ผลต่างระหว่างรุ่นของ "ธรรมาธิปัตย์"

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
Apirom (คุย | ส่วนร่วม)
หน้าที่ถูกสร้างด้วย ''''ผู้เรียบเรียง''' ชาย ไชยชิต ---- '''ผู้ทรงคุณวุฒิประจ...'
 
Apirom (คุย | ส่วนร่วม)
ไม่มีความย่อการแก้ไข
 
บรรทัดที่ 91: บรรทัดที่ 91:


[[หมวดหมู่:รายชื่อพรรคการเมืองไทย]]
[[หมวดหมู่:รายชื่อพรรคการเมืองไทย]]
[[หมวดหมู่:ชาย ไชยชิต]]

รุ่นแก้ไขปัจจุบันเมื่อ 11:46, 4 ตุลาคม 2554

ผู้เรียบเรียง ชาย ไชยชิต


ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต


พรรคธรรมาธิปัตย์

ต้นปี พ.ศ. 2490 จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้เผยเจตนาที่จะก่อตั้งพรรคการเมืองชื่อ “ธรรมาธิปัตย์” มีแนวนโยบายทำนอง conservative ของต่างประเทศ แต่เนื่องจากได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นผู้บัญชาการทหารบก ซึ่งเป็นตำแหน่งข้าราชการประจำทางทหาร และไม่สามารถปฏิบัติการทางการเมืองได้ ความพยายามในการผลักดันการก่อตั้งพรรคธรรมาธิปัตย์ของจอมพล ป. พิบูลสงคราม จึงยุติลง อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมามีคณะบุคคลกลุ่มหนึ่งเห็นพ้องต้องกันว่า หลักการและนโยบายของพรรคธรรมาธิปัตย์เป็นหลักการและนโยบายที่ดี หากได้ดำเนินการต่อไปจะเป็นคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติ บุคคลคณะดังกล่าวจึงพร้อมใจกันร่วมเป็นชุมนุม มีวัตถุประสงค์จะดำเนินกิจกรรมทางการเมืองเพื่อรับใช้ชาติและประชาชน โดยยึดถือและดำเนินการตามแนวนโยบายพรรคธรรมาธิปัตย์ที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้วางไว้ และได้หยิบเอาหลักการและนโยบายของพรรคธรรมาธิปัตย์มาปรับปรุงเพิ่มเติม ปรากฏเป็นหลักการและนโยบายดังนี้

ชุมนุมธรรมาธิปัตย์ ยึดมั่นในหลัก 4 ประการ คือ ประเทศ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ กล่าวคือ เกี่ยวกับประเทศ ชุมนุมธรรมาธิปัตย์ถือหลักหวงดินแดนอันเป็นสมบัติของชาติไทย การสูญเสียดินแดนหรือแตกแยกโดยลักษณาการอย่างหนึ่งอย่างใด ถือเท่ากับบั่นรอนส่วนร่างกายให้พิกลพิการ ชุมนุมธรรมาธิปัตย์จะพยายามประสานรักษาเอกภาพอาณาเขตไว้อย่างดีเสมอ

เกี่ยวกับชาติ ชุมนุมธรรมาธิปัตย์ ถือชาติเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ จะต้องเคารพบูชาและหวงแหนมิให้ใครล่วงล้ำละเมิดอธิปไตย หรือดูหมิ่นทำลายเกียรติศักดิ์ของชาติ ชุมนุมธรรมาธิปัตย์จะกระทำทุกวิถีทางเพื่อสร้างความมั่นคงแข็งแรง สมรรถภาพและความเป็นอยู่อันดีของชาติไทย แต่จะไม่เป็นศัตรูหรือเกลียดชังชาติอื่น ตรงกันข้ามจะแสวงหาและผดุงรักษามิตรสัมพันธ์ และให้ความช่วยเหลือร่วมมือเป็นพิเศษแก่ชาติที่มีอาณาเขตใกล้เคียง และมีความสัมพันธ์กับไทยทางประวัติศาสตร์ เชื้อชาต ศาสนา หรือวัฒนธรรม

เกี่ยวกับศาสนา ชุมนุมธรรมาธิปัตย์ ถือพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ จะผดุงรักษาพระบวรพุทธศาสนาให้สถิตสถาพร เป็นสุข เป็นประโยชน์แก่คนทั่วไป จะหาทางเผยแพร่พระพุทธศาสนาให้ยิ่งใหญ่ไพศาล เพิ่มพูนจำนวนผู้เลื่อมใสและผู้ปฏิบัติ จะใช้หลักพุทโธวาทเป็นดวงประทีปส่องทางดำเนิน และผดุงศีลธรรมให้ประเทศไทยสามารถรักษาชื่อเสียงว่าเป็นแดนแห่งความดีงามร่มเย็นอยู่ภายใต้พุทธบารมี แต่จะไม่เป็นศัตรูกับลัทธิศาสนาใด ตรงกันข้ามกลับจะช่วยสนับสนุนทุกศาสนาที่เป็นไปทางสุขสงบ

เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ ชุมนุมธรรมาธิปัตย์ถือองค์พระมหากษัตริย์เป็นธงชัยเฉลิมชาติ เป็นนิมิตหมายแห่งความกลมเกลียวอันหนึ่งอันเดียวของชาติ และเป็นมิ่งขวัญของไทย ชุมนุมธรรมาธิปัตย์จะไม่ยอมรับลัทธิหรือระบบใดที่เป็นการเลิกร้างราชบัลลังก์ หรือไม่เคารพองค์พระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีไว้เป็นที่เคารพบูชาของชาติชั่วนิรันดร์ จะถวายพระราชอำนาจตามตัวอักษรและความหมายอันถ่องแท้แห่งรัฐธรรมนูญ โดยไม่บิดผันใช้รัฐธรรมนูญในทางตัดรอนพระราชอำนาจ จะถวายเอกสิทธิตามแบบแผนอารยชาติและตามที่เหมาะสมแก่สภาพการณ์ของประเทศไทย

ชุมนุมธรรมาธิปัตย์ ถือว่าสิทธิและเสรีภาพของประชาชนเป็นปัจจัยสำคัญที่จะผดุงรักษาสวัสดิภาพของชาติและความมั่นคงในฐานะส่วนตัวบุคคล เป็นปัจจัยแห่งความมั่นคงของชาติ ฉะนั้น ชุมนุมธรรมาธิปัตย์ จึงสนับสนุนระบอบรัฐธรรมนูญที่เคารพสิทธิและเสรีภาพของปวงชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือสิทธิในทรัพย์สิน ในร่างกาย ในการแสดงความคิดเห็น และในการประกอบสัมมาชีพ ชุมนุมธรรมาธิปัตย์จะไม่ยอมารับลัทธิหรือระบอบใด ๆ ที่เป็นไปในทางรอนริบสิทธิของเอกชน หรือรวบรัดปัจจัยทางเศรษฐกิจไว้ในมือของรัฐ

นอกจากจะเคารพความคิดเห็นของรัฐสภาแล้ว ชุมนุมธรรมาธิปัตย์จะแสวงหาทุกวิถีทางที่จะหยั่งทราบมติของมหาชน ด้วยการติดต่อโดยตรงกับราษฎรและสดับตรับฟังความเห็นของหนังสือพิมพ์ อันเป็นส่วนหนึ่งแห่งมติมหาชน เนื่องจากหลักการข้อนี้ชุมนุมธรรมาธิปัตย์จะเคารพและผดุงรักษาเสรีภาพของหนังสือพิมพ์ไว้เสมอ

นอกจากองค์พระมหากษัตริย์ซึ่งต้องเทิดทูนไว้เป็นพิเศษแล้ว การแบ่งชั้นวรรณะให้เอกสิทธิทางการเมืองแก่คนใดพวกใด หรือการรอนสิทธิเช่นว่านั้นไม่พึงมีในวิธีการของชุมนุมธรรมาธิปัตย์ สิทธิพิเศษในทางการเมืองไม่ว่าโดยตรงหรือโดยปริยายจะต้องเลิกร้างไปให้สิ้นเชิง และการรอนสิทธิทางการเมืองแก่คนใดพวกใดก็จะมิให้มีเช่นเดียวกัน

นโยบายของชุมนุมธรรมาธิปัตย์ประมวลสาระสำคัญได้ 6 ประการ คือ ความปลอดภัยของประเทศ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ความสงบเรียบร้อยภายใน เสถียรภาพแห่งการคลัง เศรษฐกิจ และการศึกษา

นโยบายเกี่ยวกับความปลอดภัยของประเทศ

ชุมนุมธรรมาธิปัตย์ถือว่ากำลังป้องกันเป็นความจำเป็นขั้นแรก จะต้องบำรุงกองทัพให้สมควรแก่ฐานะและความจำเป็น ทั้งจะต้องเชิดชูเกียรติของทหาร ให้ความช่วยเหลือแก่ทหารผู้ผ่านศึกและอุปถัมภ์ทหารกองหนุนให้ดีที่สุดที่จะทำได้

นโยบายเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

ชุมนุมธรรมาธิปัตย์ถือว่าประเทศชาติจะดำรงอยู่ได้ด้วยการทำตนให้เป็นที่ไว้วางใจและเห็นอกเห็นใจจากนานาชาติ ฉะนั้นในการต่างประเทศ ชุมนุมธรรมาธิปัตย์จะปฏิบัติตามพันธกรณีที่ไทยมีอยู่กับต่างประเทศอย่างเคร่งครัด และจะร่วมมืออย่างเข้มแข็งกับองค์การนานาชาติในกิจการอันเป็นคุณประโยชน์แก่มนุษยชาติทั่วไป จะส่งเสริมสัมพันธไมตรีและความเข้าใจอันดีกับต่างประเทศ โดยหลักถ้อยทีถ้อยอาศัยซึ่งกันและกัน จะต้องรับเงินทุนและแรงงานของต่างประเทศที่จะช่วยบำรุงภาวะเศรษฐกิจของไทย

ส่วนปัญหาที่ชนต่างชาติเข้ามาพักอาศัยประกอบอาชีพในประเทศนี้ ชุมนุมธรรมาธิปัตย์มีนโยบายหาทางช่วยเหลือให้เป็นผลดีด้วยกันทั้งฝ่ายไทย ซึ่งเป็นเจ้าของบ้านและฝ่ายต่างชาติที่อพยพเข้ามา จะให้เสรีภาพในการศึกษา การบำเพ็ญลัทธิศาสนา และความเคลื่อนไหวของต่างชาติเท่าที่ไม่ขัดกับอธิปไตย ความสงบสุข และความเป็นอยู่ดีของชนชาติไทย

นโยบายเกี่ยวกับความสงบสุขเรียบร้อยภายใน

ชุมนุมธรรมาธิปัตย์จะปรับปรุงการมหาดไทย และการสาธารณสุขให้ประชาชนได้รับความดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิดและทั่วถึง เพื่อรักษาความปลอดภัยและผดุงความผาสุก ทั้งในการดำเนินอาชีพและอนามัยของประชาชน จะเทิดทูนการศาลเป็นอำนาจสูงสุดอันหนึ่ง ให้ศาลมีอิสรภาพสมบูรณ์ รับอำนาจโดยตรงจากพระมหากษัตริย์ เพื่อเป็นหลักประกันความยุติธรรม สิทธิและเสรีภาพของปวงชนอย่างแท้จริง

นโยบายเกี่ยวกับเสถียรภาพแห่งการคลัง

ชุมนุมธรรมาธิปัตย์ ถือว่าเสถียรภาพแห่งเงินตราและดุลยภาพแห่งงบประมาณมีความสำคัญเป็นเบื้องต้น จะทำความพยายามทุกสถานที่จะให้เงินตามเข้าสู่เสถียรภาพ ชุมนุมธรรมาธิปัตย์จะไม่แสวงหาดุลยภาพของงบประมาณ ด้วยการเพิ่มภาษีอากรให้เป็นภาระหนักแก่ราษฎรทั่วไป แต่จะใช้วิธีประหยัดรายจ่าย และพยายามเก็บรายได้มิให้รั่วไหล ทั้งนี้โดยอาศัยความสุจริตของเจ้าหน้าที่และการร่วมมือของปวงชน

นโยบายเกี่ยวกับเศรษฐกิจ

ชุมนุมธรรมาธิปัตย์จะถือหลักพึ่งตนเองเป็นบรรทัดฐาน พยายามให้ชาติไทยมีสมรรถภาพเพียงพอแก่การดำรงตน แต่จะไม่กีดกันการค้าอุตสาหกรรมจากนอกประเทศ การบำรุงอุตสาหกรรมภายในประเทศด้วยวิธีก่อตั้งกำแพงภาษี ไม่ใช่วิธีการของชุมนุมธรรมาธิปัตย์

ชุมนุมธรรมาธิปัตย์ จะแก้ไขความยากลำบากในการครองชีพของราษฎร หรือความแพงในชีวิตด้วยวิธีส่งเสริมการผลิตเครื่องบริโภคอุปโภคอำนวยความสะดวกแก่การค้า การขนส่ง การคมนาคม และสนับสนุนการร่วมแรงร่วมใจระหว่างชาติไทยกับต่างชาติ

งานสำคัญที่สุดที่ชุมนุมธรรมาธิปัตย์จะใช้แก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ คือ การสหกรณ์ ชุมนุมธรรมาธิปัตย์จะพยายามสร้างและส่งเสริมการสหกรณ์ประเภทต่าง ๆ สหกรณ์ประเภทใดยังไม่มีก็จะพยายามก่อตั้งและดำเนินการให้เป็นผลไพศาลที่สุดที่จะทำได้

นโยบายเกี่ยวกับการศึกษา

ชุมนุมธรรมาธิปัตย์ถือว่างานบำรุงการศึกษาเป็นการสำคัญที่สุด นอกจากจะมีความจำเป็นอย่างหนึ่งอย่างใดเป็นพิเศษแล้ว งบประมาณการศึกษาจะต้องสูงกว่างบประมาณประเภทอื่น ในด้านบำรุงการศึกษานี้ชุมนุมธรรมาธิปัตย์จะพยายามให้ทางพุทธจักร อาณาจักร ประสานงานกันให้มากที่สุดที่จะเป็นไปได้ เพื่อให้การศึกษาวิชาและการผดุงศีลธรรมดำเนินคู่กันไป อนึ่ง ชุมนุมธรรมาธิปัตย์ถือว่าการศึกษาวิชาชีพเป็นเรื่องที่ต้องสนใจบำรุงเป็นพิเศษ

ในการบริหาร ชุมนุมธรรมาธิปัตย์ จะพยายามทุกวิถีทาง ที่จะสร้างความมั่นคงในฐานข้าราชการประจำ โดยแก้ไขปรับปรุงวิธีการให้ข้าราชการประจำได้มีประกันอันแน่นอนว่า จะไม่ต้องอยู่ภายใต้อิทธิพลทางการเมือง และให้ข้าราชการการเมืองกับข้าราชการประจำแยกจากกันโดยเด็ดขาด

ในกิจการทุกอย่างชุมนุมธรรมาธิปัตย์จะถือหลักธรรมเป็นทางดำเนิน จะไม่กระทำการอันใดด้วยความอาฆาตมาดร้าย ใช้อำนาจมือ จะไม่ทับถมใส่ร้ายผู้บริหารราชการที่พ้นตำแหน่งไป และถ้าหากชุมนุมธรรมาธิปัตย์ได้มีโอกาสเป็นรัฐบาลเข้าบริหารก็จะไม่เพิกถอนรื้อทิ้งสิ่งที่รัฐบาลก่อนทำไว้ด้วยดี แต่จะสร้างต่อไป โดยไม่ปล่อยให้งานอันจะเป็นผลดีแก่ประเทศชาติต้องสะดุดหยุดลง ความก้าวหน้าของชาติเป็นสิ่งที่พึงประสงค์ยิ่งกว่าสิ่งอื่น ชุมนุมธรรมาธิปัตย์จะไม่กระทำการใด ๆ โดยทิฐิมานะ หรือแสวงหาความดีเด่นแก่พรรคพวกของตัว แต่จะยึดมั่นในสามัคคีธรรม เฉลี่ยคุณงามความดีให้แก่ชาติทั้งชาติ และรักษาความากลมเกลียวเป็นอันหนึ่งอันเดียวของชาติให้มั่นคงอยู่เสมอ

ชุมนุมธรรมาธิปัตย์จะรักษาไว้ซึ่งจารีตและขนบประเพณีอันดีของชาติ จะผดุงรักษาสิ่งซึ่งเป็นลักษณะประจำชาติ และเชิดชูเกียรติของไทย จะไม่หลงพะวงแต่ของใหม่ หรือเปลี่ยนแปลงสิ่งใดที่ไม่จำเป็นแก่การก้าวหน้าของประเทศชาติอย่างแท้จริง

จากการรวมตัวของบุคคลในนามชุมนุมธรรมาธิปัตย์ดังกล่าว เมื่อมีการเลือกตั้งภายหลังการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 จึงได้ก่อให้เกิดพรรคการเมืองขึ้นมาอีกพรรคหนึ่ง นั่นคือ พรรคธรรมาธิปัตย์ มีหลวงวิจิตรวาทการ เป็นหัวหน้าพรรค และได้วางนโยบายไว้ 20 ข้อด้วยกัน โดยมุ่งสนับสนุนลัทธิชาตินิยมดังกล่าวข้างต้น

กล่าวกันว่า พรรคธรรมาธิปัตย์ได้มุ่งสนับสนุนจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นการส่วนตัว แต่อย่างไรก็ตาม พรรคธรรมาธิปัตย์ก็ไม่ค่อยจะมีบทบาทและความสำคัญมากนัก เพราะปรากฏว่าเมื่อการเลือกตั้งผ่านพ้นไปแล้วสมาชิกพรรคพรรคมาธิปัตย์ได้รับเลือกเข้ามาเพียงไม่กี่คน จึงไม่มีเสียงส่วนมากในสภา พรรคที่มีเสียงส่วนมากในสภาคือ พรรคประชาธิปัตย์ เพราะฉะนั้น พรรคธรรมาธิปัตย์ จึงมีความหมายต่อรัฐบาลในสมัยนั้นน้อย

กระทั่งมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. 2498 ร.ต.อ. เปี่ยม บุณยโชติ เลขานุการของจอมพล ป. พิบูลสงคราม จึงได้ยื่นจดทะเบียนจัดตั้งพรรคธรรมาธิปัตย์ขึ้นมาอีกครั้ง เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ.2498 ทะเบียนพรรคการเมืองเลขที่ 9/2498 โดยมี ร.ต.อ. เปี่ยม บุณยโชติ ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค และนายล้วน เวกชาลิกานนท์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครปฐม เป็นเลขาธิการพรรค ที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของพรรคอยู่ที่เลขที่ 506 ถนนหลานหลวง ข้างบ้านมนังคศิลา ตำบลดุสิต อำเภอดุสิต จังหวัดพระนคร การจัดตั้งพรรคธรรมาธิปัตย์ขึ้นใหม่ในครั้งนี้ ยังคงมีแนวนโยบายสนับสนุนจอมพล ป. พิบูลสงคราม อย่างชัดเจนเช่นเดิม โดยได้มีการกำหนดนโยบายหลักของพรรคไว้ดังต่อไปนี้

ประการที่หนึ่ง พรรคธรรมาธิปัตย์จะรักษาไว้ซึ่งระบอบการปกครองเสรีประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข โดยจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ยึดถือรัฐธรรมนูญเป็นหลัก ไม่ว่าจะทำหน้าที่เป็นฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน โดยถือประโยชน์ของชาติเป็นสาระสำคัญ และโดยจะยึดอุดมคติที่ว่า “คนไทยเป็นเจ้าของแผ่นดินจะต้องได้รับสิทธิทุกกรณี ในฐานะเป็นเจ้าของประเทศ” อีกทั้งจะปลูกฝังและเผยแพร่ซึ่งสามัคคีธรรม วัฒนธรรม ตลอดจนระเบียบวินัยอันดีของประชาชน และอบรมบ่มนิสัยยุวชนในด้านความรักชาติ และจะต่อต้านและไม่สนับสนุนระบอบการใช้กำลังอำนาจ กำลังอาวุธ โดยบุคคลหรือคณะบุคคลในทางการเมือง จะต่อสู้ทางการเมืองตามวิถีทางแห่งรัฐธรรมนูญ

ประการที่สอง พรรคธรรมาธิปัตย์จะยึดหลักเอกราชของชาติ และส่งเสริมสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศ โดยเอกราชทางการเมือง เอกราชทางเศรษฐกิจ และเอกราชในทางศาลที่มีอยู่แล้วจะรักษาไว้ ที่ยังไม่สมบูรณ์จะต้องปรับปรุงต่อไปโดยด่วนจนบรรลุผล ในด้านความสงบเรียบร้อยภายใน จะวางโครงการจัดระเบียบบริหารประกันการโจรผู้ร้าย ประกันไม่ให้ข้าราชการเสื่อมทรามทางจิตใจแพร่หลาย เกิดการทุจริตอย่างที่เคยปรากฏและจัดระเบียบการราชทัณฑ์ให้เข้ารูปมาตรฐานสากลต่อไป ในด้านความสงบภายนอก จะรักษาและส่งเสริมแสนยานุภาพให้เพียงพอแก่การป้องกันความเป็นเอกราช จะวางหลักประกันกองทัพของชาติให้มีสมรรถภาพ และสงเคราะห์ทหารเมื่อพ้นหน้าที่ราชการ นอกจากนี้ พรรคธรรมาธิปัตย์จะส่งเสริมสัมพันธไมตรีระหว่างนานาชาติ โดยยึดหลักถ้อยทีถ้อยปฏิบัติต่อกันฉันท์มิตร เมื่อมีปัญหาระหว่างประเทศเกิดขึ้น จะยึดมั่นในหลักสันติธรรมตามกติกาแห่งองค์การโลก (สหประชาชาติ)

ประการที่สาม แผนการศึกษาของชาติ พรรคธรรมาธิปัตย์จะเร่งรัดให้การศึกษาแก่คนไทยได้รับเท่าเทียมกับอารยประเทศ มีกำหนดเวลาแน่นอนคือ การศึกษาขั้นพื้นฐาน ขั้นประถม และมัธยม จะพยายามให้ประชาชนได้เข้าศึกษาโดยทั่วถึงโดยไม่คิดมูลค่า การอาชีวศึกษา จะได้จัดและส่งเสริมทุกประเภท เช่น อาชีวศึกษาชั้นต้น อาชีวศึกษาชั้นกลาง อาชีวศึกษาชั้นสูง ตลอดจนการอาชีวศึกษาของผู้ใหญ่ โดยมีอาชีพสมควรแก่ฐานะและอัตภาพ การศึกษาชั้นอุดม จะพยายามส่งเสริมให้มีมหาวิทยาลัยทุกสาขาและเพียงพอ ส่วนการศึกษาเพิ่มเติมในต่างประเทศ จะพยายมส่งเสริมให้แก่ผู้ที่ไม่มีทุนได้ออกไปศึกษาเพิ่มเติมในต่างประเทศให้มากที่สุด

ประการที่สี่ ด้านการเกษตรกรรม อุตสาหกรรม พาณิชยกรรม และการคมนาคมขนส่ง พรรคธรรมาธิปัตย์ จะให้ก้าวหน้าบรรลุผลอันสมบูรณ์ กล่าวคือ โดยจะให้ความช่วยเหลือชาวนาที่ยากจนด้วยวิธีสหกรณ์ จัดหาทุนให้กู้ยืม การบำรุงป่าไม้ เหมืองแร่ การชลประทาน การพิจารณาให้อาชีพทางเกษตรกรรมตกอยู่ในมือของชนชาวไทย จะจัดให้มีโรงงานอุตสาหกรรมหนัก การถลุงแร่เหล็ก เพื่อประโยชน์ในการก่อสร้างอุปกรณ์สำคัญต่าง ๆ ขึ้นภายในประเทศ จะเร่งรัดจัดสร้างทางหลวงของแผ่นดินตามโครงการเดิมให้สำเร็จลุล่วงไปโดยเร็ว ทางหลวงจังหวัด และทางหลวงชนบทก็จะได้พยายามตัดสร้างตามผังเมืองที่มีอยู่ การวางทางรถไฟไปสู่ย่านชุมชนที่สำคัญ การขุดคลอง แม่น้ำ เพื่อความสะดวกในการคมนาคมขนส่ง นอกจากนี้ จะพยายามหาทางส่งเสริมช่วยเหลืออย่างแท้จริงให้คนไทยได้เป็นเจ้าของในการพาณิชย์ ทั้งจะป้องกันไม่ให้คนต่างด้าวเข้ามาแย่งการค้าของคนไทยในย่านชุมชน

ประการที่ห้า การปรับปรุงแก้ไขฟื้นฟูการคลัง และป้องกันไม่ให้เสื่อมโทรม พรรคธรรมาธิปัตย์จะพยายามจัดการงบประมาณการใช้จ่ายของแผ่นดินให้เข้าสู่ดุลยภาพ และจะพยายามให้รายได้สู่ดุลย์ เพื่อเสถียรภาพทางการคลังของประเทศ สำหรับภาษีอากรที่ไม่เป็นธรรมแก่สังคม พรรคธรรมาธิปัตย์จะพิจารณาเลิกล้มไปโดยเร็ว และจะพิจารณาตราพระราชบัญญัติเพื่อป้องกันการรั่วไหลของภาษีอากร เช่น การศุลกากรสรรพสามิต และสรรพากร เป็นต้น สำหรับการควบคุมธนาคารและเครดิตสถาน จะได้ตรากฎหมายแก้ไขให้รัดกุมยิ่งขึ้น เพื่อป้องกันความเสียงหายของผู้ฝากเงินธนาคาร ส่วนในด้านการแก้ปัญหาเงินเฟ้อ พรรคธรรมาธิปัตย์จะแก้ปัญหาเงินเฟ้อด้วยการประหยัดตัดทอนงบประมาณการส่งผลิตภัณฑ์เพื่อส่งออกนอกประเทศ การคุมเงินตราต่างประเทศมิให้จ่ายไปในทางที่ไม่จำเป็น ทั้งนี้ไม่ยอมรับเงินเฟ้อเข้า จ่ายเงินเฟ้อออก

ประการสุดท้าย พรรคธรรมาธิปัตย์จะให้มีการแยกอำนาจตุลาการเด็ดขาด เพื่อความเป็นอิสระของการพิจารณาพิพากษาอรรถคดี โดยตราเป็นกฎหมายประกันฐานะตุลาการตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ประการที่เจ็ด จะติดต่อกับประชาชนอย่างใกล้ชิดที่สุด โดยจะฟังเสียงจากประชาชนเป็นหลักดำเนินการเมือง และทางปฏิบัติตามระบอบเสรีประชาธิปไตย โดยประชาชน เพื่อประชาชน ประการที่แปด จะพยายามช่วยสนับสนุนกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สารวัตรกำนัน แพทย์ประจำตำบล และประชาชน ให้มีสวัสดิภาพที่ดีกว่าปัจจุบัน และประการสุดท้าย พรรคธรรมาธิปัตย์จะส่งเสริมพระพุทธศาสนาและช่วยเหลือศาสนาอื่น ๆ โดยไม่ละเลย

ที่มา

ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 72 ตอนที่ 98 ลงวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2498 หน้า 3183-3190

ขจัดภัย บุรุษพัฒน์, กำเนิดพรรคการเมืองในประเทศไทย, วิทยานิพนธ์บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2510

หยุด แสงอุทัย, พรรคการเมือง, กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ดวงกมล, 2517