ผลต่างระหว่างรุ่นของ "รูปแบบการมีส่วนร่วมทางการเมือง"
ไม่มีความย่อการแก้ไข |
ไม่มีความย่อการแก้ไข |
||
บรรทัดที่ 34: | บรรทัดที่ 34: | ||
[[#_ftnref2|[2]]] เรื่องเดียวกัน, หน้า 13-16. | [[#_ftnref2|[2]]] เรื่องเดียวกัน, หน้า 13-16. | ||
</div> </div> | </div> </div> | ||
[[Category:การมีส่วนร่วมทางการเมือง]] | | ||
[[Category:การมีส่วนร่วมทางการเมือง]][[Category:สารานุกรม คำศัพท์ต่าง ๆ]] |
รุ่นแก้ไขปัจจุบันเมื่อ 14:10, 14 มีนาคม 2566
ผู้เรียบเรียง : รองศาสตราจารย์ ดร.ยุทธพร อิสรชัย
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร
รูปแบบการมีส่วนร่วมทางการเมือง
แนวคิดของระบอบประชาธิปไตยถือว่าประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ภายใต้หลักการแบ่งแยกและตรวจสอบการใช้อำนาจ (Check and Balance) โดยมีองค์กรผู้ใช้อำนาจทางนิติบัญญัติ องค์กรผู้ใช้อำนาจทางบริหารและองค์กรผู้ใช้อำนาจทางตุลาการ เป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยแทนประชาชน อย่างไรก็ตามระบอบประชาธิปไตยแบบผู้แทนได้ก่อให้เกิดข้อคำถามต่อความเป็นตัวแทนของประชาชนในการใช้อำนาจอธิปไตยหรืออำนาจรัฐขององค์กรเหล่านี้ เนื่องจากบทบาททางการเมืองของประชาชนในฐานะที่เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยจึงเป็นหัวใจสำคัญของระบอบประชาธิปไตย
การมีส่วนร่วมทางการเมือง (Political participation) หมายถึงการกระทำใด ๆ ก็ตามที่เกิดขึ้น โดยความเต็มใจ ไม่ว่าจะประสบความสำเร็จหรือไม่ ไม่ว่าจะมีการจัดอย่างเป็นระเบียบหรือไม่ และไม่ว่าจะเกิดขึ้นเป็นครั้งคราวหรือต่อเนื่องกัน จะใช้วิธีการที่ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ เพื่อผลในการที่จะมีอิทธิผลต่อการเลือกนโยบายของรัฐ หรือต่อการบริหารงานของรัฐ หรือต่อการเลือกผู้นำ ทางการเมืองของรัฐบาลไม่ว่าจะเป็นไปในระดับท้องถิ่นหรือระดับชาติก็ตาม เพื่ออิทธิพลของกลุ่มการเมืองในการเลือกกำหนดบุคคลในวงการรัฐบาล
หรือกดดันรัฐบาลให้กระทำตามที่พลเมืองผู้นั้นหรือกลุ่มนั้นต้องการ ตลอดจนมีอิทธิพลต่อการกำหนดนโยบายของรัฐทั้งในการเมืองการปกครองระดับท้องถิ่นและระดับชาติ ดังนั้น จะเห็นได้ว่าการมีส่วนร่วมทางการเมืองมีลักษณะที่รวมกันสองประการ ได้แก่ (1) ต้องเป็นไปตามความสมัครใจและ (2) ต้องมีจุดมุ่งหมายเพื่อมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของผู้มีอำนาจ นอกจากนั้น กิจกรรมการมีส่วนร่วมทางการเมืองต้องเป็นไปตามที่ระบบการเมืองและกฎหมายกำหนดให้กระทำได้ หรืออาจใช้วิธีการที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายก็ได้[1]
การมีส่วนร่วมทางการเมืองจึงเป็นกลไกที่มีความสำคัญในระบอบประชาธิปไตย การเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้าร่วมในกิจกรรมทางการเมือง มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายของรัฐบาล และเป็นกระบวนการชี้วัดพัฒนาการทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยของแต่ละประเทศ ประเทศที่พัฒนาการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย มักกำหนดให้ประชาชนทุกระดับมีสิทธิในการมีส่วนร่วมทางการเมืองตามกฎหมาย และมีผลในทางปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมในทุกมิติของกระบวนการทางการเมือง
รูปแบบการมีส่วนร่วมทางการเมืองอาจจำแนกได้หลากหลายรูปแบบตามแนวคิดหรือเกณฑ์ต่าง ๆ หากพิจารณาการมีส่วนร่วมทางการเมืองตามแนวคิดประชาธิปไตย อาจจำแนกได้เป็น 4 รูปแบบ ได้แก่
1. การมีส่วนร่วมทางการเมืองทางตรง (Direct Political Participation) การมีส่วนร่วมในลักษณะนี้ประชาชนหรือพลเมืองของรัฐจะมีส่วนร่วมในการพิจารณาเรื่องต่าง ๆ ด้วยตัวเอง เพราะเชื่อว่าประชาชนทุกคนต้องมีส่วนร่วมในการกำหนดกฎเกณฑ์ในสังคม แต่ภายหลังเมื่อสมาชิกของสังคมเพิ่มจำนวนมากขึ้นและสังคมมีความซับซ้อนขึ้น การมีส่วนร่วมทางตรงจึงกลายเป็นเรื่องยากที่จะสามารถทำได้จริง เพราะประชาชนทุกคนไม่สามารถเข้ามาใช้อำนาจของตนเองได้ในทุกกิจกรรมของประเทศ จึงมีการใช้การมีส่วนร่วมทางการเมือง
ทางตรงเข้ามาผสมผสานกับระบอบประชาธิปไตยแบบผู้แทน เช่น การลงประชามติ (referendum) การเสนอร่างกฎหมายโดยประชาชน (initiative) การถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เป็นต้น
2. การมีส่วนร่วมทางการเมืองทางอ้อม (Indirect Political Participation) การมีส่วนร่วมในรูปแบบนี้คือ การที่ประชาชนได้เลือกผู้แทนของตนเข้าไปใช้อำนาจอธิปไตยแทนตนผ่านกระบวนการทางการเมืองที่เรียกว่า “การเลือกตั้ง” ในกรณีระบบการเมืองแบบรัฐสภา เช่น การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร การเลือกสมาชิกวุฒิสภา และผู้แทนผ่านการเลือกตั้งในรัฐสภาจะไปทำหน้าที่เลือกฝ่ายบริหารอีกชั้นหนึ่ง ในกรณีระบบการเมืองแบบประธานาธิบดี เช่น การเลือกตั้งประธานาธิบดีในฐานะฝ่ายบริหาร การเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยประชาชนสามารถเลือกฝ่ายบริหารได้โดยตรง
3. การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนในระบอบประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม (Participatory Democracy) หรือที่เรียกว่า “ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม” ซึ่งเป็นการนำการมีส่วนร่วมทางการเมืองทางตรงมาผสมผสานกับการมีส่วนร่วมทางการเมืองทางอ้อมและเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในทางการเมืองการปกครองมากยิ่งขึ้น โดยให้ประชาชนมีอำนาจตัดสินใจทางการเมืองและการบริหารในเรื่องสำคัญ ๆ ซึ่งมีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตและวิถีชีวิตของประชาชน อำนาจในการตรวจสอบและควบคุมการทำงานของผู้แทน ซึ่งก็คือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภา แล้วแต่กรณี รวมทั้งการเปิดโอกาสให้ “สถาบันการเมือง” ต่าง ๆ เช่น องค์กรอิสระ องค์กรตามรัฐธรรมนูญ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สื่อมวลชนสามารถทำหน้าที่ในการติดตามและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐได้อย่างเต็มที
4. การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนในระบอบประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ (Deliberative Democracy) เป็นกระบวนการสำคัญของประชาธิปไตยภาคพลเมือง ประชาธิปไตยชุมชน เป็นความพยายามที่จะแก้ไขปัญหาที่เกิดจากข้อบกพร่องของประชาธิปไตยแบบตัวแทนและการมีส่วนร่วมทางการเมืองทางอ้อมที่เป็นรูปแบบสถาบันที่ตายตัว ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนที่มีความซับซ้อน และมีความแตกต่างหลากหลายได้ ทั้งนี้หลักการประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือไม่ได้เป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทน เพราะระบอบประชาธิปไตยทั้งสองแบบสามารถอยู่คู่กันได้ซึ่งระบอบประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือจะช่วยแก้ไขปัญหาข้อบกพร่องต่าง ๆ ของระบบการเมืองแบบตัวแทน โดยการมีส่วนร่วมของภาคพลเมืองที่เป็นพลเมืองตื่นรู้ (Active citizen) และมีจิตสาธารณะรวมหมู่ (Civic life) รูปแบบการมีส่วนร่วมในลักษณะนี้ที่เห็นได้ชัดคือการที่ภาคประชาชนหรือภาคพลเมืองเข้าร่วมกันวิเคราะห์แลกเปลี่ยนถกแถลงหารือกันเพื่อนำเสนอแนวคิดของตนในการสร้างนโยบายที่เหมาะสมสำหรับตนเอง หลักการสำคัญของการมีส่วนร่วมในรูปแบบนี้คือ กระบวนการที่ให้ประชาชนทุกคนหรือภาคพลเมือง ได้มีส่วนร่วมในการเสนอแนะและตอบสนองข้อเรียกร้องเพื่อให้ตัวแทนของตนหรือรัฐบาลนำไปปฏิบัติต่อไป
การมีส่วนร่วมในทางการเมืองจึงเป็นหัวใจหลักสำคัญของประชาธิปไตย รูปแบบการมีส่วนร่วมทางการเมืองที่หลากหลายเหล่านี้ ได้ทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองที่กว้างขึ้น การมีส่วนร่วมทางการเมืองเป็นกลไกหนึ่งที่ทำให้ประชาชนได้มีโอกาสสื่อสารกับรัฐมากยิ่งขึ้น เป็นกระบวนการสื่อสารสองทางที่มีเป้าหมายโดยรวม เพื่อที่จะให้เกิดการตัดสินใจที่ดีขึ้น และได้รับการสนับสนุนจากสาธารณชน รวมทั้งมีโอกาสผสานผลประโยชน์ร่วมกันทำให้การดำเนินนโยบายการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมเปลี่ยนผ่านไปสู่ “การเป็นประเด็นสาธารณะ” ที่ทุกคน ทุกภาคส่วนต้องให้ความสำคัญและสนใจ ที่สำคัญการมีส่วนร่วมทางการเมืองทำให้เปลี่ยนขั้วความคิดที่ว่าการตัดสินใจทางการเมืองและกิจกรรมทางการเมืองเป็นเรื่องของนักการเมืองไปสู่การเป็นการเมืองเรื่องของทุกคน[2]
อ้างอิง
[1] สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, 2561. การมีส่วนร่วมทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย. กรุงเทพฯ. สำนักการพิมพ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. หน้า 12-13.
[2] เรื่องเดียวกัน, หน้า 13-16.