ผลต่างระหว่างรุ่นของ "พระมหากษัตริย์นักประชาธิปไตย"

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
Apirom (คุย | ส่วนร่วม)
ไม่มีความย่อการแก้ไข
Apirom (คุย | ส่วนร่วม)
ไม่มีความย่อการแก้ไข
 
บรรทัดที่ 273: บรรทัดที่ 273:
มหาราชในทางรัฐศาสตร์”. รัฐสภาสาร. 47, 12 (ธ.ค. 2542), 1 - 8.รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540.
มหาราชในทางรัฐศาสตร์”. รัฐสภาสาร. 47, 12 (ธ.ค. 2542), 1 - 8.รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540.


[http://www.kpi.ac.th/kpith/pdf/%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%A3/53/01/49-02%2001.%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A1%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%A2%E0%B9%8C%E0%B8%99%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%9B%E0%B8%8A%E0%B8%95.-%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%8A%E0%B8%A3%E0%B8%B2.pdf พระมหากษัตริย์นักประชาธิปไตย'''(PDF Download)''']
[[หมวดหมู่:วารสารปีที่ 4 ฉบับที่ 2 เดือนพฤษภาคม - สิงหาคม 2549]]
[[หมวดหมู่:วารสารปีที่ 4 ฉบับที่ 2 เดือนพฤษภาคม - สิงหาคม 2549]]

รุ่นแก้ไขปัจจุบันเมื่อ 16:46, 18 กันยายน 2556

ผู้เรียบเรียง วัชรา ไชยสาร*


วารสารสถาบันพระปกเกล้า ปี 2549 ฉบับที่ 2


บทนำ

เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2489 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรามาธิบดี จักรีนฤบดินทรสยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร (ภปร.) พระมหากษัตริย์พระองค์ปัจจุบัน เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ ตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบสันตติวงศ์ พ. ศ. 2467 โดยด้วยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร

ต่อมาเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 พระองค์ได้เสด็จขึ้นสู่พระราชพิธีบรมราชา -ภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 9 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ในวันนั้นเอง ทรงเปล่งพระปฐมบรมราชโองการว่า “เราจะปกครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” พระปฐมบรมราชโองการดังกล่าวถือเป็นประถมธรรมิกราชวาจา และเป็นพระราช -สัตยาธิษฐานจะทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจปกครองราชอาณาจักรไทยโดยทศพิธราชธรรม

โดยที่พระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 9 ทรงเสด็จขึ้นครองราชย์ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการเมืองการปกครอง พ.ศ. 2475 เพียง 14 ปี พระองค์จึงทรงครองราชย์ภายใต้การปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งพระราชอำนาจของพระมหา -กษัตริย์ไทยได้เปลี่ยนแปลงไปภายหลังจากการเปลี่ยนแปลงการเมืองการปกครอง พ.ศ. 2475 พระองค์จึงมิได้ทรงมีพระบรมเดชานุภาพจากความกล้าหาญ ความสามารถในการรบ การทำสงคราม หรือการแผ่ขยายพระราชอาณาจักรอย่างกว้างใหญ่ แต่พระองค์เป็นพระมหากษัตริย์ผู้ทรงอันใกล้ชิดกับประชาชนทั้งประชาชนในกรุงเทพฯ ในเมือง ในชนบท และผู้อยู่ห่างไกล โดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล พระราชกรณียกิจและพระราชจริยาวัตรของพระองค์มีมากมายเป็นที่ประจักษ์แก่พสกนิกรทั้งประเทศ เพราะพระองค์ทรงปฏิบัติทั้งพระราช กรณียกิจตามรัฐธรรมนูญ และการบำบัดทุกข์บำรุงสุข ทรงร่วมทุกข์ร่วมสุขกับประชาชนชาวไทยไม่เว้นแม้แต่ราษฎรในถิ่นทุรกันดาร พระองค์ทรงมีพระบรมเดชานุภาพแผ่ไพศาล ปกป้องคุ้มครองประเทศชาติและประชาชนให้ตั้งอยู่ในความมั่นคง ความเป็นปกติสุขและความเจริญ ก้าวหน้าตามแนวทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง พระองค์จึงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงความสำคัญต่อการให้ “ประชาชนพึ่งตนเอง” แต่พระองค์เองก็ “ทรงเป็นที่พึ่งของประชาชนทั่วประเทศ”

ตลอด 60 ปี แห่งการครองราชย์ พระองค์ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในการพัฒนาบ้านเมืองให้เจริญก้าวหน้า แม้ว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้ประเทศไทย มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่พระองค์ก็ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจและพระราชจริยาวัตรตามกรอบแห่งกฎหมายโดยยึดหลักทศพิธราชธรรมได้อย่างมีศิลปะและมีความสง่างามเป็นอย่างยิ่ง พระองค์ทรงเป็นสัญลักษณ์ที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของประชาชนชาวไทยทั้งประเทศ ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่เปี่ยมล้นไปด้วยพระเมตตา และพระปัญญาที่แหลมและสุขุมรอบคอบ พระองค์ทรงมีบทบาทสำคัญในการแก้ไขปัญหาวิกฤตของบ้านเมืองภายใต้ กรอบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เป็นจรรโลงการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยให้คงอยู่ต่อไป

นัยแห่งพระปฐมบรมราชโองการ “เราจะปกครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”

พระปฐมบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ “เราจะปกครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” เป็นพระบรมราชโองการที่สั้น กระทัดรัด แต่ก็มีความหมายยิ่งใหญ่และลึกซึ้งยิ่งนัก พระองค์ได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจต่าง ๆ ที่ทำให้พระบรมราชโองการดังกล่าวมิใช่เป็นแค่พระบรมราชโองการ ที่ประชาชนยากที่จะสัมผัสได้ แต่เป็นเรื่อง เป็นภาพ หรืออาจจะกล่าวได้เป็นประวัติศาสตร์ ที่จะอยู่ในความทรงจำของประชาชนชาวไทยทั่วประเทศไปตลอดจนชั่วลูกหลาน รวมทั้งชาวโลกด้วย

พระองค์ทรงเปี่ยมล้นด้วย “ธรรม” อันหมายถึง ธรรมาธิปไตย ได้แก่ ธรรมะเป็นใหญ่ในการปกครอง หรือการใช้อำนาจในการปกครองประเทศ สังคม ชุมชน หรือองค์กรต่างๆ ด้วยความเป็นธรรม การใช้อำนาจในการปกครองทั้งปวง ไม่ว่าจะเป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตย สังคมนิยม เผด็จการ และคณาธิปไตย จำเป็นต้องยึดหลักธรรมาธิปไตย จึงจะสามารถจรรโลงประเทศ สังคม ชุมชน หรือองค์กรนั้นๆ ให้มีความร่มเย็น มีความสุขความเจริญที่ยั่งยืนต่อไป แต่หากการปกครองประเทศ สังคม ชุมชน หรือองค์กรใด มิได้ยึดหลักธรรมาธิปไตย ย่อมจะมีความวิบัติเกิดขึ้นอย่างแน่นอน

พระองค์ทรงยึดหลัก “ธรรมาธิปไตย” ในการใช้พระราชอำนาจและพระราชกรณียกิจในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกษัตริย์ ประกอบด้วยหลักธรรม 3 ประการ คือ

1. ทศพิธราชธรรม หรือธรรมะในการปกครองประเทศ ประกอบด้วยหลักธรรม 10 ประการ ดังนี้

(1) ทาน ได้แก่ การเอาใจใส่ให้ประชาชนได้รับประโยชน์สุข การให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ที่เดือดร้อน และให้การส่งเสริมให้คนกระทำความดี รวมทั้งพระราชทานจตุปัจจัยแก่บรรพชิตผู้ประกอบกิจพระศาสนา

(2) ศีล ได้แก่ พระมหากษัตริย์จะทรงประพฤติ พระจริยาทั้งทางพระกายและพระวาจาตามขัตติยราชประเพณี เป็นตัวอย่างที่ดี เป็นที่เคารพนับถือของพสกนิกร ทรงดำรง พระองค์ของในเบญจศีลซึ่งเป็นคุณสมบัติในพระองค์

(3) จาคะ ได้แก่ การเสียสละความสุขส่วนพระองค์เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน และความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง

(4) อาชชวะ ได้แก่ การปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตทั้งต่อพระราช - สัมพันธมิตร และพระราชวงศานุวงศ์ ข้าทูลละอองพระบาททั้งปวง และประชน

(5) มัททวะ ได้แก่ ความอ่อนโยน การมีอัธยาศัย ไม่ทรงดื้อดึงด้วยอำนาจ เมื่อมี การถวายคำแนะนำประกอบด้วยเหตุผล ไม่ทรงถือพระองค์ ทรงมีสัมมาคารวะ มีความงามสง่า

(6) อวิหิงสา ได้แก่ การไม่หลงระเริงอำนาจ ซึ่งพระมหากษัตริย์จะต้องทรงมี พระราชอัธยาศัยด้วยพระมหากรุณา ไม่ทรงปรารถนาก่อความเดือดร้อนแก่ผู้ใด ไม่ทรงเบียดเบียนพระราชวงศานุวงศ์ ข้าทูลละอองธุลีพระบาทและพสกนิกรให้ลำบากด้วยเหตุอันไม่สมควร

(7) อักโกธะ ได้แก่ การไม่เกรี้ยวกราด โดยพระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอัธยาศัยประกอบด้วยพระเมตตาไม่ทรงปรารถนาก่อเวรก่อภัยให้แก่ผู้ใดผู้หนึ่ง ไม่ทรงพระพิโรธด้วยเหตุ ที่ไม่สมควร แม้จะมีเหตุที่ให้ทรงพิโรธ ก็จะทรงระงับให้สงบ และทรงปฏิบัติด้วยพระสติที่รอบคอบ

(8) อวิโรธนะ ได้แก่ การวางตนให้มีสติตั้งมั่นในธรรม ทั้งยุติธรรม และนิติธรรม โดยยึดประโยชน์สุขและความดีงามของรัฐและราษฎรเป็นที่ตั้ง ไม่มีความเอนเอียงใด ๆ

(9) ขันติ ได้แก่ การอดทนอดกลั้นต่อความโลภ พระมหากษัตริย์ทรงมีความอดทนอดกลั้นไม่หวั่นไหวต่อความโลภ ความโกรธ และความหลง ทรงมีความอดทนต่อเวทนา ทรงอดทนต่อถ้อยคำที่มีผู้กล่าวชั่ว ทรงรักษาพระราชหฤทัย พระวรกาย และพระวาจาให้สงบเรียบร้อย

(10) ตปะ ได้แก่ การบำเพ็ญความเพียรเพื่อกำจัดความเกียจคร้านและความชั่ว พระมหากษัตริย์จะทรงตั้งพระราชหฤทัยกำจัดความเกียจคร้าน และการทำผิดหน้าที่ ทรงตั้งพระราชอุตสาหะปฏิบัติพระราชกรณียกิจเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนให้เป็นไปด้วยดี

2. ราชสังคหะ หรือธรรมะในการทำนุบำรุงราษฎร ประกอบด้วยหลักธรรม 4 ประการดังนี้

(1) สัสสเมธะ ได้แก่ พระปรีชาสามารถในเรื่องการบำรุงพืชพันธุ์ธัญญาหาร ส่งเสริมการเกษตรให้อุดมสมบูรณ์

(2) ปุริสเมธะ ได้แก่ พระปรีชาสามารถในการสงเคราะห์พระราชวงศานุวงศ์และข้าทูลละอองธุลีพระบาท ทั้งฝ่ายทหารและฝ่ายพลเรือน โดยทรงยกย่องพระราชทานยศ ฐานันดร ตำแหน่งหน้าที่โดยสมควรแก่สกุลวงศ์ วิทยะฐานะ ความสามารถ และความชอบในราชการ

(3) สัมมาปาสะ ได้แก่ พระปรีชาสามารถในการส่งเสริมอาชีพ หรือดำเนินกิจการต่างๆ เพื่อให้เกิดรายได้ และมิให้บังเกิดช่องว่างในสังคมมากจนเกินไป

(4) วาจาไปยะ ได้แก่ พระปรีชาสามารถในการใช้พระวาจาเตือนสติแก่ผู้ฟัง โดยไม่ทรงเบื่อหน่ายที่จะทรงทักทายถามไถ่ทุกข์สุขของราษฎรทุกระดับชั้นโดยสมควรแก่ฐานะและภาวะ

3. จักรวรรดิวัตร หรือธรรมะในการคุ้มครองป้องกันอาณาประชาราษฎร์ เป็นแนวทางปฏิบัติของพระมหากษัตริย์สำคัญ ๆ เช่น พระมหากษัตริย์จะต้องทรงพิทักษ์ชีวิตและ ทรัพย์สมบัติของประชาชน จะต้องทรงอนุเคราะห์ประชาชนในทุกภาคส่วนโดยฐานานุรูป ทรงแนะนำชักนำให้ประชาชนตั้งอยู่ในกุศลสุจริต ประกอบอาชีพโดยชอบธรรม ทรงพระราชทานทรัพย์แบ่งปันให้ด้วยวิธีอันเหมาะสม สำหรับราษฎรที่ไม่มีทรัพย์พอเลี้ยงชีพโดยสัมมาอาชีวะ จะต้องทรงดำเนินนโยบายต่างประเทศอย่างลึกซึ้ง ด้วยการผูกพระราชไมตรีสมานราชสัมพันธมิตรกับกษัตริย์ ประธานาธิบดี และผู้นำของประเทศต่างๆ เพื่อให้ราชอาณาจักรอยู่รอดปลอดภัย และจะต้องทรงส่งเสริมศิลปะและการศึกษา รวมทั้งสุขภาพอนามัย สุขาภิบาล ทรงให้ความช่วยเหลือทางการแพทย์ ปลดเปลื้องภาระคนยากจน ตลอดจนการกระทำอันเป็นบุญกุศล เป็นต้น

จากที่กล่าวมานั้น เมื่อเปรียบเทียบพระราชกรณียกิจที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงปฏิบัติต่อประเทศชาติ ต่อส่วนรวม ต่อพสกนิกรมาอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด 60 ปี แห่งการครองราชย์ กับหลักการปกครองประเทศตามหลัก “ธรรมาธิปไตย” จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า พระองค์ทรงปฏิบัติพระองค์ในลักษณะธรรมราชาปกครองอาณาประชาราษฎร์ให้กินดีอยู่ดี มีความร่มเย็นเป็นสุข พัฒนาบ้านเมืองเจริญรุ่งเรือง บนพื้นฐานที่มาจากความเชื่อว่า ราชาที่ดีจะต้องเป็นผู้ที่ทรงไว้ซึ่งธรรมะในการปกครอง พระองค์ทรงปฏิบัติพระองค์ตามแนวทางเหล่านั้นมาโดยตลอด โดยไม่มีข้อบกพร่องแม้แต่ข้อเดียว แม้ว่ากาลเวลาและสภาพการเมืองการปกครอง เศรษฐกิจ และสังคมเปลี่ยนแปลงไป และด้วยเหตุแห่งการเสด็จขึ้นครองราชย์โดยกระทันหัน ย่อมเป็นเครื่องพิสูจน์ได้อย่างชัดเจนถึงความเป็นพระมหากษัตราธิราชซึ่งทรงไว้ซึ่งทศพิธราชธรรม ทรงมีพระปรีชาสามารถทรงมีพระราชอัจฉริยภาพสูงส่ง และทรงมีศิลปะและมีความสง่างามแห่งการเป็นพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัริย์เป็นประมุข

พระราชอำนาจกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

ก่อนการเปลี่ยนแปลงการเมืองการปกครอง พ.ศ. 2475 ประเทศไทยปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ พระมหากษัตริย์จะมีอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ กฎหมายมีฐานที่มาจากพระมหากษัตริย์ พระราชดำรัส พระราชประสงค์ต่าง ๆ ของพระมหากษัตริย์ทั้งหมดล้วนมีผลเป็นกฎหมายที่ประชาชนทั้งประเทศจะต้องปฏิบัติตาม

ผลของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ทำให้พระราชอำนาจที่เคยมีมาอย่างล้นพ้นถูกจำกัดภายใต้บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะนำเสนอรายละเอียดเกี่ยวกับพระราชอำนาจเฉพาะพระองค์ในฐานะพระมหากษัตริย์ประมุของประเทศ และพระราชอำนาจในทางบริหาร นิติบัญญัติและตุลาการ ที่ทรงใช้อำนาจนั้นผ่านทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอิสระตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ ดังต่อไปนี้

3.1 พระราชอำนาจเฉพาะพระองค์ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญฯ 2540

(1) การเลือก แต่งตั้ง ถอดถอนองคมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญฯ 2540 มาตรา 12, 13 และ 16 โดยคณะองคมนตรีจะถวายคำปรึกษาเป็นเรื่องเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน เช่น เรื่องร่างกฎหมายที่นายกรัฐมนตรีทูลเกล้าฯ เสนอฎีการ้องทุกข์ของราษฎร ฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษในคดีอาญา การแต่งตั้งข้าราชการ การพระราชทานฐานันดรศักดิ์ ทำหน้าที่เหมือนคณะกลั่นกรองงานถวายพระมหากษัตริย์ รวมทั้งเป็นคณะทำงานใน โครงการต่าง ๆ อันเนื่องมาจากพระราชดำริด้วย ซึ่งในการใช้พระราชอำนาจนี้ ประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งหรือถอดถอนประธานองคมนตรี และประธานองคมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งหรือถอดถอนองคมนตรีอื่น ๆ

(2) การแต่งตั้งหรือถอดถอนข้าราชการในพระองค์และสมุหราชองครักษ์ ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญฯ 2540 มาตรา 17 ซึ่งเป็นตำแหน่งข้าราชการในราชสำนัก โดยมีองคมนตรีท่านใดท่านหนึ่งเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งหรือถอดถอน

(3) การแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญฯ 2540 มาตรา 18 ในกรณีที่ไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักรหรือทรงประชวร หรือทรงผนวช หรือยังไม่บรรลุนิติภาวะหรือราชบัลลังก์ว่างลงโดยที่ยังไม่มีการประกาศผู้สืบราชสันตติวงศ์ ให้คณะองคมนตรีเสนอชื่อให้รัฐสภาเห็นชอบ โดยประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ

(4) การแก้ไขเพิ่มเติมกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พ.ศ. 2467 ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญฯ 2540 มาตรา 22 วรรค 2 ให้คณะองคมนตรีจัดทำร่างกฎมณเฑียรบาลแก้ไขเพิ่มเติมกฎมณเฑียรบาลเดิมตามพระราชดำริ นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้วแจ้งไปยังประธานรัฐสภาเพื่อให้นำแจ้งรัฐสภาทราบ โดยประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ และประกาศในราชกิจจานุเบกษาใช้บังคับเป็นกฎหมายต่อไป

(5) การแต่งตั้งพระรัชทายาท ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญฯ 2540 มาตรา 23 วรรคแรก ซึ่งเป็นไปตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พ.ศ. 2467 แล้วแจ้งรัฐสภาทราบ

3.2 พระราชอำนาจผ่านทางการบริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ และองค์กรอิสระตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญฯ 2540

(1) พระราชอำนาจผ่านทางรัฐสภา รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกฉบับกำหนดให้พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจอธิปไตยด้านนิติบัญญัติผ่านทางรัฐสภา โดยกำหนดพระราชอำนาจไว้ดังนี้

1. ทรงเรียกประชุมรัฐสภา ทรงเปิดและทรงปิดประชุม ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญฯ 2540 มาตรา 161

2. ทรงแต่งตั้งประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานและรองประธานวุฒิสภา ตามมติของสภานั้นๆ และให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรม - ราชโองการ ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ 2540 มาตรา 151

3. ทรงแต่งตั้งผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ 2540 มาตรา 120

4. ทรงตรากฎหมายรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติ ที่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา เมื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยและประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับเป็นกฎหมาย ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ 2540 มาตรา 93

5. ทรงสามารถยับยั้งร่างรัฐธรรมนูญและร่างพระราชบัญญัติต่าง ๆ ที่รัฐสภาได้ให้ความเห็นชอบแล้วได้ ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ 2540 มาตรา 94 และ 313 (7)

การยับยั้งร่างรัฐธรรมนูญและร่างพระราชบัญญัติต่าง ๆ ที่รัฐสภาให้ความเห็นชอบแล้วนั้น ในสมัยพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 7 ได้ทรงยับยั้งร่างกฎหมาย 3 ฉบับ คือ ร่างพระราช -บัญญัติแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาทหาร พ.ศ. 2477 ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายลักษณะอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2477 และร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2477 ถึง 2 ครั้ง ซึ่งคณะรัฐมนตรีขณะนั้นไม่รู้จะดำเนินการต่อไปอย่างไร

จนสภาผู้แทนราษฎรในสมัยนั้นตีความให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ประกาศในราชกิจจานุเบกษามีผลให้รัฐธรรมนูญฉบับต่อมาบัญญัติให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ดำเนินการในเรื่องนี้ พระราชอำนาจยับยั้งร่างกฎหมายต่าง ๆ ของพระมหากษัตริย์ เสมือนเป็นการกระทำเพื่อถ่วงเวลาที่ให้รัฐสภาพิจารณาทบทวนด้วยคะแนนเสียงสองในสาม ถ้ายืนยันก็นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อทรงลง -พระปรมาภิไธย หากไม่ทรงลงพระปรมาภิไธยและพระราชทานคืนมาภายในสามสิบวัน นายกรัฐมนตรีก็สามารถนำพระราชบัญญัตินั้นประกาศใช้บังคับได้เสมือนหนึ่งว่าได้ลงพระปรมาภิไธยแล้ว ถือเป็นประวัติศาสตร์ทางการเมืองว่า สภาผู้แทนราษฎรขณะนั้นมิได้คำนึงเหตุผลการยับยั้งร่างกฎหมายของพระมหากษัตริย์

สำหรับการใช้อำนาจผ่านทางรัฐสภาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 9นับแต่การครองราชย์ 9 มิถุนายน 2489 จนกระทั่งก่อนพฤศจิกายน 2546 พระองค์ไม่ทรงใช้พระราชอำนาจนี้โดยตรง หากมีร่างพระราชบัญญัติใดที่พระองค์มิได้ทรงเห็นพ้องกับที่นายกรัฐ -มนตรีทูลเกล้าฯ ถวายทุกเรื่อง ก็จะยังไม่ทรงยังยั้ง แต่ทรงเลือกใช้วิธีการพระราชทานบันทึก พระราชกระแสไปยังประธานรัฐสภาหรือประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เช่น กรณีการทูลเกล้าฯ ถวายร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2517 เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้ส่งพระราชกระแสในเรื่องคำปรารภที่ควรกล่าวเพียงสั้น ๆ และ มิควรบัญญัติให้ประธานองคมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งวุฒิสภา เพราะประธานองคมนตรีเป็นผู้ที่ทรงเลือกและแต่งตั้งตามพระราชอัธยาศัย เป็นการขัดกับหลักที่ว่า พระมหากษัตริย์ทรงอยู่เหนือการเมือง ทั้งจะทำให้ประธานองคมนตรีตกอยู่ในสภาพเหมือนเป็นองค์กรทางการเมืองด้วย ซึ่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติขณะนั้น ก็ได้แก้ไขให้เป็นไปตามแนวพระราชกระแส

ต่อมาในปี พ.ศ. 2535 สมัยรัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ลงมติให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2535 ซึ่งสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ กำหนดโทษปรับขั้นสูงต่อสื่อสารมวลชน จาก 200,000 บาทเป็น 20 เท่าคือ 4 ล้านบาท หรืออาจมากกว่านี้ถ้าพิสูจน์ความเสียหายได้ สามวาระในวันเดียวกัน คือ วันที่ 24 มกราคม 2535 โดยที่ร่างกฎหมายนี้พระมหากษัตริย์มิทรงเห็นชอบด้วย และมิได้ทรงลงพระปรมาภิไธย และก็มิได้นำร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้เข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแต่อย่างใดอีก ทำให้ตกไป จึงเกิดจารีตประเพณีหรือธรรมเนียม ในทางนิติบัญญัติขึ้นใหม่ว่า หากร่างพระราชบัญญัติใดพระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบ โดยไม่ทรงลงพระปรมาภิไธย รัฐสภาก็ไม่ควรที่จะลงมติยืนยัน แต่ควรให้ร่างพระราชบัญญัตินั้นตกไป

จากนั้นเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2546 รัฐบาล พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร สมัยที่ 1 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงใช้พระราชอำนาจตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ยับยั้งร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. .... โดยพระราชทานกลับคืนมาให้รัฐสภาพิจารณาใหม่ เนื่องจากในร่างดังกล่าวมีถ้อยคำและรายละเอียดเนื้อหาที่มีข้อบกพร่องถึง 13 จุด ได้แก่ การใช้ถ้อยคำและข้อความผิด อ้างมาตราเชื่อมโยงผิด เป็นต้น ส่งผลให้ร่างดังกล่าวต้องตกไป ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของรัฐสภาไทยที่เกิดกรณีเช่นนี้

นอกจากนั้น ยังมีร่างพระราชบัญญัติเหรียญเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในวโรกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิม พระชนมพรรษา 6 รอบ 12 สิงหาคม 2547 ที่พระบาทเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้ทรงยับยั้งร่างกฎหมายไว้ในคราวเดียวกัน เนื่องจากมีการระบุลักษณะของเหรียญผิดพลาด

ด้วยเหตุที่การใช้พระราชอำนาจยับยั้งร่างรัฐธรรมนูญ ร่างพระราชบัญญัติ ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญเป็นพระราชอำนาจเฉพาะที่จะทรงใช้ด้วยพระองค์เอง ไม่ต้อง มีผู้ใดลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ในทางปฏิบัติพระองค์จะทรงระมัดระวังมิให้การใช้พระราชอำนาจนี้ก่อให้เกิดความขัดแย้งกับรัฐบาลและรัฐสภา ซึ่งมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด และมีฐานะเป็นตัวแทนของปวงชนชาวไทยด้วย ดังนั้น ผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายจะต้องตรวจสอบกลั่นกรองร่างกฎหมายแต่ละฉบับให้มีความถูกต้องตามหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และมีความเหมาะสมกับสภาพการณ์บ้านเมืองก่อน

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อเดือนมกราคม 2547 ปรากฎข้อบกพร่องเกี่ยวกับการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ. .... ที่ได้ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาไป แล้ว พบความผิดพลาดบกพร่องเกิดขึ้น อันเนื่องจากการแต่งตั้งศาสตราจารย์พิเศษ ตามร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ. .... มาตรา 17 (8) และร่างมาตรา 51 ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรส่งให้วุฒิสภาพิจารณานั้น กำหนดให้การแต่งตั้งศาสตราจารย์พิเศษ ต้องทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ทั้ง 2 มาตรา แต่ในชั้นคณะกรรมาธิการวุฒิสภามีการเสนอประเด็นในการแต่งตั้งไม่ต้องโปรดเกล้าฯ แต่ให้สภามหาวิทยาลัยแต่งตั้ง โดยกรรมาธิการได้แก้ไขเฉพาะร่างมาตรา 51 แต่ไม่ได้แก้ไขมาตรา 17 (8) ให้สอดคล้องกัน ซึ่งประธานรัฐสภาได้ส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย เพื่อให้พระมหากษัตริย์ลงพระปรมาภิไธย ตามมาตรา 93 ของรัฐธรรมนูญ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้ตรวจสอบพบปัญหา ความไม่สอดคล้องกัน และความขัดแย้งกันเองในเนื้อหาสาระของร่างพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว ส่วนราชการและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้พยายามแก้ไขปัญหาเพื่อมิให้มีการนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย โดยสภาผู้แทนราษฎรร่วมกับวุฒิสภาต้องนำกลับมาทบทวนใหม่และแก้ไขจนถูกต้องแล้ว จึงนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายในภายหลัง

(2) พระราชอำนาจทางคณะรัฐมนตรี

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกฉบับกำหนดให้พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจอธิปไตยด้านบริหารผ่านทางคณะรัฐมนตรี โดยกำหนดพระราชอำนาจไว้ดังนี้

1. การแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญฯ 2540 มาตรา 201, 202 และ 203 ได้กำหนดให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเสนอชื่อบุคคลซึ่งสมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีโดยได้คะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งบุคคลที่ได้รับคะแนนสูงสุดเป็นนายกรัฐมนตรี

2. การแต่งตั้งหรือถอดถอนรัฐมนตรี ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญฯ 2540 มาตรา 201 และ 217 นายกรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอรายชื่อบุคคลที่จะให้ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรี ทูลเกล้าฯ ถวายให้พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยแต่งตั้ง ส่วนการถอดถอนรัฐมนตรีนั้น รัฐธรรมนูญกำหนดให้นายกรัฐมนตรีทำหน้าที่ถวายคำแนะนำต่อพระมหากษัตริย์เพื่อให้รัฐมนตรีคนใดพ้นจากความเป็นรัฐมนตรี และให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ

3. การตราพระราชกำหนด ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญฯ 2540 มาตรา 218และ 220 ในกรณีที่จำเป็นเร่งด่วนและฉุกเฉิน เพื่อความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือป้องกันภัยพิบัติสาธารณะ ฝ่ายบริหารโดยคณะรัฐมนตรีจะตราพระราช -กำหนดแล้วทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อให้พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยและประกาศเป็นกฎหมายใช้บังคับได้ไปก่อนเช่นเดียวกับพระราชบัญญัติ แล้วจึงนำไปให้รัฐสภาหรือสภาผู้แทนราษฎรแล้ว แต่กรณีตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด เพื่อให้พิจารณาว่าจะอนุมัติหรือไม่ในภายหลัง สำหรับการลงนาม รับสนองพระบรมราชโองการนั้น ส่วนใหญ่นายกรัฐมนตรีจะเป็นผู้ลงนาม

4. การตราพระราชกฤษฎีกา ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญฯ 2540 มาตรา 221 ที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรีและลงนามรับสนองพระบรมราชโองการโดยรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง

5. การประกาศใช้และเลิกใช้กฎอัยการศึกตามลักษณะและวิธีการที่กฎหมายกำหนด ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญฯ 2540 มาตรา 222

6. การประกาศสงคราม เมื่อได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญฯ 2540 มาตรา 223 เป็นพระราชอำนาจในทางบริหารตามจารีตประเพณีที่มีมาแต่ดั้งเดิมและยังคงบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่ในทางปฏิบัติจะทรงกระทำไปตามการเสนอแนะของคณะรัฐมนตรีที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาแล้วด้วย

7. การทำหนังสือสัญญาสันติภาพ สัญญาสงบศึก และสัญญาอื่นกับนานาประเทศหรือองค์กรระหว่างประเทศ ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญฯ 2540 มาตรา 224 เป็นพระราชอำนาจในทางบริหารตามจารีตประเพณีที่มีมาแต่ดั้งเดิมและยังคงบัญญัติในรัฐธรรมนูญ ในทางปฏิบัติพระมหากษัตริย์ทรงใช้พระราชอำนาจนี้ตามนโยบายต่างประเทศของคณะรัฐมนตรี

8. การพระราชทานอภัยโทษ ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญฯ 2540 มาตรา 225 ซึ่งเป็นพระราชอำนาจที่มีมาแต่โบราณ ที่ไม่ใช่การคัดค้านการพิพากษาของศาล แต่เป็นการ ขอพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณด้วยการทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ โดยตรงมายังสำนักราชเลขาธิการหรือยื่นต่อกระทรวงมหาดไทยก็ได้ กระทรวงมหาดไทยต้องถวายความเห็นผ่านนายกรัฐมนตรีพร้อมถวายร่างพระราชหัตถเลขาพระราชทานอภัยโทษ ซึ่งคณะองคมนตรีจะประชุมปรึกษาหารือเพื่อทำความเห็นถวาย เมื่อมีพระราชวินิจฉัยจะทรงมีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานอภัยโทษอย่างไรหรือไม่ จากนั้นสำนักราชเลขาธิการจักเป็นผู้อัญเชิญพระราชกระแสแจ้งไปยังนายกรัฐมนตรีเพื่อทราบหรือปฏิบัติต่อไปทั้งนี้ แนวทางการพระราชทานอภัยโทษ มี 3 แนวทาง คือ

1. พระราชวินิจฉัยปล่อยตัวและลดโทษให้แก่ผู้ต้องโทษ

2. พระราชวินิจฉัยพระราชทานอภัยโทษให้แก่ผู้ต้องโทษก่อนมีการบังคับโทษ ในกรณีนักโทษประหารชีวิตและอยู่ระหว่างบังคับโทษ เช่น ระหว่างต้องโทษจำคุก

3. พระราชวินิจฉัยพระราชทานอภัยโทษเป็นการทั่วไปในวโรกาสอันเป็นมิ่งมงคลของบ้านเมือง เช่น พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา

การใช้พระราชอำนาจพระราชทานอภัยโทษนี้ครอบคลุมถึงโทษอื่น ๆ นอกจากโทษทางอาญา เช่น โทษทางวินัย ฯลฯ ด้วย ถือเป็นพระราชอำนาจอิสระที่เด็ดขาด มิได้ผูกพัน กับความเห็นหรือคำแนะนำของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยหรือคณะองคมนตรีที่ได้กราบบังคมทูลถวายรายละเอียดและความคิดเห็นในเบื้องต้น เป็นการยึดหลักพระมหากษัตริย์ทรงเป็นที่มาของความยุติธรรม ดังนั้น ในบางกรณีการใช้พระราชอำนาจนี้แนวทางการแก้ไขความผิดพลาดของกระบวนการยุติธรรมได้ทางหนึ่ง การพระราชทานอภัยโทษจึงเป็นสายสัมพันธ์ของราษฎรที่ยึดเหนี่ยวพระมหากษัตริย์ไว้เป็นที่พึ่งสุดท้ายในการแสวงหาความยุติธรรม

9. การถอดถอนฐานันดรศักดิ์และเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญฯ 2540 มาตรา 226 ซึ่งทรงปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการตามที่มีกฎหมายบัญญัติไว้ ในทางปฏิบัติคณะรัฐมนตรีจะเป็นผู้ทูลเกล้าฯ ถวาย เพื่อพระมหากษัตริย์ทรงใช้ พระราชอำนาจนี้

10. การแต่งตั้งข้าราชการฝ่ายทหารและฝ่ายพลเรือน ตำแหน่งปลัดกระทรวง อธิบดีและเทียบเท่า และทรงให้พ้นจากตำแหน่ง เว้นแต่กรณีพ้นจากตำแหน่งเพราะความตาย ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญฯ 2540 มาตรา 227 พระองค์จะทรงแต่งตั้งตามที่นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีทูลเกล้าฯ เสนอ ภายใต้หลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายกำหนด เป็นพระราชอำนาจ อันสืบเนื่องจากข้าราชการเป็นสถาบันที่เกิดควบคู่มากับการปฏิรูประบบราชการในสมัย รัชกาลที่ 5 ที่ทรงจัดให้มี 12 กระทรวง และมีการจัดการปกครองหัวเมืองเป็นมณฑลเทศาภิบาล จังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน ข้าราชการเป็นผู้ปฏิบัติงานราชการต่างพระเนตรพระกรรณของพระมหากษัตริย์ เป็นความผูกพันที่สถาบันทั้งสองมีต่อกันและกันมายาวนาน โดยสมัยหนึ่งได้มีประเพณีให้ข้าราชการถือน้ำพิพัฒน์สัตยา เพื่อแสดงว่าจะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ จะปฏิบัติราชการถวายด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ข้าราชการทุกคนเมื่อรับราชการแล้วต่างต้องการได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์เป็นเครื่องหมายเชิดชูเกียรติยศอันสูงยิ่ง โดยเฉพาะข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ต่าง ๆ เมื่อได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าวิเศษแล้วต่างก็ถือเป็นสิริมงคลสูงสุดในชีวิต ความรู้สึกของข้าราชการทุกคนต่างก็ถือว่า การปฏิบัติราชการ คือ การทำหน้าที่ถวายต่อพระบาทสมเด็จเจ้าอยู่หัวฯ และมีความภูมิใจที่ได้เป็นข้าราชการในพระบาทสมเด็จ -พระเจ้าอยู่หัวฯ เป็นอย่างยิ่ง

(3) การใช้พระราชอำนาจผ่านทางศาล

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกฉบับกำหนดให้พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจอธิปไตยด้านตุลาการผ่านทางศาลา ประกอบด้วยศาลรัฐธรรมนูญ ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง และศาลทหาร โดยได้กำหนดพระราชอำนาจไว้ดังนี้

1. การพิพากษาอรรถคดีต่าง ๆ เป็นอำนาจของศาล ซึ่งต้องดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ ตามกฎหมาย และในพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์ ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญฯ 2540 มาตรา 233

2. ทรงแต่งตั้งประธานศาลรัฐธรรมนูญคนหนึ่ง และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอีก 14 คน ตามคำแนะนำของวุฒิสภา จากบุคคลผู้มีสถานภาพประสบการณ์ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ซึ่งผู้ได้รับเลือกทั้ง 15 คน ประชุมและเลือกกันเองให้คนหนึ่งเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญแล้ว แจ้งผลให้ประธานวุฒิสภาทราบ แล้วให้ประธานวุฒิสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญฯ 2540 มาตรา 255

3. ทรงแต่งตั้งและให้ผู้พิพากษาในศาลยุติธรรมพ้นจากตำแหน่ง ซึ่งทรงปฏิบัติตามความเห็นชอบของคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม นำความกราบบังคมทูล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญฯ 2540 มาตรา 273

4. ทรงแต่งตั้งและให้ตุลาการศาลปกครองพ้นจากตำแหน่งด้วยความ เห็นชอบของคณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญฯ 2540 มาตรา 277 และทรงแต่งตั้งตุลาการศาลปกครองให้ดำรงตำแหน่งประธานศาลปกครองสูงสุดตามความเห็นชอบของคณะกรรมการตุลาการศาลปกครองและวุฒิสภา ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญฯ 2540 มาตรา 278

5. ทรงแต่งตั้งและถอดถอนตุลาการศาลทหารสูงสุดและตุลาการศาลทหารกลาง ซึ่งศาลทหารเป็นหนึ่งในกระบวนการตุลาการที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาลงโทษทางอาญาที่อยู่ในอำนาจศาลทหาร มีมาตั้งแต่มีกฎหมายลักษณะขบฏศึก จ.ศ.796 ปัจจุบันเป็นไปตามพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2498 แยกออกเป็นศาลทหารในเวลาปกติ ศาลทหารในเวลาไม่ปกติ และศาลอาญาศึก ทั้งนี้ บุคคลที่ต้องอยู่ในอำนาจศาลทหาร คือ ทหารประจำการและทหารกองประจำการกลุ่มหนึ่ง นักเรียนทหารกลุ่มหนึ่ง บุคคลที่มิได้เป็นทหาร คือ ข้าราชการกลาโหมพลเรือน ลูกจ้างสังกัดกระทรวงหลาโหม ผู้อยู่ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารและเชลยศึกหรือ ชนชาติศัตรูอีกกลุ่มหนึ่ง

(4) พระราชอำนาจผ่านทางองค์กรอิสระที่ไม่ใช่ศาล

องค์กรอิสระที่ไม่ใช่ศาลซึ่งทำหน้าที่ในการตรวจสอบและควบคุมการดำเนินงานเฉพาะกิจที่จัดตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มี 5 องค์กร ได้แก่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจแต่งตั้งบุคลากรบางตำแหน่งในองค์กรดังกล่าวตามคำแนะนำของวุฒิสภา ดังรายละเอียดต่อไปนี้

1. คณะกรรมการการเลือกตั้ง ประกอบด้วยประธานกรรมการ 1 คน และกรรมการอื่นอีก 4 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภา จากผู้ซึ่งมีความเป็นกลางทางการเมืองและมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ โดยระบบการสรรหาที่มีคณะกรรมการสรรหา จำนวน 10 คน ประกอบด้วย ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด อธิการบดีของสถาบันอุดมศึกษาของรัฐที่เป็นนิติบุคคลทุกแห่งเลือกกันเองให้เหลือ 4 คน ผู้แทนพรรคการเมืองทุกพรรคที่มีสมาชิกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคละหนึ่งคน เลือกกันเองให้เหลือ 4 คน สรรหาผู้มีคุณสมบัติที่สมควรเป็นกรรมการการเลือกตั้ง 5 คน โดยกรรมการการ เลือกตั้งแต่ละคนต้องได้คะแนน 3 ใน 4 ของกรรมการสรรหาที่มีอยู่ พร้อมกันนี้ให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาพิจารณาสรรหาผู้สมควรเป็นกรรมการการเลือกตั้งอีก 5 คน ภายในเวลาที่กำหนด ถ้ากรรมการสรรหาชุดแรกสรรหาไม่ครบ 5 คน ภายในเวลาที่กำหนด ก็ให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาพิจารณาเสนอชื่อจนครบภายในเวลาที่กำหนด ให้วุฒิสมาชิกพิจารณาเลือกบุคคลทั้ง 10 คน เหลือ 5 คน โดยการลงคะแนนลับด้วยคะแนนเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกวุฒิสภาเท่าที่มีอยู่ ถ้าไม่มีผู้ใดได้คะแนน เกินกึ่งหนึ่งก็ให้ลงมติใหม่ โดยถือผู้ได้คะแนนสูงสุดเรียงลำดับลงมาจนครบ 5 คน จากนั้นให้ผู้ได้รับเลือกทั้ง 5 คน ประชุมและเลือกกันเองเป็นประธานกรรมการการเลือกตั้ง แล้วให้ประธานวุฒิสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งคณะกรรมการการเลือกตั้ง ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญฯ 2540 มาตรา 138

2. ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา จำนวนไม่เกิน 3 คน พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภา จากผู้ซึ่งเป็นที่ยอมรับนับถือของประชาชน มีความรอบรู้ และมีประสบการณ์ในการบริหารราชการแผ่นดิน วิสาหกิจหรือกิจกรรมอันเป็นประโยชน์ร่วมกันของสาธารณะและมีความซื่อสัตย์สุจริตจนเป็นที่ประจักษ์ โดยประธานวุฒิสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้ง ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญฯ 2540 มาตรา 196

3. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ประกอบด้วยประธานกรรมการ 1 คน และกรรมการอื่นอีก 10 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภา จาก ผู้ซึ่งมีความรู้หรือประสบการณ์ด้านการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็นที่ประจักษ์ ซึ่งต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของผู้แทนจากองค์กรเอกชนด้านสิทธิมนุษยชนด้วย และให้ประธานวุฒิสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการในการแต่งตั้ง ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญฯ 2540 มาตรา 199

4. คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ประกอบด้วยประธานกรรมการคนหนึ่ง และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอื่นอีก 8 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภา โดยให้ประธานวุฒิสภาลงนามรับสนองพระบรมราชโองการในการแต่งตั้ง ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญฯ 2540 มาตรา 297 ซึ่งกรรมการ ป.ป.ช. จะต้องเป็นผู้มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ มีคุณสมบัติอื่น ๆ และไม่มีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมาย มีกรรมการสรรหาและวิธีการสรรหาเช่นเดียวกับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ แต่องค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหาต่างกัน กล่าวคือ ให้มี ประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานกรรมการการเลือกตั้ง ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา ซึ่งเลือกกันเองให้เหลือ 1 คน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคการเมืองที่สมาชิกในสังกัดดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีซึ่งเลือกกันเองให้เหลือ 1 คน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคการเมืองที่สมาชิกในสังกัดมิได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีซึ่งเลือกกันเองให้เหลือ 1 คน และอธิการบดีของสถาบันอุดมศึกษาของรัฐที่เป็นนิติบุคคลทุกแห่ง เลือกกันเองให้เหลือ 6 คน

5. คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ประกอบด้วยประธานกรรมการ 1 คน และกรรมการอื่นอีก 9 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภา จากผู้ที่มีความชำนาญและประสบการณ์ด้านการตรวจเงินแผ่นดิน การบัญชี การตรวจสอบภายใน การเงินการคลังและด้านอื่น และพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินตามคำแนะนำของวุฒิสภา จากผู้ที่มีความชำนาญและประสบการณ์เช่นเดียวกับกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน มีอำนาจหน้าที่ตรวจเงินแผ่นดินที่เป็นอิสระและเป็นกลาง ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญฯ 2540 มาตรา 312

พระราชอัจริยภาพและพระราชกรณียกิจของการเป็นพระมหากษัตริย์นักประชาธิปไตย

ตลอด 60 ปี แห่งการเสวยราชสมบัติของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 9 พระปฐมบรมราชโองการ พระราชดำรัส พระบรมราโชวาท แนวพระราชดำริ และพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้แสดงให้เห็นถึงพระอัฉริยภาพอันแหลมคมของพระมหากษัตริย์นักประชาธิปไตย ที่ทรงแสดงให้เห็นถึงหลักการในระบอบประชาธิปไตย การคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนส่วนร่วมเป็นสำคัญ รวมทั้งความห่วงใยต่อปัญหาสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ทรงตักเตือนทุกฝ่ายทั้งในเรื่องการดำรงชีวิต ความซื่อสัตย์สุจริต การบริหารประเทศ และแนวทางการแก้ไขปัญหาวิกฤตการณ์ทางการเมือง ล้วนเป็นสิ่งที่คนไทย นักวิชาการ นักการเมือง รัฐบาลไทย และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย ควรนำไปเป็นหลักการและแนวทางในการปฏิบัติภารกิจของตนเองอย่างจริงจังให้เกิดผลต่อการแก้ไขปัญหาวิกฤตและพัฒนาบ้านเมืองต่อไป ดังตัวอย่างที่ได้อัญเชิญมาแสดงต่อไปนี้

4.1 พระปฐมบรมราชโองการ

พระปฐมบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ “เราจะปกครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” เป็นพระบรมราชโองการที่แสดงให้เห็นถึง พระราชปณิธานที่จะทรงปฏิบัติพระองค์ในฐานะของประมุขของประเทศไทยซึ่งปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขโดยยึดหลัก “ธรรมาธิปไตย” ในการใช้พระราชอำนาจและพระราชกรณียกิจในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกษัตริย์ ประกอบด้วยทศพิธราชธรรม หรือธรรมะในการปกครองประเทศ ราชสังคหะ หรือธรรมะในการทำนุบำรุงราษฎร และจักรวรรดิวัตร หรือธรรมะในการคุ้มครองป้องกันอาณาประชาราษฎร์ โดยตลอดระยะเวลาการครองราชย์พระองค์ทรงไว้ซึ่งธรรมะในการปกครอง และทรงไว้ซึ่งทศพิธราชธรรม โดยเคร่งครัดต่อเนื่อง แม้ว่าจะต้องทรงลำบากตรากตรำ ต้องเผชิญกับความยุ่งยาก ต้องใช้สติปัญญา ความรู้ความสามารถ และความรับรู้ปัญหาและการแก้ปัญหาในพื้นที่ที่ต้องใช้ความรู้จริง ต้องมีความมุ่งมั่นมีความอุตสาหะมานะและมีความขยันหมั่นเพียรสูง

นอกจากนั้น พระองค์ยังทรงประกอบพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่มากมาย เพื่อพัฒนาและแก้ไขปัญหาให้แก่ประเทศชาติ รวมทั้งบรรเทาทุกข์ บำรุงสุขให้แก่ประชาชนทุกหมู่เหล่า ทั่วทั้งประเทศ พระราชกรณียกิจของพระองค์จึงเป็นการคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่ มิใช่เพื่อประโยชน์ของพระองค์เอง หรือกลุ่มหนึ่งกลุ่มใด ซึ่งเป็นหลักการที่มีความสอดคล้องกับหลักการในระบอบประชาธิปไตยส่วนหนึ่ง

4.2 พระราชดำรัส พระราชดำริ และพระราชกรณียกิจ : พระมหากษัตริย์นักประชาธิปไตยตลอด 60 ปีแห่งการครองราชย์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระราชทาน พระราชดำรัส พระราชดำริ และพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่แสดงถึงพระอัฉริยภาพอันแหลมคมของพระมหากษัตริย์นักประชาธิปไตย ดังจะกล่าวต่อไปนี้

(1) การบริหารราชการแผ่นดิน

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงมีแนวคิดในการบริหารราชการแผ่นดินที่มีความสอดคล้องกับบทบาทหน้าที่ของทั้งฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายตุลาการ ตามหลักการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย พระองค์ทรงมีพระราชดำรัสเกี่ยวกับคณะรัฐมนตรี รัฐสภา ตุลาการ และผู้บริหารทุกฝ่าย ในเรื่องของอำนาจหน้าที่ที่ต้องคำนึงถึงประโยชน์โดยรวมของประเทศ และความถูกต้องตามกฎหมาย ความซื่อสัตย์ และความสามัคคี

พระองค์ทรงเห็นความสำคัญของคณะรัฐมนตรีเป็นอย่างยิ่ง ดังพระราชดำรัสความว่า “… คณะรัฐมนตรีนี้ก็มีงานที่สำคัญที่สุด ความเป็นอยู่จะดีจะก้าวหน้าของประเทศชาติบ้านเมืองและประชาชนก็อยู่ที่การปฏิบัติของคณะรัฐบาลเป็นส่วนใหญ่ เพราะคำว่า รัฐบาลก็หมายความว่าเป็นผู้ที่รักษารัฐ ผู้ที่ทำนุบำรุงรัฐ รัฐนั้นคือประเทศชาติ ส่วนรวม หรือถ้าพูดถึงคณะรัฐมนตรี รัฐมนตรีก็เป็นมนตรีในรัฐมนตรีก็คือผู้ที่มีความสำคัญมีความรู้มีความตั้งใจที่จะทำงาน รัฐก็คือประเทศชาติส่วนกลางและมนตรีของรัฐนั้นก็เป็นผู้ใหญ่ของรัฐ เป็นผู้ที่สามารถที่จะใช้ความรู้และนำความรู้นั้นมาปฏิบัติ ทั้งหมดนี้ นอกจากมีความตั้งใจมั่นแล้ว ก็มีความ ตั้งใจตามที่ได้ปฏิญาณว่าจะซื่อสัตย์สุจริต ซื่อสัตย์สุจริตนี้มีความสำคัญ เพราะถ้าหากว่าแต่ละคน มีความตั้งใจแล้ว แต่ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริต ก็ไม่มีเป้าหมายที่แน่นอน จะเปะปะไปทางโน้นทีทางนี้ที ไม่มีทางที่จะสำเร็จในงานการใด ๆ ...”

นอกจากนั้น พระองค์ยังทรงมีพระราชดำรัสเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐสภา ความว่า “… สมาชิกรัฐสภาคือผู้ได้รับมอบหมายจากปวงชน ให้มาปรึกษาหารือการดำเนินการปกครองประเทศให้เกิดประโยชน์สุขและความเจริญแก่ชาติบ้านเมืองมากที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ ดังนั้น การอภิปรายทั้งปวงจึงควรเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ดังกล่าวมิใช่เพื่อสิ่งอื่น… ”

สำหรับบทบาทหน้าที่ของตุลาการก็มีความสำคัญต่อบ้านเมืองเช่นกัน ดังพระราช -ดำรัสความว่า “ ... ผู้ที่ทำหน้าที่พิทักษ์รักษาความยุติธรรมหรือความเป็นธรรมจึงควรระมัดระวังให้มาก คือ ควรจะได้ทำความเข้าใจให้แน่ชัดว่ากฎหมายนั้นไม่ใช่ตัวความ ยุติธรรม เป็นเพียงเครื่องมืออย่างหนึ่งในการรักษาและอำนวยความยุติธรรมเท่านั้น การใช้กฎหมายจึงต้องมุ่งหมายใช้เพื่อรักษาความยุติธรรมไม่ใช่รักษาตัวบทกฎหมายเอง และการรักษาความ ยุติธรรมในแผ่นดินก็มิได้วงแคบอยู่เพียงแต่ขอบเขตของกฎหมาย หากต้องขยายออกไปให้ถึงศีลธรรมจรรยา ตลอดจนเหตุและผลตามความเป็นจริงด้วย …” และ “ … ท่านจะต้องพยายามที่จะปฏิบัติตามคำปฏิญาณนี้ อย่างเคร่งครัด ไม่ใช่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเท่านั้นเอง แต่ด้วยความรู้ที่ท่านได้ขวนขวายมา จนกระทั่ง ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้พิพากษา ซึ่งผู้พิพากษานั้นมีอำนาจที่จะตัดสินอะไร นับว่าเป็นคนสำคัญมากของประชาชน ทั้งคนที่ไปรับบริการของท่าน อีกอย่างหนึ่งก็คือทำคดีอะไรก็ต้องมีคนที่ถูก คนที่ผิด ท่านต้องเห็นว่าใครถูกใครผิด และตัดสินพิพากษาอย่างถูกต้อง การพิพากษาอย่างถูกต้องนั้น จะต้องมีความรู้ มีความรู้ตัวบทกฎหมายต่าง ๆ และมีความสามารถ มีความยุติธรรมในใจ …” สำหรับช่องโหว่ของกฎหมาย ทรงมีพระราช -ดำรัสความว่า " ... กฎหมายนั้น มีไว้สำหรับให้มีช่องโหว่ใน ทางปฏิบัติ ไม่ใช่ว่า จะทำได้ตรงไปตรงมาตามตัวบท จำต้อง ใช้ความพินิจพิจารณาอยู่เสมอ จึงต้องมีศาลไว้ถึงสามศาลและต้องสำนึก ว่ากฎหมายไม่ใช่เครื่องจักร แต่เป็นสิ่งที่ต้องใช้สมองคิดและสมองนี้ สามารถที่จะยืดหยุ่นได้ ..." และมิให้นำช่องโหว่ของกฎหมายไปใช้ในทางทุจริต ดังพระราชดำรัสความว่า “...กฎหมายนี้มีช่องโหว่เสมอ ถ้าเราถือโอกาส ในการมีช่องโหว่ ของกฎหมาย เพื่อการทุจริตนั้นเป็นสิ่งที่เลวทราม และทำให้นำไปสู่ความ หายนะแต่ถ้าใช้ช่องโหว่ในกฎหมายเพื่อสร้างสรรค์ ก็เป็นการป้องกันมิให้ใช้ช่องโหว่ของกฎหมายในทางทุจริต ..." ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงมีพระราชดำริเกี่ยวกับการบริหารราชการ แผ่นดินที่ต้องคำนึงถึงประโยชน์ของส่วนรวมเป็นสำคัญยิ่งสิ่งอื่นใดความว่า “… ผู้บริหารทุกฝ่าย มุ่งกระทำการงานด้วยความบริสุทธิ์ใจด้วยความตั้งใจจริงและด้วยความคิดพิจารณาโดยสติรอบคอบ ทั้งเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมยิ่งกว่าส่วนอื่น…” และ “ความเจริญผาสุกและความตั้งมั่นของบ้านเมืองเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่บุคคลพึงรำลึกถึงและพึงประสงค์ และความเจริญมั่นคงนั้นจะเกิดขึ้นมีได้ ก็ด้วยผู้บริหารทุกฝ่ายมุ่งกระทำการงานด้วยความบริสุทธิ์ใจ ด้วยความตั้งใจจริง และด้วยความคิดพิจารณาโดยสติรอบคอบ ทั้งเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมยิ่งกว่าส่วนอื่น…”

นอกจากนั้น พระองค์ยังทรงมีพระราชดำรัสในการส่งเสริมคนดีให้เข้ามาปกครองบ้านเมืองความว่า “… ในบ้านเมืองนั้นมีทั้งคนดีและคนไม่ดี ไม่มีใครจะทำให้คนทุกคนเป็นคนดีได้ทั้งหมด การทำให้บ้านเมืองมีความปรกติสุขเรียบร้อย จึงมิใช่การทำให้ทุกคนเป็นคนดี หากแต่การส่งเสริมคนดี ให้คนดีได้ปกครองบ้านเมืองและควบคุมคนไม่ดีไม่ให้มีอำนาจไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้”

สำหรับการบริหารราชการแผ่นดินตามแนวทฤษฎีใหม่ ๆ พระองค์ก็ได้แสดให้เห็นถึงความเป็นพระมหากษัตริย์ที่เปี่ยมล้นด้วยประสบการณ์ในการบริหารราชการแผ่นดินในฐานประมุขของประเทศ เช่น กรณีผู้ว่าราชการจังหวัดบูรณาการ (CEO) พระองค์ทรงมีพระบรมราโชวาทความว่า “... นายกฯ สั่งให้รองนายกฯ รองนายกฯ ก็เป็นซีอีโอ นายกฯ ก็เป็นซีอีโอ ก็เป็นซูเปอร์นายกฯ บอกว่าเป็นผู้ชนะ กลายเป็นฆ่าหมดเลย แต่แท้จริง ลูกน้องก็ต้องรับผิดชอบ ซีอีโอไม่รับผิดชอบอะไรเลย ต้องให้รองนายกฯรับผิดชอบ มี 7 คนใช่ไหม รองนายกฯ เป็นผู้รับผิดชอบ 7 คน เขารับผิดชอบเขาก็ผลักให้รัฐมนตรีรับผิดชอบ รัฐมนตรีก็บอกไม่รับผิดชอบ ต้องเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการ รัฐมนตรีช่วยโยนให้ผู้ช่วยรัฐมนตรีรับผิดชอบ นายกฯ บอกว่าปลัดกระทรวง ไม่ต้องรับผิดชอบ ก็ให้รองปลัด รองปลัดก็ให้อธิบดี แบบนี้เป็นการบอกว่า ไม่มีใครรับผิดชอบ ลงท้ายให้ประชาชนซีอีโอทุกคนรับผิดชอบหมด ไม่รู้จะทำอย่างไง ...”

(2) เศรษฐกิจพอเพียง : โครงการพระราชดำริที่คำนึงถึงประโยชน์สุขของส่วนร่วม

แนวพระราชดำริตามหลักทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงเป็นพระราชดำริที่เป็นหลักในการพัฒนาที่มั่นคงและยั่งยืน โดยความหมายของคำว่า “พอเพียง” นั้น อาจให้ความหมายอย่าง กว้างครอบคลุมถึงการดำเนินชีวิตทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้มีความพอเพียงและเหมาะสม โดยจะทรงเน้นถึงประโยชน์ของประชาชนส่วนร่วมดังพระราชดำรัสความว่า “... ขอให้ทุกคนมีความปรารถนาที่จะให้เมืองไทยพออยู่พอกิน ไม่ใช่ว่าจะรุ่งเรืองอย่างยอดแต่ว่ามีความพออยู่พอกิน มีความสงบ เปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ ถ้ารักษาความพออยู่พอกินนี้ได้ เราก็จะยอดยิ่งยอดได้ ประเทศต่าง ๆ ในโลกนี้กำลังตก กำลังแย่กำลังยุ่ง เพราะแสวงหาความยิ่งยวดทั้งในอำนาจ ทั้งในความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ ทางอุตสาหกรรม ทางลัทธิ ฉะนั้น ถ้าทุกท่าน … ช่วยกันรักษาส่วนรวมให้อยู่ดีกับดีพอสมควร ขอย้ำพอควร พออยู่พอกิน มีความสงบ ไม่ให้คนอื่นมาแย่งคุณสมบัตินี้จากเราไปได้ ก็จะเป็นของขวัญวันเกิดที่ถาวร ที่จะมีคุณค่าอยู่ตลอดกาล ...” จากแนวทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงดังกล่าวนั้น เป็นแนวทางการพัฒนาประเทศที่จะไม่ก่อให้เกิดความล้มเหลวด้วย ดังพระราชดำรัสความว่า “ ... การพัฒนาประเทศจำเป็นต้องทำตามลำดับขั้น ต้องสร้างพื้นฐาน คือ ความพอมี พอกิน พอใช้ ของประชาชนส่วนใหญ่เป็นเบื้องต้นก่อน โดยใช้วิธีการและใช้อุปกรณ์ที่ประหยัด แต่ถูกต้องตามหลักวิชา เมื่อได้พื้นฐานมั่นคงพร้อมพอควรและปฏิบัติได้แล้ว จึงค่อยเสริมความเจริญและฐานะเศรษฐกิจขั้นที่สูงขึ้น โดยลำดับต่อไป หากมุ่งแต่จะทุ่มเทสร้างความเจริญ ยกเศรษฐกิจขึ้นได้รวดเร็วแต่ประการเดียว โดยไม่ใช้แผนปฏิบัติการสัมพันธ์กับสภาวะของประเทศและของประชาชนโดยสอดคล้องด้วย ก็จะเกิดความไม่สมดุล ในเรื่องต่าง ๆ ขึ้น ซึ่งอาจกลายเป็นความยุ่งยากล้มเหลวได้ในที่สุด” ดังนั้น พระองค์จึงมีพระราชดำริความว่า “เศรษฐกิจพอเพียง เป็นเสมือนรากฐานของชีวิต รากฐานความมั่นคงของแผ่นดิน เปรียบเสมือนเสาเข็มที่ถูกตอกรองรับบ้านเรือนตัวอาคารไว้นั่นเอง สิ่งก่อสร้างจะมั่นคงได้ก็อยู่ที่เสาเข็ม แต่คนส่วนมากมองไม่เห็นเสาเข็ม และลืมเสาเข็มซะด้วยซ้ำไป”

(3) พระราชกรณียกิจในการแก้ไขปัญหาวิกฤตทางการเมืองของประเทศ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองจนถึงกับเกิดการจราจลต้องสูญเสียชิวิต เลือดเนื้อ และทรัพย์สินอย่างรุนแรง ในวิกฤตการณ์ 14 ตุลาคม 2516 วิกฤตการณ์ 6 ตุลาคม 2519 และ 17 พฤษภาคม 2535 ก่อให้เกิดสันติสุขและประโยชน์สุขแก่มหาชนชาวสยามของพระองค์ได้อย่างเป็นที่อัศจรรย์ สามารถจรรโลงการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัติย์เป็นประมุข และได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ

พระราชดำรัสและพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ล้วนแต่เป็นพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาทที่แสดงให้ถึงความเป็นปราชญ์ทั้งในทางภาษาศาสตร์และ รัฐศาสตร์ ทรงมีจิตวิทยาในการตักเตือนและให้สติในการแก้ไขปัญหาบ้านเมืองมาโดยตลอด ดังพระบรมราชโชวาทความว่า " ... ประเทศของเรา ไม่ใช่ประเทศของหนึ่งคน สองคน เป็นประเทศของทุกคน ต้องเข้าหากัน ไม่เผชิญหน้ากัน แก้ปัญหา เพราะปัญหามีอยู่เวลาคนเราเกิดความบ้าเลือด เวลามีการปฏิบัติ มันลืมตัว ลงท้ายเขาไม่รู้ว่าตีกันเพราะอะไร แล้วก็จะแก้ปัญหาอะไร เพียงแต่ว่าจะต้องเอาชนะ แล้วก็ใครจะชนะไม่มีทาง อันตรายทั้งนั้นมีแต่แพ้ คือต่างคนต่างแพ้ ผู้ที่เผชิญหน้าก็แพ้ แล้วก็แพ้ที่สุดก็คือประเทศชาติประชาชนจะเป็นประชาชนทั้งประเทศ ไม่ใช่ประชาชนเฉพาะใน กรุงเทพมหานคร ถ้าสมมติว่า กรุงเทพมหานครเสียหาย ประเทศก็เสียหายหมด ทั้งหมดแล้ว ก็จะมีประโยชน์อะไร ที่จะทะนงตัวว่าชนะเวลาอยู่บนกองสิ่งปรักหักพัง ..."

ต่อมาก็ได้เกิดปัญหาความขัดแย้งภายในประเทศเป็นระยะ ๆ พระองค์ก็ได้มีพระราชดำรัสเพื่อเตือนสติ ดังพระราชดำรัสความว่า “... ปัจจุบันนี้รู้สึกว่าบ้านเมืองมีปัญหาและความขัดข้องเกิด ขึ้นไม่สร่างซาเกือบทุกวงการ ... ถึงเวลาแล้ว ที่ทุกคนทุกฝ่ายจะต้องลดความถือดีและการทำตามใจตัวลง แล้วหันมาหาเหตุผล ความถูกต้องและความรับผิดชอบต่อส่วนรวมกันอย่างจริงจัง เพื่อกำจัดอคติ และสร้างเสริมความเมตตาสามัคคีในกันและกัน ... ให้สัมฤทธิ์ประโยชน์สูงสุดในการธำรงรักษาอิสรภาพ อธิปไตย และความเป็นไทย ให้ยั่งยืน มั่นคงอยู่ตลอดไป…”

นับตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2548 จนถึงวันนี้ (20 ก.ค. 2549) ได้เกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองที่นำไปสู่ทางตันมากขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงกับมีการเรียกร้องให้มีนายกฯ พระราชทาน ตามมาตรา 7 แห่งรัฐธรรมนูญฯ ซึ่งยังไม่มีแนวทางที่จะยุติปัญหาทางการเมืองได้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพยายามที่จะแก้ไขปัญหาโดยการเสนอแนะให้แต่ละฝ่ายที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไขปัญหา ดังพระบรมราโชวามความว่า “ในเวลานี้เราให้พูดเรื่องการเลือกตั้ง ศาลเองมีสิทธิที่จะพูดเกี่ยวกับการเลือกตั้ง โดยเฉพาะเลือกตั้งของผู้ที่ได้คะแนนไม่ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ แล้วก็เขาเลือกตั้งคนเดียว ซึ่งมีความสำคัญ คือว่าถ้าไม่ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ ในที่สุดการเลือกตั้งไม่ครบจำนวน ... ถ้าไม่มีจำนวนผู้ที่ได้รับเลือกตั้งพอ ก็กลายเป็นการปกครองแบบประชาธิปไตย ที่ดำเนินการไม่ได้ ... จะต้องทำทุกอย่างเพื่อให้การปกครองแบบประชาธิปไตยต้องดำเนินการไปได้ … เขาก็จะบอกว่าต้องไปถามศาลรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญก็บอกว่าไม่ใช่เรื่อง ศาลรัฐธรรมนูญ เป็นการร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อร่างเสร็จแล้วก็ไม่เกี่ยวข้อง ก็เลยขอร้องท่านอย่าทอดทิ้งการปกครองแบบประชาธิปไตย การปกครองแบบที่จะทำให้บ้านเมืองดำเนินการไปได้ .... การที่จะบอกว่า จะมีการยุบสภาและต้องเลือกตั้งภายใน 30 วัน ถูกต้องหรือไม่ ไม่พูดถึง ไม่พูดกันเลย ถ้าไม่ถูกต้องก็จะต้องแก้ไข แล้วก็อาจจะให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะหรือไม่ ... เท่าที่ฟังดูมันเป็นไปไม่ได้ในการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตย เลือกตั้งขึ้นพรรคเดียว เบอร์เดียว ไม่ใช่ทั่วไป อย่างมีคนที่สมัครเลือกตั้งคนเดียว มันเป็นไปไม่ได้ มันไม่ใช่เรื่องของประชาธิปไตย”

สำหรับการเรียกร้องให้มีนายกฯ พระราชทาน ตามมาตรา 7 แห่งรัฐธรรมนูญฯ นั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงแสดงให้เห็นถึงความเป็นพระมหากษัตริย์นักประชาธิปไตย ดังพระบรมราโชวาทความว่า “เพราะไม่มีสภาผู้แทนฯ ก็ไม่สามารถมีการปกครองแบบประชาธิปไตยได้ ของเรามีศาลหลายชนิดมากมาย เรามีสภาหลายแบบ และทุกแบบต้องเข้ากัน ปรองดองกัน และคิดหาทางที่จะแก้ไขได้ ... ขอยืนยันว่ามาตรา 7 ไม่ได้หมายถึงมอบให้พระมหากษัตริย์มีอำนาจที่จะทำอะไรตามชอบใจ มาตรา 7 พูดถึงการปกครองแบบมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ไม่ได้บอกให้พระมหากษัตริย์ตัดสินใจทำได้ทุกอย่าง ถ้าทำไป เขาจะว่าพระมหากษัตริย์ทำเกินหน้าที่ได้ ซึ่งข้าพเจ้าไม่เคยทำเกินหน้าที่ ถ้าทำเกินหน้าที่ไม่ใช่ประชาธิปไตย …” และทรงให้ทุกฝ่ายช่วยกันหาทางออกจากปัญหาทางการเมืองความว่า ”… ขอให้ท่านไปปรึกษากับผู้อยู่ฝ่ายปกครองประเทศ ตอนนี้มีศาลฎีกา ศาลอุทธรณ์ ศาลอาญา เมื่อมีก็ต้องดำเนินการไป ขอให้ปรึกษากับศาลอื่นๆ ด้วย จะทำให้บ้านเมืองปกครองในระบอบประชาธิปไตยได้ อย่าไปคอยที่จะให้ขอนายกฯพระราชทาน เพราะการขอนายกฯ พระราชทานไม่ใช่การปกครองแบบประชาธิปไตย เพราะขอนายกฯพระราชทานไม่ใช่การปกครองแบบประชาธิปไตย”

นอกจากนั้น พระองค์ยังทรงให้ความหมายของคำว่า “นายกฯ พระราชทาน” ดังพระบรมราโชวาทความว่า “ ... นายกฯ พระราชทาน หมายถึง ตั้งนายกฯ โดยไม่มีกฎเกณฑ์ เมื่อครั้งนายสัญญา ธรรมศักดิ์ ได้รับแต่งตั้งเป็นนายกฯ ที่มีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ คือรองประธานสภานิติบัญญัติ ฉะนั้นไปทบทวนประวัติศาสตร์หน่อย ท่านก็เป็นผู้ใหญ่ และท่านก็ทราบว่ามีกฎเกณฑ์ที่รองรับอย่างไร ... แต่ครั้งนี้เขาจะทำอะไรผิดรัฐธรรมนูญ ใครเป็นคนบอกก็ไม่ทราบ ข้าพเจ้าเองก็รู้สึกว่าผิด ก็ขอให้ช่วยปฏิบัติอะไร คิดอะไร ที่ไม่ให้ผิดกฎเกณฑ์รัฐธรรมนูญ จะทำให้บ้านเมืองพ้นอุปสรรคและมีความเจริญรุ่งเรืองได้ …”

บทสรุป

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติในปี พ.ศ. 2489 หลังจากการเปลี่ยนแปลงการเมืองการปกครอง 2475 เพียง 14 ปี ความสัมพันธ์ระหว่างพระมหากษัตริย์กับประชาชนยังคงมีความผูกพันใกล้ชิดลึกซึ้งมากกว่าพระมหากษัตริย์ในประเทศอื่น เนื่องจากการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของไทย มีที่มา วิวัฒนาการ และคุณลักษณะพิเศษต่างไปจากประเทศอื่นหลายประการ ดังนั้น พระมหากษัตริย์ไทยกับประชาชนและปัญหาของบ้านเมืองยังมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดมากกว่าพระมหากษัตริย์ของประเทศใด ๆ เมื่อเกิดความขัดแย้งและความยุ่งยากใดๆ ในประเทศ อันก่อให้เกิดความขุ่นหมอง ก็มักจะมีการอ้างพระบารมีปกเกล้าฯ เป็นที่พึ่ง จนถึงกับลืมนึกถึงหลักการตามครรลองประชาธิปไตย ด้วยเหตุนี้ ตลอด 60 ปี แห่งการครองราชย์ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ การวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชน ทิศททางการพัฒนาประเทศ การบริหารราชการแผ่นดิน และการแก้ไขปัญหาวิกฤตของบ้านเมือง จึงปรากฎอยู่ในพระราชดำรัส พระบรมราโชวาท และ พระราชกรณียกิจหลายต่อหลายครั้ง จะเป็นการเตือนสติทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ รวมทั้งองค์กรอิสระ และประชาชนคนไทยทุกคน ให้มีสติ และหลักในการบริหารราชการแผ่นดินให้คำนึงถึงชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนโดยส่วนรวมเป็นสำคัญ และการแก้ไขปัญหาททางการเมืองตามครรลองประชาธิปไตย แต่อย่างไรก็ตาม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงมีบรรทัดฐานการวางพระองค์ในฐานะ พระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยของไทย ทรงถึงพร้อมด้วยพระปรีชาสามารถ แม้จะทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจตามกฎหมายและตามราชประเพณีหลายประการ แต่ก็ทรงบริหารพระราชอำนาจนั้นอย่างมีขอบเขต หากไม่มีความจำเป็นพระองค์ก็จะไม่ได้ทรงนิยมใช้พระเดชสั่งการทางการเมือง ตามลักษณะ “โองการ” ของเทวราชผู้ทรงอำนาจ หากแต่ทรงใช้พระคุณ โดยเฉพาะพระปัญญาคุณ และพระมหากรุณาธิคุณในลักษณะของธรรมิกราชผู้ทรงธรรม ในการพระราชทานคำแนะนำและคำตักเตือนแก่ฝ่ายบริหารทุกฝ่ายเป็นการภายใน เพื่อผู้ที่เกี่ยวข้องจะได้รับไปพิจารณาเป็นแนวทางและใช้สติสำนึกในการปฏิบัติ นับเป็นจุดเชื่อมประสานวิถีประชาธิปไตยกับการมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขได้อย่างดีเยี่ยม และเป็นวิถีทางที่ทำให้ทรงดำรงความเป็นกลางในทางการเมืองไว้ได้ ดังพระราชดำรัสความว่า “เราพยายามวางตัวให้เป็นกลาง และร่วมมือโดยสันติวิธีกับทุกฝ่าย เพราะเชื่อว่าความเป็นกลางนี้จำเป็นสำหรับเรา...”

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงเป็นที่เคารพสักการะอย่างสูงสุดของพวกเราชาวไทยทั้งหลายนั้น ทรงมีประสบการณ์ได้ทอดพระเนตรเห็นความเป็นไปในด้านการเมืองการปกครองของไทยในยุคสมัยประชาธิปไตยมามากที่สุด เพราะทรงต้องเผชิญกับสถานการณ์ทางการเมืองในรูปแบบต่างๆ มาตลอดระยะที่ทรงครองราชย์ นับถึงบัดนี้ได้ ๖๐ ปี เนิ่นนานกว่ารัฐบาลทุกยุคทุกสมัยที่เพียงผ่านมา แล้วก็ผ่านไปในระยะเวลาอันสั้น

ดังนั้น การที่พระองค์ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจและพระราชจริยาวัตรตามกรอบแห่งกฎหมายโดยยึดหลักทศพิธราชธรรม พระองค์ทรงเป็นสัญลักษณ์ที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของประชาชนชาวไทยทั้งประเทศ ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่เปี่ยมล้นไปด้วยพระเมตตา และพระปัญญาที่แหลมคมและสุขุมรอบคอบ และที่อัศจรรย์เป็นอย่างยิ่งของพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 9 คือ พระองค์ทรงมีบทบาทสำคัญในการแก้ไขปัญหาวิกฤตทางการเมืองหลายต่อหลายครั้งที่เกิดความสับสนทางการเมือง เกิดวิกฤตทางกฎหมาย และเกิดวิกฤตทางการเมืองการปกครอง ที่ยากแก่การแก้ไข แต่ด้วยพระบารมีอันสูงส่งของพระองค์ รวมถึงด้วยพระราชอัจริยภาพและพระปรีชาสามารถที่เปี่ยมไปด้วยความรู้ความเข้าใจและประสบการณ์เกี่ยวกับการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ภายใต้กรอบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข พระองค์ทรง เป็นหลักในการจรรโลงประชาธิปไตย ที่ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเพื่อความกินดีอยู่ดีอย่างยั่งยืนและเพื่อแก้ไขปัญหาบ้านเมืองตามครรลองประชาธิปไตยและการบริหารราชการแผ่นดินที่คำนึงถึงประโยชน์สุขของประชาชนเป็นหลักได้อย่างมีศิลปะและมีความสง่างามเป็นอย่างยิ่ง จึงอาจกล่าวได้ว่า พระองค์ทรงเป็น “พระมหากษัตริย์นักประชาธิปไตย”

บรรณานุกรม

ธโสธร ตู้ทองคำ. “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับการจรรโลงระบอบประชาธิปไตย”. รัฐสภาสาร. 53, 12 (ธ.ค. 2548), 1 - 15.

ประหยัด หงษ์ทองคำ. “พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช

มหาราชในทางรัฐศาสตร์”. รัฐสภาสาร. 47, 12 (ธ.ค. 2542), 1 - 8.รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540.

พระมหากษัตริย์นักประชาธิปไตย(PDF Download)