แฮชแท็กในการเมืองไทย

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ และ นน ศุภสาร

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : ดร.สติธร ธนานิธิโชติ

 

          ในกระแสของความขัดแย้งทางการเมืองและการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลประยุทธ์_จันทร์โอชา ซึ่งนับจาก ปี 2562 เป็นต้นมา มีการยกระดับการเคลื่อนไหวปรากฏเป็นรูปธรรมและเป็นที่รับรู้ต่อสังคมมากขึ้น โซเชียลมีเดียโดยเฉพาะทวิตเตอร์ (Twitter) ถูกใช้เป็นพื้นที่หนึ่งในการเคลื่อนไหวทางการเมือง ทั้งการโพสต์ข้อความเพื่อสนทนาแลกเปลี่ยน แสดงความเห็น หรือเผยแพร่ข่าวสารในประเด็นต่าง ๆ เช่น การวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล การพูดถึงปัญหาด้านต่าง ๆ ในสังคม การพูดถึงสถาบันกษัตริย์ หรือการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารว่าด้วยการเคลื่อนไหวทางการเมืองหรือสถานการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นไปจนถึงการสร้างความตระหนักรู้ในประเด็นทางสังคมและการเมืองในหลายด้าน ซึ่งการสนทนาหรือเคลื่อนไหวทางการเมืองผ่านทวิตเตอร์นี้ หลายครั้งได้ปรากฏให้เห็นผ่านการใช้งานโดยเครื่องหมาย “แฮชแท็ก” (Hashtag หรือ #) ซึ่งเป็นเครื่องมืออันหนึ่งของทวิตเตอร์ที่ใช้เพื่อจัดกลุ่มข้อความที่มีเนื้อหาในประเด็นหรือหัวข้อร่วมกันรวมถึงสามารถชี้ให้เห็นว่าประเด็นใดเป็นที่นิยมหรือได้รับความสนใจในช่วงเวลานั้น ๆ การใช้งานแฮชแท็กในการเมืองปรากฏให้เห็นทั้งในโซเชียลมีเดียในไทยและต่างประเทศ ซึ่งการเคลื่อนไหวเรียกร้องหรือนำเสนอประเด็นทางสังคม-การเมืองในโลกออนไลน์ที่ใช้แฮชแท็กนี้เองถูกเรียกว่า “Hashtag Activism”[1]

 

ความหมาย คุณสมบัติ และการใช้งานแฮชแท็ก

          แฮชแท็ก (Hashtag) เป็นฟังก์ชันของทวิตเตอร์ ใช้ในการจัดกลุ่มข้อความที่มีเนื้อหาหรือประเด็นเดียวกันและช่วยให้สืบค้นหาได้สะดวก โดยทำหน้าที่เป็นคำสำคัญหรือ Keyword ในการค้นหา และทำให้ผู้ที่มีความสนใจเรื่องเดียวกันสามารถเห็นข้อความหรือเนื้อหาของผู้ใช้งานรายอื่นได้[2]

          การใช้งานแฮชแท็กสามารถกระทำได้โดยการพิมพ์สัญลักษณ์ “#” หรือสัญลักษณ์แฮช (Hash) ตามด้วยข้อความใด ๆ ที่ต้องการอ้างอิง เช่น “#แฮชแท็ก” “#รัฐบาล” “#ยุบสภา” ฯลฯ แล้วเผยแพร่แฮชแท็กนั้นผ่านทวีต (Tweet) หรือการโพสต์ข้อความของทวิตเตอร์ โดยผู้ที่สนใจในประเด็นต่าง ๆ สามารถค้นหาเนื้อหาหรือการสนทนาในประเด็นนั้น ๆ จากการค้นหาด้วยแฮชแท็กหรือกดคลิกแฮชแท็กนั้น ๆ ที่ปรากฏในรูปแบบลิงค์ (Link) บนทวีตซึ่งจะแสดงให้เห็นทวีตข้อความจากผู้ใช้งานรายอื่นที่ติดแฮชแท็กนั้นไว้ นอกจากนั้นแล้วโซเชียลมีเดียอื่น ๆ เช่น เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม (Instagram) หรือยูทูบ (YouTube) ก็ได้นำแฮชแท็กไปใช้ในลักษณะเดียวกันกับในทวิตเตอร์

          อย่างไรก็ตาม การใช้งานแฮชแท็กในทวิตเตอร์นั้นเป็นฟังก์ชั่นที่มีความโดดเด่นมากกว่าโซเชียลมีเดียแพลทฟอร์มอื่น เนื่องจากทวิตเตอร์มีการแสดงรายชื่อแฮชแท็กที่ได้รับความนิยม แนวโน้ม (trends) ในแต่ละวัน และทำให้สามารถสืบค้นข้อความล่าสุด (latest) หรือผู้ใช้งาน (people) ที่ติดแฮชแท็กยอดนิยม[3] ทั้งยังสามารถค้นหาภาพถ่าย (photo) และวีดีโอ (video) ที่มีแฮชแท็กเหล่านี้ได้

          นอกจากการใช้งานแฮชแท็กเพื่อประชาสัมพันธ์ทางการตลาดหรือในลักษณะเป็นกิจกรรมที่ส่งต่อกัน หรือใช้สื่อสารในเรื่องราวส่วนตัว ก็มีการใช้งานแฮชแท็กในการขับเคลื่อนประเด็นทางสังคม แสดงจุดยืนหรือสร้างความตระหนักรับรู้ในประเด็นต่าง ๆ เช่น #MeToo เพื่อนำเสนอประเด็นการคุกคามทางเพศ #BlackLivesMatter เพื่อเรียกร้องความเท่าเทียมและต่อต้านการเหยียดสีผิว หรือ #StandWithHongKong เพื่อแสดงจุดยืนถึงการสนับสนุนฝ่ายผู้ประท้วงเคลื่อนไหวต่อต้านอำนาจรัฐบาลจีนในฮ่องกง เป็นต้น[4]

 

แฮชแท็กในการเมืองร่วมสมัย

          การนำทำความเข้าใจบทบาทของแฮชแท็กในการเมืองไทยร่วมสมัยในทศวรรษ 2560 จำเป็นจะต้องนำเสนอถึงบทบาทของทวิตเตอร์ในการเมืองไทย ซึ่งถูกมองว่าเป็นพื้นที่สำคัญในการแสดงความเห็นหรือใช้ขับเคลื่อนการเคลื่อนไหวของฝ่ายต่อต้านรัฐบาล โดยทวิตเตอร์เป็นแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่ได้รับความนิยมมีสัดส่วนและจำนวนผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ได้มีการรายงานว่าใน ปี 2562 มีอัตราการใช้งานทวิตเตอร์ในไทยเพิ่มขึ้น ร้อยละ 35 ซึ่งสูงที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้[5]

          ผู้ใช้งานทวิตเตอร์ที่มีสัดส่วนมากที่สุด คือ กลุ่มคนรุ่นมิลเลนเนียล (Millenials) และผู้ที่มีอายุน้อยกว่านั้นลงมา ซึ่งต้องการพื้นที่ในโลกออนไลน์ที่มีความเป็นส่วนตัวมากกว่าและข้อบังคับที่น้อยกว่าโซเชียลมีเดียอื่นเมื่อเทียบกับเฟสบุ๊กที่มีนโยบายให้ผู้ใช้งานแสดงตัวตนด้วยชื่อจริง รวมถึงการที่ผู้ปกครองหรือคนรู้จักผ่านความสัมพันธ์อื่นสามารถเห็นหรือติดตามผู้ใช้งานบัญชีนั้น ๆ ได้ซึ่งทำให้เกิดความรู้สึกไม่เป็นส่วนตัว รวมถึงมีแนวโน้มเชื่อมโยงไปสู่การตรวจสอบโดยรัฐ[6] ขณะที่ทวิตเตอร์นั้นมีลักษณะที่เป็นส่วนตัวมากกว่า เนื่องจากผู้ใช้งานทวิตเตอร์ไม่จำเป็นต้องเปิดเผยตัวตนด้วยประวัติหรือชื่อจริง มีกฎเกณฑ์ในการสร้างบัญชีผู้ใช้น้อยกว่าและการตรวจสอบทำได้ยากกว่า[7] สอดคล้องกับพฤติกรรมของกลุ่มผู้ใช้งานทวิตเตอร์ซึ่งเป็นคนรุ่นที่อายุน้อยกว่าเจนเนอเรชั่นเอ็กซ์ ผู้ใช้ทวิตเตอร์เติบโตในช่วงที่การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารทำได้ง่าย มีความคุ้นเคยการใช้งานอินเทอร์เน็ตและเครือข่ายออนไลน์ รวมไปถึงมีความคิด ค่านิยม หรือวัฒนธรรมที่แตกต่างไปจากผู้คนในรุ่นก่อนหน้า ประกอบกับลักษณะการใช้งานทวิตเตอร์ที่มีความเป็นส่วนตัว จึงสามารถสร้างบทสนทนาแลกเปลี่ยนในประเด็นที่ถูกมองว่าล่อแหลม สุ่มเสี่ยง อ่อนไหวในพื้นที่สาธารณะหรือพื้นที่ที่ต้องเปิดเผยตัวตนจริง[8]

          จากเงื่อนไขดังกล่าวทำให้ควบคุมการข้อมูลข่าวสารในทวิตเตอร์ทำได้น้อยและยากกว่าสื่อกระแสหลัก เช่น โทรทัศน์ หรือวิทยุ[9] ซึ่งยังได้มีผู้วิเคราะห์ว่าในสภาพที่มีการควบคุมหรือปิดกั้นการแสดงความเห็นทางการเมืองจะส่งผลให้ความนิยมในทวิตเตอร์เพิ่มขึ้นเพราะมีความต้องการหาพื้นที่ในการแสดงความเห็นที่จะไม่ถูกควบคุมหรือปิดกั้น[10] นอกจากนี้ ยังต้องพิจารณาบทบาทของ “ติ่งเกาหลี” หรือผู้ที่ชื่นชอบศิลปิน K-POP ซึ่งนิยมใช้งานทวิตเตอร์เพื่อพูดคุยหรือติดตามศิลปิน-ข่าวสารเกี่ยวกับวงการบันเทิง เหล่าแฟนคลับ K-POP เหล่านี้เองที่ตื่นตัวทางการเมืองหรือประเด็นทางสังคมที่ได้รับรู้จากเรื่องในวงการบันเทิงเกาหลีที่เกี่ยวกับความไม่เท่าเทียมหรือความไม่ยุติธรรมมาก่อนหน้า และมีส่วนเป็นผู้กระจายข่าวสาร ข้อเรียกร้องหรือประเด็นทางการเมือง[11] เชื่อกันว่า “ติ่งเกาหลี” มีส่วนช่วยในการสร้างกระแสและ “ปั่น” ให้แฮชแท็กในประเด็นต่าง ๆ ให้เป็นที่นิยมหรือทำให้เกิดกระแสเป็นที่รับรู้ได้ และ “ดัน” ให้กระแสนั้นคงอยู่ เพราะแฟนคลับเหล่านี้ได้มีประสบการณ์หรือความคุ้นเคยกับการปั่นแฮชแท็กเกี่ยวกับศิลปินที่ตัวเองชื่นชอบให้เป็นกระแสมาอยู่แล้ว[12]

 

การใช้งานแฮชแท็กในการเมืองไทย

          โดยในกรณีของไทยก็ปรากฏการใช้แฮชแท็กเพื่อสนทนา แลกเปลี่ยนข่าวสารทางสังคม-การเมืองมาก่อนหน้าอยู่แล้วบ้าง เช่น #ThaiFlood ในช่วงเหตุการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่ ปี 2554 #ThaiUpRising ในช่วงการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลยิ่งลักษณ์_ชินวัตร ปี 2556 แฮชแท็กถวายความอาลัยในช่วง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 สวรรคต หรือแฮชแท็กที่พูดถึงปัญหาในสังคม เช่น #ฝุ่นPM2.5 เป็นต้น[13]

          ก่อนกระแสการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลครั้งใหญ่ใน ปี 2563 มีการใช้แฮชแท็กทางการเมืองในวาระต่าง ๆ เช่น #ประเทศกูมี เพื่อวิจารณ์นำเสนอปัญหาในสังคมในช่วง ปี 2561 ที่มีการเผยแพร่เพลง “ประเทศกูมี” และมีกระแสการตรวจสอบจากหน่วยงานรัฐ[14] #ช่วยธนาธรตั้งชื่อพรรค ในปี 2561 ภายหลังกระแสข่าวว่า ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ จะตั้งพรรคการเมือง #เลื่อนแ - มึงสิ ภายหลังรัฐบาลแถลงว่าอาจเลื่อนการเลือกตั้งในช่วงต้น ปี 2562 รวมไปถึงแฮชแท็กที่สร้างข้อถกเถียงอย่างมาก เช่น #ขบวนเสด็จ #ปิดเกาะ[15]

          แฮชแท็กที่ใช้เพื่อถกเถียงหรือเคลื่อนไหวทางการเมืองโดยฝ่ายต่อต้านรัฐบาลในกระแสการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา นับแต่ ปี 2563 มีตั้งแต่แฮชแท็กที่ใช้สนทนาแลกเปลี่ยนข้อมูลโดยทั่วไปที่เป็นแฮชแท็กที่เรียบง่าย เช่น #ประชุมสภา

          รูปแบบการสร้างและใช้งานแฮชแท็กแตกต่างหลากหลายตามจุดประสงค์หรือเนื้อหาที่ผู้สร้างต้องการสื่อสารผ่านแฮชแท็กนั้น ๆ เช่น แฮชแท็กประเภท #save ที่ตามด้วยชื่อบุคคลหรือองค์กรทางการเมือง เช่น #saveวันเฉลิม #saveธนาธร #saveเพนกวิน หรือ #saveโรม เพื่อกระจายข่าวสาร สร้างความรับรู้หรือช่วยเหลือผู้ที่ถูกมองว่ากำลังมีอันตรายจากการคุกคามโดยฝ่ายรัฐ โดยเป็นการเน้นการสื่อสารกับผู้คนในประเทศต่างจาก #WhatIsHappeningInThailand ที่มุ่งบอกเล่าสถานการณ์ภายในประเทศ เช่น ความรุนแรงจากการสลายการชุมนุม ให้เป็นที่รับรู้แก่สื่อหรือผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในต่างประเทศ[16]

          แฮชแท็กที่ชวนสนทนา เช่น #ถ้าการเมืองดี ใช้เพื่อพูดคุยชักชวนให้ผู้คนมีส่วนร่วมหรือให้ความสนใจกับการเมือง ไม่เพิกเฉย โดยมุ่งแสดงให้เห็นว่าการเมืองกับการดำรงชีวิตประจำวันมีความเกี่ยวข้องกันซึ่งคุณภาพชีวิต หรือความต้องการในด้านต่าง ๆ เช่น รัฐสวัสดิการ สิ่งแวดล้อม การพัฒนาการศึกษา หรือการให้ความสำคัญกับศิลปวัฒนธรรม จะได้รับการพัฒนาหรือตอบสนองให้ดีขึ้นหาก “การเมืองดี”[17]

          แฮชแท็กในลักษณะของการอ้างถึงการชุมนุมทางการเมือง (ในรูป ม็อบวันที่เดือน) เช่น #ม็อบ14ตุลา #ม็อบ18พฤศจิกา #ม็อบ7สิงหา เพื่อรายงานสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในการชุมนุมในครั้งต่าง ๆ[18]

          แฮชแท็กที่เป็นชื่อกิจกรรมหรือแคมเปญ เช่น #15ตุลาไปแยกราชประสงค์ #เลิกเรียนไปกระทรวง #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน หรือ #ขีดเส้นตายไล่เผด็จการ[19]

          ในบางครั้งเป็นการตั้งชื่อให้มีความน่าสนใจคล้องจอง เช่น ความรู้สึกของนักศึกษาในมหาวิทยาลัยภายหลังการตัดสินยุบพรรคอนาคตใหม่ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ก็ได้มีการตั้งชื่อแฮชแท็กของกิจกรรมในลักษณะที่คล้องจองหรือน่าสนใจ รวมถึงใช้อารมณ์ขัน เช่น #เสาหลักจะไม่หักอีกต่อไป #มศวขอมีจุดยืน #ราชภัฏอยากงัดกับสลิ่ม หรือการชุมนุมในหลายพื้นที่ที่ตั้งชื่อแฮชแท็กที่สื่อถึงท้องถิ่นนั้น ๆ เช่น #ขอนแก่นพอกันที หรือ #อยุธยาจะไม่ทนอีกต่อไป เป็นต้น[20]

          นอกจากนั้น ยังมีการใช้แฮชแท็กเพื่อนำเสนอข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลในประเด็นที่เป็นที่สนใจในขณะนั้น เช่น #NOCPTPP #สมรสเท่าเทียม #ปล่อยเพื่อนเรา #ยกเลิก112 หรือ #หยุดคุกคามประชาชน ซึ่งในบางครั้งเป็นการเรียกร้องโดยฝ่ายต่อต้านรัฐบาลต่อฝ่ายเดียวกัน เช่น #กูสั่งให้มึงเข้าสภา ที่สื่อถึงพรรคฝ่ายค้าน หรือแฮชแท็กที่สื่อถึงการคว่ำบาตรหรือประกาศไม่สนับสนุนบุคคลหรือองค์กรในลักษณะของ cancel culture เช่น #แบนดาราสลิ่ม #แบนแทกุกไลน์ หรือ #แบนสปอนเซอร์เนชั่น[21]

          นอกจากนี้ยังมีแฮชแท็กที่สื่อถึงสถาบันทางวัฒนธรรมต่าง ๆ ที่ใช้เพื่อแสดงความเห็นหรือวิพากษ์วิจารณ์สถาบันฯ อย่างตรงไปตรงมาและในบางครั้งก็เป็นถ้อยคำที่รุนแรง และในบางครั้งก็เน้นตลกขบขันหรือกล่าวถึงโดยอ้อม[22]

          ขณะเดียวกัน ฝ่ายการเมืองที่สนับสนุนรัฐบาลก็ได้มีการสร้างแฮชแท็กขึ้นมาเพื่อเคลื่อนไหว หรือสร้างกระแสในการแสดงจุดยืนหรือสื่อสารทางการเมืองเพื่อตอบโต้ฝ่ายต่อต้านรัฐบาล เช่น “#เบื่อม็อบ” “#พลังเงียบ” “#ไม่เลือกพวกล้มเจ้า” รวมถึงแสดงความจงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์ ในขณะที่บางส่วนมีถ้อยความหรือเนื้อหาที่เป็นการโต้ตอบกับฝ่ายต่อต้านรัฐบาล-เรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์  เช่น แฮชแท็ก “#ฝ่ายค้านส้นตีนกองเชียร์ก็ส้นตีน” หรือ “#ม็อบส้นตีนคนเชียร์ก็ส้นตีน” ตอบโต้ “#รัฐบาลส้นตีนคนเชียร์ก็ส้นตีน”[23] หรือ “#Royalkingdomofthailand” ที่ปรากฏขึ้นหลังจากแฮชแท็ก “#RepublicofThailand” เป็นกระแสในทวิตเตอร์[24]

          นอกจากการตอบโต้ระหว่างฝ่ายต่อต้านรัฐบาลกับฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลแล้วยังมีประเด็นเรื่องการปฏิบัติการข่าวสารของรัฐที่ถูกเปิดเผยต่อสาธารณชนในกรณีของ “ไอโอ” หรือการปฏิบัติการข่าวสาร (Information Operation) ในพื้นที่ออนไลน์ที่หน่วยราชการด้านความมั่นคงได้สร้างบัญชีผู้ใช้เพื่อเผยแพร่เนื้อหาสนับสนุนรัฐบาลและตอบโต้กับฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง มีการสร้างและใช้แฮชแท็กในการปฏิบัติการไอโอ โดยมีการสั่งการให้โพสต์หรือ “ปั่น” ข้อความในทวิตเตอร์ด้วยแฮชแท็กที่สร้างขึ้นอย่างเป็นระบบ โดยที่แฮชแท็กของผู้ปฏิบัติการข่าวสารจะเน้นเนื้อหาที่สื่อถึงความจงรักภักดี หรือเป็นข้อความที่แสดงความไม่เห็นด้วยกับการชุมนุมต่อต้านรัฐบาล[25] ทั้งนี้ ยังปรากฏอีกว่าฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลก็ได้มีการนัดแนะหรือแนะนำวิธีตอบโต้หรือทำให้แฮชแท็กของฝ่ายตนได้รับความนิยมด้วยเช่นกัน[26] ซึ่งในบางครั้งผู้ใช้งานฝ่ายต่อต้านรัฐบาลบางส่วนก็ได้เข้ามาใช้แฮชแท็กของฝ่ายรัฐหรือฝ่ายสนับสนุนรัฐในการโพสต์ข้อความวิพากษ์วิจารณ์รัฐ หรือโพสต์เนื้อหาที่ไม่เกี่ยวข้องในเชิงขบขัน ซึ่งก็นำไปสู่ข้อวิพากษ์วิจารณ์โดยฝ่ายต่อต้านรัฐบาลด้วยกันว่าเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ เพราะจะเป็นการทำให้ฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลอ้างได้ว่าแฮชแท็กของฝ่ายตนได้รับความนิยม[27] โดยให้กดรีพอร์ทหรือรายงานแฮชแท็กเหล่านั้นแทน[28]

 

อ้างอิง

[1] “Hashtag Activism,” Wikipedia, เข้าถึงจาก https://en.wikipedia.org/wiki/Hashtag_activism.; “Hashtag Activism: นักเคลื่อนไหวในยุคสมัยของคนสองโลก,” The Intelligence, เข้าถึงจาก https://intsharing.co/archives/4946. เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2565.

[2] Thanop Somprasong, “Hashtag คืออะไร? และวิธีการใช้ #Hashtag ที่เหมาะสม,” Thanop.com. เข้าถึงจาก https://www.thanop.com/hashtag/. เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2565.

[3] อธิตานันท์ อัศวจรัสภัทร์ และ รัชนีกร แซ่วัง, “แฮชแท็ก : ภาษา อำนาจ และมายาคติ,” วารสารภาษาและวัฒนธรรม, 40, 1 (มกราคม-มิถุนายน 2564), หน้า 81-82. เข้าถึงจาก https://so03.tci-thaijo.org/index.php/JLC/article/download/254139/170064/. เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2565.

[4] อธิตานันท์ อัศวจรัสภัทร์ และ รัชนีกร แซ่วัง, “แฮชแท็ก : ภาษา อำนาจ และมายาคติ,” หน้า 81-82, 90.

[5] สันติชัย อาภรณ์ศรี, “แฮชแท็กติดเทรนด์ในทวิตเตอร์ ตัวจุดประเด็นล่อแหลมในสังคมไทยบนพื้นที่ของคนรุ่นใหม่,”
The Momentum, (5 ตุลาคม 2562). เข้าถึงจาก https://themomentum.co/trending-hashtags-on-thai-sensitivity/. เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2565.

[6] อ้างแล้ว.

[7] อ้างแล้ว.

[8] อ้างแล้ว.

[9] ประจักษ์ ก้องกีรติ, อ้างใน ธันยพร บัวทอง, “‘ทวิตเตอร์ คือ ผนังห้องน้ำในศตวรรษที่ 21 แต่มันเป็นฝาผนังที่เข้าถึงคนได้ล้าน ๆ คน’,” บีบีซีไทย, (3 ตุลาคม 2562). เข้าถึงจาก https://www.bbc.com/thai/thailand-49919169. เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2565.

[10] อ้างแล้ว.

[11] เทวฤทธิ์ มณีฉาย “ชาวทวิตเตอร์เริ่มเขย่าการเมืองได้อย่างไร? พลังติ่งเกาหลี ‘น่ากลัว’ แค่ไหน,” ประชาไท, (13 มกราคม 2564). เข้าถึงจาก https://prachatai.com/journal/2021/01/91178. เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2565.

[12] อ้างแล้ว.

[13] อธิตานันท์ อัศวจรัสภัทร์ และ รัชนีกร แซ่วัง, “แฮชแท็ก : ภาษา อำนาจ และมายาคติ,” หน้า 87, 90-92.

[14] “ติดชาร์ท! แห่แฮชแท็ก #ประเทศกูมี หลังศรีวราห์ฮึ่ม! เพลงนี้อาจขัดคำสั่ง คสช.!,” ข่าวสดออนไลน์, (26 ตุลาคม 2561). เข้าถึงจาก https://www.khaosod.co.th/politics/news_1738228. เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2565.

[15] เทวฤทธิ์ มณีฉาย “ชาวทวิตเตอร์เริ่มเขย่าการเมืองได้อย่างไร? พลังติ่งเกาหลี ‘น่ากลัว’ แค่ไหน,” ประชาไท

[16] สุรัชนี ศรีใย, อ้างใน, ณรจญา ตัญจพัฒน์กุล, “#WhatIsHappeninginThailand: เมื่อการเมืองออนไลน์ลงสู่ท้องถนน – สุรัชนี ศรีไย,” The 101, (20 สิงหาคม 2563). เข้าถึงจาก https://www.the101.world/surachanee-sriyai-interview/. เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2565.

[17] Jiratchaya Chaichumkum, “ถ้าการเมืองดี ประเทศจะ...? สำรวจความเคลื่อนไหวในโซเชียล เมื่อการเมืองคือทุกเรื่องของชีวิต,” The MATTER, (21 กรกฎาคม 2563). เข้าถึงจาก https://thematter.co/quick-bite/with-good-politic/118157.; “ปรากฎการณ์ ‘อิกนอเรนซ์’ ในโลกเสมือน,” ข่าวไทยพีบีเอส, (10 สิงหาคม 2563). เข้าถึงจาก https://news.thaipbs.or.th/content/295345. เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2565.

[18] เทวฤทธิ์ มณีฉาย “ชาวทวิตเตอร์เริ่มเขย่าการเมืองได้อย่างไร? พลังติ่งเกาหลี ‘น่ากลัว’ แค่ไหน,” ประชาไท

[19] อ้างแล้ว.

[20] อ้างแล้ว.

[21] Sutthipath Kanittakul, “รวมแฮชแท็ก cancel culture หรือวัฒนธรรมการคว่ำบาตรสุดเข้มข้นแห่งปี 2020,”The MATTER, (22 ธันวาคม 2563). เข้าถึงจาก https://thematter.co/quick-bite/cancel-culture-2020/131472. เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2565.

[22] เทวฤทธิ์ มณีฉาย “ชาวทวิตเตอร์เริ่มเขย่าการเมืองได้อย่างไร? พลังติ่งเกาหลี ‘น่ากลัว’ แค่ไหน,” ประชาไท.

[23] teabhoky, Twitter, (29 มิถุนายน 2564). เข้าถึงจาก https://twitter.com/teabhoky/status/1409652638203879429.; เฮฮาการเมือง, Twitter, (8 สิงหาคม 2564). เข้าถึงจาก https://twitter.com/political_drama/status/1424199064682262533. เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2565.

[24] “ส.ทิศทางไทย ผุด #Royalkingdomofthailand หลัง #RepublicofThailand ขึ้นเทรนด์ทวิตเตอร์,” ประชาไท, (26 กันยายน 2563). เข้าถึงจาก  https://prachatai.com/journal/2020/09/89685. เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2565.

[25] “แชตหลุดสุดฉาว คำสั่งไอโอ จับโป๊ะ ระดมปั่นแฮชแท็กป้องสถาบันในทวีต,” มติชนออนไลน์, (28 ตุลาคม 2563). เข้าถึงจาก https://www.matichon.co.th/politics/news_2416507. เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2565.

[26] สติค่ะลูกกกก, Facebook, (21 ตุลาคม 2563). เข้าถึงจาก https://www.facebook.com/satikaluk/posts/1014561919060864/. เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2565.

[27] @myouishyo, Twitter, (21 ตุลาคม 2563). เข้าถึงจาก https://twitter.com/myouishyo/status/1318753988464971776. เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2565.

[28] @mayomchit, Twitter, (18 สิงหาคม 2564). เข้าถึงจาก https://twitter.com/mayomchit/status/1427697525453058054. เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2565.