วิวัฒนไชย
ผู้เรียบเรียง : ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
วิวัฒนไชย : ผู้ว่าการธนาคารชาติคนแรก
การก่อตั้งธนาคารแห่งประเทศไทยหรือธนาคารชาตินั้นเกิดขึ้นในช่วงที่สงครามโลกครั้งที่ 2 เริ่มแล้วในยุโรป เมื่อปี 2482 ในสมัยรัฐบาลของนายกรัฐมนตรี นายพลตรีหลวงพิบูลสงคราม ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ชื่อปรีดี พนมยงค์ ทั้งสองคนเป็นผู้นำของคณะราษฎรหรือกลุ่มผู้เปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี 2475 คนแรกเป็นผู้นำทหาร คนหลังเป็นผู้นำพลเรือนเล่ากันว่าคนสองคนที่เป็นหลักสำคัญในการจัดตั้งธนาคารกลางขึ้นในประเทศไทยเป็นครั้งแรกคือข้าราชการการเมือง นายปรีดี พนมยงค์ ผู้เป็นรัฐมนตรีคลัง และคนหลังที่เป็นข้าราชการประจำของกระทรวงการคลัง คือหม่อมเจ้า วิวัฒนไชย ตอนแรกนั้นได้ตั้งสำนักงานธนาคารชาติขึ้นก่อนในปี 2482 แต่ตอนที่เป็นธนาคารแห่งประเทศไทย โดยออกกฎหมายธนาคารแห่งประเทศไทย ในปี 2485 นั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังชื่อพลเอกเภา เพียรเลิศ บริภัณฑ์ยุทธกิจ ตอนนั้นนายปรีดี ได้ย้ายไปดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และครั้งนั้นรัฐบาลของหลวงพิบูลฯได้ตั้ง ม.จ.วิวัฒนไชย ซึ่งภายหลังคือ พระวรงวศ์เธอ พระองค์เจ้าวิวัฒนไชย เป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยคนแรก ดังนั้นมาดูชีวิตและงานที่เกี่ยวข้องกับการบ้านการเมืองของ ม.จ.วิวัฒนไชย กันบ้าง
ม.จ.วิวัฒนไชย เป็นพระโอรสองค์ที่ 9 ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าไชยันต์มงคล กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย และหม่อมส้าน ไชยันต์ เกิดเมื่อวันที่ 9 เมษายน ปี 2442 ที่พระนคร ท่านได้เรียนหนังสือที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวงตั้งแต่อายุ 6 ขวบ แล้วจึงไปเรียนต่อที่โรงเรียนราชวิทยาลัย ท่านเป็นผู้ที่เรียนเก่ง ตามประวัติระบุว่า จบชั้นมัธยมปีที่ 6 ในปี 2454 ขณะที่มีอายุเพียง 12 ปี และได้รับพระราชทานทุนส่วนพระองค์สมเด็จ พระศรีพัชรินทรา ไปเรียนต่อที่ประเทศอังกฤษ โดยได้เข้าเรียนที่โรงเรียน Torquay Preparatory School เสียก่อน 2 ปี จากนั้นจึงไปศึกษาชั้นมัธยมที่วิทยาลัย Cheltenham อีก 3 ปี จึงได้เข้าเรียนมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ศึกษาจบได้เป็นบัณฑิตเกียรตินิยมทางประวัติศาสตร์ ในปี 2462 แล้วจึงข้ามประเทศไปเรียนที่ Ecole des Sciences Politiques ที่นครปารีสประเทศฝรั่งเศส อีก 1 ปี ก่อนที่จะเดินทางกลับประเทศสยามในปี 2463 ขณะที่มีอายุได้ 21 ปี กลับมาแล้วก็ได้เข้าทำงานที่กระทรวงพระคลังมหาสมบัติในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวในตำแหน่งเลขานุการกระทรวง อีกปีต่อมาท่านจึงได้เสกสมรสกับ ม.ร.ว.หญิง ชวลิต สนิทวงศ์
การทำงานที่กระทรวงการคลังนั้น ม.จ.วิวัฒนไชยก็ได้รับความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงานมาด้วยดี จนได้เป็นปลัดทูลฉลองกระทรวงการคลังในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปี 2470 อีกสามปีต่อมาจึงย้ายมาเป็นอธิบดีกรมสรรพากร ซึ่งเป็นกรมสำคัญมีหน้าที่หารายได้ให้แก่แผ่นดิน แม้หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ปี 2475 แล้ว ม.จ.วิวัฒนไชยก็ยังคงเป็นอธิบดีอยู่ได้ แต่ได้ย้ายกรมไปเป็นอธิบดีกรมสรรพสามิต เมื่อปี 2476 และอีกสองปีต่อมาก็ย้ายไปเป็นอธิบดีกรมศุลกากร ตอนที่ท่านเป็นผู้ร่วมคิดตั้งธนาคารชาติกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายปรีดี พนมยงค์ นั้น ม.จ.วิวัฒนไชย ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษากระทรวงการคลัง เมื่อตั้งธนาคารแห่งประเทศไทยได้ในปี 2485 และตั้ง ม.จ.วิวัฒนไชย เป็นผู้ว่าการคนแรกของธนาคารนั้น เมืองไทยอยู่ในภาวะสงคราม เพราะประเทศไทยได้ประกาศสงครามกับอังกฤษและสหรัฐฯในวันที่ 25 มกราคม ปี 2485
ต่อมามีการเปลี่ยนรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามพ้นจากตำแหน่งนายกฯ ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สงบลง มีการเปลี่ยนรัฐบาลจากรัฐบาลนายควง อภัยวงศ์ มาเป็นรัฐบาลของนายทวี บุณยเกตุ และรัฐบาลของ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ทางรัฐบาลได้ตั้ง ม.จ.วิวัฒนไชย ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งที่ปรึกษากระทรวงการคลัง ที่ปรึกษาสำนักนายกฯ และผู้ว่าการธนาคารชาติ ให้เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยไปเจรจาเลิกสถานะสงครามกับอังกฤษ เมื่อวันที่ 21 กันยายน ปี 2488 ที่เมืองแคนดี ที่ศรีลังกา ซึ่งตอนนั้นเป็นเมืองขึ้นอังกฤษ และย้ายไปประชุมกันที่สิงคโปร์ในเดือนธันวาคม ปีเดียวกัน จนไปยุติทำความตกลงสมบูรณ์แบบได้เมื่อวันที่ 1 มกราคม ปี 2489 ในการเจรจาครั้งนั้นมีเรื่องเล่าบันทึกไว้ว่า
“ประเทศมหาอำนาจที่ชนะสงครามประเทศหนึ่งได้เรียกร้องให้ประเทศไทยส่งพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรคืนไปยังเมืองเวียงจันทน์...”
จึงทำให้ ม.จ.วิวัฒนไชย ถึงกับเดินออกจากห้องประชุมไม่ยอมเจรจา จนกว่าจะมีการถอนข้อเรียกร้อง ท่านจึงจะยอมกลับเข้าประชุมต่อ แต่ที่ท่านเข้ามาในวงการเมืองนั้นเกิดขึ้นหลังการรัฐประหารของพลโทผิน ชุณหวัณ และคณะนายทหารเมื่อ ปี 2490 โดยได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังตามรอยพระบิดาซึ่งเคยเป็นเสนาบดีกระทรวงพระคลังฯมาก่อน แต่อยู่ได้สองสมัยติดต่อกันได้ไม่ถึง 5 เดือน นายกฯ ควง ถูกคณะรัฐประหาร “จี้” ให้ลาออกหลังจัดการเลือกตั้งทั่วไปให้เรียบร้อยแล้ว แต่ถัดมาอีกประมาณ 8 เดือน ในเดือนธันวาคมปีเดียวกัน ท่านก็เข้าร่วมเป็นรัฐมนตรีคลังของรัฐบาลจอมพล ป. กับพวกที่เคยจี้ให้รัฐบาลของนายควงลาออก กระนั้นท่านก็อยู่ร่วมรัฐบาลได้เพียงวันที่ 18 ตุลาคม ปี 2492 โดยลาออกด้วยเหตุ “มีความเห็นไม่ตรงกับรัฐบาลในการเปลี่ยนแปลงอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท” นับว่าท่านเป็นรัฐมนตรีที่มีหลักการมั่นคง พ้นจากวงการเมืองมาได้ระยะเวลาหนึ่ง พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิวัฒนไชย ก็ได้รับการโปรดเกล้าฯตั้งให้เป็นองคมนตรี ในปี 2495 รับหน้าที่ทำงานสำคัญสืบต่อมาจน ในวันที่ 22 สิงหาคม ปี 2503 จึงได้สิ้นพระชนม์