ผลต่างระหว่างรุ่นของ "อาทิตย์ อุไรรัตน์"

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
Apirom (คุย | ส่วนร่วม)
หน้าที่ถูกสร้างด้วย ''''ผู้เรียบเรียง''' จันทมร สีหาบุญลี ---- '''ผู้ทรงคุณวุ...'
 
Apirom (คุย | ส่วนร่วม)
ไม่มีความย่อการแก้ไข
 
บรรทัดที่ 217: บรรทัดที่ 217:
<references/>
<references/>
[[หมวดหมู่:ประธานสภาผู้แทนราษฎร]]
[[หมวดหมู่:ประธานสภาผู้แทนราษฎร]]
[[หมวดหมู่:จันทมร สีหาบุญลี]]

รุ่นแก้ไขปัจจุบันเมื่อ 11:43, 7 ตุลาคม 2554

ผู้เรียบเรียง จันทมร สีหาบุญลี


ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จเร พันธุ์เปรื่อง



นายอาทิตย์ อุไรรัตน์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร

นายอาทิตย์ อุไรรัตน์ เป็นปูชนียบุคคลที่มีบทบาทสำคัญยิ่ง อันเป็นคุณูปการต่อสังคมไทย และได้รับการยกย่องในฐานะนักการเมืองมือสะอาด ที่ปราศจากผลประโยชน์ทับซ้อน นักบริหารมืออาชีพที่มุ่งผลสำเร็จเพื่อส่วนรวม นักการศึกษาที่มุ่งอุดมคติทางการศึกษาที่แท้จริง และนักสังคมประชาธิปไตยที่มีบทบาทสำคัญในการแก้ไขวิกฤตปัญหาของชาติอยู่เสมอ โดยในยามที่สังคมไทยประสบภาวะวิกฤตทางการเมือง ก็มักจะได้รับความคิดเห็นและแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่ดีต่อประเทศชาติ ปรากฏทางสื่อสารมวลชนอยู่เป็นประจำ ภายหลังจากการวางมือทางการเมือง นายอาทิตย์ อุไรรัตน์ ได้กลับไปบริหารกิจการและธุรกิจส่วนตัวของครอบครัว เช่น โรงพยาบาลพญาไท มหาวิทยาลัยรังสิต โดยเฉพาะมหาวิทยาลัย เขาสามารถบริหารให้เป็นสถาบัน อุดมศึกษาชั้นนำของประเทศที่เปิดสอนในสาขาวิชาที่ขาดแคลน เช่น สาขาแพทยศาสตร์ และสาขาวิศวกรรมยานยนต์ เป็นต้น ตลอดจนนายอาทิตย์ อุไรรัตน์ ในฐานะอธิการบดี ได้ประสานความร่วมมือกับต่างประเทศ เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาในสาขาวิชาเหล่านี้ให้เป็นมาตรฐานสากลเทียบเท่ากับต่างประเทศ จนเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ

นอกจากนี้ ยังรับเป็นวิทยากรบรรยายพิเศษในโอกาสต่าง ๆ ให้กับสถาบันการศึกษา องค์กรต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศ

ประวัติ นายอาทิตย์ อุไรรัตน์ เกิดวันอาทิตย์ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2481 เป็นบุตรชายของนายประสิทธิ์ และคุณหญิงพัฒนา อุไรรัตน์ สมรสกับนางบุญนำ (ฉายะบุตร) มีบุตรธิดา 3 คน คือ นายอภิวัฒิ อุไรรัตน์ ดร. อรรถวิท อุไรรัตน์ และนางอภิรมณ อุไรรัตน์ โชตินฤมล


ประวัติการศึกษา

ประถมศึกษา โรงเรียนบัณฑิตวิทยา จังหวัดน่าน และโรงเรียนถนอมวิทยา จังหวัดลพบุรี

มัธยมศึกษา โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา

อุดมศึกษา

- ปริญญาตรี รัฐศาสตร์บัณฑิต สาขาการทูตและการต่างประเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

- ปริญญาโท มหาบัณฑิต สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจาก Fletcher School of Law and Diplomacy, Tufts University, Massachusetts U.S.A. มหาบัณฑิต สาขาการบริหารรัฐกิจจาก California State University, Los Angeles, U.S.A. M.S. (Public Service) California State University, Los Angeles, U.S.A.

- ปริญญาเอก ดุษฎีบัณฑิต ทางรัฐศาสตร์ สาขารัฐประศาสนศาสตร์ จาก University of Colorado, Boulder, Colorado, U.S.A.


ประวัติการทำงาน


ด้านราชการประจำ

- ปลัดอำเภอเมือง จังหวัดนครนายก ปี พ.ศ. 2502

- หัวหน้าฝ่ายอัตรากำลังและฝึกอบรม สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการและพลเรือน

- หัวหน้ากองวิชาการ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน

- หัวหน้ากองบริหารทั่วไป การทางพิเศษแห่งประเทศไทย

- รองเลขาธิการคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ปี พ.ศ. 2518

- ประธานคณะอนุกรรมการปรับปรุงระเบียบข้าราชการการพลเรือน


ด้านรัฐวิสาหกิจ

- กรรมการการประปานครหลวง ปี พ.ศ. 2526

- ประธานอนุกรรมการพิจารณาปรับปรุงกิจการ การประปานครหลวง

- ผู้ว่าการการประปานครหลวง ปี พ.ศ. 2527


ด้านการเมือง

ตำแหน่งในพรรคการเมือง

- รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเลขาธิการพรรคชาติประชาธิปไตย ปี พ.ศ. 2524

- เลขาธิการพรรคกิจประชาคม ปี พ.ศ. 2529

- โฆษกพรรคเอกภาพ ปี พ.ศ. 2533

- รองหัวหน้าพรรคสามัคคีธรรม ปี พ.ศ. 2533

- หัวหน้าพรรคเสรีธรรม ปี พ.ศ. 2534

- ที่ปรึกษาอาวุโส พรรคประชาธิปัตย์

- รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ปี พ.ศ. 2539

ตำแหน่งในฝ่ายนิติบัญญัติ

- กรรมาธิการการเศรษฐกิจ

- กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบจากกรณีกฎหมายการค้าของสหรัฐอเมริกา ปี พ.ศ. 2531

- กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาญัตติด่วนเพื่อศึกษาและหาแนวทางแก้ไขปัญหาการขาดทุน ของผู้ประกอบการ เลี้ยงกุ้งกุลาดำ

- กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไข เพิ่มเติม

- กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ

- ประธานสภาผู้แทนราษฎร และรักษาการประธานรัฐสภา ปี พ.ศ. 2535

- สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดฉะเชิงเทรา ปี พ.ศ. 2535

- สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดฉะเชิงเทรา ปี พ.ศ. 2539

- สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร ปี พ.ศ. 2542

- ประธานกรรมาธิการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร

- สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ปี พ.ศ. 2544

ตำแหน่งในฝ่ายบริหาร

- รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ปี พ.ศ. 2534

- รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ปี พ.ศ. 2535

- รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม ปี พ.ศ. 2540

ตำแหน่งในองค์กรภาคเอกชน

- ประธานกรรมการมูลนิธิ จอห์น อี.พิวรีฟอย

- กรรมการมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช

- อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต[1]

- ประธานกรรมการโรงเรียนนานาชาติ บริติช ภูเก็ต

- ประธานกรรมการโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยรังสิต


เครื่องราชอิสริยาภรณ์

ประถมาภรณ์มงกุฎไทย (ป.ม. ปี 2522)

ประถมาภรณ์ช้างเผือก (ป.ช. ปี 2532)

มหาวชิรมงกุฎ (ม.ว. ปี 2535)

มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช. ปี 2536)[2]

จากชีวประวัติและการทำงานที่ผ่านมาเป็นที่ประจักษ์ได้ว่า นายอาทิตย์ อุไรรัตน์ เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในด้านต่าง ๆ มากมาย ซึ่งสามารถจำแนกได้แต่ละด้าน ดังนี้

บทบาททางด้านการเมือง

นายอาทิตย์ อุไรรัตน์ เข้าสู่ถนนการเมืองครั้งแรกด้วยการลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่า กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2518 สังกัดพรรคพลังใหม่ ที่มี นพ.กระแส ชนะวงศ์ เป็นหัวหน้าพรรค การเลือกตั้งครั้งนี้ นายอาทิตย์ อุไรรัตน์ ไม่ประสบผลสำเร็จ พ่ายแพ้ให้กับนายธรรมนูญ เทียนเงิน จากพรรคประชาธิปัตย์ ต่อมาปี พ.ศ. 2519 ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร เขตป้อมปราบ – ปทุมวัน สังกัดพรรคพลังใหม่และพ่ายแพ้ให้กับ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ขณะนั้น แม้จะไม่ประสบผลสำเร็จในการลงสมัครรับเลือกตั้งติดต่อกันถึงสองครั้ง แต่ก็ไม่เคยย่อท้อ ยังคงเดินบนถนนสายการเมือง โดยได้รับแต่งตั้งเป็นรองเลขาธิการรัฐมนตรีในรัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ ในปี พ.ศ. 2523 ต่อมาปี พ.ศ. 2526 นายอาทิตย์ อุไรรัตน์ ลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิก สภาผู้แทนราษฎร จังหวัดฉะเชิงเทรา แต่ก็ไม่ได้รับการเลือกตั้ง ในปี พ.ศ. 2531 ได้ย้ายไปสังกัดพรรค

กิจประชาคมดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรค โดยมีนายบุญชู โรจนเสถียร เป็นหัวหน้าพรรค ในปีนี้เขาประสบผลสำเร็จได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นสมัยแรก ต่อมาปี พ.ศ. 2532 ได้มีการรวมตัวพรรคการเมืองเข้าด้วยกัน 4 พรรค คือ พรรคก้าวหน้า ที่มีนายอุทัย พิมพ์ใจชน เป็นหัวหน้าพรรค พรรคกิจประชาคม ที่มีนายบุญชู โรจนเสถียร เป็นหัวหน้าพรรค พรรครวมไทย ที่มีนายณรงค์ วงศ์วรรณ เป็นหัวหน้าพรรค และพรรคประชาชน ที่มีนายเฉลิมพันธ์ ศรีวิกรม์ และนายวีระ มุสิกพงศ์ เป็นแกนนำรวมเข้าเป็นพรรคเดียวกันชื่อพรรคเอกภาพ[3] โดยมีนายอาทิตย์ อุไรรัตน์ เป็นโฆษกพรรค และปีถัดมา เขาได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ คณะรัฐมนตรี คณะที่ 46 ในรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี[4]

เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 เกิดเหตุการณ์ยึดอำนาจการปกครองประเทศโดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.)[5] เป็นสาเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลง ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2535 ได้มีการเลือกตั้งทั่วไป นายอาทิตย์ อุไรรัตน์ จึงย้ายสังกัดจากพรรคเอกภาพมาเป็นสมาชิกพรรคเสรีธรรมในตำแหน่งรองหัวหน้าพรรคที่มีนายณรงค์ วงศ์วรรณ เป็นหัวหน้าพรรค และลงสมัครรับเลือกตั้ง และได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดฉะเชิงเทราอีกสมัย ในปีนี้นับว่า นายอาทิตย์ อุไรรัตน์ เป็นผู้มีบทบาทในการเมืองอันสำคัญยิ่งขึ้น คือ การได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ คือ ตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2535 สมัย พล.อ.สุจินดา คราประยูร เป็นนายกรัฐมนตรี

ต่อมาได้เกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ จนนายกรัฐมนตรีต้องลาออก เป็นเหตุให้ต้องเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ท่ามกลางปัญหาวิกฤติทางการเมืองในขณะนั้น นายอาทิตย์ อุไรรัตน์ ประธานสภาผู้แทนราษฎรจะต้องเป็นผู้เสนอรายชื่อบุคคลผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยเหตุการณ์ทางการเมืองมีทีท่าว่าจะวิกฤติมากยิ่งขึ้น เมื่อฝ่ายการเมืองเสียงข้างมากพยายามจะเสนอชื่อ พล.อ.อ.สมบุญ ระหงษ์ หัวหน้าพรรคชาติไทยเป็นนายกรัฐมนตรี ท่ามกลางกระแสการประท้วงและต่อต้านจากประชาชนผู้ไม่เห็นด้วย แต่ด้วยนายอาทิตย์ อุไรรัตน์ มักจะตัดสินใจแก้ไขปัญหาบนพื้นฐานผลประโยชน์ของส่วนรวมเป็นสำคัญ อีกทั้งเพื่อยุติปัญหาความขัดแย้งที่มีอยู่ จึงฝ่าทางตันด้วยการเสนอชื่อนายอานันท์ ปันยารชุน ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกสมัย จากการตัดสินใจในครั้งนั้น ทำให้นายอาทิตย์ อุไรรัตน์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้รับฉายา “วีรบุรุษประชาธิปไตย”[6]

เมื่อปัญหาวิกฤติทางการเมืองคลี่คลาย นายกรัฐมนตรีได้ประกาศยุบสภาให้มีการเลือกตั้งใหม่ นายอาทิตย์ อุไรรัตน์ ร่วมกับนายพินิจ จารุสมบัติ ร่วมกันก่อตั้งพรรคเสรีธรรม และลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดฉะเชิงเทรา สังกัดพรรคเสรีธรรม และได้รับการเลือกตั้งให้เข้าสู่สภาอีกสมัย พร้อมลูกพรรคอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งนายอาทิตย์ อุไรรัตน์ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข คณะรัฐมนตรี คณะที่ 50[7] ในรัฐบาลนายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรีสมัยแรก โควตาพรรคเสรีธรรม

ปี พ.ศ. 2539 มีการเลือกตั้งทั่วไป นายอาทิตย์ อุไรรัตน์ ได้ย้ายสังกัดจากพรรคเสรีธรรมมาเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาอาวุโสและรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ต่อมาปี พ.ศ. 2542 ได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวง วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม คณะรัฐมนตรี คณะที่ 53[8] ในรัฐบาลนายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี สมัยที่สอง

ปัจจุบัน นายอาทิตย์ อุไรรัตน์ ได้ประกาศวางมือทางการเมืองไปแล้ว หากแต่ในยามที่บ้านเมืองเกิดวิกฤติปัญหา สังคมไทยก็มักจะได้รับแนวคิดที่เป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาของชาติดังสมญานาม “วีรบุรุษประชาธิปไตย” อยู่เสมอ

บทบาททางด้านการบริหาร

นายอาทิตย์ อุไรรัตน์ ได้ฉายภาพความเป็นนักบริหารตั้งแต่เข้ารับราชการในตำแหน่งต่าง ๆ ตามลำดับดังนี้

- ปลัดอำเภอเมือง จังหวัดนครนายก (พ.ศ. 2502) หัวหน้ากองวิชาการ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (พ.ศ. 2515)

- รองเลขาธิการคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (พ.ศ. 2518)

- ปี พ.ศ. 2527 ได้รับความไว้วางใจจากฝ่ายการเมืองและคณะกรรมการการประปานครหลวง แต่งตั้งให้เป็นผู้ว่าการประปานครหลวง มติคณะรัฐมนตรี วันที่ 17 เมษายน 2527 ตลอดระยะเวลา 2 ปี 9 เดือน 14 วัน ที่ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการประปานครหลวงนั้น ได้ดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างการบริหารการประปานครหลวงภายใต้คำขวัญที่ว่า “การบริการคือหัวใจ” ขยายสาขาสำนักงานประปาออกเป็น 10 สาขา ทำให้การประปานครหลวงกลับมีกำไรขึ้นมาได้ภายในระยะเวลาเพียง 2 ปี

- การบริหารงานภาครัฐและการบริหารด้านธุรกิจ เช่น โรงพยาบาลพญาไท มหาวิทยาลัยรังสิต และโรงเรียนนานาชาติ บริติช ภูเก็ต เป็นต้น

จากผลสำเร็จและประสบการณ์ในทางการบริหารในฐานะผู้ว่าการประปานครหลวง

นายอาทิตย์ อุไรรัตน์ได้ให้หลักการบริหารรัฐวิสาหกิจ ควรมีองค์ประกอบ 4 ประการคือ

1. มีความสามารถทางด้านการบริหาร หรือมีแนวความคิดในทางธุรกิจ

2. เป็นนักจัดการด้านมวลชนหรือมีความเป็นนักรัฐศาสตร์

3. ต้องมีคุณสมบัติของนักการเมืองที่มีความสามารถในการยืดหยุ่นต่อรอง โดยมีจุดยืนที่มีคุณธรรมเป็นบรรทัดฐาน

4. มีโชค[9]

หลักการเหล่านี้ เป็นหลักการที่นายอาทิตย์ อุไรรัตน์ ได้นำมาปฏิบัติและประสบผลสำเร็จมาแล้วจากการเป็นผู้ว่าการประปานครหลวง แต่สำหรับหลักการเหล่านี้ยังคงทันสมัย และเหมาะสมที่จะนำมาปรับใช้ในการบริหารองค์กรรัฐวิสาหกิจของไทยในปัจจุบัน

บทบาททางด้านการศึกษา

นายอาทิตย์ อุไรรัตน์ เป็นนักการศึกษาที่สำคัญ ดังจะเห็นได้จากความยึดมั่นศรัทธาในปรัชญาการศึกษา ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำรัสไว้เมื่อปี พ.ศ. 2528 ว่า “ปรัชญาการศึกษาของประเทศไทย ควรมีพื้นฐานของหลักการที่จะรับวิทยาการที่ทันสมัยจากโลกตะวันตก ในขณะที่บำรุงรักษามรดกวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของเราไว้ควบคู่กันไป” [10] และผลสำเร็จทางการศึกษาในฐานะนักเรียนทุนรัฐบาลระดับสูงสุดของสาขาวิชาทางรัฐศาสตร์และสาขารัฐประศาสนศาสตร์จากต่างประเทศ คุณวุฒิทางการศึกษาเหล่านี้เป็นเครื่องการันตีถึงปรัชญาแนวความคิด ที่ทำให้เห็นความมุ่งมั่นและการให้ความสำคัญทางด้านการศึกษาทุกระดับ เช่น การก่อตั้งโรงเรียนนานาชาติ บริติช ภูเก็ต โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยรังสิต มหาวิทยาลัยรังสิต ซึ่งสถาบันการศึกษาเหล่านั้น นายอาทิตย์ อุไรรัตน์ รับบทบาทหน้าที่เป็นผู้บริหารสูงสุด ในฐานะประธานกรรมการและอธิการบดี ตามลำดับ นอกจากการเป็นผู้บริหารสูงสุดในสถาบันการศึกษาแล้ว นายอาทิตย์ อุไรรัตน์ยังได้ตระหนักและสนับสนุนส่งเสริมการศึกษาในสาขาที่ขาดแคลน ทั้งนี้ มิใช่เพียงเพื่อองค์กรใดองค์กรหนึ่งโดยเฉพาะ หากแต่ผลสำเร็จที่เกิดขึ้นนั้นก็เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติโดยส่วนรวม เช่น การเปิดสอนสาขาแพทยศาสตร์ในมหาวิทยาลัยเอกชนครั้งแรกของประเทศ โดยความร่วมมือระหว่างคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐเมริกา นอกจากนี้ นายอาทิตย์ อุไรรัตน์ ยังพยายามผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการศึกษาด้านวิศวกรรมยานยนต์ โดยพยายามประสานความร่วมมือกับบริษัทผลิตรถยนต์รายใหญ่ของโลก เช่น ฟอร์ด เพื่อเปิดสอน สาขาวิชาวิศวกรรมยานยนต์ เป็นต้น

ด้านการศึกษาปัจจุบัน นายอาทิตย์ อุไรรัตน์ ได้นำเสนอบทความที่เกี่ยวข้องและสนับสนุนการศึกษาในรูปแบบต่าง ๆ อยู่ตลอดเวลา พร้อมกันนั้น ก็ได้นำเสนอแนวความคิดที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาเพื่อกระตุ้นเตือนให้องค์กรที่มีส่วนร่วมรับผิดชอบด้านการศึกษาของชาติให้ตระหนักและเห็นความสำคัญของการศึกษา เช่น บทความในหัวข้อ การศึกษาคือ รากแก้ว ว่า “การศึกษาคือ รากแก้วของสังคมอย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็นชีวิตด้านใดของชาติ ของสังคม หรือของประชาชน ความยั่งยืน ความสำเร็จ ความรุ่งเรือง ทุก ๆ ด้าน จะมาจากพื้นฐานการศึกษาทั้งสิ้น ฉะนั้น การศึกษานี้ คือ หัวใจ เป็นรากแก้ว รากแก้วนี้มีส่วนสำคัญต่อการยั่งยืน ความเจริญเติบโตของต้นไม้ฉันใด การศึกษาก็เป็นรากแก้วต่อความเจริญรุ่งเรือง ความยั่งยืน ความมีเนื้อหาอย่างแท้จริงของการพัฒนาประเทศ ประชาชนมีความร่ำรวย อยู่ดีกินดี มีสังคมที่สงบสุขรุ่งเรือง ด้วยประการทั้งปวงอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับการศึกษาฉันนั้น ฉะนั้น ถ้าประเทศยังด้อยอยู่ก็แสดงว่าการศึกษายังไม่ดีจริง การศึกษาไม่ใช่การเรียนหนังสือ การเรียนหนังสือ คือ การเรียนสิ่งที่อยู่ในหนังสือ แต่การศึกษาเป็นการสร้างปัญญาให้เกิดขึ้น ปัญญานี้มีความหมายสูงและมากกว่าการเรียนหนังสือมาก การสร้างปัญญาคือ การสร้างสิ่งที่ดีงาม สิ่งที่เป็นความเจริญรุ่งเรือง สิ่งที่เป็นอนาคต สิ่งที่เป็นปัจจุบันและเป็นอนาคตให้เกิดขึ้นในสมองของคน” [11]

บทบาททางด้านสังคมประชาธิปไตย

นายอาทิตย์ อุไรรัตน์ เป็นนักสังคมประชาธิปไตย ที่พยายามสนับสนุนให้นักศึกษา มหาวิทยาลัยรังสิต เข้าไปมีส่วนร่วมในการชุมนุมทางการเมืองตามวิถีประชาธิปไตย ว่า “บทบาทของนักศึกษา ไม่ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นตรงไหน อย่างไร ที่เป็นเรื่องของสังคม เป็นเรื่องของชีวิต เศรษฐกิจ การเมือง เราทุกคนต้องมีส่วนเกี่ยวข้อง มหาวิทยาลัยรังสิตได้พยายามเอาบทบาทของมหาวิทยาลัย เข้าไปตรงนั้นและอยากกระตุ้นให้นักศึกษาได้มีโอกาสรับรู้ ศึกษาและได้มีความรับผิดชอบต่อสังคม” จากกรณีนักศึกษาออกมาชุมนุมในยุค 14 ตุลาคม 16 “เมื่อก่อนนี้ ความรับผิดชอบต่อสังคมมันมีสูงกว่าการเป็นนักศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยถือว่าเป็นปัญญาชน เป็นหัวกะทิของคนรุ่นใหม่ของชาติ ฉะนั้น เขาก็เข้ามาสวมบทบาทนี้อย่างเต็มภาคภูมิ พอมาสมัยนี้ สถาบันการศึกษาของรัฐ ห่างไกลบทบาทตรงนั้นมาก ส่วนสถาบันการศึกษาของเอกชน ก็ห่างไกลมากเช่นกัน อาจเนื่องด้วยนักศึกษาถือว่าต้องหาเงินมาเรียน มีหน้าที่เรียนอย่างเดียว เรียนให้มันจบแล้วออกมาทำงานเท่านั้นเอง”[12]

นอกจากนี้ นายอาทิตย์ อุไรรัตน์ ยังได้เสนอแนวคิดที่เกี่ยวกับสังคมประชาธิปไตย เพื่อเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาของประเทศชาติและสังคมว่า “ภูมิปัญญาใหม่คือการกล้าคิดว่าเราควรพัฒนาประเทศอย่างเป็นตัวของตัวเอง โดยกล้าเลือกแนวทาง เศรษฐกิจพอเพียง และการพึ่งตนเอง (คน, ทรัพยากร, ตลาดภายในประเทศ) เป็นสัดส่วนสูงขึ้น โดยใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม อีกทั้งรู้จักพัฒนาภูมิปัญญาและจิตสำนึกควบคู่กันไป ปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ ต้องมุ่งมั่นการกระจายอำนาจ กระจายโครงการ และกระจายรายได้ที่เป็นธรรม ให้ประชาชนส่วนใหญ่มีปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็น มีความสุข มีคุณภาพชีวิตมากกว่าการสร้างหนี้ การบริโภคสินค้า และการบริการที่ฟุ่มเฟือยเกินจำเป็น การสร้างเศรษฐกิจพอเพียงและสังคมที่มีภูมิปัญญาและจิตสำนึก มีสันติ ประชาธรรมเป็นรากฐานค้ำจุนให้คนส่วนใหญ่มีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ จำเป็นจะต้องให้หนทางใหม่คือ แนวนโยบาย สังคมประชาธิปไตยใหม่ (New Social Democracy) เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนการปฏิรูปและการกระจายทรัพย์สิน รายได้ ความรู้ สิทธิมนุษยชน ทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ครบถ้วน ทุกด้านอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม”

บทบาทในด้านต่าง ๆ ที่นายอาทิตย์ อุไรรัตน์ ได้เสนอต่อสังคมในวาระโอกาสที่แตกต่างกัน เป็นเครื่องการันตีได้ว่า บุคคลผู้นี้สมควรอย่างยิ่งที่จะได้รับการยกย่องและยอมรับว่าเป็นปูชนียบุคคลที่สำคัญยิ่งของสังคม ที่ควรจารึกเกียรติคุณอันไพศาลนี้ไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ของชาติไทยสืบไป

หนังสือแนะนำให้อ่านต่อ

คอลัมน์ รายงานพิเศษ, “เขาชื่อ อาทิตย์ อุไรรัตน์ วีรบุรุษนักบริหารมืออาชีพ หักใจปัดข้อเสนอชิงผู้ว่าฯ กทม.” มติชนสุดสัปดาห์ ปีที่ 16 ฉบับที่ 815 ฉบับประจำวันที่ 2 เมษายน 2539

นุสรา เงินเจริญ, (2545) “สัมภาษณ์พิเศษ ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต.” นิตยสาร ฟอร์มูลา ปีที่ 26 ฉบับที่ 317 วันที่ 13 มิถุนายน 2545

สุพัตรา สุภาพ ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์, “นักการเมืองมีอุดมการณ์.” นิตยสารอรุณสวัสดิ์ ปีที่ 6 ฉบับที่ 65 เดือนสิงหาคม 2536

“ “ ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์, “ประธานสภาผู้แทนราษฎร.” นิตยสารบุคคลวันนี้ ปีที่ 6 ฉบับที่ 70 เดือนเมษายน 2535

ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ (ระบบออนไลน์) The Last Hero? http://www.gotomanager.com/ news/printnews.aspx?id=45997 (สืบค้น ณ วันที่ 29 ตุลาคม 2552)

ดร. อาทิตย์ อุไรรัตน์ (ระบบออนไลน์)http://www.usthaingo.org/webboard/view.php?id=9623 (สืบค้น ณ วันที่ 5 สิงหาคม 2552)

ที่มา

สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, (2547) “ประวัติรัฐธรรมนูญ.” สำนักการพิมพ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. กรุงเทพฯ.

สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, (2548) “73 ปี รัฐสภาไทย” สำนักการพิมพ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. กรุงเทพฯ.

อาทิตย์ อุไรรัตน์, (2550) “หัวอกผู้ถูกว่า บทเรียนแห่งความสำเร็จและความล้มเหลวของการบริหารรัฐกิจ”. พิมพ์ครั้งที่ 3 สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรังสิต กรุงเทพฯ. หน้า 89.

Http://th.wikipedia.org สืบค้นเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2552

อ้างอิง

  1. กฤษณะ ไชยรัตน์, (2546) “ล้วงลึก ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ ประกาศอำลาเวทีการเมือง”. เนชั่นสุดสัปดาห์ ปีที่ 12 ฉบับที่ 578 วันที่ 8 มิถุนายน - 6 กรกฎาคม 2546 หน้า 12.
  2. กลุ่มงานผลิตเอกสาร สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, (2547) “ประวัติรัฐธรรมนูญ”. สำนักการพิมพ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร. หน้า 65.
  3. คณะรัฐมนตรี คณะที่ 46 9 ธันวาคม 2533 – 23 กุมภาพันธ์ 2534, (ระบบออนไลน์)
  4. คณะรัฐมนตรี คณะที่ 50, 23 กันยายน 2534 – 12 กรกฎาคม 2548 (ระบบออนไลน์) http://www.cabinet.Thaigov.go.th/662_main11.htm (สืบค้นวันที่ 5 สิงหาคม 2552)
  5. คณะรัฐมนตรี คณะที่ 53, 14 พฤศจิกายน 2540 – 9 พฤศจิกายน 2543 (ระบบออนไลน์) http://www.cabinet.Thaigov.go.th/662_main11.htm (สืบค้นวันที่ 5 สิงหาคม 2552)
  6. รายงานพิเศษ, (2539) “เขาชื่อ อาทิตย์ อุไรรัตน์ วีรบุรุษนักบริหารมืออาชีพ หักใจปัดข้อเสนอชิงผู้ว่าฯ กทม.”. มติชนสุดสัปดาห์ ปีที่ 16 ฉบับที่ 815 วันที่ 2 เมษายน 2539 หน้า 12.
  7. ดร. อาทิตย์ อุไรรัตน์, (ระบบออนไลน์) www.democrat.or.th/teamwork_democrat/Per_atit.htm (สืบค้น ณ วันที่ 5 สิงหาคม 2552)
  8. ดร. อาทิตย์ อุไรรัตน์, (ระบบออนไลน์) www.drathit.com/010200_Biography.aspx (สืบค้น ณ วันที่ 2 สิงหาคม 2552)
  9. อาทิตย์ อุไรรัตน์, (2550) “หัวอกผู้ถูกว่า บทเรียนแห่งความสำเร็จและความล้มเหลวของการบริหารรัฐกิจ”. พิมพ์ครั้งที่ 3 สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรังสิต กรุงเทพฯ. หน้า 89.
  10. ดร. อาทิตย์ อุไรรัตน์, (ระบบออนไลน์) http://www.rsunews.net/Thammathipapatai/Education Taproots In Society.htm (สืบค้น ณ วันที่ 5 สิงหาคม 2552)
  11. ดร. อาทิตย์ อุไรรัตน์, (ระบบออนไลน์) http://hi.Spiceday.com/viewthread.php.?tid=9716 (สืบค้น ณ วันที่ 5 สิงหาคม 2552)
  12. ดร. อาทิตย์ อุไรรัตน์, (ระบบออนไลน์) www.drathit.com/020300_Quotations.aspx (สืบค้น ณ วันที่ 11 ตุลาคม 2552)