ผลต่างระหว่างรุ่นของ "เก้าอี้ Overhang"
สร้างหน้าด้วย " '''เก้าอี้ ''''''Overhang''' '''ผู้เรียบเรียง''': รองศาสตราจารย์ ดร.ก..." |
ไม่มีความย่อการแก้ไข |
||
บรรทัดที่ 1: | บรรทัดที่ 1: | ||
'''ผู้เรียบเรียง''': รองศาสตราจารย์ ดร.กตัญญู แก้วหานาม | '''ผู้เรียบเรียง''': รองศาสตราจารย์ ดร.กตัญญู แก้วหานาม |
รุ่นแก้ไขปัจจุบันเมื่อ 16:06, 30 พฤศจิกายน 2563
ผู้เรียบเรียง: รองศาสตราจารย์ ดร.กตัญญู แก้วหานาม
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย
จากการเลือกตั้งภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2560 ที่มีการใช้ระบบการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสมจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งจำนวน 350 ที่นั่ง และจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองจำนวน 150 ที่นั่ง โดยในการเลือกตั้งใช้บัตรเลือกตั้งเดียวทำให้คะแนนเสียงที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้กับผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคการเมืองใด ภายหลังการประกาศผลการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตแล้วคะแนนเหล่านั้นก็จะนำมาคิดคำนวณหาจำนวนที่นั่ง ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ ทำให้พรรคการเมืองที่ได้จำนวนที่นั่งในระบบแบ่งเขตมีจำนวนเท่ากับหรือเกินไปกว่าโควต้าจำนวนที่นั่งต่อคะแนนเสียงที่พรรคการเมืองนั้นได้รับทั่วประเทศจะไม่ได้รับการจัดสรรที่นั่ง ส.ส. ในระบบบัญชีรายชื่อ ซึ่งปรากฎการณ์ที่มีพรรคการเมืองที่ได้ ส.ส.จากระบบเขตเลือกตั้งเกินโควต้าจำนวน ส.ส. ที่พึงมีดังกล่าวเรียกว่า เก้าอี้ Overhang ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
1. ความหมาย หรือ แนวคิด
จากบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 91 การคำนวณหาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมืองให้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้[1]
(1) นำคะแนนรวมทั้งประเทศที่พรรคการเมืองทุกพรรคที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อได้รับจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งหารด้วยห้าร้อยอันเป็นจำนวนสมาชิกทั้งหมดของสภาผู้แทนราษฎร
(2) นำผลลัพธ์ตาม (1) ไปหารจำนวนคะแนนรวมทั้งประเทศของพรรคการเมืองแต่ละพรรคที่ได้รับจากการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งทุกเขต จำนวนที่ได้รับให้ถือเป็นจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พรรคการเมืองนั้นจะพึงมีได้
(3) นำจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พรรคการเมืองจะพึงมีได้ตาม (2) ลบด้วยจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งทั้งหมดที่พรรคการเมืองนั้นได้รับเลือกตั้งในทุกเขตเลือกตั้งผลลัพธ์คือจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองนั้นจะได้รับ
(4) ถ้าพรรคการเมืองใดมีผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งเท่ากับหรือสูงกว่าจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พรรคการเมืองนั้นจะพึงมีได้ตาม (2) ให้พรรคการเมืองนั้นมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามจำนวนที่ได้รับจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง และไม่มีสิทธิได้รับการจัดสรรสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ และให้นำจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อทั้งหมดไปจัดสรรให้แก่พรรคการเมืองที่มีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งต่ำกว่าจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พรรคการเมืองนั้นจะพึงมีได้ตาม (2) ตามอัตราส่วน แต่ต้องไม่มีผลให้พรรคการเมืองใดดังกล่าวมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเกินจำนวนที่จะพึงมีได้ตาม (2)
(5) เมื่อได้จำนวนผู้ได้รับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมืองแล้ว ให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งตามลำดับหมายเลขในบัญชีรายชื่อสมาชิกสภสผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองนั้นเป็นผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
ในกรณีที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ใดตายภายหลังวันปิดรับสมัครเลือกตั้งแต่ก่อนก่อนเวลาปิดการลงคะแนนในวันเลือกตั้ง ให้นำคะแนนที่มีผู้ลงคะแนนให้มาคำนวนตาม (1) และ (2) ด้วย
การนับคะแนน หลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณ การคิดอัตราส่วน และการประกาศผลการเลือกตั้งให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
และจากพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 128[2] ในกรณีที่มีการประกาศผลการเลือกตั้งครบทุกเขตเลือกตั้งแล้ว การคำนวณหาจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อจะพึงได้รับให้คำนวนตามวิธีการดังนี้ โดยในกรณีที่มีเศษให้ใช้ทศนิยมสี่ตำแหน่ง
(1) นำคะแนนรวมทั้งประเทศที่พรรคการเมืองทุกพรรคที่ส่งผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อได้รับจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งหารด้วยห้าร้อยอันเป็นจำนวนสมาชิกทั้งหมดของสภาผู้แทนราษฎร
(2) นำผลลัพธ์ตาม (1) ไปหารจำนวนคะแนนรวมทั้งประเทศของพรรคการเมืองแต่ละพรรคที่ได้รับจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งทุกเขต จำนวนที่ได้รับให้ถือเป็นจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พรรคการเมืองนั้นจะมีพึงมีได้เบื้องต้น และเมื่อได้คำนวณตาม (5) (6) หรือ (7) ถ้ามีแล้ว จึงให้ถือว่าเป็นจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พรรคการเมืองนั้นจะพึงมีได้
(3) นำจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พรรคการเมืองจะพึงมีได้ตาม (2) ลบด้วยจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งทั้งหมดที่พรรคการเมืองนั้นได้รับเลือกตั้งในทุกเขตเลือกตั้ง ผลลัพธ์คือจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองนั้นจะได้รับเบื้องต้น
(4) ภายใต้บังคับ (5) ให้จัดสรรจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมือง
จะได้รับให้ครบหนึ่งร้อยห้าสิบค้น ให้พรรคการเมืองที่มีเศษจากการคำนวณมากที่สุดได้รับการจัดสรรจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อเพิ่มอีกหนึ่งคนตามลำดับจนครบจำนวนหนึ่งร้อยห้าสิบค้นในกรณีมีเศษเท่ากันให้ดำเนินการตาม (6)
(5) ถ้าพรรคการเมืองใดมีผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งเท่ากับหรือสูงกว่าจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พรรคการเมืองนั้นจะพึงมีได้ตาม (2) ให้พรรคการเมืองนั้นมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามจำนวนที่ได้รับจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง และไม่มีสิทธิได้รับการจัดสรรสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ และให้นำจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อทั้งหมดไปจัดสรรให้พรรคการเมืองที่มีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งต่ำกว่าจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พรรคการเมืองนั้นจะพึงมีได้ตาม (2) ตามอัตราส่วน แต่ต้องไม่มีผลให้พรรคการเมืองใดดังกล่าวมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเกินจำนวนที่จะพึงมีได้ตาม (2)
(6) ในการจัดสรรตาม (5) แล้วปรากฏว่ายังจัดสรรจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อไม่ครบหนึ่งร้อยห้าสิบคน ให้พรรคการเมืองที่มีเศษจากการคำนวนมากที่สุดได้รับการจัดสรรจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อเพิ่มอีกหนึ่งคนตามลำดับจนครบจำนวนหนึ่งร้อยห้าสิบคน กรณีที่เศษที่เหลือของแต่ละพรรคการเมืองเท่ากันจนทำให้ไม่สามารถจัดสรรสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบัญชีรายชื่อได้ครบจำนวนหนึ่งร้อยห้าสิบคน ให้นำค่าเฉลี่ยคะแนนของแต่ละพรรคการเมืองต่อจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พึงมีหนึ่งคนมาพิจารณา โดยหากพรรคการเมืองใดมีค่าเฉลี่ยคะแนนของพรรคการเมืองต่อจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พึงมีหนึ่งคนมากกว่าพรรคการเมืองอื่น ให้พรรคการเมืองนั้นมีสิทธิได้รับการจัดสรรสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบัญชีรายชื่อเพิ่มอีกหนึ่งคน และหากยังมีจำนวนค่าเฉลี่ยดังกล่าวเท่ากันอีก ให้ใช้วิธีการจับสลาก
(7) ในกรณีที่เมื่อคำนวณตาม (5) แล้วปรากฏว่าพรรคการเมืองทุกพรรคได้รับจำนวสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อรวมกันแล้วเกินหนึ่งร้อยห้าสิบคน ให้ดำเนินการคำนวณปรับจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อใหม่โดยคำนวณตามอัตราส่วนที่ทุกพรรคจะได้รับการจัดสรรจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อซึ่งเมื่อรวมแล้วไม่เกินหนึ่งร้อยห้าสิบคน โดยให้นำจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคการเมืองจะได้รับคูณด้วยหนึ่งร้อยห้าสิบ หารด้วยผลบวกของร้อยห้าสิบกับจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อที่เกินจำนวนหนึ่งร้อยห้าสิบและให้นำ (4) มาใช้ในการคำนวณด้วยโดยอนุโลม
(8) เมื่อได้จำนวนผู้ได้รับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมืองแล้ว ให้ผู้สมัครตามลำดับหมายเลขในบัญชีรายชื่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองนั้นเป็นผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
ในกรณีที่ผู้สมัครแบบแบ่งเขตเลือกตั้งตายภายหลังวันปิดรับสมัครรับเลือกตั้งแต่ก่อนวันปิดการลงคะแนนในวันเลือกตั้ง ให้นำคะแนนที่มีผู้ลงคะแนนให้มาคำนวณตาม (1) และ (2) ด้วย
ทั้งนี้ การดำเนินการตาม (1) ถึง (8) ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการกำหนด
จากบทกฎหมายข้างต้น จะเห็นได้ว่าเมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศรับรองผลการเลือกตั้งในระบบแบ่งเขตเลือกตั้งแล้ว จะได้มีการนำคะแนนของผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ออกมาใช้สิทธิลงคะแนนมาคำนวณหาจำนวนที่นั่ง ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองต่าง ๆ ที่ได้รับซึ่งในขั้นตอนนี้ศาสตราจารย์ ดร. เรืองวิทย์ เกษสุวรรณ (2562) ได้อธิบายหลักการของการนับคะแนนเสียงเลือกตั้งไว้ดังนี้[3]
ข้อที่ 1 หลักการของการนับคะแนนเลือกตั้งทั่วไป ระบบการนับคะแนนบัญชีรายชื่อในประเทศต่างๆ ทั่วโลกแบ่งออกเป็น 2 ระบบ คือ ระบบคะแนนเหลือมากที่สุด (Largest Remainders) กับระบบคะแนนเฉลี่ยสูงสุด (Highest Average) ซึ่งการนับคะแนนในส่วนของประเทศไทยนั้นจัดอยู่ในระบบคะแนนเหลือมากที่สุด ซึ่งแบ่งการนับคะแนนออกเป็น 2 รอบ
รอบแรก กำหนดโควต้าคะแนนเสียงต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหนึ่งคนก่อน โดยเอาคะแนนเสียง
ที่ถูกนับทั้งหมดที่เป็นบัตรดีของผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งหารด้วยจำนวนที่นั่งที่กำหนดไว้ ซึ่งของไทยกำหนด
ที่นั่ง ส.ส. ทั้งสภาไว้ที่ 500 คน
คะแนนเสียงทั้งหมด = จำนวนคะแนนเสียงต่อ ส.ส. 1 คน
500
รอบแรกนี้จัดเป็นหัวใจของระบบนับคะแนนเลือกตั้งแบบนี้ซึ่งในทางวิชาการเรียกว่า “an electoral quota” คือโควต้าที่พรรคการเมืองจะได้ที่นั่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในสภาผู้แทนราษฎรซึ่งในสหรัฐอเมริกา เรียกว่า “Hamilton method” ดังนั้นคนที่จะได้เป็น ส.ส. ต้องผ่านด่านโควต้านี้ก่อน แม้โควต้าต่อหนึ่งที่นั่งจะไม่ได้มีกฎหมายระบุไว้ว่าเป็นเกณฑ์ขั้นต่ำ แต่โดยสภาพที่เกิดขึ้นแล้วถือเป็นเกณฑ์ขั้นต่ำที่แต่ละพรรคการเมืองจะมีที่นั่ง ส.ส. ในสภาอย่างไม่ต้องสงสัย
รอบที่สอง เอาโควต้าไปคำคำนวณที่นั่งให้กับพรรคการเมือง พรรคที่ได้คะแนนเกินโควต้าจะได้รางวัลเป็นที่นั่ง ส.ส. ส่วนว่าจะได้มากน้อยเท่าใด ก็ให้เอาโควต้าหักออกจากคะแนนเสียงทั้งหมดที่นำมาคิดคำนวณที่ละที่นั่ง ๆ เมื่อเหลือเศษเท่าไหร่ก็ไปคิดเศษที่เหลืออีกที ก็จะได้จำนวน ส.ส. ครบตามจำนวนที่ต้องการ
ข้อที่ 2 การนับคะแนนเลือกตั้งตามกฎหมายไทย สำหรับการนับคะแนนที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ในมาตรา 91 (1) ที่กำหนดว่า “นำคะแนนรวมทั้งประเทศที่พรรคการเมืองทุกพรรคที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อได้รับจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งหารด้วยห้าร้อยอันเป็นจำนวนสมาชิกทั้งหมดของสภาผู้แทนราษฎร” ซึ่งหลักการดังกล่าวนี้ยืนยันว่าประเทศไทยใช้หลักคะแนนเหลือมากที่สุด คือเอาคะแนนรวมทั้งประเทศ (Total vote) ตั้งหารด้วย 500 ซึ่งเป็นจำนวนที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร ผลลัพธ์ที่ได้จะเป็นจำนวนคะแนนเสียงของ ส.ส. 1 ที่นั่ง นั่นคือโควต้า ตามวิธีการแบบ Hamilton method
ต่อมาในมาตรา 91 (2) บัญญัติว่า “ให้นำผลลัพธ์ตาม (1) ไปหารจำนวนคะแนนรวมทั้งประเทศของพรรคการเมืองแต่ละพรรคที่ได้รับจากการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งทุกพรรค จำนวนที่ได้รับถือเป็นจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พรรคนั้นจะพึงมี” จากบทบัญญัติดังกล่าวนี้ก็เป็นไปตามหลักการนับคะแนนของระบบคะแนนเหลือมากที่สุด คือ ให้เอาโควต้าตามมาตรา 91 (1) ไปหารคะแนนที่พรรคการเมืองได้รับจากการเลือกตั้งในระบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ผลลัพธ์ออกมาจะเป็นจำนวน ส.ส. ที่พรรคนั้นพึงมี ซึ่งในส่วนนี้สำคัญมาก เพราะถ้าเอาโควต้าไปหารคะแนนที่ได้รับจากการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งได้เท่าใดแล้ว ก็ต้องได้จำนวน ส.ส. เท่านั้น ซึ่งถือเป็นจำนวน ส.ส. ที่พึงมี ยกตัวอย่าง
พรรคพลังประชารัฐได้คะแนนจากการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง 8,433,137 คะแนน จำนวน ส.ส. ที่พึงมี ได้แก่
8,433,137 = 118.67
71,065
หรือกรณีพรรคเพื่อไทยได้คะแนนจากการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง 7,920,630 คะแนน จำนวน ส.ส. ที่พึงมี ได้แก่
7,920,630 = 111.46
71,065
แต่เมื่อพิจารณาไปยังจำนวน ส.ส. ในระบบเขตเลือกตั้งของพรรคเพื่อไทย ชนะการเลือกตั้งจำนวน 137 ที่นั่ง ซึ่งเกินจากจำนวนโควต้าที่คำนวณได้ ในกรณีนี้ถือเป็นปัญหาของการเกิดที่นั่ง Overhang เนื่องจากการเลือกตั้งที่ผ่านมาพรรคเพื่อไทยได้ ส.ส. จากระบบแบ่งเขตเลือกตั้งจำนวน 137 ที่นั่ง ขณะที่คำนวณ ส.ส.
ที่พึงมีได้รวม 111 ที่นั่ง ตามมาตรา 91 (4) ซึ่งกำหนดหลักการว่าถ้าได้เกินก็ให้มีสิทธิได้ตามจำนวนนั้น ไม่ต้องไปหักออก แต่ไม่ต้องให้ ส.ส. บัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองนั้นอีก สำหรับประเด็นนี้ทำให้เกิดปัญหาโดยในความตอนท้ายของมาตรา 91 (4) ที่ระบุว่า “และให้นำจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อทั้งหมดไปจัดสรรให้แก่พรรคการเมืองที่มีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งต่ำกว่าที่พรรคการเมืองนั้นจะพึงมีได้ตาม (2) ตามอัตราส่วน แต่ต้องไม่มีผลให้พรรคการเมืองใดดังกล่าว มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเกินจำนวนที่จะพึงมีได้ตาม (2)” ซึ่งจากบทบัญญัติดังกล่าวก็มีความหมายตรงชัดเจนดังนี้
1. ให้นำบัญชีรายชื่อของพรรคเพื่อไทยไปจัดสรรให้พรรคอื่นที่ได้ ส.ส. เขต ต่ำกว่าที่พรรคนั้นควรจะได้ สำหรับกรณีนี้พรรคเพื่อไทยไม่ได้ ส.ส. ในระบบบัญชีรายชื่อก็ไม่ต้องเอาไปคำนวณให้พรรคใดอยู่แล้ว
2. กรณีที่เอาไปคำนวณให้พรรคอื่น พรรคอื่นที่ได้รับ ก็จะต้องเข้าเงื่อนไข 2 ข้อ คือ ข้อที่ 1 คำนวณแล้วพรรคนั้นได้ ส.ส. ในระบบเขตเลือกตั้งน้อยกว่า ส.ส. ที่พึงมีตามที่คำนวณค่าได้ และข้อ 2 เมื่อได้รับการบวกเพิ่มแล้ว ต้องไม่เกินจำนวน ส.ส. ที่พึงมีตามที่คำนวณได้
จากหลักการดังกล่าวทำให้พรรคการเมืองที่ได้คะแนนไม่ถึงเกณฑ์โควต้าสำหรับ ส.ส. 1 ที่นึ่ง ซึ่งในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมามีการคำนวณได้ที่ 71,065 คะแนน ก็ย่อมไม่มีโอกาสได้ ส.ส. เพราะประการแรก ไม่ผ่านโควต้าตั้งแต่ต้น และประการที่ 2 ไม่เข้าข่ายมาตรา 91 (4) เพราะไม่เข้ากรณี “พรรคที่มีจำนวน ส.ส. เขตต่ำกว่าที่พรรคนั้นจะพึงมี” คือไม่เข้ากรณีคำนวณแล้วมี ส.ส. เขตต่ำกว่า ส.ส. ที่คำนวณได้
ส่วนวิธีการปัดเศษตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 128 นั้นก็ต้องปัดให้กับพรรคที่ผ่านโควต้าเท่านั้น จะเอาเศษไปถ่ายโอนให้พรรคที่ต่ำกว่าโควต้าไม่ได้เพราะขัดกับรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายในลำดับที่สูงกว่า ดังนั้นจึงไม่มีกรณีใดที่พรรคการเมืองที่ได้คะแนนรวมทั้งประเทศต่ำกว่า 71,065 คะแนนจะได้รับการจัดสรรที่นั่ง ส.ส. ในระบบบัญชีรายชื่อ
และในประเด็นสุดท้ายในเรื่องเก้าอี้ Overhang ของการเลือกตั้งครั้งนี้ ที่พรรคเพื่อไทยได้จำนวน ส.ส. ในระบบเขตเลือกตั้งจำนวน 137 ที่นั่ง แต่ได้ ส.ส. จากการคำนวณโควต้าที่พึงมีได้ 111 ที่นั่ง จำนวน ส.ส.
ที่เกินจาก ส.ส. ที่คำนวณได้เกินไปถึง 26 ที่นั่งนั้น และเมื่อนำมาคำนวณแล้วไม่ได้ ส.ส. ในระบบบัญชีรายชื่อและทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่นั่ง Overhang ในการเลือกตั้งครั้งนี้
ดังนั้นการเกิดขึ้นของเก้าอี้ Overhang ในที่นี้ หมายถึง กรณีที่มีบางพรรคได้จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขต มากกว่าจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พรรคนั้นพึงมีได้ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 91 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 ซึ่งการมีเก้าอี้ Overhang ทำให้ผลรวมของค่าจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองต่างๆ รวมกันแล้วจะมีมากกว่า 150 คน ซึ่งเป็นจำนวนทั้งหมดของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อในสภาผู้แทนราษฎร ทำให้เกิดปัญหาในการพิจารณาการใช้สูตรคำนวนที่นั่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคการเมืองที่มีสิทธิได้รับการจัดสรรพึงมีด้วย
2. ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น
การมีเก้าอี้ Overhang ทำให้ผลรวมของค่าจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองต่างๆ รวมกันแล้วจะมีมากกว่า 150 คน ซึ่งเป็นจำนวนทั้งหมดของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อในสภาผู้แทนราษฎร ทำให้เกิดปัญหาในการพิจารณาการใช้สูตรคำนวนที่นั่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคการเมืองที่มีสิทธิได้รับการจัดสรรพึงมีดังนี้
1) กรณีปกติ ไม่มี Overhang
1. เอาคะแนนรวมของทุกพรรคที่ส่ง ส.ส. บัญชีรายชื่อ หาร 500 เป็น คะแนน ส.ส. พึงมี
2. เอาคะแนน ส.ส. พึงมีไปหาร คะแนนของแต่ละพรรค เป็น จำนวน ส.ส. พึงมีของแต่ละพรรค
3. เอาจำนวน ส.ส. พึงมีไปลบกับจำนวน ส.ส. เขต เป็น จำนวน ส.ส. บัญชีรายชื่อของแต่ละพรรค
4. จัดสรร ส.ส. บัญชีรายชื่อตามจำนวนเต็มก่อน ถ้าไม่ครบให้ เอาเศษมาเรียงกันจากมากไปน้อย
จัดสรร ส.ส. ที่เหลือให้พรรคละ 1คน จนครบ 150 คน
2) กรณีมี Overhang
1. เอาคะแนนรวมของทุกพรรคที่ส่ง ส.ส. บัญชีรายชื่อ หาร 500 เป็น คะแนน ส.ส. พึงมี
2. เอาคะแนน ส.ส. พึงมีไปหาร คะแนนของแต่ละพรรค เป็น จำนวน ส.ส. พึงมีของแต่ละพรรค
3. เอาจำนวน ส.ส. พึงมีไปลบกับจำนวนส.ส. เขต เป็น จำนวน ส.ส. บัญชีรายชื่อของแต่ละพรรค
ถ้าติดลบให้ปรับเป็น 0
4. ผลรวมจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อจะมากกว่า 150 ให้เทียบบัญญัติไตรยางค์ ปรับฐาน จำนวน ส.ส. บัญชีรายชื่อ ของแต่ละพรรค ให้มีผลรวมเป็น 150
5. จัดสรร ส.ส.บัญชีรายชื่อตามจำนวนเต็มก่อน ถ้าไม่ครบให้ เอาเศษมาเรียงกันจากมากไปน้อย จัดสรร ส.ส. ที่เหลือให้พรรคละ 1คน จนครบ 150 คน ซึ่งจากการคำนวณที่นั่ง ส.ส. ในระบบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองต่าง ๆ ที่มีสิทธิได้รับการจัดสรรที่นั่ง ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อทั้งหมด
26 พรรคการเมืองยกเว้นพรรคเพื่อไทยที่มีเก้าอี Overhang แล้วดังนี้
ผลการคำนวณ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองที่ได้รับการจัดสรรที่นั่ง ส.ส.[4]
อันดับ |
พรรค |
คะแนนที่นำมาคิด |
ส.ส.พึงมีได้ |
ส.ส.เขต |
ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อที่ได้รับเบื้องต้น |
ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อที่ได้รับการจัดสรร (ที่นั่ง) |
1 |
พลังประชารัฐ |
8,433,137 |
118.6805 |
97 |
21.6805 |
19 |
2 |
เพื่อไทย |
7,920,630 |
111.4679 |
137 |
-25.5321 |
0 |
3 |
อนาคตใหม่ |
6,265,950 |
88.1814 |
30 |
58.1814 |
50 |
4 |
ประชาธิปัตย์ |
3,947,726 |
55.5568 |
33 |
22.5568 |
20 |
5 |
ภูมิใจไทย |
3,732,883 |
52.5333 |
39 |
13.5333 |
12 |
6 |
เสรีรวมไทย |
826,530 |
11.6318 |
0 |
11.6318 |
9 |
7 |
ชาติไทยพัฒนา |
782,031 |
11.0056 |
6 |
5.0056 |
4 |
8 |
เศรษฐกิจใหม่ |
485,664 |
6.8348 |
0 |
6.8348 |
6 |
9 |
ประชาชาติ |
485,436 |
6.8316 |
6 |
0.8316 |
1 |
10 |
เพื่อชาติ |
419,393 |
5.9022 |
0 |
5.9022 |
5 |
11 |
รวมพลังประชาชาติไทย |
416,324 |
5.8590 |
1 |
4.8590 |
4 |
12 |
ชาติพัฒนา |
252,044 |
3.5470 |
1 |
2.5470 |
2 |
13 |
พลังท้องถิ่นไทย |
213,129 |
2.9994 |
0 |
2.9994 |
3 |
14 |
รักษ์ผืนป่าแห่งประเทศไทย |
136,597 |
1.9223 |
0 |
1.9223 |
2 |
15 |
พลังปวงชนไทย |
81,733 |
1.1502 |
0 |
1.1502 |
1 |
16 |
พลังชาติไทย |
73,871 |
1.0396 |
0 |
1.0396 |
1 |
17 |
ประชาภิวัฒน์ |
69,417 |
0.9769 |
0 |
0.9769 |
1 |
18 |
พลังไทยรักไทย |
60,840 |
0.8562 |
0 |
0.8562 |
1 |
19 |
ไทยศรีวิไลย์ |
60,421 |
0.8503 |
0 |
0.8503 |
1 |
20 |
ประชานิยม |
56,617 |
0.7968 |
0 |
0.7968 |
1 |
21 |
ครูไทยเพื่อประชาชน |
56,617 |
0.7929 |
0 |
0.7929 |
1 |
22 |
ประชาธรรมไทย |
47,848 |
0.6734 |
0 |
0.6734 |
1 |
23 |
ประชาชนปฏิรูป |
45,508 |
0.6404 |
0 |
0.6404 |
1 |
24 |
พลเมืองไทย |
44,766 |
0.6300 |
0 |
0.6300 |
1 |
25 |
ประชาธิปไตยใหม่ |
39,792 |
0.5600 |
0 |
0.5600 |
1 |
26 |
พลังธรรมใหม่ |
35,533 |
0.5001 |
0 |
0.5001 |
1 |
27 |
ไทรักธรรม |
33,748 |
0.4749 |
0 |
0.4749 |
1 |
3. หลักการสำคัญ / ความสำคัญ
จากสูตรคำนวณ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ มีการตีความมากมายในสูตรตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญและกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งตามที่ได้แสดงไว้ก่อนหน้านี้ ทำโดยเฉพาะเมื่อเกิดเหตุของการคำนวณในวิธีที่ 2 กรณีเกิดเก้าอี้ overhang อันมาจากการคำนวณด้วยวิธีแรกได้ค่าเฉลี่ยที่นั่ง ส.ส.ต่อ 1 คน + จำนวน ส.ส.พึงมีที่แต่ละพรรคควรจะได้ แต่เมื่อรวมแล้วที่นั่ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อเกิน 150 ที่นั่ง จะต้องมา “เกลี่ย” ที่นั่งกันใหม่ โดยเกลี่ยที่นั่ง ส.ส.ให้กับพรรคที่เรียงตามเศษทศนิยมจากมากไปหาน้อย ให้ได้จำนวนที่นั่ง ส.ส.พอดีกันที่ตัวเลข 150 ซึ่งว่าเป็นวิธีการเรียกว่า overhang ซึ่งวิธีการดังกล่าวปัญหามีอยู่ว่า ฝ่ายพรรคเพื่อไทย-พรรคอนาคตใหม่ และนักวิชาการ-นักเคลื่อนไหวฝ่ายก้าวหน้า มองว่าสูตร overhang ไม่ควรเกลี่ยคะแนนให้กับพรรคเล็กที่มีค่าเฉลี่ย ส.ส. พึงมีไม่ถึงตัวเลขคะแนนขั้นต่ำ ประมาณ 71,065 คะแนน ซึ่งได้มีการอ้างตาม (5) ของมาตรา 128 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 ระบุว่า “ถ้าพรรคการเมืองใดมีผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง เท่ากับหรือสูงกว่าจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พรรคการเมืองนั้นจะพึงมี ให้พรรคการเมืองนั้นมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามจํานวนที่ได้รับจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง และไม่มีสิทธิได้รับการจัดสรรสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ และให้นําสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบัญชีรายชื่อทั้งหมดไปจัดสรรให้แก่พรรคการเมืองที่มีจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งต่ำกว่าจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พรรคการเมืองนั้นจะพึงมีได้ตามอัตราส่วน แต่ต้องไม่มีผลให้พรรคการเมืองใดดังกล่าวมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเกินจํานวนที่จะพึงมี” กับอีกฝ่ายหนึ่งที่อ้างว่าสูตรการคำนวณตามที่ประกาศโดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ได้คำนวณสูตร overhang แล้ว ปรากฏว่าพรรคเล็กที่ได้เสียงลงคะแนนจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งจากทุกเขตเลือกตั้งทั่วประเทศรวมกันอย่างเช่นพรรคไทรักธรรม ที่ได้คะแนน 33,748 คะแนน ซึ่งไม่ถึงคะแนนค่าเฉลี่ย ส.ส. พึงมีหรือตัวเลขคะแนนขั้นต่ำ ประมาณ 71,065 คะแนน ก็สามารถได้ ส.ส. ในระบบบัญชีรายชื่อ จนทำให้เกิดพรรคที่ได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบัญชีรายชื่อเพียง 1 ที่นั่ง ถึง 13 พรรคการเมืองตามตารางที่ได้แสดงไว้ก่อนแล้ว แม้ว่าพรรคเหล่านั้นจะได้เศษทศนิยม ที่วัดเกณฑ์การมีเก้าอี้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบัญชีรายชื่อระดับ 0.4-0.9 ไม่ถึงจำนวนเต็ม 1 คนก็ตาม[5]
4. สรุป
เก้าอี้ Overhang หรือที่นั่ง ส.ส. ส่วนเกินโควต้า เกิดขึ้นจากกรณีที่มีบางพรรคได้จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขต มากกว่าจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พรรคนั้นพึงมีได้ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 91 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 ซึ่งการมีเก้าอี้ Overhang ทำให้ผลรวมของค่าจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองต่างๆ รวมกันแล้วจะมีมากกว่า 150 คน ซึ่งเป็นจำนวนทั้งหมดของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อในสภาผู้แทนราษฎร ทำให้เกิดปัญหาในการพิจารณาการใช้สูตรคำนวนที่นั่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคการเมืองที่มีสิทธิได้รับการจัดสรรพึงมีด้วย
5. บรรณานุกรม
เดอะมาสเตอร์. (2562). กกต. เปิดสูตรคำนวณ ส.ส. (ที่อาจเป็น) เวอร์ชั่นของ กกต. (ออนไลน์). สืบค้นจาก
https://themaster.co/pulse/complicated-thai-mps-system/74209, เข้าถึงเมื่อ 6 เมษายน 2563
ประชาชนจิตอาสา (นามแฝง) วิธีการคำนวณ สส บัญชีรายชื่อ ที่ถูกต้อง ตาม พรบ ประกอบรัฐธรรมนูญ
สืบค้นจาก
http://sudoku.in.th/election2562/partylist.html?fbclid=IwAR1Fqi4gpRBMFKxJcBUvUXxfKczhNQppGBuVfWBUsepiIf66JTgE3HT7QCk,เข้าถึงเมื่อ 6 เมษายน 2563
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561,
ราชกิจจานุเบกษา, เล่มที่135 ตอนที่ 68 ก วันที่ 12 กันยายน 2561, หน้า 81
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 สืบค้นจาก
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2560/A/040/1.PDF, เข้าถึงเมื่อ 6 เมษายน 2563
เรืองวิทย์ เกษสุวรรณ. (2562). การคำนวณปาร์ตี้ลิสต์ผิด กับคำอธิบายเรื่อง overhang seats ของไทย
(ออนไลน์) สืบค้นจาก https://www.matichon.co.th/columnists/news_1453697, เข้าถึงเมื่อ
11 เมษายน 2563
[1] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 สืบค้นจาก
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2560/A/040/1.PDF, เข้าถึงเมื่อ 6 เมษายน 2563
[2] พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561,
ราชกิจจานุเบกษา, เล่มที่135 ตอนที่ 68 ก วันที่ 12 กันยายน 2561, หน้า 81
[3]เรืองวิทย์ เกษสุวรรณ. (2562). การคำนวณปาร์ตี้ลิสต์ผิด กับคำอธิบายเรื่อง overhang seats ของไทย
(ออนไลน์) สืบค้นจาก https://www.matichon.co.th/columnists/news_1453697, เข้าถึงเมื่อ 11 เมษายน 2563
[4]ประชาชนจิตอาสา (นามแฝง) วิธีการคำนวณ สส บัญชีรายชื่อ ที่ถูกต้อง ตาม พรบ ประกอบรัฐธรรมนูญ สืบค้นจาก
[5] เดอะมาสเตอร์. (2562). กกต. เปิดสูตรคำนวณ ส.ส. (ที่อาจเป็น) เวอร์ชั่นของ กกต. (ออนไลน์). สืบค้นจาก
https://themaster.co/pulse/complicated-thai-mps-system/74209, เข้าถึงเมื่อ 6 เมษายน 2563