบทความที่ผมจะเสนอต่อไปนี้ จะเป็นการวิเคราะห์การเมืองในระบอบประชาธิปไตย โดยใช้ตัวแบบทฤษฎีของชนชั้นนำ (Elitist Theory)
ทฤษฎีชนชั้นนำนี้จะเป็นในเรื่องการปกครอง การเมือง และเศรษฐกิจ เป็นเรื่องของชนชั้นนำทั้งนั้น ชนชั้นนำจะอยู่ในระบบการเมืองทุกระบบ ไม่ว่าจะเป็นระบบเผด็จการหรือประชาธิปไตย แม้กระทั้งในสังคมอเมริกันที่นักวิชาการมักจะชื่นชม และบอกว่าเป็นประชาธิปไตยนั้น แท้จริงก็เป็นระบบชนชั้นนำ แต่เป็นในลักษณะที่เรียกว่า Plural Elitist Model ซึ่ง Dye และ Zeigler เขียนไว้ในหนังสือที่มีชื่อว่า “The Irony of democracy” ว่าสังคมอเมริกันเป็นสังคมที่แข่งขันกันระหว่างชนชั้นนำหลายกลุ่ม โดยวิถีประชาธิปไตยเป็นสนามแข่งขัน โดยมีประชาชนเป็นผู้ควบคุมชนชั้นนำโดยการเลือกตั้ง แต่การเลือกตั้งก็ถูกกำหนดไว้โดยกฎเกณฑ์ กติกาที่สร้างขึ้นโดยชนชั้นนำ โดยมีคำว่าประชาธิปไตยบังหน้าอยู่ พอกล่าวถึงประเด็นนี้ทำให้ผมมองดูรัฐธรรมนูญของไทยที่มีนักวิชาการหรือผู้ที่ร่างเองบอกว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นรัฐธรรมนูญของประชาชน ตัวผมเองกลับมองตรงกันข้ามว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ เป็นรัฐธรรมนูญที่ร่างโดยชนชั้นนำ เราลองมองดูถึงโครงสร้างของผู้ร่างตั้งแต่ประธาน มาจนถึงกรรมการ เก้าสิบเก้าคน จะเห็นได้ว่าเป็นบุคคลที่เป็นชนชั้นนำทั้งสิ้น อาจจะแตกต่างแต่เพียงสถานะภาพทางเศรษฐกิจ ทางสังคม และทางการเมืองเท่านั้น ประชาชนจริง ๆ จะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเลยถ้ามีก็น้อยมาก ซึ่งตรงกับที่ Dye และ Zeigler ได้อธิบายไว้ว่า ระบบการเมืองจะมีโครงสร้างคล้ายกับรูปพีระมิด กล่าวคือ อำนาจจะมารวมอยู่ที่ยอดของพีระมิด และอำนาจนั้นเกิดมาจากบทบาทหรือตำแหน่งที่ได้ มาจากสถานภาพทางสังคมและทางเศรษฐกิจ ดังนั้นผู้ทรงอำนาจมักจะเป็นผู้ที่มีตำแหน่งสำคัญในธุรกิจ การเงิน การทหาร หรือสถานภาพทางการเมืองอื่น ๆ อำนาจจะอยู่ในกลุ่มชนชั้นนำตลอดเวลา ถึงแม้จะมีการเลือกตั้งแต่อำนาจทั้งหลายก็ยังคงอยู่ในมือของคนกลุ่มเดิมอย่างไม่เคยเปลี่ยนแปลง
ผมว่าสัจจะธรรมในการกล่าวเรื่องนี้ค่อนข้างจะเห็นได้ชัดเจนจากการเมืองไทย เราจะเห็นได้ว่ามีคนไม่กี่คนไม่กี่ตระกูลที่มีอำนาจทางการเมืองอยู่ และหลังจากที่มีรัฐธรรมนูญฉบับนี้ สถานการณ์ของประชาธิปไตยยิ่งเลวร้ายลงไปอีก การแบ่งชั้นของพรรคการเมืองมีอยู่ การมีส่วนร่วมของประชาชนก็อยู่ภายใต้เงื่อนไขของระบบทุน การเลือกตั้งเป็นเพียงสัญลักษณ์ของประชาธิปไตย และเป็นเพียงรางวัลทางการเมือง Political Reward เท่านั้น เพราะฉะนั้นเราต้องเข้าใจว่าทฤษฎีชนชั้นนำยอมรับแนวความคิดที่จะเปิดโอกาสให้พวกมวลชนได้มีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมในระบบการเมืองในสถานะของผู้ปกครองเช่นกัน แต่เงื่อนไขอันนี้เกิดมาจากสภาวะจะยอมของผู้ปกครองเอง กลัวว่าจะเกิดการปฏิวัติโดยพวกมวลชน แต่อย่างไรก็ตามลักษณะการเปลี่ยนแปลงของพวกมวลชนที่จะเข้าไปสู่ศูนย์กลางของอำนาจนั้นจะเป็นไปในลักษณะที่ค่อยเป็นค่อยไป มากกว่าการเปลี่ยนแปลงโดยการปฏิวัติ V. Pareto ได้กล่าวไว้ในหนังสือ “The Mind And Society” อ้างมาจาก T.B. Bottomor ว่า การหมุนเวียนของชนชั้นนำ (The Circulation Of Elite) ไว้ 3 ประการด้วยกัน คือ ในประการแรกเป็นการหมุนเวียนในเฉพาะกลุ่มของพวกชนชั้นนำด้วยกัน จากประเด็นนี้จะเห็นได้ชัดเจนว่าระบบการเมืองไทยก็มีลักษณะเช่นนี้ การสืบทอดมรดกทางการเมืองมีอยู่ให้เห็นเป็นประจำจากพ่อไปสู่ลูก จากสามีไปสู่ภรรยา จากพี่ไปสู่น้อง ซึ่งการมองปัญหานี้เป็นการมองเฉพาะในระบบเครือญาติ แต่ที่ยิ่งแย่ไปกว่านั้นคือ การหมุนเวียนของชนชั้นนำภายในระบบทุน ซึ่งปราศจากการแข่งขันแต่จะเป็นลักษณะความร่วมมือที่จะยึดประเทศ และสูบเอาทรัพยากรของประเทศเป็นประโยชน์ส่วนตน ในประการที่สอง เป็นการหมุนเวียนระหว่างชนชั้นนำกับมวลชนสำหรับการหมุนเวียนในประการนี้ สามารถเกิดขึ้นได้สองลักษณะด้วยกัน กล่าวคือ ในลักษณะแรกมวลชนได้เปลี่ยนสถานภาพตนเองไปเป็นชั้นผู้นำ หรือในลักษณะที่สองได้แก่ การรวมตัวของมวลชนขึ้นเพื่อจะตั้งกลุ่มชนชั้นนำใหม่ขึ้นมา เพื่อต่อสู้กับชนชั้นนำ ที่มีอำนาจอยู่ สำหรับลักษณะที่สองจะเกิดขึ้นได้อยาก
สำหรับระบบการเมืองไทยเพราะในปัจจุบันระบบทุนดูเหมือนว่าจะใหญ่กว่าระบบการเมือง และระบบราชการ เราเคยคิดกันว่าให้รวยขนาดไหนก็ซื้อประเทศไม่ได้ แต่ตอนนี้ผมไม่ค่อยแน่ใจโดยเฉพาะอย่างยิ่งในระบบโลกาภิวัฒน์ (Globalization) เป็นตัวกระตุ้นระบบทุนให้มีอำนาจเบ็ดเสร็จ โดยอาศัยรัฐธรรมนูญรวมพรรคการเมือง ผมเคยสัมภาษณ์ลูกศิษย์คนหนึ่งซึ่งเป็นหมอและเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรษ์อยู่ต่างจังหวัดที่จะเข้ามาเรียนปริญญาเอก ถึงสาเหตุของการรวมพรรคการเมืองที่เขาสังกัดอยู่รวมกับพรรคการเมืองใหญ่คืออะไร คำตอบก็คือเงินนั้นเอง คนที่เจ็บปวดในเรื่องนี้อีกคนก็คือคุณสุเมธ พรหมพันห่าว อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฏร จังหวัดหนองคาย เป็นผู้ก่อตั้งพรรคเสรีธรรม และเป็นผู้ชักจูงให้นายพินิจ จารุสมบัติมาสมัคร สมาชิกสภาผู้แทนราษฏร ที่จังหวัดหนองคาย และเป็นลูกศิษย์ผมเอง เราได้พูดคุยเรื่องสัจจะธรรมของเงิน และผลประโยชน์ในการยุบรวมพรรคการเมืองไม่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวแต่มีทั้งพรรคความหวังใหม่ และชาติพัฒนาก็ตกอยู่ในชะตากรรมเดียวกัน เพราะฉะนั้นผมขอย้ำอีกครั้งว่า แนวคิดของการแข่งขันทางการเมืองเป็นไปได้ยากในสถานการณ์ที่ระบบทุนใหญ่ขึ้น และเบ็ดเสร็จมากขึ้น ในประการสุดาการหมุนเวียนของชนชั้นผู้นำนั้น เป็นการหมุนเวียนระหว่างผลประโยชน์เดิมที่กำลังหมดลงไปกับผลประโยชน์ใหม่ที่เข้ามาแทน สำหรับระบบการเมืองไทยจะเห็นการหมุนเวียนระหว่างผลประโยชน์เดิมกับผลประโยชน์ใหม่อย่างชัดเจน ผลประโยชน์เดิมของระบบการเมืองไทยที่ถือว่าเป็นชนชั้นนำ คือทหารและข้าราชการซึ่งนักสังคมวิทยานามอุโฆษ C. Wright Mills ซึ่งกล่าวไว้ในหนังสือ “The Power Elite” ได้จำแนกชนชั้นนำออกเป็นสามกลุ่มใหญ่ได้แก่ ข้าราชการ (Government Bureaucracies) ผู้บัญชาการทหาร (Military Commanders) และกลุ่มเศรษฐกิจ (Economic Elite)
ในปัจจุบันระบบการเมืองไทยได้ถูกเปลี่ยนมือจากทหารและข้าราชการ มาเป็นระบบทุนอย่างเต็มรูปแบบ สำหรับผมคิดว่าระบบทุนมีขนาดใหญ่นั้นค่อนข้างอันตรายต่อประเทศ เพราะจะขาดการถ่วงดุลจากทหารและข้าราชการ และสิ่งที่แย่ไปกว่านี้คือสถาบันทหารได้ถูกแยกออกจากการเมืองโดยสิ้นเชิง โดยมีการสร้างภาพโดยระบบทุนให้เห็นถึงความน่ากลัว การใช้อำนาจ และความเป็นเผด็จการ เพราะฉะนั้นสถานภาพทางการเมืองของทหารจึงต้องกำจัดออกจากระบบการเมืองอย่างสิ้นเชิง ทั้ง ๆ ที่ในอดีตสถาบันทหารเคยอยู่ในสถานภาพผู้เฝ้ามอง ตรวจสอบและเปลี่ยนแปลงในตัวระบบการเมือง
จากที่ผมได้กล่าวในเบื้องต้นแล้วว่า การเลือกตั้งในระบบประชาธิปไตยแบบชนชั้นนำนั้น เป็นเพียงแต่สัญลักษณ์ทางประชาธิปไตย แต่หาได้สะท้อนถึงความต้องการของประชาชนเลย ถ้าจะมีอานิสงฆ์ถึงประชาชนบ้างก็คงจะเป็นเศษเนื้อที่ประทังชีวิตไม่ให้ตายเท่านั้น จากกรณีศึกษาแนวคิดของชนชั้นนำ ในเรื่องนโยบายสาธารณะ (Public Policy) นั้นจะไม่สะท้อนถึงความต้องการของมวลชน แต่จะแสดงให้เห็นถึงความต้องการของพวกตนเอง ถึงแม้ในบางครั้งจะมีการเปลี่ยนแปลงในนโยบายสาธารณะ แต่การเปลี่ยนแปลงนั้นเกิดขึ้นเพราะพวกชนชั้นนำต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงค่านิยมของตนไม่ใช่เพื่อประชาชน ดังนั้นนโยบายสาธารณะจึงมีลักษณะที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างช้า ๆ และมีขั้นตอน แต่อย่างไรก็ตามพวกชนชั้นนำอาจจะต้องสนองตอบความต้องการของประชาชนบ้าง ถ้าเป็นไปเพื่อการรักษาสถานภาพของตน (Dye และ Zeigler)
ในทรรศนะของ Lasswell ได้กล่าวไว้ในหนังสือ ที่ถือได้ว่าเป็นอมตะเล่มหนึ่งคือ Politics : Who Get What When Hcw ว่า ชนชั้นนำก็คือผู้ที่ทรงอิทธิพลในการที่จะหาประโยชน์หรือคุณค่าจากสังคมให้ได้มากที่สุด โดยเขาได้จำแนกลักษณะของคุณค่าออกเป็นตำแหน่ง (Deference) รายได้ (Income) และสวัสดิภาพ (Safety) นอกจากนี้ Lasswell ยังกล่าวไว้ในหนังสือ Power And Society ว่ามันเป็นสิ่งที่เป็นสากล ว่าทุกสังคมต้องมีการแบ่งคนออกเป็นสองชนชั้น คือ ชนชั้นนำ (Elite) และมวลชน (Mass) ซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของชนชั้นผู้นำ
Mosca นักรัฐศาสตร์ชาวอิตาลี ได้เสริมความคิดของ Lasswell ในหนังสือ The Ruling Llass ว่าในทุกสังคม จากสังคมด้อยพัฒนา หรือที่กำลังพัฒนาไปสู่ความศิวิไลซ์ จนถึงสังคมที่ก้าวหน้า และพัฒนาแล้ว จะมีการแบ่งประชาชนออกเป็นสองชนชั้น กล่าวคือ ชนชั้นนำ (ผู้ปกครอง) และมวลชน (ผู้อยู่ใต้การปกครอง) ชนชั้นนำจะเป็นกลุ่มบุคคลที่มีจำนวนน้อย เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนประชาชนภายในสังคม แต่คนส่วนน้อยเหล่านี้จะเป็นผู้ทรงอำนาจและผูกขาดการใช้อำนาจ เพื่อประโยชน์ของตนทั้งสิ้น สำหรับชนชั้นผู้อยู่ใต้ปกครองถึงแม้จะมีจำนวนมากในสังคม แต่ก็ถูกควบคุมโดยคนจำนวนน้อย เพราะคนจำนวนน้อยเหล่านั้นมีสถานภาพทางเศรษฐกิจ สังคม ที่ทำให้สามารถจัดองค์การได้อย่างเข้มแข็ง มีประสิทธิภาพและมีจุดมุ่งหมายที่แน่นอน เพราะฉะนั้นอำนาจที่ได้มาของชนชั้นนำจึงเกิดจากบทบาทหรือตำแหน่งที่ได้มาจากสถานภาพทางสังคม และทางเศรษฐกิจ ดังนั้นผู้ที่ทรงอำนาจมักจะเป็นผู้ที่มีตำแหน่งสำคัญ ในทางธุรกิจ การเงิน การทหาร หรือสถาบันการเมืองอื่น
ในทฤษฎีมาร์กซิสต์ก็เช่นกันได้มีการแบ่งสังคมออกเป็นชนชั้นด้วยกันคือชนชั้นปกครอง (Ruling Class) และผู้อยู่ใต้ปกครอง (Subject Class) ชนชั้นปกครองจะเป็นผู้ที่ควบคุมปัจจัยในการผลิตทางเศรษฐกิจ สิ่งที่แตกต่างระหว่างทฤษฎีมาร์กซิสต์ และทฤษฎีชนชั้นนำอยู่ที่ว่า ทฤษฎีชนชั้นนำจะให้ความสำคัญของการหมุนเวียนของพวกชนชั้นนำ (Circulation of Elites) ในกรณีที่มีการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงผู้ปกครองโดยกลุ่มบุคคลภายในระบบการเมืองสุดท้ายกลุ่มบุคคลที่ทำการปฏิวัติจะกลายเป็นชนชั้นนำใหม่โดยปริยาย แต่สำหรับทฤษฎีมาร์กซิส เมื่อมีการปฏิวัติโดยมวลชนเกิดขึ้นจะเป็นการสิ้นสุดของผู้ปกครอง และจะนำไปสู่เสรีภาพที่แท้จริงที่ปราศจากผู้ปกครอง
การเมืองไทยช่วงปี พ.ศ.2475 ถึง พ.ศ.2515 กับทฤษฎีชนชั้นนำ
การเปลี่ยนแปลงการเมืองครั้งสำคัญของไทยเกิดขึ้นเมื่อ ปี พ.ศ. 2475 เป็นการเปลี่ยนแปลงจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตยโดยกลุ่มบุคคลที่เรียกตัวเองว่าคณะราษฎร์ ดังนั้นประชาธิปไตยจึงยังไม่ได้เกิดขึ้น จากความต้องการของประชาชน แต่เป็นความต้องการของคณะราษฎร์เอง เมื่อพิจารณาถึงสมาชิกของคณะราษฎร์ เมื่อเริ่มแรกจะเห็นได้ว่าเป็นกลุ่มบุคคลที่มีสถานภาพทางเศรษฐกิจ สังคม การศึกษาสูง ในสมัยนั้นหรืออาจจะกล่าวได้อีกนัยหนึ่งได้ว่า กลุ่มบุคคลเหล่านั้นเป็นชนชั้นนำในยุคนั้น สมาชิกเริ่มแรกที่เข้าร่วมประชุมครั้งแรกประกอบด้วย
1. ร้อยโทประยูร ภมรมนตรี นายทหารกองหนุน เคยเป็นผู้บังคับหมวดทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ ในรัชกาลที่ 6
2. ร้อยโทแปลก ขีตสังขะ สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนเสนาธิการทหารบกสยาม แล้วมาศึกษาที่โรงเรียนนายทหารปืนใหญ่ฝรั่งเศส
3. ร้อยตรีทัศนัย มิตรภักดิ์ดี นายทหารกองหนุน เคยเป็นผู้บังคับหมวดกรมทหารม้าที่ 5 นครราชสีมา
4. นายตั่ว ลพานุกรม นักศึกษาวิทยาศาสตร์ในสวิสเซอร์แลนด์ เคยเป็นจ่านายสิบในกองทหารอาสา เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 1
5. หลวงศิริราชไมตรี (จรูญ สิงหเสนีย์) ผู้ช่วยสถานทูตประจำกรุงปารีส เคยเป็นนายสิบตรี ในกองทหารอาสาเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 1
6. นายแนบ พหลโยธิน เนติบัณฑิต
7. นายปรีดี พนมยงค์ นักศึกษาทุนศึกษา วิชากฎหมายที่มหาวิทยาลัยปารีส
หลังจากการเปลี่ยนแปลงโดยคณะราษฎร์ เมื่อปี พ.ศ.2475 คำถามสำคัญที่ถามอยู่จนกระทั้งทุกวันนี้ ว่าการเปลี่ยนแปลงการปกครองครั้งนั้น เป็นการเปลี่ยนแปลงเพื่อใคร สำหรับคำตอบคงมีชัดเจนอยู่แล้ว ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงให้คณะราษฏร์ มีอำนาจและหลังจากปี พ.ศ.2475 เป็นต้นมา ชนชั้นนำเป็นพวกขุนนางทั้งสิ้น
หลังคณะราษฎรได้ขึ้นปกครองประเทศ ก็เกิดความขัดแย้งระหว่างชนชั้นนำเอง เช่นความขัดแย้งระหว่างนายปรีดี พนมยงค์ กับ พระยามโนปกรณ์ ทำให้ นายปรีดี พนมยงค์ ต้องเดินทางออกนอกประเทศ
ความขัดแย้งภายในคณะราษฏร์ ก็ได้ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องและในวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ.2476 พันเอกพระยาพหล ฯ ก็ได้ร่วมกับพันโทหลวงพิบูลสงครามและนาวาตรีหลวงศุภชลาศัย ก่อการรัฐประหารเป็นผลสำเร็จ และให้พันเอกพระยาพหล ฯ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี (เรืออากาศเอกสมบูรณ์ ไพรินทร์ บันทึกเหตุการณ์ทางการเมืองตั้งแต่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 ถึง 25 ธันวาคม พ.ศ.2515)
จากข้อขัดแย้งภายในของคณะราษฏร์สิ่งที่ถูกกล่าวอ้างตลอดเวลาก็คือเป็นความขัดแย้งระหว่างกลุ่มอนุรักษ์นิยมกับกลุ่มก้าวหน้าซึ่งมีนายปรีดี พนมยงค์ เป็นหัวหน้ากลุ่มแต่อย่างไรก็ตามสามารถสรุปความได้ว่า เป็นความขัดแย้งระหว่างชนชั้นนำในยุคนั้น
หลังจากหมดยุคของคณะราษฎร์ การเมืองไทยก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมากนักจะเห็นได้ว่ามีกบฏ รัฐประหารอยู่ตลอดเวลา มีการเลือกตั้งสลับเป็นบางครั้งจนกระทั่งนักวิชาการสรุปว่าเป็นวัฏจักรแห่งความชั่วร้าย[1]
แผนภาพที่ 1 วัฏจักรแห่งความชั่วร้าย
สรุปได้ว่าในช่วงระหว่างปี พ.ศ.2475 – พ.ศ.2500 ได้มีการปฏิวัติ รัฐประหารประมาณ 10 ครั้งด้วยกัน
การเมืองไทยหลังปี พ.ศ.2500 ก็มีลักษณะที่ไม่ได้แตกต่างมากมายนักกับในช่วงแรก ทหารยังคงมีอำนาจเช่นเดิม ผู้สืบทอดเจตนารมณ์ของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็คือจอมพลถนอม กิตติขจร
การเมืองไทยช่วงปี พ.ศ. 2516 – พ.ศ. 2539 ก่อนการปฏิรูปการเมือง
การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไทยที่สำคัญอีกครั้ง ได้แก่การปฏิวัติโดยนักศึกษา และประชาชนเมื่อ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 เหตุการณ์ในครั้งนั้น ถือได้ว่าเป็นการมีส่วนร่วมของประชาชน เป็นครั้งแรกในวิวัฒนาการของการเมืองไทยที่สามารถเปลี่ยนแปลงระบบการเมืองได้ หลังจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ได้มีรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2517 ออกมาใช้ รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวมีความเป็นประชาธิปไตยมากในยุคนั้นแต่อย่างไรก็ตามรัฐธรรมนูญ 2517 ก็ใช้ได้เพียงชั่วคราวและได้เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 โดยมี พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ เป็นหัวหน้าและ พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ เป็นเลขาธิการได้เข้ายึดอำนาจการปกครองประเทศเป็นผลสำเร็จ
เมื่อปี พ.ศ. 2521 ได้มีรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับใหม่เกิดขึ้น โดยมีพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ เป็นนายกรัฐมนตรี หลังจากพลเอกเกรียงศักดิ์ ก็เป็นพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ และพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรีคนสุดท้ายของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ และถูกปฏิวัติโดยกลุ่มทหารซึ่งนำโดยพลเอกสุนทร คงสมพงษ์ โดยมี นายอานันท์ ปัญญารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี
หลังจากรัฐบาลอานันท์ ปัญญารชุน ก็ได้มีรัฐธรรมมนูญ ปี 2534ประกาศใช้และได้เกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ขึ้นสมัยที่พลเอกสุจินดา คาประยูรเป็นนายกรัฐมนตรี ในที่สุดต้องยุบสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2535 รัฐบาลในช่วงสุดท้ายของรัฐธรรมนูญ ปี 2534 ได้แก่ รัฐบาลของนายชวนหลีกภัย เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2535 รัฐบาลของนายบรรหาร ศิลปอาชา เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2538 และรัฐบาลของพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2539 และรัฐบาลนายชวน หลีกภัย เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2540[2]
จากช่วงประวัติศาสตร์การเมืองไทยก่อนการปฏิรูปการเมือง (พ.ศ.2517-2539) จะเห็นได้ว่าไม่ได้แตกต่างกันกับการเมืองไทยในระหว่างปี 2475 – 2500 เท่าไรนัก การเมืองไทยยังมีลักษณะแก่งแย่งอำนาจระหว่างนักการเมืองและทหารอยู่ตลอดเวลา ทั้งนี้นักการเมืองและทหารก็อาศัยฐานอำนาจของประชาชนมาสร้างความชอบธรรมในการปกครองประเทศ นักการเมืองใช้วิธีการเลือกตั้ง ส่วนทหารใช้วิธีการปฏิวัติ กล่าวหาว่านักการเมืองทุจริตคอร์รัปชั่น สำหรับระบบทุนในการเมืองในยุคก่อนปฏิรูปการเมือง ยังไม่มีบทบาทมากนัก ส่วนใหญ่จะอยู่เบื้องหลังของสถาบันหลักคือทหาร และนักการเมือง ระบบทุนตระหนักแต่เพียงความอยู่รอดของธุรกิจ หรือความเจริญเติบโตทางธุรกิจมากกว่าการเข้าสู่การเมืองเต็มตัว มีเพียงบางครั้ง ที่เข้ามาในลักษณะของตัวประกอบโดยเข้ามาในตำแหน่งรัฐมนตรี หรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
การปฏิรูปการเมือง : รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันการเข้าสู่การเมืองของระบบทุน
ก่อนหน้าของรัฐธรรมนูญปี 2540 ได้ประกาศให้การเมืองไทยจะเป็นเรื่องของคนสองกลุ่ม คือทหารและนักการเมือง โดยบุคคลสองกลุ่มนี้มีนักธุรกิจหรือระบบทุนสนับสนุนอยู่ สำหรับข้าราชการคงมีหน้าที่เพียงรอคอยการสนองตอบนโยบายของผู้มีอำนาจเท่านั้น
รัฐธรรมนูญ ปี 40 ถูกตั้งความหวังไว้มากมายในการที่จะทำให้การเมืองดีขึ้น ทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น มีการตรวจสอบนักการเมือง ข้าราชการและผู้ดำรงตำแหน่งสูง ๆ ทางการเมือง ดังจะเห็นได้จากมาตรา 214 ประชาชนลงมติได้ในเรื่องที่ผลกระทบต่อประเทศชาติและประชาชน มาตรา 286 ประชาชนสามารถถอดถอน สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นได้ มาตรา 304 เป็นมาตราที่เกี่ยวกับการถอดถอนจากตำแหน่งของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ เช่น นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฏร สมาชิกวุฒิสภา นอกจากนี้ยังมีอีกหลายมาตรา ที่พยามให้ความสำคัญ กับการมีส่วนร่วมของประชาชน เช่นมาตรา 170 ประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งห้าหมื่นคนเสนอกฎหมายให้สภาพิจารณาได้
สรุปได้ว่า จากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองด้วยวิธีการดังต่อไปนี้
1. การเลือกตั้งตัวแทน ทั้งในระดับชาติและท้องถิ่น
2. การถอดถอน (Recall) ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองออกจากตำแหน่ง
3. การริเริ่มกฎหมาย (Initiative) คือการเปิดโอกาสให้ประชาชนเสนอกฎหมายได้
4. การลงประชามติ (Referendum) คือการเปิดโอกาสให้ประชาชนลงประชามติในเรื่องกฎหมายที่สำคัญ
จากบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญในแต่ละมาตรา ที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่าการเมืองน่าจะปฏิรูปไปสู่วัตถุประสงค์ได้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว รัฐธรรมนูญฉบับนี้ใช้มาแล้ว 5 ปีโดยประมาณ ประชาชนมีส่วนร่วมเพียงอย่างเดียวคือการเลือกตั้งตัวแทนเท่านั้น ส่วนในมาตราอื่น ๆ กระบวนการทางการเมืองของประชาชนยังไม่เคยทำอะไรที่สำเร็จได้แม้แต่เรื่องเดียว ปัญหาตรงนี้คืออะไร ถ้าจะตอบกันก็คงหลีกเลี่ยงไม่พ้นความรับผิดชอบของตัวแทนประชาชนที่ทำหน้าที่ในแต่ละองค์กร ไม่ว่าจะเป็นสภาผู้แทนราษฏร วุฒิสภา คณะรัฐมนตรี แม้กระทั้งองค์กรอิสระทั้งหลายที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งผมก็เคยกล่าวมาแล้วว่าระบบ ถึงมันจะดีอย่างไร ถ้าคนมันไม่ดี ระบบก็ไม่สามารถขับเคลื่อนไปยังทิศทางที่ต้องการ ปัญหาที่สำคัญ ที่เราพูดกันว่า ในยุคนี้เป็นยุคของการปฏิรูปการเมืองทำไมตัวคนถึงยังไม่ยอมปฏิรูปเสียที คำตอบตรงนี้ผมคิดว่าชัดเจน เมื่อเราเอามุมมองของทฤษฎีชนชั้นนำมาวิเคราะห์ว่า ชนชั้นนำคืออะไร ผมขอกล่าวสั้น ๆ อีกครั้งว่า ชนชั้นนำคือ ชนชั้นที่ครอบครองเศรษฐกิจส่วนใหญ่ในสังคม และการเมืองเช่นกัน
แผนภาพที่ 2 แสดงทฤษฎีชนชั้นนำ
ชนชั้นนำจะรักษาผลประโยชน์แห่งสถานภาพของตนโดยมีวิถีประชาธิปไตย เป็นเครื่องมือในการสร้างความชอบธรรม ผมขอกล่าวถึงหนังสือ สังคมเศรษฐกิจไทยในทศวรรษ 2550 ยุทธศาสตร์การพัฒนา ในกระแสโลกานุวัฒน์ พ.ศ. 2542 ซึ่งอาจารย์รังสรรค์ ธนะพรพันธ์ ได้เขียนไว้ว่า “ชนชั้นนำ ทางอำนาจจะมีที่มาเพียง 2 กระแส กระแสหนึ่งอาศัยศาสตรานุภาพ อีกกระแสหนึ่งอาศัยธนานุภาพ ทั้งสองกระแสต่างแสวงหาส่วนเกินทางเศรษฐกิจ จากการดำเนินนโยบายเหมือนกัน กระแสศาสตรานุภาพต้องการส่วนเกินทางเศรษฐกิจเพื่อหล่อเลี้ยงสายสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ในระบบราชการโดยเฉพาะอย่างยิ่งภายในกองทัพ ส่วนกระแสธนานุภาพต้องการส่วนเกินทางเศรษฐกิจ เพื่อหล่อเลี้ยงสายสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ในตลาดการเมือง นอกระบบราชการ ทั้งสองกระแสมิได้ต่างกัน ที่สวมเสื้อคลุมประชาธิปไตย กระแสศาสตรานุภาพ เมื่อถึงคราวจำเป็นต้องให้มีการเลือกตั้ง ก็สวมเสื้อคลุมประชาธิปไตยเช่นเดียวกับกระแสธนานุภาพ”
จากตรงนี้เราจะเห็นได้ว่า คนกับการเลือกตั้ง กับความเป็นตัวแทนเป็นคนละเรื่องกัน การเลือกตั้งเป็นเพียงวิธีการที่ให้ได้มาซึ่งอำนาจทางการเมืองเท่านั้น ผู้ที่ได้รับการเลือกตั้ง มาในฐานะตัวแทนประชาชนจะนึกถึงประชาชนเมื่อตอนหมดวาระเท่านั้น แต่ระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะตัวแทนประชาชน พวกเขาเหล่านั้นคำนึงถึง ตัวระบบทุนที่เอื้ออำนวย ที่ให้เขาเข้ามาสู่การเมืองได้ ซึ่งอาจจะเป็นปัจจัยเงินทุนของระบบทุนยี่ห้อของพรรคการเมืองที่ทำการตลาดได้เก่ง จนประชาชนไม่สามารถที่จะเห็นสัจธรรมทางการเมือง
ผมเคยตั้งข้อสันนิฐานไว้ในหลายครั้งในวิชาพรรคการเมือง โดยให้นักศึกษาตอบ ข้อสันนิฐานของผม ก็คือพรรคการเมืองต่าง ๆ ที่มีอยู่ปัจจุบันใครเป็นเจ้าของ นักศึกษาส่วนใหญ่ตอบได้หมดตรงนี้แสดงให้เห็นถึงระบบทุน และอุดมการณ์ทางการเมืองของพรรคการเมือง อยู่กันคนละขั้วพรรคการเมืองไม่แตกต่างไปจากบริษัทจำกัดมหาชน ที่หาคนมาลงทุนเพื่อหวังผลตอบแทน
สมาชิกสภาผู้แทนราษฏร แบบบัญชีรายชื่อเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้มีการขยายตัว ของระบบทุนเข้าสู่ระบบการเมืองมากขึ้น พรรคการเมืองสามารถ ที่จะเอาที่นั่งในบัญชีรายชื่อไปหาเงิน และเฉพาะอย่างยิ่งการทำให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฏร ที่มาจากเขตเลือกตั้งกลายเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชั้น 2 ไป ทั้ง ๆ ที่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน ในทางตรงกันข้ามสมาชิกสภาผู้แทนราษฏร แบบบัญชีรายชื่อจะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชั้นหนึ่งไป เพราะไม่ต้องลงแรงไปเดินหาเสียงเลือกตั้ง และที่สำคัญสามารถเป็นรัฐมนตรีได้
จากบัญชีรายชื่อทำให้นักธุรกิจในระบบทุน เข้ามาสู่ระบบการเมืองมากขึ้นถ้าเรามองดูจากบัญชีรายชื่อของสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรในแต่ละพรรคจะเห็นได้ว่ามีหลาย ๆ ตระกูลที่ร่ำรวย ที่เป็นอภิมหาเศรษฐีอยู่ในบัญชีรายชื่อ นอกจากนี้ถ้าดูจากผู้บริหารประเทศก็จะเห็นเป็นไปในลักษณะเดียวกันการที่ตัวแทนจากระบบทุนเข้ามาสู่ระบบการเมืองมากขึ้น เพราะมันง่ายขึ้นไม่ต้องเดินหาเสียงถูกโจมตี สาดโคลน ก็สามารถเข้ามาในระบบการเมืองได้ ปัญหาที่ผมกล่าวนี้ค่อนข้างสำคัญและเป็นผลร้ายต่อประชาธิปไตย เพราะผลสุดท้ายตัวแทนของระบบทุนเท่านั้นที่จะอยู่ในระบบการเมือง ประเทศไทยยังมีคนดีอีกมากมายปัญหาที่ตามมาก็คือ ทำอย่างไรให้เขาเหล่านั้นสามารถเข้าสู่ระบบการเมืองได้
มีนักวิชาการทางรัฐศาสตร์หลายคน อยากจะให้มีพรรคการเมืองน้อยพรรค รัฐบาลจะได้มีเสถียรภาพ ผมเห็นด้วยในแนวคิดนี้ แต่ต้องเป็นปัจจัยที่เกิดจากการเลือกตั้งโดยประชาชนมิใช่เกิดขึ้นเพราะปัจจัยจากการซื้อขายโดย ระบบทุน ผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นตามมาก็คือ พรรคที่มีอุดมการณ์จะหายไปหมด และยังไม่หายเปล่าในบ้างครั้งพรรคที่มีอุดมการณ์ต้องถูกดูถูกดูแคลน อีกต่างหากจากคนที่ไม่เข้าใจในเรื่องการเมือง การที่การเมืองของเราเป็นอย่างนี้จะต้องยอมรับปัจจัยสำคัญที่ทำให้ระบบทุนโตกว่าระบบการเมือง และมีอำนาจอิทธิพลเหนือระบบการเมือง ก็เพราะการเจริญเติบโตของระบบเศรษฐกิจในยุคโลกาภิวัฒน์ ที่ทำให้ระบบทุนของไทย ที่อดีตมีขอบเขตจำกัดแค่ระบบทุนชาติ กลับเปลี่ยนเป็นระบบทุนโลกไปโดยมีธุรกิจด้านสื่อสาร ด้านบันเทิง การผูกขาดสินค้าทางการเกษตรและอื่น ๆ เป็นตัวแปรที่สำคัญ การติดต่อธุรกิจภาคเอกชนโดยรัฐบาลมีมากขึ้น การแข่งขันในธุรกิจ ภายในประเทศมีน้อยลงเพราะผูกขาดมากขึ้น ปัญหาที่ผมกล่าวมานี้ต้องถือว่าเป็นปัญหาที่สำคัญ ต่อประชาธิปไตยไทย
ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์[3] ได้กล่าวว่า ประชาชนชาวไทยส่วนใหญ่ จะชอบรัฐบาลอุปภัมภ์ (Patronage Government) หรือรัฐบาลที่ดี (Good Government) มากกว่าธรรมาภิบาล (Good Governance) ผมเห็นด้วยกับการกล่าวอ้างของ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ สำหรับผมคนไทยส่วนใหญ่จะเป็นแต่เพียงผู้ร้องขอ (Beg) บางครั้งการงอมืองอเท้าของคนในสังคม เพื่อที่รอการร้องขอเพียงอย่างเดียว ก็จะมีผลทำให้การเมืองเป็นไปในทิศทางที่ระบบทุนต้องการ
ความส่งท้าย
การปกครองในระบอบประชาธิปไตยทุกประเทศหลีกหนี แนวคิดของทฤษฎีชนชั้นนำได้ยาก แนวความคิดการปกครองในระบอบประชาธิปไตยเราต้องยอมรับว่ามันยากในทางปฏิบัติ เพราะมีหลายปัจจัยที่ทำให้เจตนารมณ์ของประชาชน ถูกบิดเบือนหรือหายไป อดีตประธานาธิบดี อับบราฮัม ลินคอนส์ กล่าวไว้ว่าการปกครองในระบบประชาธิปไตยเป็นการปกครองของประชาชนโดยประชาชน และเพื่อประชาชน หลาย ๆ คนชอบในคำกล่าวนั้นและเชื่อว่าเป็นจริง สำหรับผมไม่ค่อยแน่ใจนักและอาจจะมีบางส่วนเท่านั้นที่เป็นจริง ในประเทศอเมริกาเราถือว่า เป็นประเทศที่มีระดับความเป็นประชาธิปไตยสูง แต่โดยตัวของระบบการเมืองอเมริกันก็ถูกปกครองโดยคนชั้นนำเช่นเดียวกัน แต่เป็นแบบที่เรียกว่า The Plural Elite Model
สำหรับประเทศไทยผมคิดว่า ตัวของระบบทุนได้พัฒนา ระบบการเมืองเป็นลักษณะของ The Single Elite Model ที่มีการแข่งขันทางการเมืองน้อยมาก เพราะฉะนั้นถ้าเราจะหวังการมีส่วนร่วมของประชาชนทางการเมือง ในกระบวนการทางการเมืองคงจะเป็นไปได้ยาก ถ้ามีคงจะเป็นเพียงแต่รูปแบบที่ธำรงค์ไว้เพื่อให้ครบองค์ประกอบของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เพราะฉะนั้นผมคิดว่าไม่ว่าการเลือกตั้ง หรือการมีส่วนร่วมของประชาชน ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญคงจะเป็นแค่สัญลักษณ์ทางประชาธิปไตยเท่านั้น ยิ่งโดยเฉพาะการเลือกตั้ง เราอย่าพยายามให้ความสำคัญกับการเลือกตั้งมากนัก เพราะการเลือกตั้งเป็นระบบปิด ที่ถูกควบคุมโดยชนชั้นนำและมีกระบวนการที่ทำให้ คนชั่วเป็นคนดี หรือคนดีเป็นคนชั่วได้ ผู้แทนส่วนใหญ่จะรับใช้ระบบทุนมากกว่าประชาชน
การรวมตัวของประชาชนในการเมืองภาคพลเมืองเป็นสิ่งจำเป็น การต่อรองโดยพลังประชาชนก็เป็นสิ่งจำเป็นเช่นกัน เพราะการร้องขอ ปราศจากการต่อรอง หรือแสดงพลังกับระบบทุนแล้วเป็นไปได้ยาก สื่อมวลชนต้องสะท้อนให้เห็นความเป็นจริง ทุกด้านของปรากฏการณ์ในสังคม ไม่อยู่เคียงข้างระบบทุนเพื่อหวังแต่เพียงค่าโฆษณา และสุดท้ายถ้าประชาชน มีความจำเป็นต้องทวงอำนาจอธิปไตยคืนก็จะต้องกระทำ
บรรณานุกรม
นคร พจนวรพงษ์ และ อุกฤษ พจนวรพงษ์. ข้อมูลประวัติศาสตร์การเมืองไทย. กรุงเทพฯ : ไทยวัฒนาพานิช จำกัด, 2542.
ลิขิต ธีรเวคิน. การเมืองการปกครองของไทย. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, พิมพ์ครั้งที่ 4, 2541.
เอนก เหล่าธรรมทัศน์. การเมืองของพลเมืองสู่สหัสวรรษใหม่. กรุงเทพฯ : โครงการจัดพิมพ์คบไฟ, 2543.
T.B. Bottomor. Elites and Society. Maryland : Penguin Books Inc, 1976.
Harold D. Lasswell. Who gets what, when, how. New York : Meridian Books Publishing company, 1968.
Harold D. Lasswell and Abraham Kaplas. Power and Society. New Heaven Conn : Yale University Press, 1959.
Gaetano Mosca. The Ruling class. New York : Mc Graw – Hill Book Co, 1939.
Thomas R. Dye and L. Harman Zeigler. The Irony of Democracy. California : Wadsworth Publishing Company, 1972.
C. Wright Mills. The Power Elite. New York : Oxford University Press, 1956.
Robert L. Lineberry and Ira Sharkansky. Urban Politics and Public Policy. New York : Harper & Row Publishers Inc, 1971.
Floyd Huntes. Community Power Structure. Chapel Hill, University of North Carolina Press 1953.
Robert A. Dahl. Who Govern?. New Haven, Yale University, 1961.
อ้างอิง
- ↑ ลิขิต ธีรเวคิน, การเมืองการปกครองของไทย, (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, พิมพ์ครั้งที่ 4, 2541).
- ↑ นคร พจนวรพงษ์ และ อุกฤษ พจนวรพงษ์, ข้อมูลประวัติศาสตร์การเมืองไทย, (กรุงเทพฯ : ไทยวัฒนาพานิช จำกัด, 2542).
- ↑ เอนก เหล่าธรรมทัศน์, การเมืองของพลเมืองสู่สหัสวรรษใหม่, (กรุงเทพฯ : โครงการจัดพิมพ์คบไฟ, 2543).